มานุษยวิทยากับการเคลื่อนย้าย: ความคิด การศึกษา และกระบวนทัศน์

 |  พื้นที่ การอพยพเคลื่อนย้าย และชายแดน
ผู้เข้าชม : 3512

มานุษยวิทยากับการเคลื่อนย้าย: ความคิด การศึกษา และกระบวนทัศน์

           การเคลื่อนย้าย (mobility) ในฐานะตัวอุปลักษณ์ทางความคิด เผยให้เห็นว่าสิ่งต่าง ๆ ในโลกดำรงอยู่ในการโยกย้ายถ่ายเทอยู่เสมอ ไม่เพียงแต่ผู้คนเท่านั้น วัฒนธรรม วัตถุสิ่งของ ทุน ธุรกิจ การบริการ โรคภัย สื่อ ข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนความคิด ต่างหมุนเวียนไปทั่วโลก (Salazar & Smart, 2011) ความคิดดังกล่าวชี้ชวนให้เกิดการศึกษาการเคลื่อนย้ายในหลายระดับ ตั้งแต่การเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนในระดับมหภาคจนถึงการเคลื่อนย้ายในพื้นที่หนึ่ง ๆ ในระดับชีวิตประจำวัน กระแสความสนใจการเคลื่อนย้าย (mobility turn) แพร่หลายไปในหลายสาขาวิชาทางสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะผ่านการตั้งคำถามเรื่องการดำรงอยู่ในพื้นที่เฉพาะ (territory) และสมมติฐานแบบติดที่ (sedentary) ซึ่งดำรงอยู่ในศตวรรษที่ 21 (Hannam et al., 2006) ท่ามกลางความเป็นจริงในยุคโลกาภิวัตน์ที่สิ่งต่าง ๆ เคลื่อนย้ายในภาวะถี่ขึ้น เร็วขึ้น และสะดวกมากยิ่งขึ้น

           มานุษยวิทยาเป็นสาขาวิชาหนึ่งในสังคมศาสตร์ซึ่งศึกษามนุษย์และความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรม งานของนักมานุษยวิทยามักเกี่ยวข้องกับการเผยให้เห็นวิถีชีวิตอันลึกซึ้งของมนุษย์ ท่ามกลางกระแสความสนใจการเคลื่อนย้ายที่เห็นว่าการเคลื่อนไหวและการเชื่อมต่อกันของผู้คนและสังคมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของเงื่อนไขเชิงพื้นที่และเวลา งานของนักมานุษยวิทยาจึงเป็นการเผยให้เห็นว่าการเคลื่อนที่แบบต่าง ๆ แสดงให้เห็นนัยความหมายบางประการภายใต้เงื่อนไขนั้นอย่างไร ตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคลไปจนถึงระดับสังคม (Salazar, 2014) ความสนใจการเคลื่อนย้ายในปัจจุบันวางอยู่บนการปฏิเสธอภิปรัชญาแบบติดที่ (sedentary metaphysics) และคำอธิบายต่าง ๆ ในเชิงระบบสังคม (social system) ซึ่งมองสังคมแบบหยุดนิ่งและเป็นเนื้อเดียวกัน ตลอดจนตั้งคำถามต่อวิธีการศึกษาแบบเดิม ๆ ในยุคก่อนหน้าซึ่งเพิกเฉยต่อนัยสำคัญของการเคลื่อนย้าย เช่นเดียวกับการวิพากษ์วิธีการศึกษาที่อาศัยพรมแดนทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นเขตแดนในการศึกษาภาคสนาม

           ความสนใจการเคลื่อนย้ายในมานุษยวิทยาในเชิงแนวคิดทฤษฎี เริ่มต้นจากความพยายามถอดรื้อสมมติฐานที่ทึกทักกันว่าวัฒนธรรมของผู้คนในพื้นที่หนึ่ง ๆ เป็นเนื้อเดียวกันและหยั่งรากลึกในพื้นที่ทางกายภาพแบบจำเพาะเจาะจง ที่มาที่ไปของการถอดรื้อสมมติฐานเช่นนี้มาจากมุมมองเรื่องวัฒนธรรมในวิธีคิดแบบมาร์กซิสม์ใหม่ (neo-Marxism) ที่ชี้ให้เห็นว่าหน่วยวัฒนธรรมไม่ตัดขาดและเชื่อมต่อกับอำนาจภายนอกเขตแดนของพื้นที่ทางกายภาพ รวมถึงวิธีคิดแบบหลังสมัยใหม่ (postmodernism) ที่ตั้งคำถามเรื่องสถานะแบบปิดของการทำงานภาคสนาม ประกอบกับพัฒนาการของเทคโนโลยีการสื่อสารและการเดินทางที่ก้าวหน้าขึ้นในยุคโลกาภิวัตน์ สภาพการเชื่อมต่อถึงกันเป็นวงกว้างในระดับโลก (interconnectedness) นำไปสู่การผสมปนเปกันของวัฒนธรรมที่หลากหลายแต่ไม่หลอมรวมกันเป็นเนื้อเดียวในพื้นที่หนึ่ง ๆ นักวิชาการจำนวนหนึ่งเรียกทัศนะแบบนี้รวม ๆ ว่าเป็นมุมมองแบบพ้นถิ่นที่ (post-local approach) คำถามที่เกิดขึ้นตามมาจากการถอดรื้อเช่นนี้คือ หากกรอบทฤษฎีเก่า ๆ ไม่สามารถอธิบายการเชื่อมต่อและการเคลื่อนย้ายในโลกที่เปลี่ยนไปได้ ปัญหาอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงของโลกที่ไม่สอดคล้องกับกรอบทฤษฎี หรืออยู่ที่กรอบทฤษฎีที่ไม่สามารถอธิบายโลกได้ดังเช่นที่เคยเป็น

           ถึงแม้ว่าการตั้งคำถามกับอภิปรัชญาแบบติดที่และสมมติฐานว่าด้วยความเป็นเนื้อเดียวกันของวัฒนธรรมในพื้นที่จำเพาะเพิ่งจะเกิดขึ้นในกระแสความสนใจการเคลื่อนย้าย แต่ความคิดที่พิจารณาการเคลื่อนย้ายในตัวของมันเอง ผูกพันกับประวัติศาสตร์ของมานุษยวิทยามานานแล้ว ทฤษฎีการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม (cultural diffusionism) ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 เป็นตัวอย่างที่ดีในการอธิบายการเคลื่อนย้ายของวัฒนธรรม (Salazar, 2014) แม้ว่าลักษณะของการอธิบายจะยังคงรูปลักษณ์ของอภิปรัชญาแบบติดที่ซึ่งมองการเคลื่อนย้ายจากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่ง รวมถึงการมีหลักแหล่งของพื้นที่วัฒนธรรมที่แพร่กระจายออกไป แต่ข้อพิจารณาที่น่าสนใจคือการมองว่าวัฒนธรรมไม่ใช่สิ่งที่หยั่งรากลึกและดำรงอยู่ในพื้นที่จำเพาะแห่งใดแห่งหนึ่งเพียงแห่งเดียว การโยกย้ายถ่ายเทได้ของวัฒนธรรมแบบนี้ ช่วยชี้ให้เห็นสภาวะที่พื้นที่และวิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปได้จากการรับ ปรับเปลี่ยน และดัดแปลงวัฒนธรรมที่เคลื่อนตัวมาถึง

           ในปี 1883 ขณะที่ฟรานซ์ โบแอส (Franz Boas) ทำงานภาคสนามว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของชาวอินูอิต (Inuit) ผ่านกลไกการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในพื้นที่ใกล้เคียงทางภูมิศาสตร์บนเกาะบาฟฟิน (Baffin Island) ในทวีปอเมริกาเหนือ ในทวีปยุโรป บรอนิสลอฟ มาลินอฟสกี (Bronislaw Malinowski) ขับเคลื่อนมานุษยวิทยาจากการทำงานบนเก้าอี้นวมไปสู่การทำงานภาคสนาม การเดินทางไปปฏิบัติการในพื้นที่หนึ่ง ๆ ของนักมานุษยวิทยากลายเป็นหัวใจสำคัญของปฏิบัติการทางชาติพันธุ์วรรณนามาจนถึงปัจจุบัน (Wilding, 2007) อนึ่ง การทำงานภาคสนามของเขาว่าด้วยเรื่องวงแหวนกูลา (Kula ring) ในช่วงปี 1915 ยังแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน สิ่งของ และการเคลื่อนย้ายในหมู่เกาะโทรเบรียนด์ด้วย

           ในทางหนึ่ง แม้มาลินอฟสกีจะริเริ่มให้นักมานุษยวิทยาออกไปที่ไหนสักแห่ง (going somewhere) เจมส์ คลิฟฟอร์ด (James Clifford) (1997) บอกว่าการออกไปที่ไหนสักแห่งเพื่อทำงานชาติพันธุ์วรรรนานั้นอาจไม่เพียงพอ นักมานุษยวิทยาต้องละทิ้งสมมติฐานเบื้องต้นในการค้นหารกราก (roots) ของรูปแบบทางสังคมวัฒนธรรมในพื้นที่หนึ่ง ๆ และหันไปแกะรอยเส้นทาง (routes) ที่ผลิตซ้ำรูปแบบทางสังคมวัฒนธรรมนั้นแทน การทำงานชาติพันธุ์วรรณนาอย่างที่คลิฟฟอร์ดเสนอไม่อาจทำได้ด้วยวิธีการศึกษาแบบสนามเดียว (single-sited ethnography) เพราะการแกะรอยเส้นทางดังกล่าวเรียกร้องให้นักมานุษยวิทยาเคลื่อนย้ายไปมามากกว่าพื้นที่แห่งใดแห่งหนึ่งเพียงแห่งเดียว จอร์จ มาร์คัส (George Marcus) (1998) บอกว่าการทำงานชาติพันธุ์วรรณนาด้วยวิธีการศึกษาแบบหลายสนาม (multi-sited ethnography) จะช่วยให้การแกะรอยเส้นทางผู้คน สิ่งของ ความคิด และเรื่องราวต่าง ๆ ทำได้จากพื้นที่ที่หลากหลาย อีกทั้งยังไม่ถูกจำกัดกรอบพื้นที่ไว้ด้วยพรมแดนรัฐชาติด้วย

           การศึกษาการเคลื่อนย้ายแบบหลายสนามให้ความสนใจไปยังวิธีการที่ผู้คนและสิ่งต่าง ๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทาง อันอาจขยับขยายผลในรูปของเป็นเครือข่ายการเชื่อมโยงที่หลากหลายได้ นับแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา นักวิชาการจำนวนหนึ่งชี้ให้เห็นว่ากระแสความสนใจการเคลื่อนย้ายนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการรับรู้ทางวิชาการซึ่งตอบสนองต่อการเคลื่อนย้ายของสิ่งต่าง ๆ ที่เพิ่มมาขึ้นตามพัฒนาการของยุคสมัย แทนที่จะมองการเคลื่อนย้ายคล้ายกับกล่องดำ (black box) ว่าปราศจากนัยทางสังคมวัฒนธรรม (Sheller & Urry, 2006) กระบวนทัศน์การเคลื่อนย้าย (mobilities paradigm) นำเสนอแนวทางใหม่ ๆ ในการสังเคราะห์มุมมองว่าด้วยการเคลื่อนย้ายผ่านการจัดเรียงตัวใหม่ของอำนาจ อัตลักษณ์ และชีวิตประจำวัน (Cresswell, 2011) ในแง่นี้ กระบวนทัศน์การเคลื่อนย้ายจึงช่วยนำเสนอวิธีการใหม่ ๆ ให้กับมานุษยวิทยาในการสร้างความเข้าใจว่าผู้คน สิ่งของ ตลอดจนความคิดแบบต่าง ๆ มีการเดินทางอย่างไร อีกทั้ยยังนำไปสู่กาเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ อย่างไร โดยมองปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นผ่านการเคลื่อนย้ายในตัวของมันเอง (Hannam et al., 2006)

           นอกจากความคิดว่าด้วยการเคลื่อนย้ายที่เคยมีอยู่แต่เดิมแล้ว การศึกษาการเคลื่อนย้ายเชิงกระบวนทัศน์ในระยะหลังช่วยตั้งคำถามและทิศทางใหม่ ๆ กับมานุษยวิทยา กระแสความสนใจการเคลื่อนย้ายสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ในการพิจารณาการเคลื่อนย้ายตลอดจนวิธีการศึกษาที่แตกต่างออกไป กระบวนทัศน์การเคลื่อนย้ายที่เกิดขึ้นนี้ท้าทายต่อการสร้างคำอธิบาย ตลอดจนเป้าหมายของการศึกษาในมานุษยวิทยาเอง โดยเฉพาะการอธิบายสังคมในเชิงระบบและเพิกเฉยต่อการเดินทางของสิ่งต่าง ๆ ภายใต้สภาวะที่โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจากเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารและการเดินทาง และการเคลื่อนย้ายของผู้คน สิ่งของ ตลอดจนความคิด ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงสังคมเป็นวงกว้าง หากกระบวนทัศน์เก่าของมานุษยวิทยาไม่เท่าทันต่อความเป็นจริงที่เปลี่ยนแปลงไป กระบวนทัศน์ใหม่ของการเคลื่อนย้ายอาจเป็นเครื่องมืออีกชิ้นหนึ่งที่เข้ามาช่วยอธิบายการโยกย้ายถ่ายเทของสิ่งต่าง ๆ ในโลก ที่ไม่ใช่แค่เคลื่อนผ่านไปเฉย ๆ แต่ได้เข้ามาสร้างหรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขแบบต่าง ๆ ในชีวิตให้กับเรา

 

รายการอ้างอิง

Clifford, J. 1997. Route: Travel and Translation in the Late Twentieth Century. Massachusetts: Cambridge University Press.

Cresswell, T. 2011. Mobilities I: Catching Up. Progress in Human Geography. 35(4): 550-558.

Hannam, K. et al. 2006. Mobilities, Immobilities, and Moorings. Mobilities. 1(1): 1-22.

Marcus, G. 1998. Ethnography through Thick and Thin. New Jersey: Princeton University Press.

Salazar, N. B. & Smart, A. 2011. Anthropological Takes on (Im)Mobility. Identities: Global Studies in Culture and Power. 18(6): 1-8.

Salazar, N. B. 2014. Anthropology. In Routledge Handbook for Mobilities, Peter Audey et al. (Eds). New York: Routledge.

Sheller, M. & Urry, J. 2006. The New Mobilities Paradigm. Environment and Planning A.38(1): 207-226.

Wilding, R. 2007. Transnational Ethnographies and Anthropological Imaginings of Migracy. Journal of Ethnic and Migration Studies. 33(2): 331-348.


ผู้เขียน

วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์

นักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร การเคลื่อนย้าย ความคิด ระเบียบวิธีวิจัยและการศึกษาภาคสนาม กระบวนทัศน์ วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share