การเมืองทัศนา : ว่าด้วยการเมือง อำนาจ ศิลปะ และการมองเห็น สู่ความหมายทางวัฒนธรรม

 |  รัฐ และวัฒนธรรมอำนาจ
ผู้เข้าชม : 2614

การเมืองทัศนา : ว่าด้วยการเมือง อำนาจ ศิลปะ และการมองเห็น สู่ความหมายทางวัฒนธรรม

รูปที่ 1 ปกหนังสือ การเมืองทัศนา : ว่าด้วยการเมือง อำนาจ ศิลปะ และการมองเห็นสู่ความหมายทางวัฒนธรรม

หมายเหตุจาก. ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

           ดร.ถนอม ชาภักดี นักวิจารณ์ศิลปะผู้ล่วงลับได้กล่าวในคำนำของหนังสือการเมืองทัศนา : ว่าด้วยการเมือง อำนาจ ศิลปะ และการมองเห็น สู่ความหมายทางวัฒนธรรมไว้อย่างน่าสนใจว่า

“ศิลปะไม่ได้สร้างจากแรงงานของนิยามคำว่าศิลปินอีกต่อไป จึงไม่แปลกใจที่การขยายพื้นที่และขอบเขตการศึกษาศิลปะ จึงขยายอาณาบริเวณไปสู่ศาสตร์สาขาอื่น ๆ ” (บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ, 2565, น. 17)

           รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร กล่าวว่า

“หากศิลปะไม่ได้ทำเพื่อสื่อสารบางอย่าง ก็คงไม่รู้จะทำไปเพื่ออะไรหากการสื่อสารไม่ได้เพื่อสนทนากับคนอื่น ก็คงไม่รู้ว่าจะสื่อสารไปเพื่ออะไร”
(บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ, 2565, น. 25)

           หนังสือการเมืองทัศนา : ว่าด้วยการเมือง อำนาจ ศิลปะ และการมองเห็น สู่ความหมายทางวัฒนธรรม เขียนโดย ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนเรียนจบปริญญาตรีเศรษฐศาสตรบัณฑิต (การคลัง) ปริญญาโทรัฐศาสตรมหาบัณฑิต (การปกครอง) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาเอก Ph.D. Political Science จาก University of Hawaii นอกจากนี้ผู้เขียนยังมีความสนใจเกี่ยวกับการศึกษาผลงานศิลปะ และเคยเป็นภัณฑารักษ์จัดแสดงผลงานศิลปะทั้งในและต่างประเทศ หนังสือเล่มนี้จึงสะท้อนบทบาทของผู้เขียนทั้งในฐานะนักวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์และนักวิชาการทางด้านศิลปะ ที่จะช่วยให้ผู้อ่านมองเห็นความหลากรสของศิลปะ เพราะ “ศิลปะ” ไม่ได้มีเฉดสีแค่สีขาว-สีดำ สวย-ไม่สวย สูง-ต่ำ หรือ ดีงาม-เลวร้าย ศิลปะ คือ ปฏิบัติการอย่างหนึ่งที่ช่วยบอกเล่าประวัติศาสตร์ และสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมในแต่ละยุคสมัย

           เนื้อหาภายในหนังสือเล่มนี้ ยังเป็นการรวบรวมบทความที่ผู้เขียนได้เคยเขียนไว้ทั้งบทความวิชาการ และบทความที่เคยตีพิมพ์ในวารสารวิภาษาหลายชื่อเรื่อง เช่น ทัศนียภาพของการต่อต้าน : การเมืองทัศนา (Visual Politics) ของการปฏิวัติสยามในสื่อร่วมสมัย, คืนการเมืองให้ศิลปะ, การเมืองของสุนทรียศาสตร์ของจิตรกรรมฝาผนัง โดยขรัวอินโข่ง และภาวะสมัยใหม่ของศิลปะไทย, ภาพถ่ายของความเป็นไปไม่ได้ (Impossible photography), ชะตากรรมของภาพเขียนและโปสเตอร์การเมือง มองบทเรียนจากจีนสู่สังคมไทย และบทความอื่น ๆ ขมวดมาเป็นเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ทั้งหมด 8 บท ที่จะพาผู้อ่านไปสำรวจความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการเมืองกับศิลปะ และในบทความรีวิวหนังสือได้สรุปออกมาเป็น 2 ประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

           ประเด็นที่ 1 : การถือกำเนิดของวัฒนธรรมทัศนา

           ผู้เขียนได้เริ่มต้นเนื้อหาของหนังสือโดยการพาผู้อ่านย้อนกลับไปสำรวจดูพื้นฐานที่ก่อให้เกิดเป็นศิลปะอย่างที่ได้เห็น และได้ตีความหมายกันอย่างไรในปัจจุบัน ในอดีตการศึกษาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์มุ่งเน้นไปที่ญาณวิทยา (epistemology) หรือการศึกษาเกี่ยวกับการกำเนิดความรู้ ไม่ว่าจะเป็น ปัจจัยที่ทำให้เกิดความรู้ ธรรมชาติของความรู้และความสมเหตุสมผลของความรู้ (ชัยวัฒน์ อัตพัฒน์, 2555) ต่อมาเริ่มมีการหยิบวิธีวิทยาแบบวิทยาศาสตร์อื่น ๆ มาศึกษาเพื่อเข้าใจปรากฏการณ์ และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เช่น แนวคิดทางการศึกษาแบบพฤติกรรมศาสตร์ (behavioral science) และแนวคิดทางการศึกษาสังคมหลังสมัยใหม่ (postmodern society) เป็นต้น (บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ, 2565, น. 3) ทำให้ภายหลังมีการวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดต่าง ๆ ที่ได้เสนอว่า แนวคิดเหล่านั้นไม่มีความสมเหตุสมผล และไม่สามารถอธิบายความละเอียดความซับซ้อนทางสังคมได้

           หลังจากนั้นได้ก้าวถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้การศึกษาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์มุ่งเข้าสู่การศึกษาวัฒนธรรมอย่างจริงจัง เมื่อแนวคิดวัฒนธรรมศึกษา (cultural studies) ได้ปรากฏขึ้น ซึ่งเป็นแนวคิดที่ทำเห็นการขยายขอบเขตของการศึกษาที่กว้างขึ้นและเกี่ยวพันถึงการบริโภคในมิติต่าง ๆ ของคนทุกชนชั้น เช่น การแต่งตัว การทานอาหาร และการเสพสื่อ เป็นต้น โดยเฉพาะการศึกษาวัฒนธรรมสื่อที่ถูกมองว่า เป็นการศึกษาที่ช่วยสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในสังคม และมีบทบาทสำคัญในการส่งผลให้เกิดการผลิตซ้ำ ครอบงำและกำหนดอัตลักษณ์บางอย่างในสังคมจากการรับสื่อชนิดต่าง ๆ เช่น รูปภาพ ภาพยนตร์และเพลง

 

รูปที่ 2 Camera lucida หมายเหตุจาก. https://en.wikipedia.org/wiki/Camera_lucida

 

           นอกจากนี้ การศึกษาวัฒนธรรมผ่านสื่อยังสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิต และเผยแพร่ จากแต่เดิมการผลิตสื่อมาจากการใช้วิธีการคัดลอกภาพหรือเรียกว่า Camera Lucida โดยจิตรกรหรือผู้วาดภาพ จะมองต้นแบบของวัตถุผ่านเลนส์ เพื่อคัดลอกจากต้นแบบ ภายหลังพัฒนามาเป็นเทคโนโลยีการพิมพ์และภาพยนตร์ จึงส่งผลให้ภาพและผลงานศิลปะสามารถเผยแพร่ได้อย่างรวดเร็ว กล่าวได้ว่า การศึกษาวัฒนธรรมสื่อได้เคลื่อนตัวเข้าสู่การเป็นวัฒนธรรมทัศนา (Visual Culture) ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาวัฒนธรรมที่ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคม

           ประเด็นที่ 2 : การก้าวเข้าสู่การเมืองทัศนา กับศิลปะร่วมสมัย

           จากการเปลี่ยนแปลงของการศึกษาวัฒนธรรมที่ได้กล่าวไปในข้างต้น ได้สะท้อนให้เห็นถึงมิติของวัฒนธรรมสื่อที่ส่งผลต่อมูลค่า หรือคุณค่าทางศิลปะมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการผลิตซ้ำด้วยเทคโนโลยี นำมาซึ่งความสามารถในการแก้ไขดัดแปลง และสามารถให้ความหมายใหม่กับผลงานศิลปะโดยผู้ที่มีอำนาจในการกำหนด เช่น การตัดภาพบางส่วนออก การใช้เสียงประกอบภาพเคลื่อนไหว และการใช้ข้อความในการสื่อสาร เป็นต้น

           สิ่งเหล่านี้เริ่มทำให้เกิดการตีความศิลปะที่ถูกผลิตออกมาในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพเขียน ภาพถ่าย ภาพยนตร์ และศิลปวัตถุ ถูกครอบด้วยกฎเกณฑ์ทางสังคมขึ้นมาเพื่อประเมินความเหมาะสมของมูลค่า และคุณค่าของศิลปะ ในขณะเดียวกันศิลปะก็กลายเป็นเครื่องมือที่สะท้อนอำนาจและการเมือง ซึ่งผู้เขียนได้สรุปไว้ว่า ผลผลิตทางวัฒนธรรมหรือศิลปะที่ถูกผลิตออกมาถือเป็นการเมืองทัศนา (Visual Politics) ตัวอย่างเช่น ผลงานศิลปะจากศิลปินผิวสีได้สะท้อนให้เห็นประเด็นของการไม่ได้รับความเท่าเทียมในสังคม เนื่องจากในอดีตคนผิวสีมักถูกตีตรา และถูกกีดกันออกจากสังคมตั้งแต่ในประวัติศาสตร์อเมริกา ซึ่งผู้เขียนได้นำเสนอว่า มูลค่าและคุณค่าของศิลปะไม่ได้กำหนดจากตัวศิลปินเพียงอย่างเดียว คนภายนอกอย่างภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑ์ นักประวัติศาสตร์ศิลปะ ตลอดจนสถาบันที่เกี่ยวข้องก็มีส่วนในผลิตมูลค่าและคุณค่าของศิลปะ เช่น ผลงานโถปัสสาวะชื่อ The Fountain ของอ็องรี-รอแบร์-มาร์แซล ดูว์ช็อง (Henri-Robert-Marcel Duchamp) หรือ ดูว์ช็อง จิตรกร และนักเขียนชาวฝรั่งเศส-อเมริกัน ที่ผลิตผลงานศิลปะออกมาเป็นโถปัสสาวะชายธรรมดาแต่มีพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งนำโถปัสสาวะ The Fountain ไปจัดแสดงไว้ในฐานะผลงานของดูว์ช็อง และถูกกำหนดว่า “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” งานศิลปะ ด้วยการท้าทายความหมายทางวัฒนธรรมของศิลปะในฐานะผลิตทางอุตสาหกรรม หรือผลผลิตทางศิลปะ (บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ, 2565, น. 86-88)

 

รูปที่ 3 โถปัสสาวะ The Fountain
หมายเหตุจาก. https://papichayanan064.wordpress.com/2015/03/09/the-origins-of-modern-art/

 

รูปที่ 4 FOR YOU!
หมายเหตุจาก. https://www.facebook.com/1598977737098633/photos/pb.100047989576305.-2207520000./2371046399891759/?type=3

 

           นอกจากนี้ผู้เขียนยังชี้ให้เห็นว่าศิลปะได้ก้าวเข้าสู่การสะท้อนความร่วมสมัยไปพร้อม ๆ กับความหมายและการตีความที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุค ดังเช่น ผลงานจิรภัทรทัศนสมบูรณ์ (Jirapat Tatsanasomboon) ที่ได้นำเสนอผลงานศิลปะเพื่อบอกเล่าเรื่องราวทางการเมืองผ่านตัวละครไทยที่ได้ยื่นผลแอปเปิลให้ Barack Hussein Obama อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เป็นต้น จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า ศิลปะไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่ศิลปะเป็นเรื่องทุกคนที่มีส่วนในกำหนดคุณค่าของศิลปะ

           หนังสือการเมืองทัศนา : ว่าด้วยการเมือง อำนาจ ศิลปะ และการมองเห็น สู่ความหมายทางวัฒนธรรม เล่มนี้จะทำให้ผู้อ่านได้เห็นพัฒนาการ ความหลากรสของศิลปะผ่านตัวอย่างผลงานศิลปะที่ผู้เขียนได้นำเสนอ และบอกเล่าไว้ในหนังสือ ซึ่งจะช่วยให้ผู้อ่านเปิดประสบการณ์เกี่ยวกับศิลปะที่แตกต่างไปจากเดิม หนังสือเล่มนี้ยังเหมาะสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องราว และความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับศิลปะได้เป็นอย่างดี

           หนังสือเรื่องนี้รวมถึงหนังสือที่ว่ามานุษยวิทยาร่วมสมัยพร้อมให้บริการที่ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทางFacebook Fanpage: ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC Library และ Line: @sac-library


Bibliography

ชัยวัฒน์ อัตพัฒน์. (2555). ญาณวิทยา (ทฤษฎีความรู้) = Epistemology (theory of Knowledge). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

บัณทิต จันทร์โรจนกิจ. (2565). การเมืองทัศนา : ว่าด้วยการเมือง อำนาจ ศิลปะ และการมองเห็น สู่ความหมายทางวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : สมมติ.


ผู้เขียน

วิภาวดี โก๊ะเค้า

นักบริการสารสนเทศ

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ การเมืองทัศนา ศิลปะร่วมสมัย รัฐและวัฒนธรรมอำนาจ วัฒนธรรมศึกษา วัฒนธรรมทัศนา วิภาวดี โก๊ะเค้า

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share