ภาษีสุนัข: การเปลี่ยนวิถีการผลิตของระบอบอาณานิคมในแอฟริกาใต้

 |  พืช สัตว์ สิ่งของที่มากกว่ามนุษย์
ผู้เข้าชม : 1526

ภาษีสุนัข: การเปลี่ยนวิถีการผลิตของระบอบอาณานิคมในแอฟริกาใต้

           ระบบการจัดเก็บภาษีจากชนพื้นเมืองในดินแดนอาณานิคมเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการควบคุม และผนวกเอาทุกสรรพสิ่งให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมความมั่งคั่งของเจ้าอาณานิคม เช่นที่นักวิชาการส่วนมากผู้ศึกษาแอฟริกาใต้ในยุคอาณานิคมต่างลงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ระบบการจัดเก็บภาษีคือระบบที่เกิดขึ้นมาเพื่อจัดการกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน (Dande and Swart, 2022, p. 674) ลักษณะการเก็บภาษีที่เป็นตัวเงินเช่นนี้ทำให้ชนพื้นเมืองที่เคยมีระบบเศรษฐกิจแบบแลกเปลี่ยนสิ่งของต้องเข้าสู่ระบบการแลกเปลี่ยนที่มีเงินตราเป็นตัวกลาง การพึ่งพิงระบบการแลกเปลี่ยนแบบเงินตราบีบบังคับให้ชนพื้นเมืองต้องเข้าไปทำงานในเรือกสวนไร่นาของเจ้าอาณานิคมเพื่อให้ได้รับค่าแรง และค่าแรงเหล่านั้นจะวกกลับสู่เจ้าอาณานิคมในรูปแบบของภาษี เราจะเห็นการจัดเก็บภาษีในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นรูปแบบของภาษีที่ผู้คนมักจะคุ้นเคย ไม่เว้นแม้แต่ภาษีความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ ดังที่ปรากฏอย่างชัดเจนในแอฟริกาใต้ นั่นคือ “ภาษีสุนัข”

           อย่างไรก็ตาม การเก็บภาษีสุนัขก็ไม่ได้เริ่มต้นขึ้นในดินแดนอาณานิคม ทว่าปรากฏเค้ารางของการผลักดันกฎหมายนี้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ทศวรรษ 1730 ในดินแดนของเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษ ก่อนจะมีการเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาอีกครั้งและประกาศใช้อย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.1796 ภายใต้บริบทที่อังกฤษเผชิญกับวิกฤตหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนอาหารและปัญหาความอดอยากของคนยากจน ซึ่งส่งผลให้เกิดการประท้วงและการจลาจลหลายพื้นที่ที่สืบเนื่องมาจากราคาอาหารที่พุ่งขึ้น รวมไปถึงบรรยากาศของสังคมที่วิตกกังวลต่อการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า (Tague, 2008)

           ในมุมของผู้เสนอร่างกฎหมายการเก็บภาษีสุนัขเข้าสู่สภา สุนัขคือปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดวิกฤตด้านอาหารและความยากจน ซึ่งการเก็บภาษีสุนัขจะเป็นทางออกของปัญหานี้ พวกเขามองว่าสุนัขจรจัดที่มีจำนวนมากเกินจะควบคุม คือตัวการสำคัญในการโจมตีปศุสัตว์ที่ควรจะเป็นอาหารของมนุษย์ รวมไปถึงสุนัขที่เหล่าคนร่ำรวยเป็นเจ้าของก็ส่งผลต่อวิกฤตอาหารเช่นเดียวกัน เหตุเพราะสุนัขเหล่านี้กินอาหารราคาถูก เช่น ธัญพืช เศษเนื้อ และเครื่องในสัตว์ เป็นต้น ซึ่งปกติแล้วสิ่งเหล่านี้เป็นอาหารที่คนจนสามารถเข้าถึงได้ สภาพการณ์เช่นนี้ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนอาหารและทำให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อคนยากจน ด้วยเหตุนี้ ผู้เสนอร่างกฎหมายจึงเสนอการเก็บภาษีสุนัขเพื่อแก้ไขปัญหาหลายประการไปพร้อมกัน นั่นคือ การลดจำนวนประชากรสุนัข จัดหาแหล่งรายได้ให้กับรัฐ และจัดการกับปัญหาข้าวยากหมากแพง (Tague, 2008)

           นอกจากวิกฤตข้างต้นที่กลายมาเป็นบริบทที่สนับสนุนให้เกิดการเก็บภาษีสุนัขแล้ว ความคิดว่าด้วยการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีมนุษยธรรมก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการเก็บภาษีดังกล่าวเช่นกัน ทว่ากลุ่มคนผู้สนับสนุนขบวนการดังกล่าวกลับมุ่งเป้าไปที่ชนชั้นล่างของสังคม เหตุเพราะพวกเขามองว่าคนชั้นล่างเหล่านี้มีความโน้มเอียงที่จะกระทำการทารุณสัตว์อย่างเด่นชัด พฤติกรรมที่ชอบทารุณกรรมถูกนำไปเชื่อมโยงกับกลุ่มคนที่ไร้ระเบียบและเกียจคร้าน นั่นก็คือ คนยากจน พวกเขามองว่าการที่คนชนชั้นล่างทารุณกรรมสัตว์ไม่ใช่เพราะความไม่รู้ แต่เป็นเพราะกลุ่มคนเหล่านี้มีโอกาสที่จะกระทำมากกว่า ดังนั้น การกำจัดความเกียจคร้านและส่งเสริมให้คนมีวินัยในการทำงานจะช่วยทำให้พวกคนจนมีศีลธรรมมากขึ้น เหตุเพราะคนที่มีวินัยในการทำงานจะเป็นผู้ที่ไม่มีโอกาสหรือไม่มีความโน้มเอียงที่จะทารุณสัตว์ ด้วยเหตุนี้เอง การเก็บภาษีสุนัขจะช่วยขัดขวางคนยากจนให้ไม่สามารถครอบครองสุนัขได้ ซึ่งจะช่วยให้สุนัขรอดพ้นจากความทุกข์ทรมาน อีกทั้งประชากรสุนัขที่ลดลงจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมในภาพรวมด้วย (Tague, 2008)

           แม้ว่าการถกเถียงในสภามีการเสนอเหตุผลเพื่อสนับสนุนการเก็บภาษีในหลายแง่มุม ทั้งที่เป็นเหตุผลที่มุ่งเป้าโจมตีชนชั้นล่างและโจมตีกลุ่มคนชนชั้นสูง ท้ายที่สุดแล้ว ร่างกฎหมายที่ผ่านการถกเถียงในสภาของอังกฤษได้จัดวางให้การเก็บภาษีสุนัขเป็นไปในทิศทางเดียวกับภาษีสิ่งฟุ่มเฟือย กล่าวคือ ผู้ครอบครองสุนัขที่ใช้ในเกมกีฬาจะต้องเสียภาษี เนื่องด้วยการล่าสัตว์คือกิจกรรมความบันเทิงของเหล่าอภิสิทธิ์ชนที่เกินความจำเป็น ดังนั้น การครอบครองสุนัขล่าสัตว์ถือเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยที่ควรเก็บภาษี ตรงข้ามกับสุนัขที่ครอบครองโดยคนยากไร้จะได้รับการยกเว้นภาษี เพราะสำหรับคนยากจนแล้ว สุนัขถูกมองว่าเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต นั่นคือ การเลี้ยงไว้สำหรับใช้งานและเป็นมิตรสหาย แน่นอนว่าคุณสมบัติทั้งสองไม่อาจแยกขาดออกจากกันได้อย่างชัดเจน (Tague, 2008)

           สำหรับดินแดนอาณานิคม คนชนชั้นล่างของสังคมไม่ได้โชคดีเฉกเช่นในอังกฤษ การเก็บภาษีสุนัขจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อชนพื้นเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวอย่างเช่น ในปี ค.ศ. 1875 เริ่มมีการเก็บภาษีสุนัขในนาทาล (Natal) ปี ค.ศ. 1884 ในอาณานิคมเคป (Cape Colony) เป็นต้น เจ้าอาณานิคมมักใช้ข้ออ้างที่คล้ายคลึงกับในอังกฤษในการออกกฎหมาย นั่นคือ ข้ออ้างเรื่องการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าที่จำเป็นต้องลดประชากรสุนัขเพื่อควบคุมการระบาดดังกล่าว

           สำหรับดินแดนโรดีเซียตอนใต้ (Southern Rhodesia) ภายใต้อาณานิคมอังกฤษ การเก็บภาษีสุนัขที่เริ่มต้นในปี ค.ศ. 1912 ที่นอกจากจะมาพร้อมกับเหตุผลเรื่องการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและการป้องกันการล่าสัตว์อย่างล้นเกินก็ถูกใช้เป็นเหตุผลในการเก็บภาษีสุนัขด้วย เนื่องด้วยกลุ่มผู้ตั้งถิ่นฐานส่วนมากได้เข้าไปทำฟาร์มปศุสัตว์ในดินแดนแถบนั้น การล่าสัตว์โดยใช้สุนัขถูกเชื่อมโยงเข้ากับการเผาทุ่งหญ้าเพื่อไล่ต้อนสัตว์ป่า การเก็บภาษีสุนัขจึงได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากกลุ่มผู้ตั้งรกรากที่ต้องใช้ทุ่งหญ้าสำหรับเลี้ยงวัว เนื่องด้วยการเผาทุ่งหญ้าของชนพื้นเมืองคือหายนะของผู้ตั้งรกรากที่ต้องใช้ทุ่งหญ้าสำหรับการเลี้ยงวัว เจ้าอาณานิคมจึงเชื่อมโยงการเผาทุ่งหญ้าซึ่งเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ากับเรื่องการล่าสัตว์ที่ต้องใช้สุนัขในการล่า เป้าหมายก็เพื่ออ้างความชอบธรรมในการเก็บภาษีสุนัขจากชนพื้นเมืองและลดจำนวนประชากรสุนัขที่ถูกมองว่าเป็นตัวช่วยสำคัญในการล่าสัตว์ อย่างไรก็ตาม ชนพื้นเมืองกลับมองการเผาทุ่งหญ้าต่างออกไป พวกเขามองว่าการเผาทุ่งหญ้าในช่วงเวลาหนึ่งของปีจะเป็นการช่วยกำจัดเชื้อโรค เห็บ หมัด และแมลงต่าง ๆ ที่จะส่งผลร้ายต่อปศุสัตว์ของพวกเขา รวมถึงเป็นการกระตุ้นให้หญ้าที่แห้งงอกใหม่ในฤดูกาลถัดไปด้วย (Dande and Swart, 2022)

 

กฎหมายของเจ้าอาณานิคมสั่งห้ามชนพื้นเมืองครอบครองอาวุธปืน การเลี้ยงสุนัขในหมู่ชนพื้นเมืองในนามิเบียมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในฐานะเครื่องมือในการป้องกันฝูงปศุสัตว์ ภาพจาก https://unsplash.com/photos/VYivFf3n9Xs?fbclid=IwAR0XzKDUtO5ZHbLQ8vmv60xPS_zPY6flHz5UwhE14bqdblLxYTv7g0NRPJ0

 

           ในนามิเบีย (Namibia) ภายใต้การควบคุมของเยอรมนีนั้น ภายหลังจากการตั้งรกรากของเจ้าอาณานิคมในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ที่มาพร้อมกับการเลี้ยงวัวเช่นเดียวกับในโรดีเซียตอนใต้ จากเดิมที่ดินแดนแถบนี้มีนักล่าที่อยู่เหนือสุดของห่วงโซ่อาหารคือ สิงโตและไฮยีนา การป้องกันฝูงวัวจากนักล่าเหล่านี้จึงจำเป็นต้องกำจัดนักล่าให้ได้มากที่สุด ทว่าการกำจัดสิงโตและไฮยีน่ากลับนำไปสู่การเพิ่มจำนวนประชากรของสุนัขจิ้งจอกที่เป็นศัตรูต่อฝูงแกะของชนพื้นเมือง สุนัขจิ้งจอกที่มีอายุการตั้งครรภ์สั้นกว่านักล่าอย่างสิงโตและอาหารการกินที่หลากหลายจึงทำให้สุนัขจิ้งจอกสามารถเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วและยิ่งเป็นผลเสียต่อชนพื้นเมือง กอปรกับพื้นที่ส่วนใหญ่ถูกตรึงไว้ด้วยกองกำลังทหาร ส่งผลให้การเลี้ยงปศุสัตว์แบบเร่ร่อน (pastoralism) ของชนพื้นเมืองทำได้ยากขึ้น อีกทั้งกฎหมายของเจ้าอาณานิคมก็สั่งห้ามชนพื้นเมืองครอบครองอาวุธปืน การเลี้ยงสุนัขในหมู่ชนพื้นเมืองมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในฐานะเครื่องมือในการป้องกันฝูงปศุสัตว์ (Moore, 2017)

 

สุนัขทำหน้าที่ป้องกันฝูงแกะ ภาพจาก https://unsplash.com/photos/vD3L-rN_qNw?fbclid=IwAR3fr12-6oKAC9sJc8XIUQbLs652ZuqOTIN4z5ClXIe9hrS1NyHNOw8ZJA4

 

           ดังนั้น สำหรับชาวนามา (Nama) ในดินแดนนามิเบียแล้ว สุนัขที่ทำหน้าที่ป้องกันฝูงแกะจึงเป็นเหมือนสิ่งจำเป็นอันล้ำค่าที่ชนพื้นเมืองสามารถยังชีพด้วยการเลี้ยงแกะได้ ซึ่งจะสามารถหลีกเลี่ยงการทำงานในฟาร์มของกลุ่มผู้ตั้งรกรากที่ได้รับค่าแรงเพียงน้อยนิด สิ่งนี้เองที่ส่งผลให้ฟาร์มของผู้ตั้งรกรากขาดแรงงานจำนวนมาก (Moore, 2017) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1917 เป็นต้นมา มีการเก็บภาษีสุนัข ทั้งผู้ตั้งรกรากและชนพื้นเมืองต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อใบอนุญาตในการครอบครองสุนัข สำหรับผู้ที่ไม่สามารถจ่ายภาษีดังกล่าวได้ก็จะถูกปรับและสุนัขในความครอบครองของตนเองก็จะต้องถูกกำจัด การถูกบีบบังคับเช่นนี้นำไปสู่ความตึงเครียดและท้ายที่สุดได้นำไปสู่การก่อกบฏที่เรียกว่า Bondelswarts Rebellion ในปี 1922 ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมากจากการเก็บภาษีสุนัข

           จากตัวอย่างของการเลี้ยงสุนัขในดินแดนอาณานิคมที่เชื่อมโยงกับรูปแบบการยังชีพด้วยการล่าสัตว์หรือการเลี้ยงปศุสัตว์แล้ว สุนัขสำหรับชนพื้นเมืองจึงเป็นเหมือนสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ในวิถีชีวิตของพวกเขา (Gordon, 2008) เช่นที่ Bernard C. Moore (2017) ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการเลี้ยงสุนัขของชาวนามาในนามิเบียว่า

“สุนัขเป็นเหมือนเทคโนโลยีทางการเกษตรของชาวนามา หรือหากจะพูดในภาษามาร์กซิสต์ก็คือ สุนัขเป็นส่วนหนึ่งของพลังทางการผลิต”

           สำหรับชนพื้นเมืองเหล่านี้แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสัตว์ (หรือสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์อื่น ๆ) คือส่วนสำคัญของการทำการผลิต ความพยายามในการตัดขาดความสัมพันธ์ดังกล่าวด้วยการจัดเก็บภาษีที่ชนพื้นเมืองเหล่านี้ไม่สามารถจ่ายได้ จึงเป็นการบีบบังคับให้พวกเขาต้องหลุดออกจากรูปแบบการผลิตแบบเดิม และจำต้องหันไปสู่การเป็นแรงงานภายใต้ระบบการผลิตของระบอบอาณานิคมในที่สุด

 

เอกสารอ้างอิง

Dande, Innocent and Sandra Swart. (2022). ‘Today We Will Milk Dogs!’ (Nhasi tinokama imbwa)* – A Socio-political History of African-owned Dogs and the Dog Tax in Southern Rhodesia, c.1900–1950, The Journal of Imperial and Commonwealth History, 50(4), 672-704, DOI: 10.1080/03086534.2022.2057746

Gordon, Robert J. (2008). Fido: Dog Tales of Colonialism in Namibia. In Lance van Sittert and Sandra Swart (Eds.), Canis Africanis: A Dog History of Southern Africa (pp. 173-192). Leiden and Boston: Brill.

Moore, Bernard C. (2017). “Dogs were our defenders!”: Canines, Carnivores, and Colonialism in Namibia. Retrieved November 20, 2022, from https://www.historians.org/research-and- publications/perspectives-on-history/summer-2017/dogs-were-our-defenders-canines- carnivores-and-colonialism-in-namibia

Tague, Ingrid D. (2008). Eighteenth-Century English Debate in a Dog Tax. The Historical Journal, 51(4), 901-920.


ผู้เขียน

พนา กันธา

นักวิจัยอิสระ


 

ป้ายกำกับ ภาษีสุนัข วิถีการผลิต ระบอบอาณานิคม แอฟริกาใต้ พนา กันธา

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share