The Cyborg Manifesto, ดอนน่า ฮาราเวย์ และมานุษยวิทยา The Cyborg Manifesto, Donna Haraway and Anthropology

 |  พืช สัตว์ สิ่งของที่มากกว่ามนุษย์
ผู้เข้าชม : 2754

The Cyborg Manifesto, ดอนน่า ฮาราเวย์ และมานุษยวิทยา The Cyborg Manifesto, Donna Haraway and Anthropology

ญาณวิทยาเย้ยหยัน (ironic epistemology)

           บทความเรื่อง A Cyborg Manifesto ของดอนน่า ฮาราเวย์ ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1985 เปรียบเสมือนเป็น “นิเวศวิทยาของความรู้” (Sofoulis, 2015) ซึ่งเป็นทั้งการโต้แย้ง ท้าทาย ล้มล้าง และวิพากษ์ความรู้กระแสหลักที่ถูกสถาปนาขึ้นโดยกระบวนทัศน์แบบปฏิฐานนิยมและระบบเหตุผลวิทยาศาสตร์ซึ่งครอบงำและชี้นำความจริงและความรู้ที่เป็นมาตรฐานสากล ข้อวิพากษ์ของฮาราเวย์พยายามชี้ให้เห็นว่าวิธีการสร้างความรู้เกี่ยวกับโลกล้วนเกิดขึ้นจากหลายสิ่งหลายอย่างที่เชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อน โดยมิได้มีความรู้วิทยาศาสตร์เท่านั้นที่อยู่เหนือกว่าความรู้แบบอื่น ในการใช้คำว่า “Cyborg” ของฮาราเวย์ มีลักษณะเป็นการเสียดสีแดกดันและเย้ยหยันเพื่อที่จะวิจารณ์เส้นแบ่งที่แข็งตัวที่แยกมนุษย์ของจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น หรือเครื่องจักรที่เป็นวัตถุสิ่งของ ความหมายของ “Cyborg” ยังเป็นการวิจารณ์วิธีคิดเฟมินิสต์ซึ่งมักหมกมุ่นอยู่กับการเมืองของอัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งแบ่งแยกหญิงชายออกจากกันแบบขาวกับดำ ในทางกลับกันความคิดของฮาราเวย์ไม่เชื่อว่าความเป็นหญิงและชายมิใช่สิ่งที่อยู่ตรงกันข้าม แต่หลอมรวมเชื่อมประสานเข้าหากัน ขณะเดียวกัน ฮาราเวย์พยายามกระตุ้นให้เฟมินิสต์ทบทวนวิธีคิดใหม่เพื่อก้าวข้ามไปสู่การมองเห็นสิ่งที่มิใช่มนุษย์ที่ดำรงอยู่และมีส่วนสร้างโลก (Ferrando, 2014)

           ฮาราเวย์ชี้ให้เห็นการพังทลายของเส้นแบ่ง 3 ลักษณะ คือ (1) เส้นแบ่งระหว่างมนุษย์กับสัตว์ (2) เส้นแบ่งระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร และ (3) เส้นแบ่งระหว่างโลกวัตถุกับสิ่งที่มิใช่วัตถุ การสลายเส้นแบ่งนี้เกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำให้สิ่งที่ดูเหมือนแยกขาดจากกัน เข้ามาอยู่ในพื้นที่เดียวกันและนำไปสู่สภาวะ “คลุมเครือ” ของการดำรงอยู่ร่วมกันของสิ่งต่าง ๆ จนไม่สามารถตัดสินได้ว่าอะไรคือธรรมชาติและสิ่งที่ถูกประดิษฐ์ขึ้น สภาวะไร้เส้นแบ่งดังกล่าวส่งผลสะเทือนต่อความคิดเรื่องคู่ตรงข้ามระหว่าง “ธรรมชาติ” กับ “วัฒนธรรม” ซึ่งนักมานุษยวิทยามักคุ้นเคยและเชื่อว่าพรมแดนของสองสิ่งนี้อยู่แยกจากกันตลอดเวลา ข้อถกเถียงของฮาราเวย์ได้เปลี่ยนวิธีคิดใหม่เกี่ยวกับการดำรงอยู่ของโลกทางกายภาพ พร้อมเสนอการอธิบายเชิงภววิทยาที่นำเอาธรรมชาติและวัฒนธรรมเข้ามาหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ด้วยวิธีคิดนี้ทำให้เกิดความเข้าใจที่ว่า “Cyborg” คือสภาวะของการดำรงอยู่ร่วมกันระหว่างเครื่องจักรและธรรมชาติ สิ่งนี้หมายถึง วัตถุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมิได้แยกออกเป็นคนละด้าน แต่แทรกตัวเองอยู่ในความสัมพันธ์ที่พึ่งพากัน ในแง่นี้ กายกับจิต วัตถุและสิ่งที่มิใช่วัตถุคือสิ่งเดียวกัน

           ความคิดเรื่อง “Cyborg” ส่งผลให้ความรู้แบบตะวันตกที่ยึดติดกับระบบเหตุผลแตกสลายลงไป ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับความจริงแท้ ความคิดเรื่องเอกภาพ และความคิดเรื่องธรรมชาติที่บริสุทธิ์ ทฤษฎีดังกล่าวเติบโตและขยายตัวแผ่อิทธิพลไปทั่วโลกภายใต้ระบอบอำนาจวิทยาศาสตร์และลัทธิอาณานิคม ฮาราเวย์วิจารณ์ว่าอำนาจความรู้แบบชายเป็นใหญ่ที่ก่อตัวอย่างแน่นหนาในสังคมตะวันตกคือต้นเหตุของการสร้างกลไกเอารัดเอาเปรียบและกดขี่ข่มเหงโดยอาศัยบรรทัดฐานของการแบ่งหมวดหมู่และการแบ่งคู่ตรงข้าม ระบบอำนาจนี้ด้อยค่าผู้หญิง สิ่งมีชีวิตชนิดอื่น และกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่มิใช่คนผิวขาว อคติทางเชื้อชาติและการดูหมิ่นเหยียดหยามมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นในดินแดนต่าง ๆ ว่าล้าหลังหรือด้อยความเจริญ ล้วนเกิดจากวิธีคิดที่แบ่งแยกความฉลาดออกจากความโง่เขลา ฮาราเวย์คิดว่า “Cyborg” เปรียบเสมือนลูกหลานนอกกฎหมายของลัทธิทุนนิยมแบบปิตาธิปไตย เนื่องจาก สภาวะของ“Cyborg” อยู่นอกขอบเขตของเหตุผล กฎระเบียบและความจริงที่เป็นสิ่งสมบูรณ์ ในทางตรงกันข้ามมันกำลังรื้อทำลายโครงสร้างและตรรกะแบบทุนนิยม วิธีคิดแบบสารัตถะนิยม อำนาจแบบชายเป็นใหญ่ และลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่แผ่ขยายอำนาจไปในโลกปัจจุบัน

           ในกรณีของทฤษฎีเฟมินิสต์ ฮาราเวย์โต้แย้งว่ากระบวนทัศน์ของเฟมินิสต์มักจะแยกพรมแดนชายออกจากหญิง และตอกย้ำว่าผู้ชายมีอำนาจเหนือกว่า ขณะที่ผู้หญิงถูกปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพ ฮาราเวย์จึงให้ข้อเสนอแนะแก่เฟมินิสต์ว่าควรเอาตนเองออกจากวิธีคิดสารัตถะนิยมและธรรมชาตินิยม เพื่อไม่มองความเป็นหญิงในแบบนุ่มนวลออ่อนหวานหรือเป็นเพศแม่ตามที่ธรรมชาติให้มา แต่ควรมองความเป็นหญิงในฐานะเป็นสิ่งประกอบสร้างจากความแข็งแกร่งและความอ่อนหวาน สภาวะหลอมรวมดังกล่าวคือลักษณะของ Cyborg ที่มีเพศสภาพหลายลักษณะอยู่รวมกัน ในแง่นี้ความคิดเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศที่แยกชายและหญิงจึงอาจมิใช่สิ่งจำเป็นสำหรับการจัดระเบียบของการดำรงอยู่ของสิ่งต่าง ๆ ฮาราเวย์เชื่อว่ามนุษย์ควรมีเสรีภาพที่จะสร้างเพศสภาพของตัวเองโดยไม่ยึดติดอยู่กับหมวดหมู่และกฎเกณฑ์ใด ๆ ข้อเสนอนี้คือหมุดหมายของช่วงเวลาที่สังคมข้ามพ้นเพศสภาพ (post-genderism) (Haraway, 2004) อย่างไรก็ตาม ข้อวิพากษ์ของฮาราเวย์ ทำให้เฟมินิสต์กระแสหลักรู้สึกกระอักกระอ่วน และไม่ยอมรับในข้อวิพากษ์เหล่านั้น (Grebowicz & Merrick, 2013)

 

สภาวะของ Cyborg

           ฐานคิดเกี่ยวกับ Cyborg คือการเห็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติและวัฒนธรรมผสมรวมเข้ากัน ขณะเดียวกันก็เปิดเผยให้เห็นความสัมพันธ์แบบใหม่ที่ซับซ้อน มีความคลุมเครือ ไม่มีขอบเขตพรมแดนที่ชัดเจนตายตัว ซึ่งเป็นสภาวะของสิ่งที่กำลังดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าจุดสุดท้าย ความคงที่ หรือความสมบูรณ์ สิ่งสำคัญคือรื้อถอนระบบอำนาจที่ถูกควบคุมโดยผู้ชาย สภาวะของ Cyborg ปรากฎขึ้นในลักษณะเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ธรรมชาติและวัฒนธรรมประสานเข้าหากัน (the lines of affinity) โดยไม่จำเป็นต้องก่อรูปหรือสถาปนาอัตลักษณ์ที่ชัดเจน สภาวะดังกล่าวคือการข้ามพ้นความเป็นศูนย์กลางของมนุษย์ และขยับไปสู่การผสานเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ เข้ามาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ฮาราเวย์เชื่อว่าการทำลายแบบแผนที่ตายตัวของสิ่งต่าง ๆ จะเกิดขึ้นได้โดยยอมให้วัตถุธรรมชาติเป็นส่วนเดียวกับวัตถุที่เป็นจักรกล รวมทั้งการให้วัตถุทั้งหลายเคลื่อนข้ามไปมาได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องมีกฎระเบียบมาควบคุมและบังคับ เช่นการไม่ยึดติดกับอัตลักษณ์ทางเพศที่ตายตัว แต่สามารถให้แบบแผนและคุณลักษณะทั้งหญิงและชายสลับสับเปลี่ยนและผสมผสานกันได้

           ในช่วงทศวรรษ 1990 ความคิดของฮาราเวย์ดำเนินไปพร้อมกับข้อถกเถียงของนักวิชาการสายหลังสมัยใหม่จำนวนมาก ซึ่งต่างออกมาวิพากษ์วาทกรรมกระแสหลักเกี่ยวกับความจริงที่สมบูรณ์เพียงหนึ่งเดียว ในขณะที่นักวิชาการหลังสมัยใหม่เสนอการทำความเข้าใจ “ความจริง” ที่ถูกสร้างขึ้นจากความรู้ที่หลากหลายซึ่งเป็นฐานคิดสำคัญของกระบวนทัศน์สัมพัทธนิยมทางญาณวิทยา (epistemological relativism) เป้าหมายคือการถกเถียงเรื่องกระบวนการสร้างความหมายที่ผูกขาดโดยความรู้วิทยาศาสตร์ตะวันตก ซึ่งสร้างผลกระทบเชิงสังคมที่ละเลยและดูแคลนมิติทางอารมณ์และความรู้สึก มีการแยกความรู้วิทยาศาสตร์ออกจากงานศิลปะและสุนทรียศาสตร์ มีการให้คุณค่าต่อระบบเหตุผล ด้อยค่าวิธีสร้างสรรค์แบบจินตนาการซึ่งถูกตีตราว่าไร้เหตุผล ข้อเสนอของฮาราเวย์กลายเป็นผีร้ายที่ตามหลอกหลอนนักคิดแบบปฏิฐานนิยมซึ่งหวาดหวั่นว่าสังคมจะล่มสลายหากไร้มาตรฐานความจริงที่เป็นสากล การต่อต้านความคิดของฮาราเวย์จึงเป็นปรากฎการณ์ในโลกวิชาการที่คล้ายกับสงครามแย่งชิงพื้นที่ความรู้ซึ่งผูกขาดด้วยกระบวนทัศน์เหตุผลนิยมและอำนาจของภาษาที่ใช้สร้างความหมายเกี่ยวกับความจริงและการดำรงอยู่ของโลก

           ฮาราเวย์เปรียบเสมือนจุดเปลี่ยนทางข้อเขียน (textual turn) ซึ่งอำนาจของภาษาเขียนกำลังถูกตรวจสอบ และการเปิดพื้นที่ให้ประสบการณ์อื่นที่ไม่ได้แสดงออกด้วยข้อเขียนให้มีเสียงเพิ่มขึ้น อิทธิพลความคิดเรื่อง Cyborg ของฮาราเวย์ที่ตกทอดมาถึงวงวิชาการในปัจจุบันคือการทบทวนสภาวะของความซับซ้อนที่ประกอบด้วยมนุษย์และสิ่งที่มิใช่มนุษย์เชื่อมเข้าหากัน ซึ่งถือเป็นวิธีการสร้างความรู้ที่ต่างไปจากกระบวนทัศน์ปฏิฐานนิยมแบบสุดโต่ง ความคิดของฮาราเวย์ได้เปิดพื้นที่ความรู้ที่เคยถูกมองข้ามให้เข้ามามีส่วนถกเถียงเกี่ยวกับความจริงและการดำรงอยู่ร่วมกันของสรรพสิ่ง (Ang, 2011)

 

แนวคิด Cyborg ในวงวิชาการ

           ปัจจุบัน นักวิชาการตีความ Cyborg ภายใต้วิธีอุปมาอุปมัย มากกว่าจะเข้าใจสภาวะ Cyborg ในฐานะเป็นการวิพากษ์ญาณวิทยาแบบคู่ตรงข้ามและการข้ามพ้นไปจากวิธีคิดแบบปฎิฐานนิยม (post-positivist ironic epistemology) (Sofoulis, 2015) ความเข้าใจเกี่ยวกับ Cyborg ในวงวิชาการมักจะเน้นย้ำในประเด็นการผนวกรวมตัวตนของมนุษย์เข้ากับเทคโนโลยีและสื่อใหม่ นำไปสู่การอธิบายปรากฎการณ์สังคมที่มนุษย์พึ่งพิงนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์จนทำให้มนุษย์แยกไม่ออกจากเครื่องจักร ความเข้าใจดังกล่าวกำลังทำให้สภาวะคลุมเครือถูกลดทอน และหันเหไปสนใจเพียงวัตถุที่ถูกสร้างขึ้นใหม่จากชีวภาพและเทคโนโลยี ในแง่นี้ Cyborg จึงกลายเป็นภาพตัวแทนของเสรีภาพใหม่ที่ทำให้มนุษย์แสดงศักยภาพที่ล้ำหน้ากว่าเดิม ซึ่งถือเป็นการแสวงหาความสมบูรณ์แบบชนิดใหม่ที่กระบวนทัศน์ปฏิฐานนิยมเคยแสวงหาและต้องการใช้วิทยาศาสตร์เป็นคำตอบ นอกจากนั้น Cyborg ถูกทำให้เป็นสัญลักษณ์ของตัวตนแบบใหม่ที่ต่อต้านกฎระเบียบสังคมและขยายจินตนาการเกี่ยวกับการมีชีวิตที่เลือกได้

           Sofoulis (2015) เสนอว่าวิธีการทำความเข้าใจสภาวะ Cyborg ตามความคิดของ ฮาราเวย์ จำเป็นต้องมองไปที่คำอธิบายของอำนาจที่ใช้ควบคุมโลกและผลักดันให้ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมารับใช้ผู้เสียเปรียบทางสังคมและต่อสู้กับระบอบอำนาจที่สร้างความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมให้กับมนุษย์ แนวคิดของฮาราเวย์คือต้นแบบที่กระตุ้นให้เกิดการท้าทายอำนาจ และยังเป็นแนวทางนำไปสู่การตั้งคำถามต่อความไม่เท่าเทียมที่ยังคงเกิดขึ้นในปัจจุบัน แนวคิดเกี่ยวกับ Cyborg ในฐานะเป็นการรื้อกระบวนทัศน์คู่ตรงข้ามและวิธีคิดแบบปฏิฐานนิยม ยังทำให้เกิดการตั้งคำถามใหม่ๆเกี่ยวกับความจริงที่ชี้นำโลก โดยเฉพาะความจริงที่ถูกสถาปนาขึ้นโดยรัฐและระบบทุนนิยมซึ่งทำลายความหลากหลายทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ความจริงเกี่ยวกับระบบตลาดและการบริโภคเร่งการใช้ทรัพยากรอย่างไร้ขอบเขตและปราศจากความรับผิดชอบ ส่งผลให้ทิศทางของมนุษย์มุ่งเน้นไปสู่ความสำเร็จทางวัตถุเพียงด้านเดียว ในแง่นี้ ความคิดเกี่ยวกับ Cyborg กำลังตรวจสอบทิศทางของมนุษย์ที่ถูกควบคุมด้วยระบบอำนาจเงินตราและหลักการเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ ผลที่ตามมาคือมนุษย์ถูกมองเป็นเพียงกลไกทางการตลาด

           Sofoulis (2015) วิจารณ์ว่าแนวโน้มการพัฒนาของรัฐสมัยใหม่ในปัจจุบันมักจะแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยการส่งเสริมนโยบายที่ผนวกรวมความรู้สังคมศาสตร์เข้ากับความรู้วิทยาศาสตร์ โดยเชื่อว่าการทำให้ความรู้สองส่วนนี้เข้ามาอยู่ในนโยบายเดียวกันจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม แต่การผนวกความรู้ภายใต้ระบอบอำนาจที่ยังมีนักวิทยาศาสตร์เป็นผู้กำหนดทิศทางและตัวชี้วัด สิ่งที่เกิดขึ้นมิใช่การแก้ปัญหาสังคมและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ในทางตรงกันข้ามมันกลับกลายเป็นเพียงการนำความรู้ชายขอบเข้าไปรับใช้ความรู้กระแสหลักที่ยังมีวิธีคิดแบบปฏิฐานนิยมเป็นโครงสร้างหลัก ข้อมูลเชิงสถิติและเชิงปริมาณยังคงมีความสำคัญและมักจะถูกนำไปใช้เป็นข้อกำหนดเชิงนโยบายมากกว่าจะเห็นคุณค่าข้อมูลเชิงประสบการณ์และอารมณ์ความรู้สึกของคนกลุ่มต่างๆSantos (2009) ตั้งข้อสังเกตว่าข้อมูลความรู้เชิงปริมาณที่บ่งบอกจำนวนที่ชัดเจนยังคงเป็นดัชนีในการกำหนดนโยบายและประเมินผลความสำเร็จของการพัฒนาชาติ ซึ่งถือเป็นความรู้แบบผูกขาดหรือเป็นระบอบเผด็จการทางญาณวิทยา (epistemological fascism) ที่ตัดทิ้งวิธีการแสวงหาความรู้แบบอื่นๆ ดังนั้น เรื่องท้าทายคือการทำให้นักวิทยาศาสตร์ที่มีวิธีคิดแบบปฏิฐานนิยมเห็นคุณค่าและความสำคัญของญาณวิทยาที่หลากหลาย

           หากความรู้จากวิธีคิดแบบปฏิฐานนิยมเป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศของความรู้ (knowledge ecology) ฉะนั้น ในการสร้างความเท่าเทียมและความหลากหลายของความรู้ที่จะนำมาใช้สร้างความเท่าเทียมทางสังคม จึงต้องทำให้เกิดการใช้ความรู้จากวิธีคิดที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ ความรู้ที่ต่างไปจากกระบวนทัศน์วิทยาศาสตร์และปฏิฐานนิยมไม่ควรถูกลดทอนหรือถูกกลืนหายไปในตรรกะเชิงปริมาณ (Sofoulis, 2015) ข้อวิจารณ์ของฮาราเวย์ช่วยให้เกิดคำถามต่อไปว่านักวิทยาศาสตร์จะตระหนักรู้ได้อย่างไรว่า “ความรู้” ที่ตนเองสร้างขึ้นมิได้มีความเป็นกลาง แต่ดำรงอยู่ในความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่โยงใยอยู่กับเงื่อนไขทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ Gandy (2010) อธิบายว่าแนวคิด Cyborg ของฮาราเวย์ถูกตีความจากวงการวิทยาศาสตร์ในฐานะเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ที่ช่วยทำให้มนุษย์ใช้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น รวมทั้งเป็นการพัฒนากายภาพของมนุษย์ด้วยอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ทำให้มนุษย์สมบูรณ์แข็งแรงมากขึ้น (Clynes & Kline, 1995) อย่างไรก็ตาม ฮาราเวย์มองเทคโนโลยีในฐานะเป็นกลไกของการปลดปล่อยจากอำนาจที่ครอบงำมนุษย์ (Lykke & Braidotti, 1996)

 

Cyborg และมานุษยวิทยา

           ความคิด Cyborg ของฮาราเวย์ยังเป็นวิธีทบทวนพรมแดนของพื้นที่ในฐานะเป็นประสบการณ์เชิงสังคม และการตั้งคำถามเกี่ยวกับพื้นที่ของร่างกายในเชิงชีววิทยาและพื้นที่ของเทคโนโลยีซึ่งเชื่อมเข้าหากันมากขึ้น เช่นร่างกายของคนไข้ที่ถูกเทคโนโลยีทางการแพทย์เข้ามาปรับปรุงซ่อนแซม พื้นที่ที่เชื่อมโยงนี้มิได้แยกขาดระหว่างวัฒนธรรมกับธรรมชาติ แต่พรมแดนสองอย่างนี้ดำรงอยู่ในเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน ในแง่นี้ Cyborg จึงเป็นประสบการณ์ทางร่างกายที่มนุษย์มีต่อพรมแดนของพื้นที่ ประสบการณ์ดังกล่าวนี้ทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับ “การมีตัวตน” ที่เคยถูกเชื่อว่ามีเอกภาพและมั่นคง ความคิด Cyborg ทำให้เห็นตัวตนที่ถูกรื้อทำลายและสร้างใหม่ตลอดเวลา กล่าวคือ ตัวตนของมนุษย์เป็นลูกผสมระหว่างธรรมชาติและวัฒนธรรม (Black, 2014) ในประเด็นนี้ นักมานุษยวิทยา Escobar(1994) นำไปใช้เพื่ออธิบายว่าความเป็นมนุษย์ต้องทำความเข้าใจตัวตนที่เป็นผลผลิตของสิ่งที่เป็นธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น นั่นหมายถึง การศึกษามนุษย์ในฐานะเป็น cyborg subjects มากกว่าจะศึกษามนุษย์ที่เป็นองค์ประกอบทางชีววิทยา ความเข้าใจนี้ช่วยขยายขอบเขตความเป็นตัวตนที่มิใช่เพียงจินตนาการในนิยายวิทยาศาสตร์ แต่มนุษย์ในชีวิตประจำวันคือสิ่งที่ประกอบสร้างจากสภาวะ cyborg

           ความคิดของฮาราเวย์ปูทางให้การศึกษามานุษยวิทยาพ้นมนุษย์มีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างวิธีคิดใหม่เกี่ยวกับศักยภาพของมนุษย์ที่ดำเนินไปพร้อมกับสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นและวัตถุภาวะที่เข้ามาอยู่ในปฏิบัติการทางสังคม วิธีคิดนี้เปลี่ยนประสบการณ์ที่มนุษย์มีต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัว และย้อนกลับมามองตัวตนของมนุษย์ในฐานะเป็นสิ่งที่ไม่คงที่และคลุมเครือ (ambiguous body) แต่ถูกสร้างและถูกปรับแต่งให้เปลี่ยนสภาพอยู่ตลอดเวลา (Gray & Mentor, 1995)

 

เอกสารอ้างอิง

Ang, I., (2011). Navigating complexity: from cultural critique to cultural intelligence. Continuum: Journal of Media & Cultural Studies, 25 (6), 779–794.

Black, D. (2014). Where Bodies End and Artefacts Begin. Body &Society, 20(1), 43. Clynes, M.E. & Kline, N.S. (1995). Cyborgs and Space', in Chris Hables Gray (ed), The Cyborg Handbook. London: Routledge.

Escobar, A. (1994). Welcome to Cyberia: Notes on the Anthropology of Cyberculture. Current Anthropology, 35(3), 211-231.

Ferrando, F. (2014). Posthumanism. Kilden Journal of Gender Research, 2, 168–172.

Gandy, Matthew (2010). The Persistence of Complexity: Re-reading Donna Haraway's Cyborg Manifesto. AA Files, 60 (60): 42–44.

Gray, C. H. & Mentor, S. (1995). The Cyborg Body Politic. In Chris Hables Gray, (ed.) The Cyborg Handbook. New York: Routledge.

Grebowicz, M. & Merrick, H. (2013). Beyond the Cyborg: Adventures with Donna Haraway. New York: NY: Columbia University Press.

Haraway, D. (1985). A manifesto for cyborgs: Science, technology and socialist feminism in the 1980s. Socialist Review, 80. Reprinted in D. Haraway (1991). A Cyborg Manifesto: Science, Technology, and Socialist-Feminism in the Late Twentieth Century. In Simians, Cyborgs and Women: The Reinvention of Nature. (pp.149- 181). New York: Routledge.

Haraway, D. (2004). Cyborgs, Coyotes, and Dogs: A Kinship of Feminist Figurations' and 'There are Always More Things Going on Than You Thought! Methodologies as Thinking Technologies'". The Haraway Reader. (pp. 321–341). New York: Routledge.

Lykke, N. & Braidotti, R. (Eds.). (1996). Between Monsters, Goddesses and Cyborgs: Feminist Confrontations with Science, Medicine and Cyberspace. London: Zed Books.

Santos, B, (2009). A Non-Occidentalist West?: Learned Ignorance and Ecology of Knowledge. Theory, Culture Society, 26, 103-125.

Sofoulis, Z. (2015). The Cyborg, its Manifesto and their relevance today: Some reflections. Journal of Media and Communication, 6(2), 8-15.


ผู้เขียน

ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร


 

ป้ายกำกับ Cyborg Manifesto ดอนน่า ฮาราเวย์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Donna Haraway Posthuman Anthropology ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share