ลูกเสือเขาไม่จับมือขวา

 |  โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ผู้เข้าชม : 15146

ลูกเสือเขาไม่จับมือขวา

“ลูกเสือเขาไม่จับมือขวา ยื่นซ้ายมาจับมือกันมั่น มือขวาใช้เคารพกัน มือขวาใช้เคารพกัน ยื่นซ้ายออกมาพลัน จับมือ จับมือ...”

 

           เสียงเพลงในค่ายลูกเสือที่ทำให้หวนคิดถึงตอนเป็นเด็กนักเรียนในวันนั้น วันที่ต้องเข้าค่ายทำกิจกรรมลูกเสือกับเพื่อน ๆ แล้วในวันนี้จึงอยากจะชวนมาอ่านบทความ “เมื่อข้าพเจ้าโดนหัดลูกเสือ” บทความนี้จะพาเราย้อนอดีตไปประมาณ 50 ปี สู่บรรยากาศการเข้าค่ายลูกเสือ ณ ค่ายวชิราวุธ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดย คุณปัญญา ฤกษ์อุไร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ชื่นชอบในการเขียนหนังสือ และมีผลงานมากมายหลายเล่ม อาทิ หัวอกนายอำเภอ หัวอกผู้ว่า ชีวิตต้องสู้ เขาหาว่าข้าพเจ้าฆ่านักข่าว คนหนอคน ฯลฯ และยังเป็นคอลัมนิสต์ให้กับนิตยสารชื่อดังอย่าง “ชาวกรุง” จนได้รับสมญานามว่า “ผู้ว่านักเขียน”

 

ค่ายลูกเสือวชิราวุธ ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

ที่มา: http://scoutthailand.org/pages/camp-view.php?id=1

 

           คุณปัญญา เป็นเด็กกรุงเทพฯ แต่ไปจบ ม.6 ที่ปักษ์ใต้ และทางบ้านได้ฝากให้เข้าทำงานเสมียนแต่ไม่ชอบ เลยกระโดดน้ำเกาะเรือโยงหนีเข้ากรุงเทพฯ งานแรกในกรุงเทพฯ คือยกกระเป๋าผู้โดยสารเครื่องบินที่ดอนเมืองได้วันละ 8 บาท นอนก่ายหน้าผากคิดอยู่หลายคืนแล้วจึงออกไปเป็นคนฉีกตั๋วโรงหนัง ค่อยดีหน่อยได้คืนละ 10 บาท กลางวันอยู่ว่าง ๆ จึงไปเรียนเตรียมธรรมศาสตร์ 2 ปี แล้วเข้าคณะนิติศาสตร์ 4 ปี ได้มาพร้อมกัน 2 ปริญญา คือ นิติศาสตร์ และสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ แล้วสอบชิงทุนไปเรียนปริญญาโทที่เมืองนอก กลับมาจะไปทำงานเป็นคนฉีกตั๋วอย่างเดิม เจ้าของโรงหนังก็ส่ายหน้าบอกวุฒิสูงไป ก็เลยหันไปรับราชการเป็นข้าราชการมหาดไทย ปลัดอำเภอ นายอำเภอ ปลัดจังหวัด เลขานุการกรมการปกครอง รองผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัด (จากหนังสือหัวอกผู้ว่า)

           บทความ “เมื่อข้าพเจ้าโดนหัดลูกเสือ” ตีพิมพ์ในนิตยสารรายเดือน “ชาวกรุง” ปีที่ 19 เล่มที่ 6 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2513 หน้า 98-106 ในเรื่องขณะนั้นผู้เขียนคือคุณปัญญายังรับราชการมหาดไทย ได้รับคำสั่งจากผู้ว่าราชการจังหวัด (ในเรื่องมิได้บอกว่าเป็นที่ใด) ให้ไปเข้าค่ายอบรมลูกเสือขั้นวูดแบดจ์ ซึ่งเป็นหลักสูตรการอบรมผู้นำลูกเสือที่ก่อตั้งโดย Lord Baden-Powell ณ Gilwel Park ใกล้กรุงลอนดอน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำขั้นสูง เมื่อจบหลักสูตรผู้เข้าร่วมจะได้รับตราลูกปัดตราไม้ (Wood Badge) ผ้าพันคอและวอกเกิลกิลเวล (Gilwel Neckerchief and woggle)

 

ลูกปัดตราไม้ ผ้าพันคอและวอกเกิลกิลเวล

ที่มา: https://thescoutingpages.org.uk/the-wood-badge/

 

           เรื่องราวของตราลูกปัดตราไม้นี้เริ่มจากปี ค.ศ. 1888 ขณะนั้น Baden-Powell อยู่ในพื้นที่ทางทหารของซูลู (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของแอฟริกาใต้) และได้ไล่ตาม Dinuzulu โอรสของ Cetshwayo กษัตริย์ของซูลูมาระยะหนึ่งแต่จนแล้วจนรอดก็ไม่สามารถจับตัวเขาได้ ว่ากันว่า Dinuzulu สวมสร้อยคอยาวยาวกว่าสี่เมตรที่ร้อยลูกปัดอะคาเซียมากกว่าหนึ่งพันเม็ด Baden-Powell อ้างว่าได้พบสร้อยคอของ Dinuzulu และเป็นที่รู้จักกันในชื่อ iziQu ในภาษาซูลู ต่อมา Baden-Powell ได้ใช้ลูกปัดนี้มาจัดทำรางวัลในการเข้าร่วมอบรมลูกเสือครั้งแรกที่ Gilwel Park โดยใช้ลูกปัดสองเม็ดจากสร้อยคอที่เขาพบร้อยเข้ากับเชือกหนังที่ชายชราชาวแอฟริกามอบให้ แล้วจึงเรียกว่า Wood Badge

 

Dinuzulu กับสร้อยคอลูกปัดอะคาเซีย

ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Wood_Badge

 

Sir Robert Baden-Powell คนไว้หนวดด้านขวาของภาพ

ที่มา: https://www.pinterest.com/pin/645281452855764895/

 

           ในเรื่องคุณปัญญาได้เล่าถึงบรรยากาศของการเข้าค่าย เริ่มตั้งแต่การต้องขับรถไปค่ายวชิราวุธและหลงทางหาค่ายไม่เจอ การเข้าหมู่กับเพื่อลูกเสือคนอื่น ๆ ทั้งชายหญิง การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในค่าย ทั้งการทำกิจกรรม การหุงหาอาหารกินกันเองภายในหมู่ลูกเสือ การตกหลุมรักของหนุ่มสาวที่มาเข้าร่วมกิจกรรม พร้อมทั้งเรื่องเล่าขำ ๆ ฮา ๆ ของเพื่อนลูกเสือ และครูผู้ฝึกสอน นอกจากนี้ยังมีความรู้เรื่องของการทักทายของลูกเสือว่า ทำไมลูกเสือถึงไม่จับมือขวา และท้ายสุดผู้เขียนได้บอกว่า

“การอบรมวิชาลูกเสือในครั้งนั้น ช่วยให้ข้าพเจ้าได้เข้าใจแก่นสารของชีวิตและคุณประโยชน์ของกิจการลูกเสือเป็นเอนกประการ”

 

           อ่านบทความ “เมื่อข้าพเจ้าโดนหัดลูกเสือ” ฉบับเต็ม ได้ที่ฐานข้อมูลหนังสือเก่าชาวสยาม

https://db.sac.or.th/siamrarebooks/books/1571/SRB-1562

 

อ้างอิง

https://en.wikipedia.org/wiki/Wood_Badge

https://www.scouts.org.uk/volunteers/learning-development-and-awards/awards-and-recognition/wood-badge/


ผู้เขียน

ดอกรัก พยัคศรี

นักวิชาการคลังข้อมูล ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ลูกเสือ หนังสือเก่าชาวสยาม ดอกรัก พยัคศรี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share