“สมี” คำโบราณกับความหมายที่เปลี่ยนไป

 |  โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ผู้เข้าชม : 3220

“สมี” คำโบราณกับความหมายที่เปลี่ยนไป

           ช่วงเวลานี้ ผู้ที่ตกเป็นข่าวโด่งดังข้ามวันข้ามคืนและสามารถยึดครองพื้นที่สื่อได้มากที่สุด คงหนีไม่พ้นบุคคลที่สื่อเรียกว่า “ทิดกาโตะ” หรือ "สมีกาโตะ" อดีตพระนักเทศน์ชื่อดังในสังคมออนไลน์

           สาเหตุที่ต้องเปลี่ยนสถานะจากหลวงพี่มาเป็นพี่หลวง หรือ "สมีกาโตะ" นั้น เพราะต้องข้อหามีสัมพันธ์สวาทกับหญิงสาวในขณะที่ยังครองเพศสมณะ (แต่ก็ได้รีบลาสิกขาไปเสียก่อนที่จะมีคำตัดสินว่าต้องอธิกรณ์จนปาราชิก) กลายเป็นบุคคลธรรมดา คือ นายพงศกร จันทร์แก้ว

           ในสื่อทั่วไปมักใช้คำว่า "สมีกาโตะ" แทนชื่อนายพงศกร จันทร์แก้ว หรือแรมโบ้ (ชื่อเล่น) เหตุหนึ่งคงเป็นเพราะว่า "สมีกาโตะ" เป็นคำที่สั้นเหมาะกับการเขียนการอ่าน นอกจากนี้ยังเป็นคำที่กินความมาก สื่อแล้วคนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย "สมีกาโตะ" สามารถแยกออกได้เป็นสองคำ คือ "สมี" และ "กาโตะ" แน่นอนคำว่า "กาโตะ" คือ ฉายานามที่สังคมออนไลน์ได้ตั้งให้กับพงศกร จันทร์แก้ว ในขณะที่นายพงศกร หรือแรมโบ้ยังอยู่ในเพศสมณะ แล้วคำว่า "สมี" ที่นำหน้านั้นมีความหมายว่าอย่างไร?

 

สมีในพจนานุกรม

           หากจะลองตรวจสอบจากพจนานุกรมเก่า ๆ ก็จะพบการให้ความหมายของ "สมี" ได้ดังนี้

           สมี น. (1) [สะหฺมี] น. คำเรียกพระภิกษุผู้ต้องอธิกรณ์ขั้นปาราชิก

                  (2) (โบ) น. คำใช้เรียกพระภิกษุ

           (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554)

           สมี น. คำเรียกพระภิกษุผู้ต้องอธิกรณ์ขั้นปาราชิก, (โบ) คำใช้เรียกพระภิกษุ (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542)

           สมี น. คำเรียกพระภิกษุผู้ต้องอธิกรณ์ชั้นปาราชิก, (โบ) คำใช้เรียกพระภิกษุ (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525)

           สมี (โบ) เป็นคำใช้เรียกพระภิกษุ, ภายหลังให้เป็นคำเรียกพระภิกษุผู้ต้องอธิกรณ์ (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2473)

           สมี น. เป็นคำเรียกพระภิกษุผู้ต้องคดี (ปทานุกรม กรมตำรา กระทรวงธรรมการ 2470)

           จากความหมายข้างต้นจะเห็นได้ว่าความหมายแรก "คำเรียกพระภิกษุผู้ต้องอธิกรณ์ขั้นปาราชิก" จะตรงกับความหมายที่เราใช้เรียก "สมีกาโตะ" กันในปัจจุบัน ส่วนอีกหนึ่งความหมายที่มี (โบ) หมายถึงศัพท์โบราณ "สมี" คือคำที่ใช้เรียกพระภิกษุทั่วไปเท่านั้น ดังนั้นหมายความว่าในอดีต "สมี" เป็นคำที่ใช้เรียกพระภิกษุ เช่น สมีแก้ว สมีคำ สมีคง ส่วน "สมี" ที่มีความหมายถึงพระภิกษุผู้ต้องอธิกรณ์ขั้นปาราชิก คงเกิดขึ้นในสมัยหลัง แต่จะเป็นสมัยใดก็ไม่อาจทราบได้

           ในปทานุกรม ปี 2470 ได้ให้ความหมายของสมีว่าเป็นคำเรียกพระภิกษุผู้ต้องคดี ในขณะที่พจานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2473 ได้ให้ความหมายแรกว่าเป็นคำที่ใช้เรียกพระภิกษุ(โบ) และบอกว่าภายหลังใช้เรียกพระภิกษุผู้ต้องอธิกรณ์ ส่วนในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายแรกว่าเป็นคำเรียกพระภิกษุผู้ต้องอธิกรณ์ขั้นปาราชิก และเป็นคำที่ใช้เรียกพระภิกษุ (โบ) สำหรับพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้ความหมายเหมือนกับฉบับ พ.ศ. 2525

           ดังนั้นความหมายของ “สมี” ที่หมายถึงพระภิกษุผู้ต้องอธิกรณ์มีใช้กันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2470 มาแล้ว

           เมื่อลองค้นคำในหนังสือ "รัตนมาลา" พจนานุกรมแสดงความหมาย สมัย และที่มาของ โบราณิกศัพท์ ได้ให้ความหมายและที่มาของศัพท์ดังนี้

           สมี (น.)   คำเรียกพระภิกษุทั่วไป ปัจจุบันใช้เรียกพระภิกษุผู้ต้องอธิกรณ์ขั้นปาราชิก

                      "พระสมีทรงคัมภีร์ให้แบกนำ" ปาจิต น.1448

                      "นิมนต์สมีขรัวส้มท่านสมภาร" ขุนช้าง เสภา ต.40 น.

                      "จะกล่าวถึงสมีเพชรกับเณรบัว" ขุนช้าง เสภา ต.48 น.101

           จะเห็นได้ว่า "รัตนมาลา" ได้ให้ความหมายเหมือนกับพจนานุกรมฉบับปัจจุบัน แต่ตัวอย่างที่แสดงที่มาของศัพท์ในวรรณคดีนั้น เมื่อพิจารณาแล้ว คำว่า “สมี” ในที่นี้น่าจะมีความหมายไปในเชิงเรียกพระภิกษุทั่วไปมากกว่า

           เรื่อง ปาจิต คือ ปาจิตกุมาร แต่งเมื่อ พ.ศ. 2316 ในแผ่นดินพระเจ้าตาก เนื้อหาเป็นตำนานเมืองพิมาย มีเค้าโครงจากปัญญาสชาดกกับนิทานท้องถิ่นพิมายเรื่องท้าวปาจิต-นางอรพิม (อ่านรายละเอียดในหนังสือ การศึกษาวิเคราะห์วรรณกรรม เรื่องอิทธิพลกลอนอ่านในนิทานคำกลอนของสุนทรภู่ โดย ทิพวัน บุญวีระ กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2541)" อ้างอิงจาก http://www.sujitwongthes.com/2009/09/วังหลัง-สุนทรภู่-และมหิด/

 

หนังสือ การศึกษาวิเคราะห์วรรณกรรม เรื่องอิทธิพลกลอนอ่านในนิทานคำกลอนของสุนทรภู่

โดย ทิพวัน บุญวีระ มีให้บริการที่ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

 

           ส่วนเสภาขุนช้างขุนแผน สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในสมัย รัชกาลที่ 2 (พ.ศ. 2310-2367)

           หากจะมองในแง่ของการเปลี่ยนแปลงเสียงและรูปคำ คำว่า "สามี" ดูจะใกล้เคียงกับคำว่า "สมี" มากที่สุด ในปัจจุบันเราอาจคุ้นเคยกับความหมายของ "สามี" ในแง่ของชีวิตคู่ "สามี ภรรยา" แต่ความหมายดั้งเดิมที่เป็นภาษาบาลีนั้น "สามี" หมายถึง ผู้เป็นใหญ่ และมักใช้กับพระสงฆ์ผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน ส่วนคำว่า "สมี" ในภาษาบาลี หมายถึง ชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง

           สมี (ศมี) อิ.; ดู สตฺตุผลา สตฺตุผลา (สกฺตุํ) อิ.; ต้นสมี, ไม้พิมาน the tree Mimasa Suma (ปาลี สยาม อภิธาน ตำราศัพท์บาลีแปลเป็นไทย)

           ในอดีตคำว่า "สามี" มีอยู่ในตำแหน่งยศทางสงฆ์หรือสมณศักดิ์ด้วยเช่นกัน เช่น "สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีศรีรัตนลงกาทีปมหาสามี" หรือพระมหาเถรศรีศรัทธา ในจารึก วัดศรีชุม สมัยสุโขทัย ประมาณพุทธศตวรรษที่ 19-20  (https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/177)

           "สมเด็จมหาสามีญาณเทพ เจ้าวัดมหาพน" ใน จารึกสมเด็จมหาสามีญาณเทพสร้างพิหารวัดกลาง พ.ศ. 2033 (https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/1817)

           "มหาสามีนันทประหญา" "มหาสามีจันทรังสีป่าญะสุมงคลมหาสามีเจ้า" ในจารึกมหาสังฆราชาศรีตรีปิฎก (https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/2056)

           "มหาสามีเจ้าญาณเทพคุณ" ใน จารึกมหาสามีเจ้าญาณเทพคุณวัดบ้านดอน พ.ศ. 2046 (https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/1589)

           "มหาสามีญาณ (สุน –) ทรเจ้าวัดพระเกิด" ในจารึกวัดมหาสามีญาณสุนทรเจ้าวัดพระเกิด พ.ศ. 2056 (https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/1615)

           เมื่อลองเอาความหมายโบราณของคำว่า "สมี" ที่หมายถึงใช้เรียกพระภิกษุ กับความหมายของคำว่า "สามี" ในอดีตมาพิจารณาก็เห็นความหมายที่สอดคล้องกัน เพื่อให้พอสันนิษฐานได้ว่าคำว่า "สมี" น่าจะเลื่อนมาจากคำว่า "สามี" นอกจากนี้ในชั้นหลังก็ไม่มีการเรียกพระสงฆ์ว่า "สามี" อีกแล้ว แม้แต่ในสมณศักดิ์สงฆ์เองก็ไม่มีคำว่า "สามี" อยู่ (https://th.wikipedia.org/wiki/สมณศักดิ์)

           จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนได้เคยอ่านคัมภีร์ใบลานที่เกี่ยวกับหมวดตำนานต่าง ๆ ทั้งตำนานบ้านเมือง ตำนานพุทธศาสนา และเคยเห็นคำว่า "สมี" ในเอกสารอยู่บ่อย ๆ และเป็นการใช้ในความหมายที่ใช้เรียกพระสงฆ์ หรือพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ปกติ ไม่เคยพบว่ามีความหมายอย่างอื่นหรือความหมายที่เป็นผู้ต้องอธิกรณ์ขั้นปาราชิกเหมือนในปัจจุบัน

           จะเห็นได้ว่าคำว่า “สมี” หรือ”สามี” แต่เดิมนั้นมีความหมายในการใช้เรียกพระภิกษุผู้ใหญ่ ต่อมาความหมายได้กว้างออกรวมเรียกเอาพระภิกษุทั่วไปเข้าไปด้วย จากนั้นความหมายได้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือกลายเป็นพระภิกษุที่ต้องอธิกรณ์ขั้นปาราชิกจนมถึงในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ข้อเขียนนี้ไม่ได้เป็นบทสรุปที่มาที่ไปและช่วงเวลาการของคำว่า "สมี" แต่เป็นการมุ่งให้ทุกคนที่อ่านได้ช่วยกันคิด วิเคราะห์ และแสดงความเห็นเพื่อแบ่งปันความรู้ในวงกว้างอย่างสร้างสรรค์


ผู้เขียน

ดอกรัก พยัคศรี

นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร


 

ป้ายกำกับ สมี คำโบราณ ความหมาย ดอกรัก พยัคศรี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share