อิทธิพลของอีมิล เดอร์ไคม์

 |  มรดกวัฒนธรรม และภูมิปัญญา
ผู้เข้าชม : 8708

อิทธิพลของอีมิล เดอร์ไคม์

ในขณะที่โบแอสและลูกศิษย์กำลังเผยแพร่วิชามานุษยวิทยาในทวีปอเมริกาเหนือ ในประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษกำลังได้รับอิทธิพลความคิดของอีมิล เดอร์ไคม์ ซึ่งเป็นนักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส เดอร์ไคม์เป็นบุคคลที่มีอิทธิพลสำคัญต่อมานุษยวิทยาอังกฤษในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะอัลเฟร็ด เรจินัลด์ แรดคลิฟฟ์-บราวน์ซึ่งสร้างทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ อาจกล่าวได้ว่าเดอร์ไคม์คือผู้ริเริ่มสกุลความคิดสำคัญในยุโรป 2 สกุล คือ สกุลโครงสร้างแบบฝรั่งเศส และ สกุลมานุษยวิทยาสังคมของอังกฤษ

ทฤษฎีของเดอร์ไคม์เกิดขึ้นจากหนังสือ 4 เล่ม คือ Division of Labour in Society (1893) The Rules ofSociological Method (1895) Suicide (1897) และ The Elementary Forms of The Religious Life (1912) หนังสือแต่ละเล่มเป็นส่วนผสมให้เกิดแนวคิดแบบอังกฤษและฝรั่งเศส ในเรื่อง Division of Labour in Society เดอร์ไคม์อธิบายความหลากหลายและส่วนประกอบของวัฒนธรรม โดยแบ่งวัฒนธรรมเป็นสองแบบ คือวัฒนธรรมชนเผ่า วัฒนธรรมแบบนี้ไม่มีการแบ่งแรงงาน คนแต่ละคนจะเหมือนกัน และกลมเกลียว วัฒนธรรมแบบนี้เรียกว่า mechanical solidarity วัฒนธรรมอีกแบบหนึ่งคือ วัฒนธรรมที่เจริญแล้ว มีการแบ่งแรงงาน คนแต่ละคนมีความหลากหลายแตกต่างกัน คนในสังคมจะเป็นอิสระต่อกันและอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว เหมือนกับอวัยวะในร่างกายที่ทำหน้าที่ต่างๆเพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ เดอร์ไคม์เรียกแบบแผนนี้ว่า organic solidarity

ความคิดหลักของเดอร์ไคม์คือความเป็นปึกแผ่นของสังคม ซึ่งจะเกิดขึ้นได้สองแนวทาง เดอร์ไคม์สนใจการร่วมมือกันทางสังคม ซึ่งออกัส คอมท์เรียกว่าสังคมที่คงที่ มากกว่าการเปลี่ยนแปรไปเรื่อยๆ ความคิดเกี่ยวกับสังคมของเดอร์ไคม์แตกต่างจากคาร์ล มาร์กซ์ เพราะมาร์กซ์เชื่อว่าความเป็นปึกแผ่นทางสังคมจะหายไปเมื่อมีความขัดแย้งทางชนชั้น มาร์กซ์เชื่อว่าความเป็นรัฐจะค่อย ๆ หมดไปและกลายเป็นคอมมิวนิสต์ ส่วนเดอร์ไคมเชื่อว่าสังคมจะค่อยๆเปลี่ยนไปเป็นสภาพที่กลมเกลียวแบบประสานงานกัน รัฐบาลจะทำหน้าที่จัดระเบียบสังคม คนแต่ละคนจะมีหน้าที่ของตัวเอง

เดอไคม์สร้างทฤษฎีทางสังคมวิทยา อธิบายว่าปฏิสังสรรค์ทางสังคมเป็นความจริงทางสังคม เดอไคม์เชื่อว่าสังคมมีแก่นแท้ของตัวเอง ความจริงทางสังคมเป็นการแสดงออกแบบหมู่คณะ หรือ collective representations เป็นการการแสดงออกของจิตสำนึกรวมหมู่ หรือจิตใจของหมู่คณะ แนวคิดนี้เป็นของเรเน่ เดคาร์ต ด้วยเหตุนี้ทำให้เดอไคม์เป็นนัคิดแนวเหตุผลนิยม และตกทอดมาสู่แนวคิดในมานุษยวิทยาฝรั่งเศส

ในเรื่อง Suicide เดอไคม์อธิบายเกี่ยวกับความจริงทางสังคม โดยยกตัวอย่างการฆ่าตัวตาย เพราะการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่มีมิติทางสังคม เดอไคม์กล่าวว่าในสังคมชนเผ่า การฆ่าตัวตายเป็นการทำเพื่อคนอื่น เพราะสังคมเป็นเรื่องของคนหมู่มาก แต่ในสังคมที่เจริญแล้ว การฆ่าตัวตายเป็นการฆ่าตัวเอง ไม่เกี่ยวกับคนอื่น คนที่ฆ่าตัวตายเป็นการแสดงออกส่วนตัว เมื่อความกลมเกลียวของสังคมเริ่มคลอนแคลน บุคคลก็จะคิดฆ่าตัวตายเพราะรู้สึกแปลกแยก เนื่องจากสังคมขาดระเบียบกฎเกณฑ์

ในเรื่อง The Elementary Forms of the Religious Life เดอร์ไคม์อธิบายว่ากำเนิดศาสนามาจากจิตใจของปวงชนรูปแบบของศาสนาในระยะแรกคือการแสดงออกของหมู่ชน เป็นจิตสำนึกร่วมของคนจำนวนมากที่มีต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์และหลักศีลธรรม คนจำนวนมากจะนำหลักศีลธรรมมาเป็นหลักทางสังคมเพื่อเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติ เดอไคม์เชื่อว่าความรู้ เป็นการสังเกตที่อิสระ มานุษยวิทยาฝรั่งเศสนำความคิดเรื่องศาสนาของเดอไคม์มาอธิบายเรื่องโครงสร้างของระบบเครือญาติ เช่น การศึกษาของคล้อด เลวี่-สเตราสส์

ต้นกำเนิดของศาสนา หรือสังคมในความคิดของเดอไคม์ เกิดขึ้นในพิธีกรรมทางสังคมที่กระทำต่อบุคคล ทฤษฎีของเดอไคม์ อธิบายว่า “คนที่ไร้ความเจริญ” (เช่นคนพื้นเมือง) จะมีประสบการณ์เกี่ยวกับ “ความแจ่มใส” เมื่อได้ทำกิจกรรมกับเพื่อนฝูง ประสบการณ์นี้แสดงให้เห็นว่ามีอำนาจบางอย่างอยู่นอกตัวมนุษย์ เมื่อพิธีกรรมเสร็จสิ้นลง คนจำนวนมากก็แยกย้ายออกไปเพื่อไปทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันตามปกติ เดอร์ไคม์แบ่งแยกโลกในชีวิตประจำวัน (profane) กับโลกที่ศักดิ์สิทธิ์(sacred) ออกจากกัน โลกในชีวิตประจำวันเป็นโลกของการทำงานแบบจำเจและมีความสกปรก ส่วนโลกศักดิ์สิทธิ์จะเกิดในพิธีกรรม มีความสะอาดบริสุทธิ์และมีอำนาจ ในพิธีกรรมจะมีความรู้สึกแบบแจ่มใสเบิกบาน รูปปั้นศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรมหรือ โทเทม จะเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและทำให้เกิดความรู้สึกเบิกบาน โทเทมเป็นสัญลักษณ์ของการรวมกลุ่มและความเป็นปึกแผ่นของสังคม ซึ่งจะเกิดในพิธีกรรม

การเปลี่ยนผ่านทางความคิดจากเดอไคม์มาสู่เลวี่-สเตราสส์ และมานุษยวิทยาสกุลฝรั่งเศส เห็นได้จากงานศึกษาของ
มาร์เซล มอสส์ (ค.ศ.1872-1950) ซึ่งเป็นหลานของเดอร์ไคม์ มอสส์คิดเหมือนเดอร์ไคม์ ในบทความเรื่อง The Gift (1924) มอสส์อธิบายเกี่ยวกับสภาวะจิตใจของบุคคล กล่าวคือโครงสร้างพื้นฐานทางจิตใจของบุคคล จะเป็นตัวทำให้เกิดโครงสร้างจิตใจของกลุ่ม และโครงสร้างของโลก มอสส์สนใจโครงสร้างพื้นฐานของการแลกเปลี่ยนของกำนัล เพราะการให้ของกำนัลเป็นการแลกเปลี่ยน หรือ reciprocity ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้หลักการพื้นฐาน คือการให้ การรับ และการตอบแทน การแลกเปลี่ยนแบบต่างตอบแทนเกิดขึ้นในโครงสร้างของจิตใจที่ทุกๆคนมีเหมือนกัน นักมานุษยวิทยาเศรษฐกิจเชื่อว่าการแลกเปลี่ยนแบบนี้จะเกิดขึ้นในสังคมที่ยังไม่มีระบบการค้า แต่มอสส์เชื่อว่าการแลกเปลี่ยนแบบนี้เป็นสิ่งสากล

เลวี่-สเตราสส์เป็นผู้รู้เกี่ยวกับทฤษฎีโครสร้างในมานุษยวิทยาฝรั่งเศส และเป็นบุคคลที่ได้รับยกย่องมากคนหนึ่งใน
คริสต์ศตวรรษที่ 20 ในระหว่างที่ยังเป็นนักเรียน เลวี่-สเตราสส์สนใจการเมืองและชาติพันธุ์วิทยา รวมทั้งสนใจแนวคิดของ มอสส์ เลวี่-สเตราส์เก็บข้อมูลในประเทศบราซิลและนำข้อมูลมาเขียนหนังสือเรื่อง The Elementary Structures of Kinship(1949) และ Structural Anthropology (1958) หนังสือทั้งสองนี้เป็นการวิเคราะห์ระบบเครือญาติซึ่งวางอยู่บนพฤติกรรมของการแลกเปลี่ยนต่างตอบแทน หรือการแลกเปลี่ยนผู้หญิง

การศึกษาของเลวี่-สเตราสส์ เป็นไปตามแนวทางของเดอร์ไคม์ นั่นคือการแสวงหาความเป็นปึกแผ่นทางสังคม เลวี่-สเตราสส์เสนอว่าการแลกเปลี่ยนสิ่งของจะทำให้เกิดพันธมิตร ทำให้สังคมมีปฏิสัมพันธ์กันและเป็นปึกแผ่น พันธมิตรจะเกิดขึ้นเมื่อมีการแลกเปลี่ยนผู้หญิง ผู้หญิงเปรียบเสมือน “ของกำนัล” เลวี่-สเตราสส์อธิบายว่าโครงสร้างของการแลกเปลี่ยนของกำนัลจะมีอยู่ในความคิดของมนุษย์ และเป็นสิ่งสากล โครงสร้างนี้มีลักษณะเป็นการจัดระเบียบสิ่งที่แตกต่างกันสองด้าน หรือเรียกว่า binary oppositions เลวี่-สเตราสส์นำความคิดเรื่องนี้มาจากนักภาษาศาสตร์ที่ชื่อ โรมัน จาค็อบสัน (ค.ศ.1896-1982) ซึ่งเป็นผู้สร้างแนวคิดเรื่อง “phonemes” หรือระบบเสียงในคำต่างๆ โครงสร้างภาษาอธิบายว่าระบบเสียงจะมีความแตกต่างกันทำให้เกิดคำที่มีความหมายแตกต่างกัน เมื่อมาใช้ในมานุษยวิทยาแนวโครงสร้างจะอธิบายว่าสิ่งตรงข้ามจะเกิดเป็นคู่ๆเนื่องมาจากโครงสร้างจิตใจ เลวี่-สเตราสส์ยกตัวอย่างเรื่องชีวิตตรงข้ามกับความตาย วัฒนธรรมตรงข้ามกับธรรมชาติและตัวเราตรงข้ามกับตัวเขา คู่ตรงข้ามนี้เป็นคู่ของความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆซึ่งเชื่อมโยงกัน เช่น คู่ตรงข้ามระหว่างกลุ่มเครือญาติ จะมีการเชื่อมโยงกันด้วยการแลกเปลี่ยนผู้หญิง ในทฤษฎีโครงสร้างนิยมอธิบายว่าคู่ตรงข้ามจะเป็นส่วนประกอบของระบบที่มีชุดความหมายต่าง ๆ รวมอยู่ด้วยกัน ซึ่งทำให้เกิดโครงสร้างของกิจกรรมทางสังคมและการสร้างความหมายให้กิจกรรมเหล่านั้น

เลวี่-สเตราสส์วิเคราะห์การจัดระเบียบทางสังคมในแนวทางเดียวกับนักภาษาศาสตร์วเคราะห์ภาษา เลวี่-สเตราสส์ อธิบายว่าโครงสร้างพื้นฐานของเครือญาติจะมีการแลกเปลี่ยนผู้หญิง ระบการแลกเปลี่ยนผู้หญิงจะทำให้เกิดโครงสร้างภายในกลุ่มญาติและนอกกลุ่มญาติ ความสัมพันธ์เหล่านี้ทำให้กลุ่มคนต่างๆมาพบเจอกัน การแลกเปลี่ยนผู้หญิงทำให้เกิดความ สัมพันธ์ 4 ลักษณะ คือ

1 ความสัมพันธ์ระหว่างพี่ชายกับน้องสาว
2 พ่อกับแม่
3 พ่อกับลูกชาย
4 พี่ชายของแม่กับ หลานชาย

ความสัมพันธ์เหล่านี้ทำให้เกิดความกลมเกลียวและความสุขในกลุ่ม แต่ในแง่ลบอาจทำให้เกิดการเป็นศัตรู เลวี่-เสตราสส์อธิบายว่าจิตใจของมนุษย์จะรักษาดุลยภาพระหว่างด้านบวกและลบ ในระบบการแลกเปลี่ยนจะต้องมีความสัมพันธ์ทั้งบวกและลบเช่นกัน แต่ในวัฒนธรรมแต่ละแห่ง ความสัมพันธ์นี้อาจเปลี่ยนไป แต่รูปแบบและโครงสร้างยังคงเหมือนเดิม

ความคิดของเลวี่-สเตราสส์ในเรื่องการแลกเปลี่ยนผู้หญิง อาจแบ่งได้เป็นสองชนิด คือ การแลกเปลี่ยนแบบมีข้อจำกัดและการแลกเปลี่ยนแบบทั่วไป การแลกเปลี่ยนแบบมีข้อจำกัดเป็นความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มญาติสองกลุ่ม ซึ่งมีการแต่งงานระหว่างกลุ่มแบบสมดุล กล่าวคือผู้ชายและผู้หญิงของแต่ละกลุ่มจะแต่งงานกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ส่วนการแลกเปลี่ยนแบบทั่วไปเป็นความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มญาติหลายๆกลุ่ม ทำให้เกิดการแต่งงานข้ามกลุ่มแบบไม่สมดุล เลวี่-สเตราสส์อธิบายว่าการแลกเปลี่ยนแบบทั่วไปนี้จะทำให้สังคมเป็นปึกแผ่นมากกว่าการแลกเปลี่ยนแบบมีข้อจำกัด เพราะจะเกิดพันธมิตรหลายกลุ่มเลวี่-สเตราส์แยกชนิดการแลกเปลี่ยนแบบทั่วไปเป็น 2 ชนิด ได้แก่ การแต่งงานกับญาติข้างแม่ และการแต่งงานกับญาติข้างพ่อ การแต่งงานกับญาติข้างแม่เป็นการแต่งงานของลูกๆของพี่ชายแม่ ซึ่งทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนผู้หญิงต่อเนื่องยาวนานส่วนการแต่งงานกับญาติข้างพ่อ เป็นการแต่งงานกับลูกๆของพี่สาวพ่อ ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนแบบสั้นๆ การแต่งงานกับญาติข้างแม่จะสร้างความเป็นปึกแผ่นมากกว่า เพราะจะทำให้เกิดพันธมิตรและญาติจำนวนมาก

นอกจากนั้นเลวี่-สเตราสส์ยังสร้างทฤษฎีโครงสร้างนิยมเพื่อใช้ศึกษามิติทางวัฒนธรรมอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องอาหารและตำนาน เลวี่-สเตราสส์วิเคราะห์ตำนานเรื่อง “ tricky coyote” ของชนพื้นเมืองในอเมริกาโดยแบ่งแยกคู่ตรงข้าม คือเกษตรกรรมกับสงคราม เกษตรกรรมหมายถึงชีวิต สงครามคือความตาย การล่าสัตว์เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมและสงคราม เพราะการล่าสัตว์ช่วยให้มนุษย์มีอาหาร ในขณะที่ทำให้สัตว์ต้องเสียชีวิต สัตว์ที่กินซากสัตว์เช่น หมาป่าโคโยตีจะเกี่ยวข้องกับคู่ตรงข้ามระหว่างผู้ล่าและผู้ถูกล่า หมาป่าโคโยตีจึงเป็นเล่ห์อุบาย ในปี ค.ศ.1969 เลวี่-สเตราสส์เขียนหนังสือเรื่อง The Raw and theCooked อธิบายความแตกต่างระหว่างอาหารดิบ อาหารที่ปรุงสุกและอาหารเน่าเสีย กล่าวคืออาหารที่ปรุงสุกเป็นการเปลี่ยนจากสภาพธรรมชาติมาสู่วัฒนธรรม อาหารต้มจะมีไว้สำหรับญาติพี่น้องเพราะหารต้มหมายถึงวัฒนธรรม  ส่วนอาหารย่างมีไว้สำหรับแขกต่างแดน เพราะอาหารย่างหมายถึงธรรมชาติ เอ็ดมันด์ ลีช นำแนวคิดของเลวี่-สเตราสส์ไปวิเคราะห์เรื่องศาสนาว่าเป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างชีวิตและความตาย

แนวคิดที่เป็นนามธรรมที่สุดในสกุลมานุษยวิทยาฝรั่งเศส คือแนวคิดเรื่องมาร์กซิสต์เชิงโครงสร้าง แนวคิดนี้พัฒนาขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1970 เพื่อที่จะทำให้ทฤษฎีมาร์กซิสต์ลดความเป็นวัตถุวิสัยมากขึ้น และหันมาเน้นเรื่องโครงสร้างความคิดกล่าวคือความคิดตรงข้ามกับการกระทำ ในช่วงทศวรรษที่ 1960 ในวงการมานุษยวิทยามีข้อถกเถียงระหว่างนักมานุษยวิทยาเศรษฐกิจ สองกลุ่ม คือกลุ่ม formalist และ substantivist กลุ่มฟอร์มัลลิสต์อธิบายว่าทรัพยากรจะถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นสังคมตะวันตกหรือสังคมชนเผ่า ในขณะที่กลุ่มซับสแตนติวิสต์เชื่อว่าสังคมชนเผ่าไม่คิดว่าทรัพยากรเป็นเงิน เพราะสังคมชนเผ่าผูกพันธ์ด้วยระบบเครือญาติและประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าการแสวงหากำไรส่วนตัว

นักคิดแนวซับสแตนติวิสต์บางคนเชื่อว่าการเอาเปรียบจะไม่เกิดขึ้นถ้าบุคคลคิดว่าเขาไม่ถูกเอาเปรียบ โจนาธานฟรีดแมน ซึ่งเป็นนักคิดแนวมาร์กวิสต์เชิงโครงสร้างนิยมพยายามศึกษาโครงสร้างของ “ความจริง”ซึ่งทำให้เศรษฐกิจมีความสำคัญ ฟรีดแมนพบว่าวัตถุที่สำคัญของระบบทุนนิยมคือเงินตรา ส่วนเศรษฐกิจของชนเผ่าให้คุณค่ากับศาสนาและสังคม ซาลินส์เขียนหนังสือเรื่อง Islands of History (1987) โดยชี้ว่า “โครงสร้าง” เป็นเรื่องความสัมพันธ์ของระเบียบกฎเกณฑ์ที่มีมิติ ประวัติศาสตร์ ทฤษฎีมาร์กซิสต์แนวโครงสร้างพยายามอธิบายว่าโครงสร้างการกระทำทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นจากโครงสร้างทางความคิด

แปลและเรียบเรียงโดย นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ จาก Paul A. Erickson. A History of Anthropological Theory. Broadview Press,
New York. 2001. Pp.91-99.

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share