สรุปสถานการณ์เด่นด้านชาติพันธุ์ ประจำปี 2564

 |  ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์
ผู้เข้าชม : 1694

สรุปสถานการณ์เด่นด้านชาติพันธุ์ ประจำปี 2564

สรุปสถานการณ์ โดย

นายเจษฎา เนตะวงศ์ และนางสาวสุดารัตน์ ศรีอุบล

นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

 

           ปี 2564 เป็นปีที่ประเด็นเกี่ยวกับชาติพันธุ์ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง หลายเหตุการณ์ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของพี่น้องชาติพันธุ์ทั้งในด้านวิถีวัฒนธรรม การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนั้น ปีที่ผ่านมายังเป็นที่มีเกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายและการผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

           ในโอกาสช่วงสิ้นปี 2564 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จึงได้ประมวลเหตุการณ์สำคัญเพื่อย้อนไปทบทวนว่าตลอดปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์สำคัญเด่นๆ อะไรบ้าง ทั้งที่เป็นความก้าวหน้าต่อการส่งเสริมวิถีชีวิตวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ และเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นความถดถอยต่อการเคารพและยอมรับในวิถีวัฒนธรรมและคุณค่าของกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายในสังคมไทย

 

สถานการณ์เด่น ความก้าวหน้าต่อการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

กฎหมายคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์: การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ต่อชาติพันธุ์และความหลากหลายทางวัฒนธรรม

 

 

           ปัญหาที่กลุ่มชาติพันธุ์เผชิญในปัจจุบันเกิดขึ้นภายใต้อคติที่มองว่ากลุ่มชาติพันธุ์ไม่ใช่คนไทย เป็นผู้เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด และเป็นพวกทำลายป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ อคติดังกล่าวนำไปสู่การถูกด้อยค่า การรังเกียจ การตีตราและถูกเลือกปฏิบัติมายาวนาน ในปีที่ผ่านมา ความพยายามในการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่องภายใต้การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ และเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศ ปรากฏเป็นรูปธรรมคือ การจัดทำร่างกฎหมายเพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคม โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก1 ที่ทำงานร่วมกับเครือข่ายในการยกร่างกฎหมายสำคัญนี้ ขณะเดียวกันก็มีความพยายามจากเครือข่ายภาคประชาชนและองค์กรภาคการเมืองที่ต่างเสนอร่างกฎหมายที่มีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์2 โดยในปี 2564 ที่ผ่านมามีการนำเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวรวม 5 ฉบับ3

           ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ร่วมจัดทำกับเครือข่ายนั้นกำหนดให้มีหลักการสำคัญ 3 ประการ คือ หลักการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม หลักการส่งเสริมศักยภาพกลุ่มชาติพันธุ์ และหลักการสร้างความเสมอภาคบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งกำหนดให้มีกลไกในการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งในระดับชาติ ระดับจังหวัด และกลไกของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอปัญหาและแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับบริบทวิถีวัฒนธรรมของตน นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการจัดทำข้อมูลประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่จะใช้ยืนยันถึงวิถีวัฒนธรรมและรับรองสถานะดำรงของบุคคล รวมไปถึงการกำหนดให้มีการขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถดำรงชีวิตบนฐานองค์ความรู้ ภูมิปัญญาของตนได้อย่างมีคุณค่าและศักดิ์ศรี ได้รับการเคารพ ไม่ถูกคุกคามหรือเบียดขับ สามารถอยู่ร่วมและจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนด้วยการผสมผสานและประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาและทุนทางวัฒนธรรมดั้งเดิมเข้ากับความรู้สมัยใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตบนฐานเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรม

           ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและมีการอภิปรายร่วมในสภาผู้แทนราษฎร โดยคาดว่าจะมีประกาศใช้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคมในปี 2565

           การผลักดันให้มีกกฎหมายคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ถือเป็นก้าวสำคัญสู่การขับเคลื่อนการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยกฎหมายนี้จะเป็นกลไกสำคัญในการลดอคติทางชาติพันธุ์ เพื่อสร้างการยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่ช่วยในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมไทยและเป็นพลังที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ อีกทั้งการผลักดันกฎหมายดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ในการคุ้มครองและส่งเสริมกลุ่มชาติพันธุ์ให้ได้รับการยอมรับและได้รับการปฏิบัติด้วยความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม อันเป็นความหวังและจุดเริ่มต้นที่ดีของภาครัฐและกลุ่มชาติพันธุ์ในการร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่สะสมมาเป็นเวลานาน

 

บันทึกความร่วมมือ: การสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

 

 

           การเคลื่อนไหวที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและส่งเสริมสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ให้มีสิทธิและความมั่นคงในที่อยู่อาศัย สามารถเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ นับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 และตลอดทั้งปี 2564 นำไปสู่การจัดทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชนและเครือข่ายชุมชนชาติพันธุ์ที่จะร่วมกันดำเนินงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับนโยบายและการขับเคลื่อนกิจกรรมในระดับพื้นที่ชุมชน ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 “บันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์” ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคมและเครือข่ายชุมชนชาติพันธุ์นี้เกิดขึ้นในโอกาสวันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ 12 ณ ชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล4 ต่อเนื่องมาในช่วงเดือนธันวาคม 2563 ได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษบ้านพุเม้ยง์ ต.ทองหลาง อ.ห้วยคต จ.อุทัยธานี5 ซึ่งมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนและผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ การส่งเสริมสิทธิการมีส่วนร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์ในการจัดการบำรุงรักษา อนุรักษ์ และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการส่งเสริมกลุ่มชาติพันธุ์ให้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน เร่งรัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ชุมชนภายใต้การรักษาความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการสืบทอดวิถีภูมิปัญญาวัฒนธรรม นอกจากนี้ภายใต้ความพยายามในการสร้างกลไกความร่วมมือของเครือข่ายภาคประชาชนในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) อย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ในวันที่ 11 มีนาคม 2564 เกิดการจัดทำบันทึกความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน พื้นที่จิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและชาวเล ตลอดจนเสนอให้มีการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ร่วมกันระหว่างเครือข่ายภาคประชาชนและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมาร่วมลงนามเพื่อดำเนินงานให้บรรลุผลตามเป้าหมาย

           ความพยายามในการแสวงหาแนวทางในการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมีคุณค่าและศักดิ์ศรี กลไกความร่วมมือที่เกิดขึ้นอันเป็นผลมาจากบันทึกความร่วมมือเหล่านี้ยังจำเป็นต้องมีการศึกษา รวบรวมข้อมูล องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์กลุ่มชาติพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนต้องมีการกำกับติดตามเพื่อให้เกิดกลไกคณะทำงานต่างๆ ได้มีการปฏิบัติงานที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ปัญหาภายในพื้นที่ของชุมชนชาติพันธุ์ได้อย่างแท้จริง

 

ศักยภาพกลุ่มชาติพันธุ์ในสถานการณ์โควิด -19

           ในช่วงปีผ่านมาถือเป็นปีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด –19) ในประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤติ ดังที่ปรากฎตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันสูงที่สุดในวันที่ 13 สิงหาคม 2564 จำนวน 23,418 ราย6  วิกฤติดังกล่าวส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบทั้งการเจ็บป่วย การขาดรายได้ การตกงาน การขาดความมั่นคงทางอาหาร และการเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะการได้รับวัคซีน หน้ากากอนามัย เครื่องวัดอุณหภูมิ และเจลแอลกอฮอล์7  รวมทั้งการเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือและเยียวยาจากภาครัฐ เนื่องจากปัญหาเรื่องสถานะบุคคลและไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน8

           จากรายงานของสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย9  ได้มีการระบุประเด็นปัญหาสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์ในช่วงสองปีที่ผ่านมา พบว่า ประเด็นปัญหาด้านสถานะบุคคลของกลุ่มชาติพันธุ์ยังดำรงอยู่ในหลายพื้นที่10  แม้ว่าหน่วยงานรัฐได้ดำเนินนโยบายและบังคับใช้กฎหมายเพื่อลดและขจัดภาวะไร้สัญชาติ มาตั้งแต่ปี 2502 โดยเริ่มจากการแต่งตั้งคณะกรรมการชาวเขา จนกระทั่งปัจจุบันได้มีการปรับปรุงแก้ไขระเบียบและมาตรการปฏิบัติต่างๆ ทั้งนี้ ยังปรากฎจำนวนผู้ไร้สถานะบุคคล หรือ “คนไร้รัฐทางทะเบียน” จำนวน 539,696 คน11  จนกระทั่งวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้มีโครงการตรวจพันธุกรรมเพื่อการแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของคนไทยที่ตกหล่นทางทะเบียนราษฎร ประจำปีงบประมาณ 2565 เพื่อให้การช่วยเหลือคนไทยที่ยังไม่มีชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14)12  การดำเนินโครงการข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าหน่วยงานรัฐได้มีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาด้านสถานะบุคคลของกลุ่มชาติพันธุ์มาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นความก้าวหน้าที่สะท้อนให้เห็นความพยายามในการแก้ไขปัญหาด้านสถานะบุคคล

           กลุ่มชาติพันธุ์เองก็มีการปรับตัวในการดำรงชีพเพื่อความอยู่รอดภายใต้วิกฤติโควิด – 19 ดังที่ปรากฎว่ามีบางชุมชนชาติพันธุ์ที่มีศักยภาพในการจัดการตนเอง โดยอาศัยทุนทางวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงผูกพันวิถีชีวิตกับธรรมชาติอย่างเกื้อกูล และใช้ระบบความเชื่อเป็นเสมือนกฎหมายในการควบคุมและจัดการทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยเฉพาะการทำไร่หมุนเวียน ที่สะท้อนถึงการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพควบคู่กับการธำรงวิถีวัฒนธรรม เป็นรูปแบบการผลิตตามวิถีชาติพันธุ์ที่นอกจากจะช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับท้องถิ่นแล้ว ในสถานการณ์วิกฤติยังสามารถส่งความช่วยเหลือมาให้แก่ชุมชนในเมืองที่ขาดแคลนอาหารอีกด้วย

           ชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านแม่ส้าน13  และชุมชนบ้านกลาง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ในนามสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เป็นชุมชนหนึ่งที่มีการจัดสรรทรัพยากรโดยใช้ต้นทุนที่มีอยู่ในชุมชน ในการระดมอาหารจากไร่หมุนเวียนและป่าชุมชน นำไปแบ่งปันช่วยเหลือคนจนเมืองในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำปาง ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี รวมถึงพื้นที่อื่นๆ สะท้อนให้เห็นศักยภาพในการจัดการที่ดินและทรัพยากรโดยชุมชนภายใต้ระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน

 

ความสอดคล้องของหลักสูตรการศึกษากับวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์14

           ปัญหาวิกฤตด้านการศึกษา ภาษาและการปฏิบัติตนตามวิถีวัฒนธรรม เป็นปัญหาสำคัญที่มีผลต่อความเสี่ยงต่อการสูญหายของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ในสภาวการณ์ปัจจุบัน พบว่า เด็กและเยาวชนขาดโอกาสในการเรียนรู้รากเหง้าของตนเองเพราะขาดกระบวนการถ่ายทอดสืบทอดจากผู้รู้สู่คนรุ่นใหม่15  รวมทั้งปัญหาด้านการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

           ปัญหาดังกล่าวทำให้หน่วยงานภาครัฐมีความพยายามแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ตามที่ปรากฏผ่านสื่อเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ภายใต้การทำงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่และภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับมูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 2 เขต 3 เขต 4 เขต 5 เขต 6 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 33 และชมรมทวิ/พหุภาษาจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเด็กและเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารในจังหวัดเชียงใหม่16 โดยใช้ภาษาแม่ รวมทั้งมีข้อเสนอให้มีการปรับปรุงหรือแก้ไขระเบียบ หลักเกณฑ์ และแนวปฏิบัติ เกี่ยวกับงานบริหารบุคคล เพื่อให้เอื้อต่อนวัตกรรมทวิ/พหุภาษา ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรมของจังหวัดเชียงใหม่ที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา หากแนวคิดดังกล่าวที่มีการดำเนินงานในพื้นที่นำร่อง 8 จังหวัด17  บรรลุผลสำเร็จจะถือเป็นต้นแบบในการจัดการศึกษาที่เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วม ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และเป็นต้นแบบด้านการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ที่สามารถขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆ ที่มีศักยภาพตามหลักการของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้ในอนาคต

 

สถานการณ์ถดถอยด้านการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

#SAVEบางกลอย ชาติพันธุ์ก็คือคน

           “บางกลอย” เป็นหมู่บ้านของชาวกะเหรี่ยง ที่เดิมอาศัยอยู่บริเวณ “ใจแผ่นดิน” ซึ่งเป็นถิ่นฐานดั้งเดิมตามที่ปรากฎชื่อเรียกในแผนที่ของกรมแผนที่ทหาร เมื่อปี 2455 ก่อนมีกฎหมายป่าไม้ฉบับแรก ปี 2484 และก่อนการถูกประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในปี 252418

 

ภาพจาก : https://thestandard.co/shave-the-head-save-bang-kloy/

https://www.hatyaitoday.com/save-bang-kruai/

 

           ภายหลังจากการประกาศเป็นพื้นที่อุทยานฯ ได้มียุทธการเอาคนออกจากป่าต้นน้ำ ในปี 2535 โดยอพยพผู้คนมาอยู่รวมกันบริเวณฝั่งตรงข้ามหมู่บ้านโป่งลึก จำนวน 391 คน 57 ครอบครัว จัดที่ดินทำกินให้ครัวเรือนละ 7 ไร่ ที่อยู่อาศัย 3 งาน ทั้งนี้ มีบางครอบครัวที่ไม่ได้รับการจัดสรรที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน และมีบางครอบครัวที่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินแต่ไม่สามารถปลูกข้าวได้เนื่องจากสภาพดินเป็นหิน จากสภาวะการดำรงชีพที่เป็นไปด้วยความยากลำบากจึงทำให้ชาวกะเหรี่ยงบางส่วนตัดสินใจอพยพย้ายถิ่นกลับใจแผ่นดิน ชะตากรรมของพี่น้องชาวกะเหรี่ยงที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์การเผาบ้านเรือนและยุ้งข้าวของชาวกะเหรี่ยงในปี 255419  ภายใต้ยุทธการตะนาวศรี ต่อเนื่องมาจนกระทั่งปี 2564 ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด -19 ทำให้ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยจำนวน 70 คน 36 ครัวเรือนที่ตกงานและประสบกับความยากไร้ จึงตัดสินใจกลับใจแผ่นเพื่อปลูกข้าว ความขัดแย้งได้ปะทุขึ้นอีกครั้งเมื่ออุทยานฯ แก่งกระจานได้แจ้งความดำเนินคดีฐานบุกรุกป่าและสนธิกำลังจับกุมชาวบ้าน และมีการบังคับโยกย้ายขาวกะเหรี่ยงลงมาจากพื้นที่บางกลอยบนด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง ภายใต้ “ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร”

           ประเด็นปัญหาดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในผืนป่าแก่งกระจานและเกิดการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ได้เกิดแฮชแท็ก #Saveบางกลอย และภาพป้ายข้อความ “ชาติพันธุ์ก็คือคน” ซึ่งเป็นการต่อสู้ของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยและภาคีเครือข่ายเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและยืนยันสิทธิ์ว่ามีชุมชนชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมอาศัยอยู่ในพื้นที่บางกลอย (ใจแผ่นดิน) ก่อนการประกาศเป็นพื้นที่อุทยาน อีกทั้งเป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิและความเป็นธรรมให้ประชาชนที่ถูกกระทำจากรัฐอย่างไม่เป็นธรรม ที่ครอบคลุมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ และกลุ่มคนชายขอบที่ไร้อำนาจในสังคม

           ต่อมาเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญครั้งที่ 44 ประจำปี 2564 ได้พิจารณาให้กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการบรรจุเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ20 นัยหนึ่งอาจเป็นความสำเร็จในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของชนิดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่มีคุณค่าโดดเด่นระดับโลก แต่อีกนัยหนึ่งได้เกิดกระแสการคัดค้านการขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกในขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีชีวิตในพื้นที่ดังกล่าวกลับถูกละเมิดสิทธิ์ การต่อสู้ของกลุ่มภาคีเซฟบางกลอยจึงเป็นภาพสะท้อนการต่อสู้เพื่อสิทธิอยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินของชาวกะเหรี่ยงในผืนป่าแก่งกระจานที่ถูกดำเนินคดีฐานบุกรุกป่าและการถูกอพยพย้ายถิ่นฐาน21

#คลับเฮ้าส์toxic “การเหยียดคนอีสาน” กับปัญหา “อคติ” ที่ฝังรากลึกในสังคมไทย

           ประเด็นที่เกิดขึ้นในการสนทนาผ่านคลับเฮ้าส์ ที่ได้กล่าวถึงการเหยียดคนอีสาน ได้สะท้อนให้เห็น “อคติ” ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะการสร้างภาพตัวแทนคนอีสาน22  ที่เกิดขึ้นมายาวนานตั้งแต่ในยุคของการสร้างรัฐชาติ ความเป็นภูมิภาคอีสานถูกนำเสนอเชิงลบที่เกี่ยวข้องกับ ความแห้งแล้ง ทุรกันดาร ผู้คนอดอยาก ขาดการศึกษา และล้าหลัง23  อีกทั้งมีการผลิตซ้ำภาพตัวแทนผ่านสื่อบันเทิงผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ ทั้งโทรทัศน์ ภาพยนตร์ วรรณกรรม นวนิยาย ที่มักพบเห็นจนเกิดความเคยชิน โดยเฉพาะตัวละครที่เป็นคนรับใช้ในบทละคร ที่มักเป็นคนอีสาน ภูมิภาคอีสานจึงเป็นพื้นที่ที่มีการผลิตซ้ำความหมาย มีการเปลี่ยนแปลงความหมายอย่างต่อเนื่องในการนำเสนอภาพตัวแทนคนอีสานในลักษณะ “โง่ จน เจ็บ” ล้าหลังและด้อยพัฒนา การผลิตซ้ำภาพตัวแทนดังกล่าวได้ตอกย้ำความคิดที่ชาวอีสานเป็นเบี้ยล่างและปลูกผังความรังเกียจชิงชัง ทั้งยังเป็นเงื่อนไขเพื่อการเข้ามาควบคุม เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนอีสานในแต่ละยุคสมัย

 

ภาพจาก : https://thethaiger.com/th/news/494666/?fbclid=IwAR36BFG-ChggPGFIbtkDTPU0OvvKcAJEa-uqHpGApu-Gexnh4Cpm8N9CS-U

 

           ประเด็นการด้อยค่าและสร้างความรังเกียจชิงชังดังกล่าวไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะกับชาวอีสาน แต่เป็นชะตากรรมร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในฐานะนักมานุษยวิทยา มองว่า การที่ผู้คนในสังคมไทยมีการดูถูกเหยียดหยามซึ่งกันและกันมายาวนาน เป็นผลมาจากโครงสร้างทางสังคมที่มองความเป็นมนุษย์ไม่เท่ากัน มองตัวเองเป็นศูนย์กลางโดยเฉพาะสังคมอำนาจรัฐ พยายามทำให้สังคมไทยเป็นสังคมเดี่ยว ทำให้เกิดอัตลักษณ์ของคนในประเทศชาติ ที่มองคนที่มีความแตกต่างจากวัฒนธรรมไทยหรือปรับตัวไม่เท่ากับวัฒนธรรมหลักจะกลายเป็นคนอื่นที่ด้อยกว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา จะเห็นว่าสังคมไทยไม่ได้เหยียดเฉพาะคนอีสานเท่านั้น ที่เป็นการเหยียดและการเลือกปฏิบัติกับผู้คนที่มีความแตกต่างจากวัฒนธรรมกระแสหลัก ประเด็น #คลับเฮ้าส์toxic การเหยียดดูถูกคนอีสาน สะท้อนให้เห็นว่า แม้จะเป็นความรุนแรงทางอ้อม แต่อคติที่เกิดขึ้นอาจมีแนวโน้มที่จะเกิดความขัดแย้งที่มีความรุนแรงในอนาคตได้ หากสังคมขาดความตระหนักในประเด็นดังกล่าว

 

รื้อ ‘บาฆัด’ กระทบวิถีชีวิตชาวเล

           ชาวเลคือกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในสังคมไทยที่มีถิ่นอยู่อาศัยตามชายฝั่งและเกาะแก่งในท้องทะเล ปัจจุบันพบว่ามีชุมชนชาวเล 43 ชุมชนกระจายอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน คือ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และสตูล มีประชากรรวมประมาณ 13,000 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงโดยใช้เครื่องมือแบบพื้นบ้าน ดำน้ำจับกุ้ง หอย ปู ปลา24  ในรอบปีที่ผ่านมาเกิดสถานการณ์ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำรงวิถีชีวิตของชาวเล โดยเฉพาะในด้านการทำมาหากินตามวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิม ดังปรากฏกรณีที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี ได้ยื่นปิดประกาศให้ชาวเลรื้อถอนบาฆัดออกจากพื้นที่อุทยาน เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 โดยมองว่าบาฆัดหรือเพิงพักระหว่างการออกเรือหาปลานท้องทะเลเป็นสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเขตอุทยาน หากไม่รื้อถอนจะดำเนินการตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติปี 2562 แต่ชาวบ้านได้ยื่นอุทธรณ์ให้ทบทวนหรือยกเลิกคำสั่งไปก่อน25  ภายหลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวได้มีความพยายามจากเครือข่ายชาวเลสื่อสาร สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมและพื้นที่ที่เรียกว่า บาฆัด ของชาวเล โดยอธิบายให้เห็นว่า “บาฆัด” คือที่พักบริเวณหน้าหาดของชาวเลมามาตั้งสมัยบรรพบุรุษโดยใช้เป็นจุดจอดเรือ ที่เก็บอุปกรณ์ประมง และจุดหลบลมมรสุม โดยจะเลือกทำเลสร้างบาฆัดนั้นใกล้แหล่งหาปลา นอกจากนี้บาฆัดยังเป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชาวเลที่เรีกยว่า หลาโต๊ะ ซึ่งเป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมต่างๆ สำหรับชาวเลเป็นประจำทุกปี26

           ความพยายามในการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้กระบวนการตรวจสอบและพิสูจน์สิทธิของชาวเลในพื้นที่บาฆัดดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งในวันที่ 13 ธันวาคม 2564 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ลงพื้นที่ร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงกับกรณีปัญหาที่เกิดขึ้น27  และในวันที่ 21 ธันวาคม 2564 กรมอุทยานฯ ได้มีประกาศให้ชาวเลรื้อถอนบาฆัดออกจากพื้นที่ เนื่องจากตรวจสอบแล้วพบว่ามีการสร้างเพิงพักกึ่งถาวร ไม่ใช่ที่หลบลมตามวิถีดั้งเดิม28  ทั้งนี้จากกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวได้แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีระดับของความเข้มข้นต่อบังคับและประกาศใช้กฎหมาย ซึ่งในบางกรณีย่อมส่งผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่มีการพึ่งพิงและอาศัยทรัพยากรธรรมชาติในการดำรงชีวิต ขณะเดียวกันภายใต้พลวัตของการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่มุ่งเน้นการเติบโตของรายได้และความมั่นคงของทรัพยากรธรรมชาติ เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ผลักให้กลุ่มชาติพันธุ์ต้องกลายเป็นกระทำผิดกฎหมาย ไม่สามารถพึ่งพาตนเองบนฐานภูมิปัญญา วัฒนธรรม ซึ่งเป็นศักยภาพภายในของกลุ่มชาติพันธุ์ได้ ปัจจุบันจึงได้มีการความพยายามผลักดันให้มีกฎหมายเพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์จากหลายภาคส่วน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมภูมิปัญญาดั้งเดิม ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจะแสดงให้เห็นศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ในการปกป้อง ดูแลทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืนบนฐานภูมิปัญญาและวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมของตน

 

การช่วยเหลือ สงเคราะห์มายาคติที่ถูกผลิตซ้ำเพื่อแก้ปัญหาคนบนดอย

           การสื่อสารสร้างการรับรู้เกี่ยวกับชาวเขาในสังคมไทยถูกนำเสนอและผลิตซ้ำภาพของผู้ด้อยโอกาส รอคอยความช่ยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรการกุศล หรือผู้ใจบุญมาอย่างต่อเนื่อง ดังปรากฏการเผยแพร่คลิปผ่านช่องยูทูปชื่อดัง “สุขสันต์วันเด็ก พิมรี่พายจัดใหญ่ให้น้องบนดอย”29  เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2564 ที่นำเสนอให้เห็นเรื่องราวของการลงไปจัดกิจกรรมการกุศล ติดตั้งแผงโซลาร์เซลให้แก่โรงเรียนบ้านแม่เกิบ ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ตอกย้ำให้เห็นความยากลำบากในการดำรงชีวิตทั้งในด้านการเดินทาง การไม่มีไฟฟ้า ระบบอินเตอร์และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ที่เพียงพอของเด็กๆ และผู้คนบนดอย ซึ่งทั้งหมดถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ หรือชาวกะเหรี่ยงที่ตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยในพื้นที่มาเป็นเวลาเกือบ 100 ปี30  สร้างกระแสความสนใจจากผู้คนในสังคมอย่างกว้างขวาง เกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทั้งในส่วนที่เห็นด้วยกับการทำกิจกรรมเพื่อการช่วยเหลือและสงเคราะห์เด็กบนดอย ขณะเดียวกันก็มีอีกส่วนที่มองว่าการจัดกิจกรรมในรูปแบบดังกล่าวไม่ได้สะท้อนให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะประเด็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์ในสังคมไทยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เนื่องจากมักถูกจำกัดด้วยกฎหมายหรือแนวนโยบายด้านการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ส่งผลให้ไม่สามารถดำรงชีวิตบนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเองตามวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมได้ เช่น การทำไร่หมุนเวียน, การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้เพื่อการดำรงชีพ เป็นต้น31

 

ภาพจาก : https://www.youtube.com/watch?v=nAkBXvUA-gM

 

           จากกรณีดังกล่าว จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สังคมได้เกิดการเรียนรู้และร่วมกันทบทวนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะการฉายภาพกลุ่มคนผู้รอคอยความช่วยเหลือในลักษณะของการสงเคราะห์ที่ถือเป็นการรับรู้และความเข้าใจที่อาจจะยังไม่ครอบคลุมต่อการดำรงอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน เพราะหากสังคมเข้าใจวิถีชีวิต วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ตามภูมิประเทศที่แตกต่างหลากหลาย จะเห็นถึงศักยภาพและความสามารถในการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติรอบข้าง ขณะเดียวกันการเผชิญกับข้อจำกัดในการเข้าถึงและประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติตามวิถีชีวิตวัฒนธรรมในปัจจุบันก็เป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขสำคัญที่ส่งผลให้กลุ่มชาติพันธุ์ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ การช่วยเหลือแบบสงเคราะห์ชั่วครั้งชั่วคราวอาจเป็นวิธีการที่ดีที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและความต้องการเฉพาะหน้าได้ หากแต่การแก้ไขปัญหาที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้นั้นสังคมต้องมีการเรียนรู้และทำความเข้าใจวิถีชีวิต วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ดำรงอยู่ในสังคม เพื่อให้เข้าใจถึงสาเหตุและเงื่อนไขของปัญหาอย่างแท้จริง ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและพัฒนากลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นฐานการเคารพต่อคุณค่าทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเท่าเทียม

 

โควิด -19 กับอคติต่อแรงงานข้ามชาติ

 

 

           จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 จากกลุ่ม (Cluster) ของแรงงานข้ามชาติในตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร ในช่วงเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา เป็นบทสะท้อนสำคัญที่ทำให้เห็นปัญหาเกี่ยวกับขบวนการลักลอบค้าแรงงานข้ามชาติโดยกลุ่มนายจ้างและระบบนายหน้า หลังจากการปรากฏผู้ติดเชื้อในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ หน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีมาตราการในการกวาดล้างจับกุมแรงงานลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายในหลายพื้นที่32  การเป็น “พื้นที่ไข่แดง” ที่รัฐบาลและศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีมาตรการควบคุมการระบาดด้วยการปิดพื้นที่ (Lockdown) เพื่อสลัดการระบาดของโควิด -19 จึงทำให้แรงงานข้ามชาติไม่สามารถกลับประเทศต้นทางได้ อีกทั้งสถานประกอบการบางแห่งต้องปิดตัวหรือมีการลดจำนวนแรงงาน จนเป็นเหตุให้แรงงานข้ามชาติจำนวนมากถูกเลิกจ้าง ขาดรายได้ มิหนำซ้ำแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพและมาตรการการเยียวยาของรัฐ

           นอกเหนือจากประเด็นปัญหาดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ในสถานการณ์ดังกล่าวแรงงานข้ามชาติยังถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงด้านสาธารณสุข33  ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการนำเสนอข่าวสารการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ที่จังหวัดสมุทรสาคร และมีการผลิตซ้ำอคติดังกล่าวผ่านสื่อที่ได้นำเสนอตัวเลขผู้ติดเชื้อในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ในขณะที่คนไทยไม่พบผู้ติดเชื้อ การสื่อสารข้างต้นเป็นการตอกย้ำให้คนในสังคมไทยบางส่วนมองแรงงานข้ามชาติว่าละเลยความรับผิดชอบต่อสังคม มีพฤติกรรมเห็นแก่ตัว และสร้างปัญหาให้กับคนหมู่มาก ซึ่งมุมมองเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยบางส่วนมองแรงงานข้ามชาติว่าเป็นแรงงานเถื่อนลักลอบข้ามพรมแดน34  การมองด้วยความเป็นอื่นที่ภาครัฐต้องผลักดันให้กลับประเทศ แต่ทว่า หากมองในอีกมิติหนึ่งกลับพบว่า ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมของไทย ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าแรงงานข้ามชาติเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดด แรงงานข้ามชาติเหล่านี้จึงควรได้รับการส่งเสริมให้สามารถเข้าถึงโอกาสทางสังคมโดยเฉพาะในสภาวะวิกฤต โดยเฉพาะโอกาสในการเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันทางการแพทย์ การตรวจเชื้อไวรัส การได้รับการรักษาเช่นเดียวกับคนไทย และการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงมาตรการเยียวยาของรัฐ35 อย่างทั่วถึง

 

การชุมนุมประท้วงของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ จังหวัดตาก

           ในช่วงวันที่ 14 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมาได้เกิดการชุมนุมประท้วงของชาวกะเหรี่ยงนับพันคนในพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก มูลเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงเกิดจากการเรียกรับผลประโยชน์ของกลุ่มบุคคลที่อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการ ในการเก็บเงินค่าออกหนังสืออนุญาตคนในศูนย์ให้สามารถเข้าออกไปมาได้ รายละ 200 บาท หากจ่ายจะสามารถออกไปข้างนอกศูนย์หรือพื้นที่อำเภอใกล้เคียงได้ ส่วนอีกสาเหตุเกิดจากการที่ผู้ลี้ภัยจำนวน 4 คน ได้ออกไปทำงานนอกพื้นที่พักพิงและขากลับถูกเจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดน (อส.) พบเห็นจึงได้ควบคุมตัวและมีการทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บจนสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ลี้ภัย36  จึงได้มีการชุมนุมประท้วงและปรากฎข่าวการทำลายทรัพย์สินของทางราชการเสียหาย

           เป้าหมายของการชุมชนประท้วง คือ ข้อเรียกร้องให้มีการโยกย้ายหัวหน้าศูนย์พักพิงฯ บ้านแม่หละออกนอกพื้นที่ เนื่องจากปฏิบัติหน้าที่เข้มงวดจนเกินไป และขอให้ยกเลิกมาตรการปิดพื้นที่ภายในศูนย์พักพิงบ้านแม่หละ37  จากเหตุการณ์ที่มีกลุ่มผู้ประท้วงที่มีจำนวนมาก จังหวัดตากได้มีคำสั่งด่วนให้ชุดตำรวจควบคุมฝูงชนทุกอำเภอในพื้นที่ชายแดนจังหวัดตากทั้งในพื้นที่เกิดเหตุและจากอำเภอข้างเคียง มีการสั่งเรียกกำลังเจ้าหน้าที่ให้เตรียมความพร้อมและพร้อมออกปฏิบัติการเพื่อควบคุมฝูงชน38

 

ภาพจาก https://www.bbc.com/thai/international-59670680

 

           ประเด็นปัญหาการชุมนุมประท้วงของชาวกะเหรี่ยงในศูนย์อพยพ เป็นประเด็นที่สังคมควรให้ความสนใจในการพยายามสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างในเรื่องความเหลื่อมล้ำและปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้นในศูนย์อพยพ

 

ความขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลเมียนมากับความมั่นคงตามแนวชายแดนของไทย

           นับตั้งแต่นายพลมิน อ่อง หล่าย ทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้การนำของออง ซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ได้กลายเป็นชนวนความขัดแย้งสำคัญที่ทวีความรุนแรงภายในประเทศเมียนมา โดยปรากฎกลุ่มผู้ต่อต้านการรัฐประหารกระจายในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงภายใต้กองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และสภาสันติภาพกองทัพปลดปล่อยชนชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ที่มีการปะทะกันอย่างรุนแรงกับรัฐบาลเมียนมา เหตุการณ์ความรุนแรงภายในประเทศเมียนมาได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากการรัฐประหาร ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย จนเป็นเหตุให้ชาวกะเหรี่ยงอพยพหนีภัยสงครามข้ามแดนมายังพื้นที่ชายแดนฝั่งไทยอย่างต่อเนื่อง

           จนกระทั่งเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมาได้มีการยิงปะทะกันระหว่างทหารเมียนมากับทหารเคเอ็นยู ทำให้ชาวกะเหรี่ยงมีการอพยพหนีภัยจากการสู้รบที่มาหลบอาศัยในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวที่บ้านแม่กุหลวง หมู่ 9 ตำบลแม่กุ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จำนวน 4,500 คน39  นอกจากนี้ภายหลังจากการปะทะได้มีกระสุนลอยมาตกบริเวณริมแม่น้ำเมยในฝั่งไทย 7 นัด จนเป็นเหตุให้หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 14 ได้ยิงกระสุนควัน 5 นัด เพื่อเตือนให้กองกำลังทั้งสองฝ่ายทราบว่ามีกระสุนข้ามาตกในฝั่งไทย พร้อมทั้งได้ทำการประท้วงไปยังรัฐบาลเมียนมาผ่านช่องทางคณะกรรมการชายแดนระดับท้องถิ่นไทย-เมียนมา (TBC) จากกรณีที่กระสุนไม่ทราบชนิดและไม่ทราบฝ่ายที่ตกลงบริเวณริมลำน้ำเมยของฝั่งไทย โดยให้ระมัดระวังเรื่องของการใช้อาวุธทางฝั่งไทยพร้อมตอบโต้ หากมีกระสุนตกฝั่งไทย40

           จากสถานการณ์ข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นภายในประเทศเมียนมาส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงของพื้นที่ชายแดนของไทยที่อยู่ในสภาวะต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด ทั้งในประเด็นความมั่นคงของชาติ ในด้านการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อการตอบโต้ในกรณีถูกรุกล้ำอำนาจอธิปไตย ในขณะเดียวกันรัฐไทยก็ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหลักมนุษยธรรมในการรองรับการอพยพ ของผู้ลี้ภัย ซึ่งสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ข้ามรัฐที่มีหลากหลายรูปแบบภายใต้บริบทการเมืองระหว่างประเทศ


1  สยามรัฐออนไลน์. (2564).ศูนย์มานุษยวิทยาฯเปิดฟังความเห็นร่างกม.คุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 25 ธันวาคม 2564. เข้าถึงได้จาก: https://siamrath.co.th/n/269539

2  TheActive. (2564). กลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ใช่ “คนอื่น”. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564. เข้าถึงได้จาก: https://theactive.net/read/the-indigenous-peoples-of-thailand/

3  ร่างพระราชบัญญัติที่มีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ จำนวน 5 ฉบับ[3] ประกอบด้วย ๑) (ร่าง) พระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เสนอโดยสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ซึ่งสภาชนเผ่าพื้นเมืองได้เข้าชื่อกัน 13,021 รายชื่อ เสนอสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 2) (ร่าง) พระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เสนอโดย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นำโดยพรรคก้าวไกล กลุ่ม ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้ร่วมกันเสนอสภาผู้แทนราษฎร เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 3) (ร่าง) พระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เสนอโดยคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 4) (ร่าง) พระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เสนอโดยขบวนการภาคประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) มีสถานะเป็นกฎหมายที่ภาคประชาชนเข้าชื่อกันเสนอกฎหมาย เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564 ได้มีการยื่นรายชื่อจำนวน 16,599 รายชื่อให้กับนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร และ 5) (ร่าง) พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ของกระทรวงวัฒนธรรม โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน ) มีสถานะเป็นร่างกฎหมายของรัฐบาลตามแผนปฏิรูปประเทศ และคำแถลงนโยบายของรัฐบาล ที่ระบุไว้ในเอกสารคำแถลงนโยบายว่าเป็นกฎหมายเร่งด่วนที่ต้องตราขึ้นภายในรัฐบาลชุดนี้ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำรายงานผลกระทบของกฎหมายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี

4  The active news. (2563). ร่วมลงนาม MOU แก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2564. เข้าถึงได้จาก: https://theactive.net/news/20201128-2/

5  สถาบันพัฒนาองค์กรชมชน. (2563). สถาปนาพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษแห่งที่ 13 ‘กะเหรี่ยงพุเม้ยง์’ จ.อุทัยธานี ขณะที่กะเหรี่ยง 3 จังหวัด ยื่นหนังสือถึง รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ ร้องปัญหาที่ดิน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2564. เข้าถึงได้จาก: https://web.codi.or.th/20201209-20263/

6  Workpointtoday. (2564). สรุปสถานการณ์ โควิด-19 ประเทศไทย เดือนสิงหาคม 2564. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564. เข้าถึงได้จาก:https://workpointtoday.com/covidaug/

7  Amnesty International Thailand. (2564). โควิด -19 กับกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564. เข้าถึงได้จาก:https://www.amnesty.or.th/latest/blog/913/

8  ข่าวสด. (2564). เผยปัญหาเยียวยาโควิด กลุ่มชาติพันธุ์ เข้าไม่ถึงข้อมูล ทำตกงาน-ขาดอาหาร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564. เข้าถึงได้จาก: https://www.khaosod.co.th/politics/news_4435680

9  สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย. (2564). ร่างรายงานผลการดำเนินงานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย. เอกสารประกอบการประชุมเวทีสมัชชาระดับชาติว่าด้วยสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 5ระหว่างวันที่ 11 -12 ธันวาคม 2564 ณ โรงแรมฮอไรชั่นวิลเลจ แอนด์รีสอร์ท สวนพฤกษศาสตร์ทีชล และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โปรแกรม ZOOM

10  สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย. (2564). เรื่องเดียวกัน.

11  สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง. (2563). สถิติคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่ได้ขึ้นทะเบียนจากกรมการปกครอง กระทวงมหาดไทย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563. กรุงเทพฯ: กระทรวงมหาดไทย

12  กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย. (2564). โครงการตรวจสารพันธุกรรมเพื่อการแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของคนไทยที่ตกหล่นทางทะเบียนราษฎร ประจำปีงบประมาณ 2565. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2564. เข้าถึงได้จาก: https://www.bora.dopa.go.th/index.php/th/infromation-str

13  TheActive. (2564). น้ำใจ “กลุ่มชาติพันธุ์” แบ่งปันผลผลิต ช่วยคนจนเมือง – คนไร้บ้าน จ.เชียงใหม่ สู้ภัยโควิด. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564. เข้าถึงได้จาก: https://theactive.net/news/20210801-2/

14  สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย. (2564). เรื่องเดียวกัน.

15  สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย. (2564). เรื่องเดียวกัน.

16  คมชัดลึก. (2564). เชียงใหม่ ลงนามร่วมมือพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ (ที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ) โดยใช้ภาษาแม่เป็นฐาน (พหุภาษา). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2564. เข้าถึงได้จาก: https://www.komkhaotuathai.com/contents/35394.

17  พื้นที่นำร่อง 8 จังหวัด ได้แก่ ระยอง สตูล ศรีษะเกษ เชียงใหม่ กาญจนบุรี ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

18  ประชาชาติธุรกิจ. (2564). ที่มา #saveบางกลอย หลากเรื่องที่กลุ่มชาติพันธุ์อยากให้เราเข้าใจ.(ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2564. เข้าถึงได้จาก: https://www.prachachat.net/politics/news-618505

19  บีบีซี นิวส์ ไทย. (2564). บางกลอย: "ป่าปลอดคน" หรือ "คนอยู่กับป่า" อนาคตป่าแก่งกระจานกับการเป็นมรดกโลก. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2564. เข้าถึงได้จาก: https://www.bbc.com/thai/thailand-56453842

20  บีบีซี นิวส์ ไทย. (2564). แก่งกระจาน : ยูเนสโกมีมติขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ แม้ฝ่ายสิทธิมนุษยชนยูเอ็นค้าน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2564. เข้าถึงได้จาก: https://www.bbc.com/thai/thailand-57968385.

21  Workpointtoday. (2564). สรุปทุกอย่างให้เข้าใจ #SAVEบางกลอย เรื่องราวการต่อสู้ระหว่างอำนาจรัฐกับชาวกะเหรี่ยง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2564. เข้าถึงได้จาก: https://workpointtoday.com/explaine/.

22  ไทยรัฐออนไลน์. (2564). ปมร้อน "เหยียดคนอีสาน" จากอดีตถึงปัจจุบัน สังคมไทยฝังลึก มองคนไม่เท่ากัน. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564. เข้าถึงได้จาก: https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2237044

23  สุภีร์ สมอนา. (2559). อีสานในม่านมายาคติ. รวมบทความการประชุมวิชาการระดับชาติ วิถีชาติพันธุ์ในอีสาน “ภาวการณ์กลายเป็น” ในกระแสการเปลี่ยนแปลงสู่เสรีนิยมใหม่ วันที่ 7-8 เมษายน 2559 ณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

24  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน. (2564). โควิด-19 ลามชาวเล 5 จังหวัดภาคใต้ เครือข่ายชาวเลอันดามันตั้งศูนย์ระดมความช่วยเหลือ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 25 ธันวาคม 2564. เข้าถึงได้จาก: https://web.codi.or.th/20210927-27516/

25  ข่าวสดออนไลน์. (2564). เครือข่ายชาวเล โวยอุทยานฯ ซ้ำเติมชาวบ้านยามวิกฤต ออกประกาศไล่รื้อ 'บาฆัด'. (ออนลน์). สืบค้นเมื่อ 25 ธันวาคม 2564. เข้าถึงได้จาก: https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_6612127

26  แหล่งเดิมอ้างแล้ว

27  สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ. (2564). กสม. ปรีดา ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีชาวเลอูรักลาโวยจเกาะจำ จังหวัด กระบี่ถูกรื้อ ถอนเพิงพักในการทำประมง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 25 ธันวาคม 2564. เข้าถึงได้จาก: https://www.nhrc.or.th/News/Activity-News/กสม. ปรีดา ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีชาวเลอูรั.aspx

28  ผู้จัดการออนไลน์. (2564). สั่งรื้อขนำเพิงพักชาวเลในอุทยานฯ เกาะพีพี หลังตรวจพบสร้างกึ่งถาวร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 25 ธันวาคม 2564. เข้าถึงได้จาก: https://mgronline.com/south/detail/9640000125947

29  พิมรี่พาย. 2564. สุขสันต์วันเด็ก พิมรี่พายจัดใหญ่ให้น้องบนดอยสูง. ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=nAkBXvUA-gM

30  ข่าวสด.2564. คนอมก๋อย ยกข้อมูล โต้ ศรีสุวรรณ ยัน บ้านแม่เกิบ มีมา 100 ปี กรมอุทยานฯ ช่วยชี้ชัดปมเขตอนุรักษ์. ที่มา: https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_5720488

31  komchadluekonline. 2564. อาจารย์ ม.ดัง จวก "พิมรี่พาย" สานฝันเด็กดอย มันไม่ใช่ความฝันของเด็ก มันคือความฝันอยากจะโปรดสัตว์ชนชั้นล่าง ของพวกชนชั้นกลางมากกว่า. ที่มา: https://www.komchadluek.net/entertainment/454632

32  บีซี นิวส์ ไทย. (2564). โควิด-19: แรงงานเมียนมาตลาดกุ้ง สมุทรสาครอยู่อย่างไรในพื้นที่ล็อกดาวน์. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2564. เข้าถึงได้จาก: https://www.bbc.com/thai/thailand-55435224.

33  นภาพร อติวานิชยพงศ์. (2563). แรงงานข้ามคุณค่าที่ถูกลืม ในสมรภูมิโควิด-19. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2564. เข้าถึงได้จาก: https://bit.ly/3jqhyG4.

34  Thematter. (2563). แรงงานผู้ร้าวราน ความทรมานเมื่อถูกรัฐแปะป้ายเป็น “ต่างด้าว”. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://thematter.co/social/migrant-worker-in-thailand/131681

35  TCIJ. (2564). เสียงสะท้อนของหญิงแรงงานข้ามชาติในไทยจากสถานการณ์โควิด 19. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2564. เข้าถึงได้จาก: https://www.tcijthai.com/news/2020/7/article/10693.

36  เรื่องเล่าเช้านี้. (2564). จลาจลวุ่น ผู้ลี้ภัยศูนย์อพยพท่าสองยาง 2 พันชีวิตฮือประท้วง อ้างถูก จนท.ทำร้ายก่อน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2564. เข้าถึงได้จาก: https://ch3plus.com/news/program/270093

37  ผู้จัดการออนไลน์. (2564). จลาจลศูนย์พักพิงฯ ชายแดนท่าสองยางยังไม่สงบ สะพัดผู้อพยพจ้องเผาซ้ำ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2564. เข้าถึงได้จาก: https://mgronline.com/local/detail/9640000123946

38  ไทยรัฐ ออนไลน์. (2564). ศูนย์ลี้ภัยผู้อพยพ จ.ตาก ฮือประท้วง ก่อจลาจล ทำลายทรัพย์สินทางราชการ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2564. เข้าถึงได้จาก: https://www.thairath.co.th/news/local/north/2265446.

39  ไทยรัฐออนไลน์. (2564). สงครามชายแดนแม่สอด เสียงปืนสงบชั่วคราว กะเหรี่ยง 500 คน สมัครใจกลับบ้าน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2564. เข้าถึงได้จาก: https://www.thairath.co.th/news/local/north/2275635

40  บีซี นิวส์ ไทย. (2564). เมียนมา: นายกฯ ลั่นยึดหลักอาเซียนแก้ปัญหาเมียนมา สั่งกองทัพดูแลผู้ลี้ภัยที่แม่สอด. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2564. เข้าถึงได้จาก: https://www.bbc.com/thai/thailand-59807366.


สรุปสถานการณ์โดย

นายเจษฎา เนตะวงศ์

นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

นางสาวสุดารัตน์ ศรีอุบล

นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ กลุ่มชาติพันธุ์ สถานการณ์ เจษฎา เนตะวงศ์ สุดารัตน์ ศรีอุบล

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share