Hope cluster โควิดนี้ยังมีหวัง ลำดับที่ 33

 |  วัฒนธรรมร่วมสมัย
ผู้เข้าชม : 1530

Hope cluster โควิดนี้ยังมีหวัง ลำดับที่ 33

เรียบเรียงโดย ชัยวัฒน์ อหันทริก

 

 

           ว่าที่ ร.ต.หญิง พิมพ์ ชื่อเล่น พิมพ์ อายุ 26 ปี อาชีพ ทำงานอิสระ ซ.ลาดปลาเค้า

           ก่อนที่ โควิด-19 จะเริ่มระบาดในประเทศไทย ขณะนั้นฉันทำงานเป็นครูสอนกิจกรรมค้นหาศักยภาพของนักเรียนประถมต้น ณ โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ในช่วงวันหยุดหรือเวลาว่างก็จะมีอาชีพเสริม เป็นช่างภาพ ค้าขาย และผู้ให้คำปรึกษา ใช้ชีวิตปกติ มีกิน มีใช้แบบสบาย มีความสุขดี ภาระก็มีเพียงเลี้ยงตนเองกับคุณแม่ และดูแลสัตว์เลี้ยงในบ้าน

           พอเริ่มต้นปี ฉันเริ่มได้ยินข่าวในด้านลบมากขึ้น ๆ เช่น ข่าวเหตุการณ์กราดยิง ฝุ่น PM 2.5 ข่าวโคโรนาไวรัส สภาพจิตใจตอนนี้เริ่มไม่ค่อยดีนัก พอเกิดเหตุการณ์โควิด-19 เข้าระบาดในไทย ฉันเริ่มกังวล เพราะมันคือสิ่งใหม่ของคนทั่วโลก ทุกประเทศแทบจะไม่มีใครรู้มากไปกว่าใครเกี่ยวกับโควิด-19

           หลังจากนั้นเศรษฐกิจเริ่มแย่ลง มีการกักตุนอาหาร น้ำ รวมถึงแอลกอฮอล์และหน้ากากอนามัยกลายเป็นสิ่งหายากและราคาแพง การใช้ชีวิตประจำวันเริ่มลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะการทำงาน

           เมื่อรัฐบาลมีนโยบายล็อคดาวน์และปิดประเทศช่วงปี 2563 การศึกษาหยุดไม่ได้ แต่นักเรียนก็ไม่สามารถมาเรียนที่โรงเรียนได้ตามปกติ จึงจำเป็นต้องมีการเรียนการสอนออนไลน์เกิดขึ้น ซึ่งก็นับว่าเป็นความท้าทายของระบบการศึกษาไทยอย่างหนึ่ง

           ครูทุกคนต้องหันมาใช้เทคโนโลยีที่ไม่เคยใช้มาก่อน แต่นับว่าเป็นโชคดีสำหรับฉันที่มีความชื่นชอบด้านเทคโนโลยีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทางโรงเรียนแต่งตั้งฉันให้มีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคของโรงเรียนทันที เพื่อสร้างระบบการเรียนการสอนออนไลน์ขึ้นมาพร้อมรับกับสถานการณ์โควิด-19 เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ภาระงานเพิ่มขึ้น ทั้งสอนครูใช้เทคโนโลยี ทั้งวางระบบ และใช้งานระบบ ทุกอย่างถูกบีบด้วยเวลา มีเวลาพักผ่อนน้อยลง ต้องตัดอาชีพเสริมทิ้งไป ความเครียดมีสะสมขึ้นทุกวัน เพราะขณะเดียวกันก็ยังได้ยินข่าวโควิด-19 เกือบตลอดเวลา

           ช่วงเวลาหนึ่ง ฉันเริ่มรู้สึกท้อแท้ในการทำงาน โรงเรียนมีครูน้อยลง นักเรียนน้อยลง แต่ภาระงานของฉันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นครูแนะแนว ครูที่ปรึกษาประจำโรงเรียน ช่างภาพ ฝ่ายโสตฯ ฝ่ายเทคนิค จนงานเริ่มล้นมือและรู้สึกว่าทำไม่ไหว ไม่มีการจ้างงานเพิ่มเท่ากับจำนวนบุคลากรที่ออกไป ฉันพยายามที่จะเข้าใจสถานการณ์ขององค์กรที่ประสบเจอปัญหาเศรษฐกิจเช่นกัน เพื่อนร่วมงานต่างให้กำลังใจซึ่งกันและกัน รวมถึงมีความรู้สึกผูกพันกับนักเรียนที่เราสอน จึงทำงานอยู่ต่อได้

           พอถึงเหตุการณ์โควิด-19 ระบาด รอบ 3 ในไทย ปี 2564 เลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวัน คนรอบข้างสุขภาพจิตแย่ลง บางคนเครียดตลอดเวลา รวมถึงตัวฉันเอง สุดท้ายฉันตัดสินใจลาออกจากงานที่ทำอยู่ เพราะรู้สึกรับภาระงานไม่ไหว และรับความกดดันไม่ไหว

           ปัจจุบัน ทำงานอิสระ ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บ้าน รู้สึกปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยทำงานออนไลน์เกี่ยวกับธุรกิจด้านคอมพิวเตอร์ โชคดีที่โควิด-19 ระบาดทางออนไลน์ไม่ได้ ธุรกิจด้านคอมพิวเตอร์จึงเติบโตอย่างมาก รายได้มากขึ้น ชีวิตปลอดภัยขึ้น เริ่มมีความสุขกับการใช้ชีวิตอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ยังมีความกังวลทุกครั้งที่มีความจำเป็นต้องออกจากบ้าน

           ความคาดหวังต่อสถานการณ์โควิด-19 ฉันหวังแค่ให้ทุกคนตระหนักในความสำคัญของการดูและรักษาชีวิตของตนเองให้มีสุขภาพกายและจิตที่ดี พูดง่ายๆ คือให้รักตัวเองมากที่สุด เมื่อเราดูแลตัวเองดีแล้วเราจึงจะสามารถดูแลผู้อื่นได้ ส่วนโควิด-19 ก็เป็นไวรัสชนิดหนึ่ง หวังเพียงว่าจะมีคนสามารถคิดค้นนวัตกรรมที่เอาชนะไวรัสตัวนี้ได้

           คิดว่ารัฐบาลช่วยเหลืออะไร ก็รับได้ ได้สิทธิ์เราชนะมา ก็ใช้หมดเรียบร้อยแล้ว ซื้อของใช้ในครัวเรือนกับอาหาร ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมากกับรัฐบาล เพราะปัญหานี้เกิดขึ้นเหมือนกันทุกประเทศ ประเทศไทยก็ยังเป็นเพียงประเทศเล็ก ๆ ที่กำลังพัฒนา สำคัญสุดคือ ทุกคนต้องช่วยกัน เริ่มต้นจากดูแลตัวเองให้ดี ไม่เอาตัวเองไปอยู่ในภาวะเสี่ยงต่าง ๆ ถ้ามีวัคซีน
ก็อยากจะลองฉีดดู เพราะคิดว่าร่างกายแข็งแรงดี หากเกิดภาวะข้างเคียงก็คิดว่าไม่ถึงกับชีวิต ถ้าหากเปรียบเทียบช่วงก่อนโรคโควิดจะระบาดให้ค่าของความสุข 100% และในระหว่างที่ยังระบาดรอบที่สามความสุขลดลงเหลือ 70%


สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2564

 

ป้ายกำกับ โควิด-19 ระลอก 3 covid-19 ระลอก 3 freelance ความหวัง ชัยวัฒน์ อหันทริก

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share