อาลัย Professor Andrew Turton

 |  แนวคิด ทฤษฎีมานุษยวิทยา
ผู้เข้าชม : 1304

อาลัย Professor Andrew Turton

 

Professor Andrew Turton ที่มา https://alchetron.com/Andrew-Turton

 

           เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ศาสตราจารย์แอนดรู เทอร์ตัน ได้จากไปด้วยวัย 83 ปี ท่านเป็นนักมานุษยวิทยาชาวอังกฤษ ที่คลุกคลีและใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านภาคเหนือของไทยเป็นเวลานานเกือบ 4 ทศวรรษ จนมีความเชี่ยวชาญในวัฒนธรรมล้านนาของไทย ท่านเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง Northern Thai Peasant Society: Twentieth-century Transformations in Political and Jural Structureในปี ค.ศ. 1976 รวมทั้งมีหนังสือและบทความวิชาการเกี่ยวกับวัฒนธรรมล้านนาและการวิเคราะห์สังคมไทยหลายเรื่อง ผลงานสำคัญ ได้แก่ บทความเรื่อง Matrilineal Descent Groups and Spirit Cults of the Thai-Yuan in Northern Thailand (1972) บทความเรื่อง The Current Situation in the Thai Countryside (1978) หนังสือเรื่องProduction, Power and Participation in Rural Thailand: Experiences of Poor Farmers' Groups (1987) บรรณาธิการหนังสือเรื่อง Thailand: Roots of Conflict (1978), Thai Construction of Knowledge (1991) และ Civility and Savagery: Social Identity in Tai States (2000) รวมทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ Centre of Southeast Asian Studies ของ School of Oriental and African Studies (SOAS) แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน

           ในปี ค.ศ. 2010 Philip Hirsch and Nicholas Tapp ได้จัดทำหนังสือรวมบทความของนักวิชาการหลายคน เรื่อง Tracks and Traces: Thailand and the Work of Andrew Turton ซึ่งมีการวิเคราะห์การทำงานและความคิดของศาสตราจารย์แอนดรู เทอร์ตัน โดยชี้ให้เห็นว่าในช่วงทศวรรษ 1970 - 1980 ที่เทอร์ตันศึกษาสังคมไทย มีการอธิบายการเปลี่ยนแปลงและความขัดแย้งระหว่างชนชั้นชาวนาในชนบทกับการพัฒนาของผู้ปกครองแบบรัฐไทยที่สร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม โดยนำแนวคิดของ Antonio Gramsci มาปรับใช้เพื่ออธิบายว่าชุมชนท้องถิ่นมีการต่อต้านขัดขืนกับอำนาจรัฐไทยตลอดเวลา ทำให้รัฐไม่สามารถครอบงำท้องถิ่นได้อย่างเบ็ดเสร็จ คำอธิบายนี้สะท้อนให้เห็นมิติความขัดแย้งที่ซ่อนเร้นในสังคมไทย อันเป็นผลมาจากการแย่งชิงผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาติ ซึ่งชาวบ้านและคนท้องถิ่นที่ยากจนจะถูกดึงเข้าไปเป็นเงื่อนไขเพื่อต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมทางสังคม

 

หนังสือ Tracks and Traces: Thailand and the Work of Andrew Turton

ภาพจาก https://silkwormbooks.com/products/tracks-and-traces

 

           Philip Hirsch และอานันท์ กาญจนพันธุ์ ตั้งข้อสังเกตว่า การศึกษาของเทอร์ตันชี้ให้เห็น “ผู้กระทำการทางสังคม” (social actors) ที่เป็นชาวนาในหมู่บ้านชนบท ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจ เทอร์ตันได้ชี้ให้เห็นว่าโครงสร้างอำนาจในท้องถิ่น (local power structures) สัมพันธ์กับระบบความเชื่อและความรู้แบบชาวบ้านที่ปรับตัวไปตามระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและวัฒนธรรมบริโภค คำอธิบายนี้ช่วยขยายความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์และพลวัตเชิงอำนาจในสังคมไทยสมัยใหม่ที่ซับซ้อนและเปลี่ยนไปตลอดเวลา โดยมิได้มองชุมชนชนบทเป็นเพียงหมู่บ้านที่สงบร่มเย็น กลมเกลียว และยอมเชื่อฟังผู้ปกครองโดยดุสดี แนวคิดของเทอร์ตันได้รับอิทธิพลความคิดเรื่องอำนาจ/ความรู้มาจาก Michel Foucault เห็นได้จากหนังสือที่เทอร์ตันบรรณาธิการร่วมกับ มนัส จิตเกษม (1991) เรื่อง Thai Constructions of Knowledge ซึ่งถูกนำมาเป็นกรอบในการวิเคราะห์ชีวิตชาวนาในสังคมไทย และทำให้เห็นสภาวะความไม่แน่นอน รอยแยก และความขัดกันของอุดมการณ์และความรู้แบบต่างๆ ปัจจุบัน สภาวะดังกล่าวก็ยังคงดำเนินต่อไป

 

หนังสือ Thai Constructions of Knowledge

ภาพจาก https://www.abebooks.com

 

การศึกษาของศาสตราจารย์แอนดรู เทอร์ตัน สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ซึ่งท่านใกล้ชิดและทำงานร่วมกับนักมานุษยวิทยาไทยรุ่นแรก คือพัทยา สายหู และสุเทพ สุนทรเภสัช รวมทั้งสร้างแนวทางและแรงบันดาลใจ
ให้การศึกษาของนักมานุษยวิทยาอีกหลายคน เช่น จามะรี เชียงทอง, อานันท์ กาญจนพันธุ์, Philip Hirsch,Nicholas Tapp,Jim Glassman,Volker Grabowsk เป็นต้น ในช่วงท้ายชีวิตของเทอร์ตัน เขียนบทความเรื่อง The Concept 'Praxis' And The Practice Of Anthropologists (2008) อธิบายให้เห็นว่าการทำงานของนักมานุษยวิทยาตะวันตก คือการอธิบายสังคมของ “คนอื่น” ที่ต่างไปจากตัวเอง ในขณะที่เทอร์ตันเข้ามาศึกษาสังคมไทยและได้รู้จักนักมานุษยวิทยาไทย เทอร์ตันพบว่านักมานุษยวิทยาไทยพบเห็นปัญหาสังคมของตัวเองและพยายามเข้าไปปรับเปลี่ยนแก้ไขปัญหาเหล่านั้น ในแง่นี้ การเป็นนักมานุษยวิทยาจึงมิใช่เพียงการผลิตความรู้และสร้างหลักการเชิงทฤษฎี แต่นักมานุษยวิทยาควรจะลงมือ “ปฏิบัติ” เพื่อทำให้สังคมเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น

 


 

เรียบเรียงโดย

ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยและพัฒนา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 


 

ป้ายกำกับ ไว้อาลัย Andrew Turton นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share