สิทธิชุมชนในมุมมองระดับโลก: Community Rights in Global Perspective

 |  รัฐ และวัฒนธรรมอำนาจ
ผู้เข้าชม : 1146

สิทธิชุมชนในมุมมองระดับโลก: Community Rights in Global Perspective

 

หนังสือสิทธิชุมชนในมุมมองระดับโลก เขียนโดย เสน่ห์ จามริก แปลโดย วีระ สมบูรณ์

 

           ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เขียนเรื่อง “สิทธิชุมชนในมุมมองระดับโลก” เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเป็นปาฐกถานำในการประชุม III MMSEA (Montane Mainland Southeast Asia Conference) ณ มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 25-28 สิงหาคม 2545 และนำมาแปลเป็นภาษาไทยโดย ดร.วีระ สมบูรณ์ ซึ่งปาฐกถาของศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ในครั้งนี้ เป็นการขยายมุมมองสิทธิชุมชนออกไปสู่ระดับภูมิภาคและระดับโลก

           ศาสตราจารย์เสน่ห์ ได้กล่าวว่า การประชุม “Montane Mainland Southeast Asia Conference” ในครั้งนี้ คือกุญแจสู่ความเข้าใจที่กว้างไกลยิ่งขึ้นในเรื่องของมิติองค์รวมของเอเชียอาคเนย์ในฐานะฐานทรัพยากรเขตร้อน และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของภูมิภาคแห่งนี้ ซึ่งเอเชียอาคเนย์มีฐานะเป็นทั้งยุทธศาสตร์บนเส้นทางเดินเรือจากตะวันออกกลาง สู่ชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก และเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ร่ำรวยด้วยทรัพยากรเขตร้อนสูงสุด

           ด้วยเหตุนี้ ภูมิภาคนี้จึงตกอยู่ภายใต้การแข่งขันยึดครองของอำนาจตะวันตกเรื่อยมา ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่นอันล้ำค่า รวมทั้งชุมชนท้องถิ่นของเอเชียอาคเนย์ต้องตกเป็นเหยื่อซ้ำแล้วซ้ำเล่า รวมทั้งกระแสโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชีวภาพ ทั้งหมดนี้เป็นภัยคุกคามที่ชัดเจนต่อระบบนิเวศอันเปราะบางของโลก ซึ่งย่อมส่งผลต่อผู้คนที่ดำรงชีวิตโดยอาศัยระบบนิเวศเหล่านี้ กล่าวคือ นี่คือภัยคุกคามต่อสิทธิพื้นฐานในชีวิตของประชาชน ซึ่งประเด็นเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นนี้ ต้องทำความเข้าใจด้วยมุมมองขององค์รวมแห่งภูมิภาค ซึ่งมุมมองที่กล่าวมานี้ต้องแฝงไว้ด้วยความสามารถในการมองเห็นองค์รวมทางภูมิศาสตร์ตลอดจนความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน การประชุมครั้งนี้จึงได้นำเสนอมุมมองสามประการให้ที่ประชุมได้พิจารณาร่วมกัน ดังนี้

           1) ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นสิ่งที่ต้องเข้าใจและดำเนินการในฐานะที่เป็นฐานทรัพยากรเขตร้อนหนึ่งเดียว อันจะนำมาซึ่งการหาแนวทางร่วมกันและการรวมพลังกัน โดยข้ามพ้นเส้นแบ่งและการแบ่งแยกชุมชนท้องถิ่นทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นภายในชาติหรือระหว่างชาติก็ตาม

           2) ความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันระหว่างพื้นที่และประชาชนทั้งในเขตเทือกเขา ที่ราบลุ่ม และท้องทะเล เพื่อรวมกันเป็นเครือข่ายชุมชนฐานทรัพยากร ซึ่งต่างก็ถูกภัยคุกคามของโลกาภิวัตน์และชนชั้นนำที่แปลกแยกผลักสู่ชายขอบ

           3) การตระหนักร่วมกันว่า จะต้องมีการปฏิรูปตนเองบนพื้นฐานของการพึ่งตนเองและสิทธิในการพัฒนา เพื่อให้แหล่งความรู้ ความสร้างสรรค์ที่มีอยู่ภายในชุมชน ได้รับการฟื้นฟูพัฒนาขึ้นเป็นฐานในการนำเอาความรู้สมัยใหม่มาปรับใช้ และสอดประสานอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม

           การประชุมครั้งนี้จะเน้นย้ำและผลักดันสู่นโยบายและแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งจะก่อให้เกิดแนวคิดใหม่ในเรื่องสิทธิของกลุ่มชนบนพื้นฐานวิถีชีวิตของชุมชน

           นอกจากนี้ ยังมีประเด็นสำคัญของปาฐกถานี้ คือ ประเด็นเกี่ยวกับเรื่องของ “สิทธิในทรัพยากรตามจารีต” ของคนท้องถิ่นพื้นเมือง เช่น การจัดสรรความอุดมสมบูรณ์และทรัพยากรธรรมชาติ การปกป้องวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อย เสรีภาพทางศาสนา สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิของเกษตรกร เป็นต้น ซึ่งที่สุดแล้วสิทธินี้จะเป็นที่ยอมรับมากน้อยเพียงใดในสังคมนั้น ต้องอาศัยการปรึกษาหารืออย่างต่อเนื่องยาวนานกับผู้นำชนพื้นเมืองทั้งหลาย โดยประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ เพราะแม้จะมีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญให้กับสิทธิชุมชนเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและความหลากหลายทางชีวภาพก็ตาม แต่ในความเป็นจริงก็ยังเป็นเรื่องที่ห่างไกลยิ่งนัก

           ในตอนท้ายสุดของปาฐกถานี้ ได้ชี้ให้เห็นว่า การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิชุมชนนี้ จะต้องอาศัยการรวมพลังกันของผู้คนและชุมชน เพราะสิทธิชุมชนไม่ใช่เป็นสิทธิที่ชุมชนใช้ปกปักรักษาทรัพยากรหรือตัวตนของตนเองเท่านั้น แต่ยังเป็นสิทธิที่มีความสำคัญกับชุมชนในการมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากร อนุรักษ์ บำรุงรักษา การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ให้เกิดความยั่งยืน จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะพัฒนาท้องถิ่นอันเป็นพื้นฐานสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ต่อไป

           หนังสือเรื่องนี้รวมถึงหนังสือที่ว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมให้บริการที่ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC Library และ Line: @sac-anthropology

 

ผู้เขียน

ปริยฉัตร  เวทยนุกูล

บรรณารักษ์

กราฟิก

วิสูตร  สิงห์โส

เจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์

 


 

ป้ายกำกับ สิทธิชุมชน Community Rights โลก Global ปริยฉัตร เวทยนุกูล

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share