เพศในเขาวงกต : แนวคิดทฤษฎีเพศในวัฒนธรรมบริโภค โดย ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

 |  อคติทางวัฒนธรรม และความรุนแรง
ผู้เข้าชม : 3862

เพศในเขาวงกต : แนวคิดทฤษฎีเพศในวัฒนธรรมบริโภค โดย ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

 

เพศในเขาวงกต : แนวคิดทฤษฎีเพศในวัฒนธรรมบริโภค

โดย ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

 

วิภาวดี โก๊ะเค้า 

บรรณารักษ์ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

    

ภาพหน้าปกหนังสือ เพศในเขาวงกต : แนวคิดทฤษฎีเพศในวัฒนธรรมบริโภค

 

เพศในเขาวงกต: แนวคิดทฤษฎีเพศในวัฒนธรรมบริโภค เขียนโดย ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยและพัฒนา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2560 การศึกษาค้นคว้าในครั้งนี้พัฒนามาจากงานวิจัยเรื่อง วัฒนธรรมบริโภคในมิติเพศวิถีของผู้เขียน ที่เคยศึกษาค้นคว้าในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2556 ถึง มิถุนายน พ.ศ. 2557 จากการสนับสนุนทุนวิจัยโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) หนังสือเล่มนี้เปรียบเสมือนแว่นขยายที่ช่วยฉายภาพการเมืองของอัตลักษณ์ทางเพศของคนไทย ผ่านการตรวจสอบแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับทุนนิยม และบริโภคนิยม ที่มีความสัมพันธ์กับเซ็กส์ กามารมณ์ เพศภาวะ และเพศวิถี เพื่อชักชวนให้ผู้อ่านร่วมค้นหาคำตอบของการตีตราพฤติกรรมทางเพศที่ถูกซุกซ่อน ซ้อนทับกันอยู่ให้คลี่คลายออกเพื่อการมองดูอย่างไร้อคติ

 

ปฐมบท ก่อนบริโภคนิยม: เซ็กส์และกามารมณ์ในประวัติศาสตร์ไทย

           บทแรกเริ่มต้นด้วยการชักชวนให้ผู้อ่านเห็นถึงปัญหาของการเขียนประวัติศาสตร์ของเซ็กส์ และกามารมณ์ในสังคมไทยที่ฝังรากลึกส่งผลต่อการควบคุม ตัดสินพฤติกรรมทางเพศที่ถูกจัดวางอยู่บนพื้นฐานของศีลธรรม วิธีปฏิบัติทางเพศในระบบปิตาธิปไตย ภายใต้วาทกรรมของสมบัติผู้ดี สุภาษิตสอนหญิง และอำนาจของกฎหมายผัวเดียวเมียเดียวที่ถูกซ่อนอยู่ เพื่อชี้ให้เห็นถึงกับดักของการนำแนวคิดเกี่ยวกับเพศของทฤษฎีเฟมินิสต์ (วิเคราะห์จากประสบการณ์ของเพศหญิง) และทฤษฎีของเควียร์ (วิเคราะห์จากประสบการณ์ของเพศนอกกรอบ) ที่วนเวียนอยู่เพียงแค่เรื่องของอัตลักษณ์ ส่งผลให้ความเชื่อของ “การกดขี่ทางเพศ” แสดงตัวตนออกมาและถูกเน้นย้ำให้มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

           ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ ได้นำเสนอแนวคิด “วงศาวิทยา” ของฟูโกต์ เพื่อให้ผู้อ่านทำความเข้าใจ และมองย้อนกลับไปทบทวนการถ่ายเทของ “อำนาจ” และ “ความรู้” ที่สร้างความจริงของตัวตนทางเพศ โดยมุ่งหวังให้เกิดการตั้งคำถามจากการเกิดขึ้นของความรู้เรื่องเพศ และอำนาจที่ควบคุมอยู่1 เพื่อไม่ให้ผู้อ่านเดินเข้ากับดักจากการสถาปนาขึ้นของแนวคิดทฤษฎี และตัดสินพฤติกรรมทางเพศให้เป็นเพียงแค่เรื่องของ ถูก หรือ ผิด

 

ทุติยบท เดินเข้าสู่เขาวงกต: ทฤษฎีบริโภคนิยมของเซ็กส์และกามารมณ์

           ในบทนี้ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นถึงนิยาม และความหมายของคำว่า ทุนนิยม (Capitalism) และ บริโภคนิยม (Consumerism) ที่ดำเนินไปพร้อมกับความสัมพันธ์พฤติกรรมทางเพศของมนุษย์ เพื่อเป็นการปูพื้นให้ผู้อ่านเข้าใจการเกิดขึ้นของความเหลื่อมล้ำทางเพศ จากการศึกษาเปรียบเทียบทฤษฎีในมิติของทุนนิยม บริโภคนิยมกับเพศวิถีที่สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่ถูกจัดลำดับความสำคัญให้เป็นเรื่องของ “เงิน” และ “วัตถุ” (สินค้า) ความลุ่มหลงในการพยายามสร้างภาพลักษณ์ การมีอำนาจทางเศรษฐกิจในสังคม ความสุขจากการบริโภคนำมาสู่ความแตกต่างทางชนชั้น และเพศนอกกรอบถูกลดทอน กีดกันออกจากสังคมเพราะถูกมองว่า “ผิดปกติ” เหตุเพราะว่าสินค้าของเซ็กส์และกามารมณ์ในวัฒนธรรมบริโภคเป็นสิ่งเสื่อมทราม สกปรก และผิดศีลธรรม

           ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ ได้ศึกษาเปรียบเทียบทฤษฎี และการนำแนวคิดของฟูโกต์วิเคราะห์ซึ่งสวนกระแสกับแนวคิดของมาร์กซิสต์ เฟมินิสต์ และฟรอยด์ ทำให้ความเห็นว่าเซ็กส์และกามารมณ์ในวัฒนธรรมบริโภคคือการแสดง “ตัวตนทางเพศ” มนุษย์ไม่มีสิทธิตัดสินว่าสิ่งใดควรถูกควบคุม หรือสิ่งใดควรให้เสรีภาพ หากมองไม่เห็นร่องรอยของอำนาจที่ซุกซ่อนอยู่ มนุษย์ก็ไม่อาจสลัดการผลิตซ้ำของอำนาจความรู้ในแบบเดิม

        

ตติยบท: เซ็กส์/กามารมณ์ในวัฒนธรรมบริโภคแบบไทย

           บทที่สามผู้เขียนมุ่งเน้นการอธิบายให้เห็นตัวตน และชีวิตทางเพศของเพศหญิง เพศชาย และเพศทางเลือก ต่อเนื่องจากการศึกษาความสัมพันธ์ในบทที่สอง ที่ต้องการชี้ให้เห็นถึงความคลุมเครือของเซ็กส์และกามารมณ์ ปรากฏการณ์ที่สะท้อนการจัดวางตำแหน่งพฤติกรรมทางเพศในประเทศไทยในช่วงรัชกาล 4-5 ของกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ถูกควบคุมด้วยกฎหมายผัวเดียวเมียเดียว “ความเสื่อมทรามทางศีลธรรม” จึงเป็นกลไกสำคัญตัดสินพฤติกรรมทางเพศ เพศชายกลายเป็นดัชนีชี้ถึงการมีอำนาจมากกว่าเพศหญิง เพศหญิงกลายเป็นผู้ถูกเลือก และมีหน้าที่เพียงแสดงความซื่อสัตย์ต่อเพศชาย ในขณะที่เพศชายสามารถแสวงหาความสุขจากตัณหา และกามารมณ์

           ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ ได้ชี้ให้เห็นว่ากิจการค้าประเวณี หรือ “ซ่องโสเภณี” เป็นความสุขจากการบริโภค และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับรัฐบาล โสเภณีจึงขัดแย้งกับวาทกรรมของสมบัติผู้ดี สุภาษิตสอนหญิง และอำนาจของกฎหมายผัวเดียวเมียเดียว ยุคสมัยสมัยได้รุกคืบธุรกิจการค้าประเวณีที่มีความคล้ายเดิมแต่เปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบใหม่ สินค้าวัฒนธรรมบริโภคจึงมีส่วนทำให้มีอิทธิพลต่อการสร้างตัวตนทางเพศของเกย์ กะเทย และทอมดี้ เพื่อการกระตุ้นเร้าความรู้สึก และแสดงความปรารถนาทางเพศ ส่งผลให้สถานประกอบการบาร์ ผับ และธุรกิจบันเทิงยามราตรีจึงกลายเป็นพื้นที่แสดงตัวตนทางเพศที่ไม่ได้มีแค่ชาย หรือหญิง แม้ว่าการเปิดพื้นที่ดังกล่าวจะช่วยทำให้เกิดการติดต่อสื่อสาร การสร้างสังคมแต่ก็ยังคงแฝงไปด้วยอำนาจ และฐานะทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมกัน เมื่อเพศนอกกรอบยังถูกจำกัดรายได้ สิทธิเสรีภาพที่เต็มไปด้วยอคติ และความไม่เท่าเทียมกัน

 

ปัจฉิมบท: วิเคราะห์วงศาวิทยาของแนวคิดทฤษฎี

           บทส่งท้ายของหนังสือเพศในเขาวงกต: แนวคิดทฤษฎีเพศในวัฒนธรรมบริโภค เป็นการทบทวน ตรวจสอบ ขมวดปมโดยใช้วิธีศึกษาแบบวงศาวิทยา ของฟูโกต์ ที่ต้องการชี้ให้เห็นการโยกย้ายถ่ายเท และเบื้องหลังของ “อำนาจ” และ “ความรู้”

           ผู้เขียนมองว่าการใช้ทฤษฎีของฟูโกต์เป็นเพียงการทำความเข้าใจ “วิธี” การเคลื่อนย้าย การทำงานความสัมพันธ์ของอำนาจ และความรู้ที่มีหน้ากากเปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้ผู้อ่านตั้งคำถามและเป็นผู้ตรวจสอบ ไม่ตกอยู่ในกับดักของการใช้ทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่ง

           จากเนื้อหาทั้ง 4 บทในหนังสือสะท้อนให้เห็นว่า “อคติ” เป็นดั่งเงาเฉดสีเทาที่ยังคงอยู่กับมนุษย์ในทุกยุคทุกสมัย ขึ้นอยู่ว่าเฉดสีจะเข้มข้นขึ้นหรือเบาบางลง หนังสือเล่มนี้จึงเป็นการนำเสนอ “อคติทางเพศ” เพื่อให้เข้าใจความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย พฤติกรรมทางเพศที่ถูกตัดสิน ตีตรา ลิดรอนเสรีภาพทางเพศสู่การมองอย่างไร้อคติ

           หนังสือเรื่องนี้รวมถึงหนังสือที่ว่าด้วยอคติทางวัฒนธรรม มีพร้อมให้บริการที่ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC Library และ Line: @sac-anthropology

 

วันและเวลาให้บริการ

ห้องสมุด ชั้น 7-8 วันจันทร์–ศุกร์ : 08.30–16.30 น. และวันเสาร์ : 09.00–16.00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ วันจันทร์–ศุกร์ : 08.00-18.00 น. และวันเสาร์ : 09.00–17.00 น.

 

 

ผู้เขียน

วิภาวดี โก๊ะเค้า

บรรณารักษ์

ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

 

1  นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ . "เพศในเขาวงกต : แนวคิดทฤษฎีเพศในวัฒนธรรมบริโภค ". กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร    (องค์การมหาชน), 2560, หน้า 41.

ป้ายกำกับ อคติทางวัฒนธรรมและความรุนแรง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share