ชุนชนตะเคียนทองกับห้องแห่งความลับ

 |  ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์
ผู้เข้าชม : 2660

ชุนชนตะเคียนทองกับห้องแห่งความลับ

 

ชุนชนตะเคียนทองกับห้องแห่งความลับ1

 

สุธาสินี บุญเกิด

เจ้าหน้าที่ฐานข้อมูล กลุ่มงานคลังข้อมูล

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร องค์การมหาชน)

 

           เพราะเราเชื่อว่า “ทุกชุมชนมีเรื่องราวซ่อนอยู่” เช่นเดียวกับชุมชนตะเคียนทอง ซึ่งเก็บซ่อนเรื่องราวที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ ชื่อฟังดูคุ้นหูแต่อาจไม่คุ้นเคย ผลลัพธ์จากการเข้าร่วมโครงการคลังข้อมูลชุมชนได้เปิดโอกาสให้ "คนใน" ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันผ่านบทสนทนาและการสัมภาษณ์ผู้สูงอายุ ผู้นำชุมชน ชาวบ้านและเยาวชนรุ่นใหม่ในลักษณะ ผู้เฒ่าเล่าให้เราฟัง ที่พร้อมเผยเรื่องราวตัวตนคน “ชอง” ชุมชนชาติพันธุ์แห่งผืนป่าตะวันออก ที่สอดแทรกอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ พร้อมสรรพด้วยทรัพยากรวัฒนธรรม ที่ทีมวิจัยของชุมชนได้เลือกสรรให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสมุนไพรพื้นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ชองเป็นตัวชูโรง ส่งต่อสู่การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ ด้วยภูมิปัญญาสร้างสรรค์ของชุมชนตะเคียนทอง

 

 

เปิดโลกแห่งความ (ไม่) ลับ ฉบับชุมชนชนตะเคียนทอง

           ในโลกของเวทมนตร์ กุญแจนำทาง หนึ่งในไอเท็มสำคัญที่พามิสเตอร์พอตเตอร์และผองเพื่อนวาร์ปไปได้ในทุกที่ เช่นเดียวกับตัวอักษรบนหน้ากระดาษนี้จะนำพาผู้อ่านทุกคนมุ่งหน้าสู่จุดหมายปลายทางตำบลตะเคียนทอง ที่ซุกซ่อนอยู่ในอำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี พื้นที่ซึ่งมีผู้คนอาศัยอยู่เป็นเวลากว่าสองร้อยปี ข้อสันนิษฐานนี้เห็นได้จากสีมาวัดสุวรรณคีรีราม (วัดเนิน) วัดตะเคียนทอง ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ของตำบล มีผืนป่าติดต่อกับประเทศกัมพูชา ประชากรพูดจาด้วยสำเนียงภาษาแปลกจากคนไทยทั่วไป บางคนเข้าใจว่าเป็นคนเขมรเพราะภาษาพูดที่คล้ายกัน ถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของคนในแถบนี้ที่เรียกตัวเองว่า “ชอง” คำๆ นี้ใช้เป็นชื่อเรียกกลุ่มชนดั้งเดิมในแถบจังหวัดจันทบุรี ตราด ระยองและฉะเชิงเทรา อีกทั้งยังเป็นชื่อภาษาที่พวกเขาใช้สื่อสาร อันมีร่องรอยทางประวัติศาสตร์ปรากฏในเอกสารทั้งบันทึกการเดินทาง กวีนิพนธ์ และพระราชหัตถเลขา ปัจจุบันประชากรชาวชองอาศัยอยู่หนาแน่นในเขตอำเภอเขาคิชฌกูฏ โดยเฉพาะสองตำบลทางตอนเหนือของอำเภอ คือตำบลตะเคียนทองและตำบลคลองพลู

           ชุมชนตะเคียนทอง เป็นชุมชนที่มีคนชองอาศัยอยู่ค่อนข้างหนาแน่น โดยเฉพาะในพื้นที่หมู่ 4 บ้านตะเคียนทอง และหมู่ 5 บ้านป่าชาก ที่คณะทำงานของชุมชนได้ทำการศึกษาและรวบรวมข้อมูล ซึ่งที่มาของชื่อหมู่บ้านตะเคียนทอง เดิมชื่อบ้านตายศ ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นบ้านตะเคียนทอง เพราะมีต้นตะเคียนมากในสมัยนั้น ขณะเดียวกัน ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า เมื่อประมาณ 80 ปีที่แล้ว บ้านป่าชากมีสภาพเป็นป่าดงดิบใหญ่ ได้มีกลุ่มบุคคลเข้ามาโค่นทำป่าชักรากไม้เพื่อนำเข้าสู่โรงเลื่อยในเขตจังหวัดจันทบุรี ซึ่งนับเป็นกิจการที่รุ่งเรืองที่สุดในสมัยนั้น ทำให้ป่าบริเวณดังกล่าวโล่งเตียนเหมาะสำหรับทำการเกษตร ชาวบ้านใกล้เคียงโดยเฉพาะในตำบลตะเคียนทอง เข้ามาจับจองที่ดินเพื่อทำการปลูกมันสำปะหลัง โดยมีนายเอี้ยง  คามาวาส เป็นกำนันคนแรกของตำบล ต่อมาชาวบ้านได้อพยพเข้ามาอยู่เป็นชุมชนโดยอาศัยแหล่งน้ำจากน้ำตกตะเคียนทองที่ไหลผ่านทุ่งและคลองต่างๆ จนเกิดมีป่าชากขึ้นล้อมรอบหมู่บ้านแห่งนี้

 

ลักษณะการสร้างบ้านในอดีต

ที่มา :  นายคำรณ  วังศรี

            

           “ต็อง” ในภาษาชอง แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า บ้าน ที่ดั้งเดิมใช้วัสดุธรรมชาติ มีลักษณะเป็นไม้ไผ่ ปัจจุบันนิยมสร้างแบบร่วมสมัยใช้ไม้และปูนแทน มีทั้งแบบยกใต้ถุนสูงและแบบที่ปลูกติดดิน ในสมัยโบราณคนชองยังนิยมทอผ้าไว้ใช้เอง ดังนั้น เกือบทุกครัวเรือนจึงมีอุปกรณ์สำหรับทอผ้าไว้ใช้สอย ผู้หญิงนุ่งผ้าโจงกระเบน  ใส่เสื้อแขนกระบอกหรือเสื้อกั๊ก ผ้าขาวม้าพาดบ่า สีของผ้าจะเป็นผ้าสีพื้น คือ สีน้ำเงิน คราม เขียว ดำ กรมท่า เชื่อว่าหากไม่แต่งกายเช่นนี้อาจเจ็บป่วยถึงขั้นเสียชีวิตได้ บ้างก็มีเครื่องประดับอย่าง ต่างหู และยังนิยมสวมเครื่องรางของขลัง เช่น ด้ายขาว ส่วนผู้ชายนุ่งโจงกระเบน มักไม่ใส่เสื้อเมื่ออยู่บ้าน   มีผ้าขาวม้าพาดบ่า ไม่นิยมใส่เครื่องประดับ ปัจจุบันแต่งกายตามสมัยนิยม

           ลักษณะสังคมของตำบลตะเคียนทองในสมัย 50-60 ปีก่อนนั้น เป็นสังคมที่ผู้คนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ถ้าบ้านใครมีงานหรือพิธีต่าง ๆ ชาวบ้านจะช่วยกันห่อขนมเทียน ทำขนมจีน หรือถ้าต้องจัดงานศพ คนในหมู่บ้านจะนำพืชผักกับข้าวกับปลาไปช่วยงาน และถ้าถึงฤดูกาลทำไร่ ทำนา จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำงานไปช่วยกันทั้งหมู่บ้าน  เรียกว่า “การลงแขก” หรือ “การเอาแรงกัน” ซึ่งก่อนทำนาทำไร่จะต้องทำพิธีเลี้ยงศาลนา ศาลไร่ก่อนทุกครั้ง ถือเป็นประเพณีที่ต้องปฏิบัติสืบต่อกันมา

           จากอดีตที่เคยมีธรรมชาติเป็นขุมทรัพย์ เป็นแหล่งกำเนิดของพรรณไม้และเครื่องเทศที่มีราคา เช่น        ไม้กฤษณา เร่วหอม กระวาน ทั้งยังเคยเป็นแหล่งผลิตน้ำมันยางจากธรรมชาติที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ภายหลังด้วยนโยบายของรัฐที่ได้อนุญาตให้มีการสัมปทานป่าไม้  ประกอบกับการบุกเบิกที่ทำกินเพื่อทำการเกษตร ทำให้สภาพแวดล้อมทางกายภาพของชุมชนที่เคยแวดล้อมด้วยป่าทึบถูกปรับเปลี่ยนเป็นสวนผลไม้ ยางพารา และนาไร่แทน

 

หมอพื้นบ้าน กับวิชาปรุงยาจากศาสตร์สมุนไพร

           “ร้ายกาจ! นั้นไม่ใช่แค่วัชพืชริมทางนี่นา แต่กลับเป็นสมุนไพรที่มีคุณค่าทางยามหาศาล” ประโยคที่ผุดขึ้นมาหลังผู้เขียนมีโอกาสได้เดินสำรวจในชุมชนบนเส้นทางสั้นๆ ที่เต็มไปด้วยพืชพันธุ์สมุนไพรและความรู้นอกตำราเรียน แต่มีในตำรายาพื้นบ้าน 

           แมนแดรกชุบชีวิตคนจากหิน เร่วกระวานชุบชีวิตเศรษฐกิจชาวชอง

           แมนแดรก สมุนไพรสีคล้ายโคลน รากคล้ายทารก เป็นส่วนผสมสำคัญในยาแก้พิษ ใช้ชุบชีวิตถอนคำสาปจากหิน เช่นเดียวกับในอดีตที่ เร่วกระวานเป็นหนึ่งในอาชีพเศรษฐกิจที่เพาะปลูกเครื่องเทศดั้งเดิมของชาวชอง

           ศาสตร์ภูมิปัญญาด้านสมุนไพรที่มีมานานกว่า 300 ปี อย่างการทำสวนกระวานพืชล้มลุกที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีตามบริเวณภูเขาที่มีความชุ่มชื้น มีไม้ใหญ่ปกคลุม ลําต้นมีขนาดสูงใหญ่ ส่วนผลและเมล็ด มีกลิ่นหอมคล้ายการบูร รสชาติเผ็ดร้อน นิยมใช้เป็นเครื่องเทศในการประกอบอาหาร ทั้งยังเป็นสมุนไพรมีฤทธิ์ขับลมและบํารุงธาตุ ยับยั้งการเจริญเติบโตของ แบคทีเรีย แก้ลมจุกเสียดแน่นท้องได้อีกด้วย 

           เร่วกระวานจึงถือเป็นพืชสมุนไพรสำคัญของชาวชองที่รู้จักมาช้านาน เห็นได้จากหลักฐานยืนยันผ่านพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลเจ้าเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จประพาสจันทบุรี ใน พ.ศ. 2419 ไว้ว่า

 

“เร่วกระวานนี้มีแถวป่าสีเซ็นต่อเขตแดนกับเมืองพระตะบอง มีชนชาติหนึ่งเรียกว่าชองอยู่ในแถบป่าสีเซ็น พูดภาษาหนึ่งต่างหากคล้าย ๆ กันกับภาษาเขมร ชอบลูกปัดและของทองเหลืองเหมือนอย่างกระเหรี่ยงเมืองกาญจนบุรีเป็นกองส่วยเร่ว ส่วยกระวานขึ้นเมืองจันทบุรีกับไทยบ้าง กับญวนบ้าง ไปเที่ยวเก็บตามเขา และเนินที่ติดต่อกับเขตแดนและป่าอื่นๆ อีกก็มีคือ ป่าน้ำเขียว ป่าตะเคียนทอง และป่าไพรขาว แต่เร่วกระวานพวกนี้ พวกส่วยไปเก็บมาส่งครบจำนวนแล้วจึงได้ซื้อขาย มีน้อยมีมาก”

 

           ด้วยวิถีการดำรงชีพที่เรียบง่ายอิงแอบอยู่บนความสมบูรณ์ทางธรรมชาติมีภูมิศาสตร์ที่ติดกับป่าเขา มีการนับถือผีบรรพบุรุษ หรือวิญญาณบรรพบุรุษ ซึ่งเชื่อว่าจะปกป้องดูแลคุ้มครองสมาชิกในครอบครัวให้อยู่เย็นเป็นสุข ไม่ให้เจ็บไข้ ทั้งประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยและสร้างขวัญกำลังใจ แม้ภายหลังการแพทย์สมัยใหม่ได้เข้ามามีบทบาทแทนที่ ทว่าการรักษาแบบพื้นบ้านของชาวชองยังคงปรากฏอยู่ ทั้งปราชญ์ชาวบ้าน  หมอพื้นบ้าน และผู้มีความรู้ความสามารถในการใช้ประโยชน์จากการนำสมุนไพรในท้องถิ่นมาปรุงยา  เพื่อรักษาโรคตามตำรับตำรายาโบราณที่สืบทอดและสืบเนื่องจากบรรพบุรุษสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน

           หมอรัก (นายรัก  ฉัตรเงิน) หนึ่งในหมอพื้นบ้านตำบลตะเคียนทอง ผู้มีความรู้เกี่ยวกับศาสตร์สมุนไพรเป็นอย่างดี ในเรื่องการนำไปใช้ประโยชน์ด้านสาธารณสุขพื้นฐานหลายตำรับด้วยกัน บริเวณรอบบ้านของหมอรัก มียาหลายชนิด ทั้งที่เป็นไม้ล้มลุกและไม้ใหญ่ที่ใช้นำมาปรุงเป็นยา ได้แก่ กะเม็งตัวผู้  โทงเทง  ฝนแสนห่า  ตีนตะขาบ  หญ้าหนวดแมว (พยับหมอบ)  ชุมเห็ดเทศ  กะตังใบ  หวายขม  เหงือกปลาหมอ  เขยตายแม่ยายชักปก  ขมิ้นเครือ  เถาเครือฮ้อ  ฟ้าทะลายโจร  ผักคราดหัวแหวน  พลูจีน  ทองพันชั่ง  กระทุงหมาบ้า  ทองหลางใบมน  อัคคีทวาร  หมากผู้ป่า  มวกขาว  ขี้หมาข้างรั้ว(กระพังโหมน้อย)  คลุ้ม-คล้า  กกลังกา  มะเกลือ  พลับพลึง  นมแมว  เถาเอ็นอ่อน (ตีนเป็ดเถา)  ครามป่า  คนฑา  ก้างปลาขาว  กำแพงเจ็ดชั้น  ประดงเลือด  คัดเค้า  ขันทองพยาบาท  เฒ่าปล้ำช้าง  กรุงบาดาล  คนทีสอ  นกเขาเหงา  การพลู  ดอกโศก  มะเดื่อหอม  มวกแดง  มะกล่ำตาหนู  พริกป่า  ไม้ลาย  งิ้วแดง เถาวัลย์เปรียง ฯลฯ

 

ขณะสัมภาษณ์ นายรัก  ฉัตรเงิน  อายุ 75 ปี  เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านตะเคียนทอง พิธีกรรมความเชื่อ รวมถึงการรักษาโรคและการใช้สมุนไพร

 

           ชาวชองส่วนใหญ่ทั้งในสมัยอดีตและปัจจุบันยังนิยม “ฝากผีฝากไข้” ไว้กับหมอพื้นบ้านให้ได้รักษาโรคภัยความเจ็บป่วย เช่น ไมเกรน ไข้หวัด ปวดฟัน ปวดหัว เพื่อให้ช่วยบรรเทาอาการและมีสุขภาพแข็งแรง สมุนไพรรอบบ้านจึงเปรียบเสมือนตู้ยาสามัญประจำอนามัยในยุคสมัยใหม่ ที่หยิบจับนำมารักษาโรคภัยได้อย่างทันท่วงที

 

ห้องเรียนวิชาสมุนไพรศาสตร์

           ห้องเรียนสมุนไพร ที่ไม่ใช่เรือนกระจกอย่างในวรรณกรรมแฮร์รี่ พอตเตอร์ ในวิชาสมุนไพรศาสตร์ของศาสตราจารย์สเปราต์ หากแต่เป็นห้องเรียนกลางแจ้งที่รวบรวมพันธุ์พืชจากสมุนไพรรอบบ้านสู่แปลงเกษตรในรั้วโรงเรียน รวมถึงพืชสมุนไพรหายากที่คนน้อยนักจะรู้จักเมื่อเอ่ยถึง เช่น ว่านมหากาฬ  พิมเสนต้น  หนุมานประสานกาย  คำไทย  กระบือเจ็ดตัว  สันพร้าหอม  ธรณีสาร  กำลังเจ็ดช้างสาร  สมอไทย  ขันทองพยาบาท  พิลังกาสา  มะพลับ  จันทน์เทศใต้  ชำมะเรียง  คนทีสอ  ชะมาง  หญ้าหนวดแมว  ทองพันชั่ง  รากสามสิบ  สมอพิเภก  สำมะงา  จันทน์กะพ้อ ตะขาบบิน  เนียมหูเสือ คาราวานสมุนไพรเหล่านี้มีทั้งที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานท้องถิ่นและการเสาะหาพันธุ์ไม้จากแหล่งอื่น

 

     

ชาวบ้านในละแวกช่วยกันนำสมุนไพรปลูกลงในกระถาง (ภาพซ้าย)

นักเรียนโรงเรียนวัดคลองพลูช่วยกันปลูกสมุนไพรลงกระถางก่อนนำไปปลูกในหน้าฝน

           

           ภายใต้ความร่วมมือของชุมชน หน่วยงานท้องถิ่นและโรงเรียนวัดคลองพลู ที่จับมือกันส่งต่อองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่นอย่างเอาใจใส่ ไม่ต่างจากเมล็ดพันธุ์ที่รอวันเติบใหญ่จากการรดน้ำพรวนดิน พลังที่ร่วมแรงแข็งขันเพาะปลูกสมุนไพรในกระถางก่อนนำไปปลูกลงแปลงในฤดูฝนที่ส่งผลต่ออัตราการเจริญเติบโต ผลพลอยได้จากการลงแรงนี้เอง ที่ทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ชาวบ้านและนักเรียนได้รู้จักสมุนไพรผ่านป้ายกำกับชื่อทั้งฉบับภาษาไทย ภาษาชอง วิธีดูแลรักษา สรรพคุณทางยาจากสมุนไพรนานาชนิด ต่อยอดมาสู่การรู้จักวิธีการขยายพันธุ์และนำสมุนไพรท้องถิ่นที่มีศักยภาพในการรักษาโรคตามภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัยและตระหนักถึงคุณค่าสมุนไพรในท้องถิ่นมากขึ้น

           ชุมชนตะเคียนทอง ชุมชนคนชองที่ยังคงมีอีกหลายเรื่องราวหลากแง่มุมที่น่าสนใจซุกซ่อนอยู่ รอวันไขประตูสู่การค้นหาคำตอบ เมื่อห้องแห่งความลับได้ถูกเปิดอีกครั้ง

 

 

1  บทความนี้เขียนและเรียบเรียงจากรายงานผลการดำเนินงาน โครงการ การสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นสมุนไพรพื้นบ้านชอง  ตำบลตะเคียนทอง อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share