ห้วงยามแห่งการยกเว้นและผ่อนปรน การยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในมุมศาสนา
การระบาดของไวรัสโควิด 19 (Covid-19) รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ได้ออกมาตรการหรือกฎระเบียบภายใต้ช่วงเวลาของสภาวะยกเว้น (State of Exception) หรือสภาวะฉุกเฉิน (State of Emergency) ในลักษณะของ “การกักกัน (quarantine)” “การรักษาระยะห่างทางสังคม/ทางกายภาพ (social/physical distancing)” ในพื้นที่และระยะเวลาที่กำหนดไว้เพื่อลดการระบาดของไวรัสชนิดนี้ โดยเป็นมาตรการกึ่งสมัครใจ กึ่งบังคับ ที่เข้ามาปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตของมนุษย์เป็นอย่างมาก(Maitra, 2020; Open Government Partnership, 2020; Pueyo, 2020; United Nations, 2020)
ขณะเดียวกัน “ศาสนา” ในฐานะที่มีความเป็นสถาบัน (institutions)1 ซึ่งมีอิทธิพลสำคัญในการกำหนดจริยธรรม บอกว่าสิ่งใดคือความดีหรือไม่ดี ควรหรือไม่ควร ทำได้หรือทำไม่ได้ บอกจุดเริ่มต้นและปลายทางของชีวิต และเป็นสถาบันที่มีอิทธิพลในการกำหนดรูปแบบวิถีชีวิตของศาสนิกชนในทุก ๆ ด้าน รวมทั้งด้านอุปนิสัยเรื่องสุขภาพของศาสนิกชน (Healthy habits) (Anshel & Smith, 2014; Owens & Sami, 2016) ก็ได้มีความพยายามในการส่งสาสน์ไปยังศาสนิกชนของตนเช่นกัน โดยมีทั้งการแจ้งแนวทางในการทำความเข้าใจโรคระบาด การแจ้งแนวทางการปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา รวมทั้งการแจ้งแนวทางการดำเนินชีวิตโดยรวม เพื่อให้ศาสนิกชนได้มีความเข้าใจและการปฏิบัติที่ถูกต้อง เป็นไปตามบทบัญญัติหรือหลักการที่ศาสนาอนุญาตให้พึงกระทำได้ในห้วงยามที่ไม่ปกติ (Exceptional time)
ในส่วนของบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนจะแสดงให้เห็นถึงตัวอย่างของการเสนอ “แนวทางการปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา” จากผู้นำ ผู้รู้ นักบวช หรือนักวิชาการของศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ และศาสนายูดาห์ (อาจไม่ครอบคลุมทุกนิกายหรือสำนักคิด) ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 เนื่องด้วยศาสนาทั้ง 3 นั้น เป็นศาสนาที่องค์การระหว่างประเทศ อาทิ UNICEF, WEFORUM, WHO, Religions for Peace (RfP)
ได้รณรงค์ให้บรรดาผู้นำของทั้งสามศาสนาแสดงบทบาทในการยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเชื่อมโยงทั้งสามศาสนาด้วยกับแนวคิด the Abrahamic faith (Roberts, Elsanousi & Visotzky, 2020; UNICEF, 2020) อีกทั้ง ทั้งสามศาสนายังเป็นศาสนาซึ่งมีผู้นับถือรวมกันเกินกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลก (Pew Research Center, 2015)
ในสังคมมุสลิมนั้น ได้มีผู้รู้ (อุลามาอ์ - Ulama) หรือนักวิชาการในดินแดนต่าง ๆ ที่พยายามส่งสาสน์เพื่อรณรงค์และแสดงให้เห็นว่า ในช่วงเวลาที่เข้าสู่สภาวะฉุกเฉินหรือห้วงยามที่ไม่ปกตินั้น มุสลิมจะต้องมีความคิด ความเชื่อ หรือข้อปฏิบัติเช่นใด โดยมีการออกคำวินิจฉัยศาสนา (fatwa) ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อาทิ การอนุญาตให้มุสลิมสามารถงดเว้นการละหมาดรวมกันที่มัสยิดในทุกๆ วัน (congregational prayers) และงดเว้นการละหมาดรวมกันในวันศุกร์ (Jumu‘ah prayer) ซึ่งเคยเป็น ‘ข้อสั่งใช้’ ในยามปกติ ด้วยการละหมาดในเคหสถานของตนเองเป็นการแทนที่อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ ยังมีการรณรงค์ให้งดการจับมือหรือสวมกอดทักทายกัน โดยให้กล่าวคำทักทายก็เพียงพอ รวมถึงการงดละหมาดร่วมกันที่มัสยิดยามค่ำคืนซึ่งเคยเป็นสิ่งเสริมอย่างยิ่งยวดในเดือนรอมฎอน หรืองดจัดเลี้ยงละศีลอดร่วมกันในเดือนรอมฎอน ซึ่งล้วนเป็นมาตรการรักษาระยะห่างในช่วงที่เกิดโรคระบาด (สภาอุลามาอฺฟาฏอนีย์ ดารุสสลาม, 2563; สำนักจุฬาราชมนตรี, 2563ก, 2563ข; Al Azhar Fatwa Global Center, 2020; The Council of Senior Scholars in the Kingdom of Saudi Arabia, 2020)
ทั้งนี้ ในบทบัญญัติของศาสนาอิสลามนั้น หากเกิดเงื่อนไขของความไม่ปกติขึ้น ซึ่งในขณะนี้คือการระบาดของโรค ก็จะมีหลักการหนึ่งที่เป็น ‘ข้อผ่อนปรน/ข้อยกเว้น’ ซึ่งเรียกว่า รุคเศาะฮ์ (rukhsah - concessionary law)2 ในนิติศาสตร์อิสลาม (Islamic jurisprudence) เพื่อให้ศาสนิกชนสามารถนำมาปฏิบัติใช้อันเป็นการรักษาแก่นสำคัญของศาสนา อีกทั้งยังเป็นการช่วยคลี่คลายให้ภัยพิบัติ ความไม่ปกติเหล่านั้น กลับสู่สภาวะความเป็นปกติได้โดยเร็วยิ่งขึ้น โดยที่การนำหลักการข้อผ่อนปรนดังกล่าวมาใช้ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 นั้น ผู้รู้และนักวิชาการได้ระบุว่าสอดคล้องกับโองการในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่าน ที่ว่า “สูเจ้าอย่าได้นำตนเองสู่ความวิบัติ” อีกทั้งสอดคล้องกับวจนะของศาสดามูฮัมหมัดที่สำทับว่า “ไม่มีการประทุษร้ายต่อตนเองและผู้อื่น” (สภาอุลามาอฺฟาฏอนีย์ ดารุสสลาม, 2563; สำนักจุฬาราชมนตรี, 2563ก; อำนาจ มะหะหมัด, 2557; Al Azhar Fatwa Global Center, 2020; Che ,Rosazra, Ariff & Mai, 2015; Kamali, 1991)3
รูปภาพ มัสยิดมูการร่มบ้านบางเทา จังหวัดภูเก็ต ได้ทำการติดป้ายงดละหมาดวันศุกร์และละหมาดรวมในทุกวัน ตามประกาศสำนักจุฬาราชมนตรี ถ่ายโดยมิตรสหายของผู้เขียน (ไม่ประสงค์ออกนาม)
ขณะที่ในสังคมคริสตชนนั้น นักบวชในศาสนาคริสต์หลากหลายนิกายได้มีการส่งสาสน์ไปยังศาสนิกชนของตนเช่นกัน โดยคริสตจักรหรือโบสถ์หลายแห่งได้มีการเสนอ “ข้อผ่อนปรน/ข้อยกเว้น” สำหรับพิธีกรรมสำคัญต่าง ๆ ที่มีการรวมตัว (Congregations) เช่น พิธีมหาสนิทศักดิ์สิทธิ์หรือศีลมหาสนิท (Eucharist / Holy Communion) หรือในเทศกาลอีสเตอร์ (Easter) ที่ผ่านมา
ในที่นี้จะยกตัวอย่างในส่วนของพิธีมหาสนิทศักดิ์สิทธิ์หรือศีลมหาสนิท4 ซึ่งพบว่าคริสตจักรหรือโบสถ์บางแห่งเสนอให้มีการงดเว้นพิธีการให้ขนมปัง ให้ไวน์หรือน้ำองุ่น เพราะกลัวว่าจะเป็นการแพร่กระจายโรค ขณะที่บางแห่งเสนอสัตบุรุษสามารถรับศีลมหาสนิทด้วยมือตนเอง แทนการที่บาทหลวงจะยื่นเข้าปากให้เอง และให้กล่าวรับศีลตอบพร้อมกันก็เพียงพอ หรือบางแห่งได้เสนอให้มีการจัดทำไวน์และขนมปังที่บรรจุสำเร็จ (pre-packaged bread and wine) นอกจากนี้ บาทหลวงในบางแห่งให้เลือกใช้การเดินทำพิธีไปตามท้องถนนแทนการมารวมกันที่โบสถ์ หรือบางแห่งใช้การทำพิธีออนไลน์ (Holy Communion online) บางแห่งให้สมาชิกของโบสถ์ส่งรูปถ่ายของตนเองมาที่โบสถ์แทนการมารวมตัวกันและให้ดูการถ่ายทอดสดพิธีที่บ้านตนเอง ทั้งนี้ผลการสำรวจพบว่า American protestant pastors กว่าร้อยละ 83 ก็ยอมรับในช่องทางการ Livestream สำหรับผู้ป่วย โดยที่ข้อผ่อนปรนดังกล่าวมาจากความเชื่อในความรักอันเสียสละ (sacrificial love) การรัก พระเจ้าและรักเพื่อนบ้าน (Love of God and Love of Neighbor) เป็นต้น (คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพิธีกรรม, 2563; Bloom, 2020; Ewing, 2020; Jeffery, 2020; Kim & Dalrymple, 2020; Ridgeway, 2020; SNG, 2020; Whitney, 2020)
รูปภาพ บาทหลวงของโบสถ์ the St. Wenceslaus Catholic Church ในเมือง Wahoo เดินทำพิธีบนท้องถนน
ที่มา nebraska.tv/news/
รูปภาพ บาทหลวง Johannes Laichner ทำพิธีในโบสถ์ใน INNSBRUCK, AUSTRIA โดยให้สมาชิกส่งรูปถ่ายมายังโบสถ์ และทำพิธีออนไลน์ ถ่ายโดย Jan Hetfleisch ที่มา gettyimages.com/
ในสังคมชาวยิวนั้น แรบไบ (Rabbi) หรือผู้นำในศาสนายูดาห์ ก็ได้มีการส่งสาสน์ไปยังศาสนิกชนของตนเอง เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 เช่นกัน โดย David Lau และ Yitzhak Yosef (ผู้นำแรบไบแห่งอิสราเอล) ได้ออกประกาศให้ชาวยิวเชื่อฟังหน่วยงานด้านสาธารณสุขเพราะไม่ได้ขัดกับ 'ฮาลอคา' (Halacha) หรือกฎเกณฑ์ชาวยิว อีกทั้งยังเสนอให้ชาวยิวทำพิธีสวดในบ้าน หรือทำการสวดด้วยองค์ประชุมมินยัน (Minyan - a prayer quorum of 10 men) บริเวณด้านนอกธรรมศาลา (synagogues) และห่างกันคนละ
สองเมตร อีกทั้งให้งดเว้นการไปทำพิธีที่กำแพงร้องไห้ (the Western Wall) และสามารถปิดธรรมศาลาได้ นอกจากนี้ยังมีการประกาศให้งดการเดินทางและการรวมตัวเฉลิมฉลองในเทศกาลปัสคา (Passover - a major Jewish holiday) ที่ผ่านมา (JTASTAFF, 2020 ; SHARON, 2020; Strack, 2020; TOISTAFF, 2020)
รูปภาพ ชาวยิวทำพิธีสวดบนถนนด้านนอกธรรมศาลาที่ถูกปิด โดยยืนเว้นระยะห่างกัน ที่มา gulfnews.com
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น อาจเป็นเพียงหนึ่งในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อส่งสัญญาณเตือนไปยังมนุษยชาติให้ตระหนักว่า ปัญหาหรือภัยพิบัตินับจากนี้อาจมีแนวโน้มที่สร้างผลกระทบต่อมนุษยชาติอย่างกว้างขวางและรวดเร็วกว่าอดีต และในส่วนของการป้องกัน แก้ไข หรือรับมือกับปัญหาเหล่านั้นก็อาจมีแนวโน้มที่ท้าทายยิ่งขึ้น อันเป็นสิ่งที่มนุษยชาติจะต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก
ทั้งนี้ ศาสนาซึ่งเป็นสถาบันหนึ่งที่เคียงคู่กับมนุษยชาติ และกำลังถูกตั้งคำถามถึงความจำเป็นในการมีอยู่นั้น ก็ย่อมต้องเผชิญกับข้อกังขาท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้เช่นกัน โจทย์สำคัญคือ ภายใต้แนวโน้มดังกล่าว สถาบันศาสนา (อันหมายรวมถึงศาสนิกชน) จะมีกระบวนการสร้างความรู้ ความเข้าใจต่อหลักการหรือบทบัญญัติของศาสนาอย่างถ่องแท้ พร้อม ๆ ไปกับการทำความเข้าใจวิทยาการต่าง ๆ บนโลกใบนี้ กระทั่งสามารถนำเสนอแนวทางป้องกัน แก้ไข และรับมือกับปัญหาอันท้าทายที่เกิดขึ้น ได้อย่างไร ?? สิ่งเหล่านั้นจะเป็นข้อพิสูจน์แก่มนุษยชาติถึงความจำเป็นในการมีอยู่ของศาสนาในฐานะทางนำของชีวิต
1 ทั้งที่มีอำนาจเกี่ยวโยงโดยตรงกับอำนาจในภาครัฐ และที่มีอำนาจในฐานะภาคประชาสังคม
2 คำนิยามของข้อผ่อนปรนหรือรุคเศาะฮ์นั้น คือ บทบัญญัติที่แตกต่างจากบทบัญญัติทั่วไป ด้วยมีเหตุหรือกรณีจำเป็น ซึ่งมีทั้งที่กำหนดให้จำเป็นต้องกระทำ/งดกระทำ ส่งเสริมให้กระทำ/งดกระทำ หรือเป็นทางเลือกให้กระทำ/งดกระทำ เพื่อเป็นการบรรเทาทุกข์ ป้องกันภัยที่จะกระทบกับศาสนา ชีวิต ทรัพย์สิน ปัญญา และเกียรติยศ (five main objectives) สำหรับบุคคลหรือสังคมที่เข้าสู่สภาวะยกเว้นหนึ่ง ๆ และเมื่อเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว บุคคลหรือสังคมก็ต้องกลับมาใช้บทบัญญัติทั่วไปดั้งเดิม
3 แม้ว่ามุสลิมส่วนมากจะสามารถปรับตัวได้ดีตามมาตรการเหล่านั้น แต่ทว่าในข้อเท็จจริงแล้วนั้นคงปฏิเสธไม่ได้ว่า “มุสลิมบางกลุ่มในบางพื้นที่ก็ยังคงมีการดำเนินชีวิต มีการปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาเหมือนเช่นเดิม” อันเป็นผลมาจากปัญหาการตีความศาสนาที่ไม่ตรงกัน ปัญหาความขัดแย้งทางสำนักคิดทางศาสนา ปัญหาทางการเมืองของกลุ่มศาสนาในบริบทรัฐสมัยใหม่ หรือปัญหาการต่อต้านบนความสัมพันธ์เชิงอำนาจ รวมทั้งปัญหาของพฤติกรรมเคยชิน (Habitual behavior) กระทั่งส่งผลให้เกิด ‘การตีตราอย่างเหมารวม (Stereotype)’ ต่อมุสลิมว่าเป็นกลุ่มคนที่เป็นผู้แพร่เชื้อในวงกว้าง (super spreader) (Aljazeera, 2020; Khan, 2020; Baksh, 2020; Janjua, 2020)
4 พิธีมหาสนิทศักดิ์สิทธิ์หรือศีลมหาสนิท ในนิกายคาทอลิกได้กำหนดว่าศาสนิกชนจะต้องเข้าร่วมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และปกติแล้วในพิธีกรรมดังกล่าว พระสงฆ์ (บาทหลวง) จะทำการบิขนมปังแล้วยื่นใส่ในปากให้กับผู้เข้าร่วมพิธี (สัตบุรุษ) หรือยื่นให้กับมือในบางแห่ง ส่วนในนิกายโปรเตสแตนท์ปกติแล้วจะมีขนมปังที่ฉีกหรือตัดไว้ และน้ำองุ่นใส่ไว้ในถาด แล้วส่ง ต่อ ๆ กันไปให้หยิบใส่เข้าปากตนเอง (คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพิธีกรรม, 2557)
บรรณานุกรม
คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพิธีกรรม. (2557). กฎทั่วไปสำหรับมิสซาตามจารีตโรมัน. สืบค้นจาก https://issuu.com/346268/docs/___________________________________
คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพิธีกรรม. (2563). แนวทางปฏิบัติพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ในช่วงการระบาดของไวรัส และโรคโควิด-19 (สาสน์อภิบาล เลขที่ สสท.032/2020 จากสภาบิชอปคาทอลิกแห่งประเทศไทย). สืบค้นจาก http://www.thailiturgy.org/document.php?Page=2&id=2&fbclid=IwAR0Y0_WiDSz18KFDoMgaezohy2OiciAgkSV-uR9pYlC2eCf8w-lca9k7d_o
สภาอุลามาอฺฟาฏอนีย์ ดารุสสลาม. (2563). เอกสารแปลชี้แจงเรื่องโรคระบาดโควิด 19. สืบค้นจาก https://drive.google.com/file/d/1Noj2qj3EiihjJ4E4sbFJ_4z_Fij-v5Qz/view?fbclid=IwAR0vcsQP91rbexcjwRfk0WSVdmq2-4R2Sgpn0AcFHop7aC1LUx8Fh6GLsv4
สำนักจุฬาราชมนตรี. (2563ก). ประกาศจุฬาราชมนตรี เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ว่าด้วยเรื่อง การงดละหมาดญะมาอะฮ์ การงดละหมาดวันศุกร์ (ญุมอะฮ์) ที่มัสยิด การจัดกิจกรรมของกลุ่มญะมาอะห์ตับลีฆ และการจัดการกับศพ (มัยยิต) (ฉบับที่ 3/2563). สืบค้นจาก https://cache-igetweb-v2.mt108.info/uploads/images-cache/520/filemanager/5d17bd166b1eb8098c059bab1d05a123.pdf?fbclid=IwAR0boWOOa1qd3C6J2gqrcw6oWnOyp2RpMPXeHgEpglD-4erwdFHH8Ti3zxk
สำนักจุฬาราชมนตรี. (2563ข). ประกาศจุฬาราชมนตรี เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ
ไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ว่าด้วย การปฏิบัติศาสนกิจในเดือนรอมฎอน ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1441 (พ.ศ. 2563) (ฉบับที่ 4/2563). สืบค้นจาก https://cache-igetweb-v2.mt108.info/uploads/images-cache/520/filemanager/2409183679274040230ab2cee0607e59.pdf?fbclid=IwAR1tR9GxbWFyAEX8lbEz6Rh70JuD_OHVBJW97ekH2LY8FdCNWV9yNhWyGFQ
อำนาจ มะหะหมัด. (2557). กฎหมายอิสลาม หมวดลักษณะอาญา. ปทุมธานี : มหาวิทยาลัยรังสิต.
Al Azhar Fatwa Global Center. (2020). The Messege of the Grand Sheikh of Al-Azhar Concerning
COVID 19 Pandemic. Retrieved from https://www.facebook.com/fatwacenter.en/videos/vb.508568145980036/582561182608240/?type=2&theater
Aljazeera. (2020). Friday prayer at home for most but some risk infection at mosques. Retrieved
from https://www.aljazeera.com/news/2020/03/friday-prayer-home-risk-infection-mosques-200320152315576.html
Anshel, M.H. & Smith M. (2014). The Role of Religious Leaders in Promoting Healthy Habits in
Religious Institutions. Journal of Religion and Health, 53(4), 1046-1059. doi.org/10.1007/s10943-013-9702-5
Baksh, N. (2020). Some Toronto-area mosques remain open despite dire warnings about COVID-
19. Retrieved from https://www.cbc.ca/news/canada/toronto/toronto-mosques-coronavirus-1.5508545
Bloom, L. (2020). Churches adapting to COVID-19 restrictions. Retrieved from https://www.umnews.org/en/news/churches-adapting-to-covid-19-restrictions
Che, M., Rosazra, R., Mohd Ariff, S., & Mai, T. (2015). A Review on the Applications of Rukhsoh in Medical Practice. In E. M. Ibrahim & R.F.F. Yasin (Eds.), Revelation & Science in the 21st Century (pp.57-63). Kuala Lumpur: IIUM Press.
Elsanousi, M., Visotzky, B. L. & Roberts B. (2020). Love your neighbour: Islam, Judaism and
Christianity come together over COVID-19. Retrieved from https://www.weforum.org/agenda/2020/04/religions-covid-19-coronavirus- collaboration/?fbclid=IwAR3yT5IPHX7ZQT6-Vh54znrrjDyNXUMH053XJ6OntMYZNN4UU4spH7L2O0g
Ewing, C.H. (2020). How a Hong Kong Church Is Responding to the Coronavirus Outbreak. Retrieved from https://outreachmagazine.com/ideas/megachurch-world/52996-how-a-hong-kong-church-is-responding-to-the-coronavirus-outbreak.html
Janjua, H. (2020). Coronavirus and Islam: Pakistani clerics refuse to shut down mosques.
Retrieved from https://www.dw.com/en/coronavirus-and-islam-pakistani-clerics-refuse-to-shut-down-mosques/a-52969639
Javed, N. (2020). COVID-19 in Pictures: Social distancing around the world. Retrieved from
https://gulfnews.com/photos/news/covid-19-in-pictures-social-distancing-around-the-world-1.1585475133389?slide=1
Jeffery, A. (2020). See religions around the world adapt in the age of coronavirus. Retrieved from https://www.cnbc.com/2020/04/10/in-photos-religion-around-the-world-in-the-age-of-coronavirus.html
JTASTAFF. (2020). Jewish coronavirus updates: Catch up on the first month of Jewish COVID-19
news here. Retrieved from https://www.jta.org/2020/03/05/global/the-latest-jewish-coronavirus-updates-el-al-downsizes-services-move-online-and-more
Kamali, M.H. (1991). Principles of Islamic Jurisprudence. Cambridge: Cambridge Islamic Texts Society.
Khan, A. (2020). Why Pakistan isn't closing mosques despite the coronavirus threat. Retrieved
from https://www.trtworld.com/opinion/why-pakistan-isn-t-closing-mosques-despite-the-coronavirus-threat-34913
Kim, W. & Dalrymple, T. (2020). To Cancel or Not to Cancel: That Is the Question A statement from the leaders of the National Association of Evangelicals and Christianity Today. Retrieved from https://www.christianitytoday.com/ct/2020/march-web-only/walter-kim-nae-timothy-dalrymple-cancel-church-or-not.html
Maitra, A. (2020). COVID-19 and the neoliberal state of exception. Retrieved from
https://www.aljazeera.com/indepth/opinion/covid-19-neoliberal-state-exception-200325161722610.html
Open Government Partnership. (2020). Collecting Open Government Approaches to COVID-19. Retrieved from https://www.opengovpartnership.org/collecting-open-government-approaches-to-covid-19/
Owens, J. & Sami, W. (2016). The Role of the Qur'an and Sunnah in Oral Health. Journal of Religion
and Health, 55(6), 1954-1967. doi.org/10.1007/s10943-015-0095-5
Pew Research Center. (2015). Christians remain world’s largest religious group, but they are
declining in Europe. Retrieved from https://www.pewresearch.org/fact-tank/2017/04/05/christians-remain-worlds-largest-religious-group-but-they-are-declining-in-europe/
Pueyo, T. (2020). Coronavirus: The Hammer and the Dance. Retrieved from https://medium.com/@tomaspueyo/coronavirus-the-hammer-and-the-dance-be9337092b56
Ridgeway, C. (2020). Online Communion Can Still Be Sacramental The bread and the cup Zoomed for you. Retrieved from https://www.christianitytoday.com/ct/2020/march-web-only/online-communion-can-still-be-sacramental.html
SHARON, J. (2020). Chief rabbis ban prayer in synagogues over coronavirus crisis. Retrieved from
https://www.jpost.com/judaism/chief-rabbis-ban-prayer-in-synagogues-over-coronavirus-crisis-622290
SNG, E. (2020). 7 Lessons from Singapore’s Churches for When the Coronavirus Reaches Yours. Retrieved from https://www.christianitytoday.com/ct/2020/march-web-only/7-lessons-covid-19-coronavirus-churches-singapore-us-europe.html
Strack, C. (2020). The world’s religions and coronavirus. Retrieved from
https://en.qantara.de/content/covid-19-pandemic-the-worlds-religions-and-coronavirus
The Council of Senior Scholars in the Kingdom of Saudi Arabia. (2020). Ruling on attending Jumu‘ah prayer and prayers in congregation in the event of an epidemic or fear of an epidemic. Retrieved from https://islamqa.info/en/answers/333514/ruling-on-attending-jumuah-prayer-and-prayers-in-congregation-in-the-event-of-an-epidemic-or-fear-of-an-epidemic
TOISTAFF. (2020). Israel’s chief rabbis call on Jews to avoid visiting the Western Wall. Retrieved
from https://www.timesofisrael.com/chief-rabbis-call-off-large-prayer-gatherings-at-western-wall/
UNCEF. (2020). Launch of Global Multi-Religious Faith-in-Action Covid-19 Initiative. Retrieved
from https://www.unicef.org/press-releases/launch-global-multi-religious-faith-action-covid-19-initiative
United Nations. (2020). Coronavirus disease (COVID-19) Information from the UN System. Retrieved from https://www.un.org/en/coronavirus/information-un-system
Whitney, A. (2020). Local priests brings Eucharist to streets during COVID-19. Retrieved from https://nebraska.tv/news/local/local-priests-brings-eucharist-to-streets-during-covid-19