บทความ
Lockdown Stories โควิดนี้ พี่ยังไหว
ธันวดี สุขประเสริฐ , รุ้งตะวัน อ่วมอินทร์ |
10 กรกฎาคม 2563 |
วัฒนธรรมร่วมสมัย | ผู้เข้าชม : 1600
คำโปรย
เมื่อเจอพิษโควิด ชีวิตที่เคยปกติเบสิค ก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
อ่านประสบการณ์การกักตัว 5 เรื่องราว เริ่มต้นด้วย
social distancing และ social interaction ในเมือง Seattle สหรัฐอเมริกา เล่าถึงช่วงเวลากักตัวในสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อโควิดมากที่สุดในโลก
เมื่อนกยักษ์ต้องหลับใหล อ่านความรู้สึกของพนักงานสายการบินที่เป็นธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วง Lockdown
Work from Home เหมือนสบาย แต่ก็ไม่ง่ายนะ เรื่องเล่าจากพนักงานของรัฐที่ต้อง work from home ที่พึ่งพาทักษะและเทคโนโลยีในการสื่อสารไปพร้อมๆกับฝึกทำอาหารด้วยตนเอง
We win Covid-19 together. อ่านความคิดของนักเขียน “อุธิยา” ที่มองเห็นข้อดีของการ “หยุด” เพื่อให้ธรรมชาติได้ฟื้นฟู
และ Online Learning โลกใหม่ของการเรียนการสอน เรื่องราวการปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนออนไลน์ที่ครูและนักเรียนต้องเรียนรู้
Lockdown Stories โควิดนี้ พี่ยังไหว
ธันวดี สุขประเสริฐ (ชวนสนทนา)
รุ้งตะวัน อ่วมอินทร์ (content editor)
นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ในช่วงปลายมีนาคม 2563 กรุงเทพมหานครที่เคยเป็นมหานครอันมีผู้คนและยวดยานสัญจรพลุกพล่านเป็นสีสัน กลับกลายเป็นเมืองที่เงียบสงัด ถนนโล่งไร้ยวดยาน นั่นเป็นผลมาจาก Lockdown ปิดเมือง
Lockdown เป็นมาตรการที่หลายประเทศทั่วโลกนำมาใช้เพื่อจำกัดพื้นที่ และควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด 19 แต่ในทางกลับกัน ก็ต้องยอมรับว่าการ Lockdown ในระยะเวลาที่ยาวนานและต่อเนื่องนั้น มีผลต่อสภาพจิตใจของผู้คน และที่ร้ายแรงกว่าคือผลกระทบทางเศรษฐกิจ บางคนตกงาน มีรายได้ลดลง ทั้งที่รายจ่ายคงเดิม รวมทั้งต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็น work from home ฯลฯ
อ่านความรู้สึกและประสบการณ์ของคนเมืองชนชั้นกลางในช่วง lockdown 5 เรื่องราว พวกเขาคิดและมองเห็นตนเองอย่างไรในช่วง Lockdown
1. social distancing และ social interaction ในเมือง Seattle สหรัฐอเมริกา
เรื่องโดย – Nattawan Wood, freelance, Seattle, U.S.A.
“เราว่า social distancing มันทำให้คนตื่นตัวเรื่อง social interaction มากขึ้น
ที่นี่เป็นสังคมแบบเชิงเดี่ยว การ lockdown ทำให้คนโหยหาการมีปฏิสัมพันธ์มากขึ้น
ขณะเดียวกันมันทำให้เรารู้ว่าจริงๆ แล้วงานกว่าครึ่งสามารถทำจากที่บ้านได้
เราเชื่อว่าหลังจากนี้การทำงานของคนที่นี่จะเปลี่ยนไป หากระบบทุกอย่างลงตัว”
ช่วงปลายเดือนมกราคม 2563 รัฐวอชิงตันเป็นรัฐแรกของสหรัฐที่พบคนป่วย covid-19 ก็คือรัฐที่เราอยู่นี่แหละ แต่ตอนนั้นยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ จนกระทั่งเดือนมีนาคมรัฐเริ่มประกาศปิดเมือง ห้ามทำกิจกรรมกลุ่มเกิน 50 คน จากนั้นจำกัดลงมาเป็น 25 คน แล้วมาเป็น 10 คน จนปิดโรงเรียนประมาณวันที่ 13 มีนาคม 2563 ตอนนี้ประกาศปิดยาวไปจนหมดภาคเรียนเลย ส่วนกิจการอื่นๆ ตอนนี้กำหนดไว้ว่าจะปิดถึงวันที่ 4 พฤษภาคม 2563 ซึ่งก็ยังไม่แน่นอน อาจปิดนานกว่านั้น ทุกอย่างมันเกิดขึ้นเร็วมากจนหลายๆ อย่างตั้งรับกันไม่ทัน
ก่อนประกาศนี้ปรากฏว่ามีโรงเรียนในเขตข้างเคียงปิดก่อน มีการเตรียมการที่ดีมาก ภายในเวลา 24 ชั่วโมง เขาสามารถหา tablet ให้เด็กที่ต้องการได้ทั่วถึง ตรวจสอบจนแน่ใจว่าทุกคนมีอินเตอร์เน็ตพร้อมใช้งานได้ แล้วสั่งปิดโรงเรียนเลย
นอกจากนี้ ยังมีการส่งอาหารกลางวันให้กับเด็กๆ ด้วย แต่พอผู้ว่าการรัฐสั่งปิดโรงเรียนทั้งหมด กลับกลายเป็นว่าเขตนี้ต้องมาติดตั้งระบบใหม่ เพราะเขตอื่น ทำแบบเดียวกันไม่ได้ เขาถือว่าไม่มีความเท่าเทียมทางการศึกษา
เมื่อลูกๆ ต้องเรียนจากที่บ้าน จึงค่อนข้างฉุกละหุกในการจัดเตรียมเครื่องมือและความพร้อมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง zoom meeting และระบบการสอนแบบ online learning โดยเฉพาะความพร้อมของผู้ปกครอง ซึ่งหากต้องกลับไปทำงานต้นเดือนพฤษภาคมจริงๆ พ่อแม่จะทำอย่างไรในเมื่อโรงเรียนยังไม่เปิดเทอม
สำหรับเรา เราทำงานเป็นฟรีแลนซ์จึงยังไม่กระทบมาก นอกจากเวลาต้องมีประชุม ส่วนสามีทำงานด้าน Information System ให้กับ medical group ตอนนี้ต้องทำงานจากบ้าน 100% เขาบอกว่าตอนนี้ทุกอย่างเตรียมการติดตั้งระบบไว้แล้ว พร้อมรับมือกับจำนวนคนที่จะต้องทำงานจากบ้าน รวมถึงระบบ telemedicine ด้วย ที่ตอนนี้เปลี่ยนมาเป็นแบบนี้หมด ทั้งๆ ที่ก่อนหน้า covid-19 มีความพยายามเปลี่ยนมาใช้ระบบ telemedicine แต่คนยังไม่นิยมกัน ยังคงคุ้นเคยกับการต้องเข้ามาพบหมอด้วยตัวเอง กลับกลายเป็นว่าตอนนี้ผู้คนหันไปหาหมอแบบออนไลน์กันหมด
เราว่า social distancing มันทำให้คนตื่นตัวเรื่อง social interaction มากขึ้น ที่นี่เป็นสังคมแบบเชิงเดี่ยว การ lockdown ทำให้คนโหยหาการมีปฏิสัมพันธ์มากขึ้น ขณะเดียวกันมันทำให้เรารู้ว่าจริงๆ แล้วงานกว่าครึ่งสามารถทำจากที่บ้านได้ เราเชื่อว่าหลังจากนี้การทำงานของคนที่นี่จะเปลี่ยนไปหากระบบทุกอย่างลงตัว
เราคิดว่ากลุ่มที่เหนื่อยคือ single parent เนื่องจากที่นี่อัตราหย่าร้าง 50% เลยทีเดียว เวลาออกไปซื้อของเขามักไม่ค่อยให้เอาเด็กไปด้วย ระวังเรื่อง social distancing มาก แม้แต่ไปเล่นกับเพื่อนก็ยังถูกห้าม
รัฐวอชิงตันมีคนเอเชียอาศัยอยู่เยอะมาก เรายังไม่เคยเจอเรื่องการเหยียดเชื้อชาติหรือเลือกปฏิบัติ แต่ได้ยินข่าวจากรัฐอื่น เช่น มีครอบครัวคนจีนโดนแทงตอนไปซื้อกับข้าว คนแทงเป็นอเมริกันบอกว่าโมโหที่คนจีนเอาไวรัสเข้ามา แม้กระทั่งหมอก็ยังโดนเหยียด ที่เราว่าประหลาดคือยังมีหลายคนไม่เชื่อว่า covid-19 มีจริง บางคนเชื่อว่าเป็นเรื่องของเกมการเมือง
ตอนนี้ (ปลายเมษายน 2563) ทรัมป์ประกาศเปิดประเทศอีกครั้งแล้ว โดยให้ผู้ว่าการรัฐแต่ละรัฐตัดสินใจเองว่าจะเปิดเมื่อไหร่ ตอนนี้มีความกังวลกันว่าถ้าเปิดเร็วไปไวรัสจะกลับมาอีกระลอกแล้วจะรับมือกันไม่ไหว เรื่องเศรษฐกิจที่นี่น่าห่วงมาก ยอดคนตกงานพุ่งไปอย่างน่ากลัว เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยแน่นอน แต่ไม่รู้จะหนักขนาดไหน
2.เมื่อนกยักษ์ต้องหลับใหล
เรื่อง– ทศพร วิทยาธนานนท์, พนักงานบริษัทการบินไทย
“สิ่งที่เคยแน่นอนกลับกลายเป็นความไม่แน่นอน
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้ หรือสถานการณ์ของบริษัท
ตอนนี้ผมต้องมองหาลู่ทางในการทำอาชีพเสริมไว้บ้างแล้ว
เพราะถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ไปอีก 2-3 เดือน
หรือลากยาวไปกว่านั้น ผมก็อาจจะกลายเป็นคนว่างงานก็ได้”
covid-19 มาแบบไม่คาดคิด แบบไม่ทันได้เตรียมตัวเตรียมใจ แม้จะติดตามตั้งแต่ข่าวการระบาดที่อู่ฮั่นแต่ก็ไม่คิดว่ามันจะระบาดหนักไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วขนาดนี้
ผมทำงานสายการบิน เรื่องนี้จึงส่งผลกระทบกับอาชีพผมโดยตรง เมื่อโรคระบาดทั่วโลก ทุกคนหยุดเดินทางข้ามประเทศ การเดินทางด้วยเครื่องบินหยุดชะงัก แล้วไม่รู้ว่าจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมเมื่อไหร่ ทำให้สถานะของบริษัทผมเองตั้งอยู่บนความไม่แน่นอน
ตอนนี้สิ่งที่เคยทำในชีวิตประจำวันก็กลายเป็นสิ่งต้องห้าม เคยนั่งกินข้าวในร้านโปรด เคยเล่นฟุตบอลกับเพื่อนทุกวันเสาร์ เคยเดินช๊อปปิ้งกับแฟนในวันหยุด เคยเข้ายิมอย่างต่อเนื่องแทบทุกวัน พอไม่ได้ทำแล้วก็รู้สึกอึดอัด เหมือนโดนพรากความสุขในชีวิตไป ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ เราก็มองว่ากิจกรรมเหล่านี้เป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ตอนนี้กลับโหยหาชีวิตธรรมดาสุดๆ
จากปกติที่ชอบดูฟุตบอลก็เปลี่ยนมาดู Netflix ลองเปิดใจดูซีรี่เกาหลีดู ก็พบว่าสนุกและน่าติดตามมาก เป็นเรื่องหนึ่งที่ค้นพบในช่วง covid-19 เพราะถ้าเป็นเหตุการณ์ปกติ ผมก็คงเลือกใช้เวลาว่างทำกิจกรรมอย่างอื่นมากกว่านั่งดูซีรี่
ผมคุยกับเพื่อนร่วมงาน ต่างก็ไม่อยากจะเชื่อกับสิ่งที่เกิดขึ้น ก่อนหน้านี้เที่ยวบินเข้าประเทศไทยมหาศาล ต้องทำงานล่วงเวลาแทบไม่มีวันหยุด แต่มาวันนี้กลับต้องหยุดงาน เดือนหนึ่งทำงานแค่ 7-8 วัน เพราะปริมาณงานลดลงกว่า 90%
กว่าที่เชื้อไวรัสนี้จะหมดไป กว่าที่แต่ละประเทศจะยอมเปิดประเทศให้ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยว กว่าที่คนชั้นกลางจะมีเงินมากพอที่จะไปเที่ยวต่างประเทศได้อีกครั้ง พอนึกภาพดูแล้วคงใช้เวลาอีกหลายปี การท่องเที่ยวถึงจะฟื้นตัวกลับมา ดังนั้นสายการบินหลายแห่งอาจจะต้องปิดตัวเองลงเพราะแบกรับภาวะขาดทุนไม่ไหว
สิ่งที่เคยแน่นอนกลับกลายเป็นความไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้ หรือสถานการณ์ของบริษัท ตอนนี้ผมต้องมองหาลู่ทางในการทำอาชีพเสริมไว้บ้างแล้ว เพราะถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ไปอีก 2-3 เดือน หรือลากยาวไปกว่านั้น ผมก็อาจจะกลายเป็นคนว่างงานก็ได้
จากเดิมผมเคยใช้จ่ายกับสิ่งของฟุ่มเฟือยมากมาย ซื้อรองเท้ามาเป็นสิบคู่ ซื้อเสื้อผ้าใหม่ทุกเดือน ถึงตอนนี้คงทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว เชื่อว่าหลายคนก็ต้องปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการใช้จ่ายเช่นกัน
ต่อให้ covid-19 หมดไป ผมก็คิดว่าหลายๆ อย่างจะไม่มีวันเหมือนเดิม บางธุรกิจจะล้มหายตายจากไปอย่างถาวร จำนวนคนตกงานคงมากมายมหาศาล ทุกคนจะไม่กล้าใช้จ่ายกับของฟุ่มเฟือยหรือไม่จำเป็นอีกแล้ว
ชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งเฉลี่ยราว 70 ปี กลับมาถูกไวรัสพรากเวลาแห่งความสุขไปแล้ว 1 ปีเต็มๆ คิดเป็นอัตราส่วนแล้วมันมากกว่า 1% ในช่วงชีวิตเราอีกนะ ดังนั้นจงใช้ชีวิตนี้ให้คุ้มค่าและมีความสุข เลิกทุกข์กับสิ่งที่เรากังวลไปเองและยังไม่เกิดขึ้น เลิกให้ค่ากับคนที่ไม่สำคัญกับชีวิตเรา ใช้เวลากับครอบครัวและคนที่คุณรักให้มากที่สุด เราไม่ปฏิเสธว่าเงินทองสำคัญในการดำเนินชีวิต แต่ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่า การได้ใช้ชีวิตธรรมดาอย่างมีความสุขในทุกๆ วัน
3.Work from Home เหมือนสบาย แต่ก็ไม่ง่ายนะ
เรื่องโดย - สุธาทิพ ลาภสมทบ, พนักงานหน่วยงานรัฐ
“การสื่อสารระหว่างคนทำงานด้วยกันเป็นเรื่องสำคัญมาก
ต้องใช้เครื่องมือสื่อสารมากกว่าปกติ พูดมากกว่าปกติ
ส่งเอกสารไปมาผ่านอีเมลมากกว่าปกติ
เรียกได้ว่าต้องปรับวิธีการทำงานใหม่ทั้งหมดเลยทีเดียว
อีกทั้ง ยังต้องเขียนแผนการทำงานและรายงานผลการปฏิบัติงานรายวัน
เพื่อส่งทุกสัปดาห์ แต่ก็เข้าใจเพราะผู้บริหารคงไม่เห็นว่าลูกน้องทำงานยังไง”
เราเริ่มได้ยินคำว่าไวรัสโคโรน่ามาตั้งแต่เดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์ ปี 2563 ขณะนั้นยังคิดว่า การแพร่ระบาดนี้น่าจะประมาณโรคซาส์ เมอร์ และไข้หวัดนก
แต่....ไม่ใช่เลยไวรัสนี้ไปไกลยิ่งกว่า แถมเชื้อไวรัสยังเดินทางด้วยเครื่องบินและเรือเดินสมุทรไปทั่วโลก
ต่อมาถึงมีชื่อโรคว่า covid-19 ปรากฏการณ์นี้สะเทือนคนทั้งโลกและน่าจะเปลี่ยนวิถีชีวิตของมนุษย์ในยุคนี้ไปตลอดกาล
ปลายเดือนมีนาคม 2563 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มรุนแรงไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย และมีรายงานจากฝ่ายอาคารที่สำนักงานเราเช่าอยู่ว่า มีผู้ติดเชื้อจำนวน 2 ราย สำนักงานที่เราทำงานอยู่ออกระเบียบให้เจ้าหน้าที่ทำงานอยู่บ้าน หรือ Work from Home
การ Work from Home แบบ 3 วันจึงเริ่มขึ้น สำหรับเราซึ่งกำลังตั้งท้องได้ 7 เดือน จึงได้สิทธิในการทำงานที่บ้านเต็มเวลา 5 วัน ต่อมารัฐบาลประกาศ Lockdown ด้วย พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ทำให้แทบทุกคนต้องอยู่บ้านสมบูรณ์แบบ ครอบครัวเราก็เช่นกัน
การทำงานจากที่บ้านไม่ยากแต่ไม่ง่าย ดูเหมือนสบายแต่ไม่สบาย
ข้อดี คือไม่ต้องออกไปเสี่ยงติดเชื้อและรถติดข้างนอก เพราะสำหรับคนท้อง 7 เดือน การขับรถเกิน 1 ชั่วโมง จะปวดขาและหลังมาก ตื่นมา กินข้าว อาบน้ำ เปิดโน้ตบุคก็ทำงานได้เลย
ข้อเสีย คือ ต้องทำกับข้าวกินเองทุกมื้อ มันจึงเป็นการนั่งทำงานไปแล้วต้องนึกด้วยว่าจะกินและทำอะไรกิน ต้องล้างผักก่อน ต้องนำเนื้อสัตว์ออกช่องฟรีซก่อน หุงข้าวด้วย ทำให้ทัน กินให้ทัน ก่อนที่การประชุมออนไลน์จะเริ่ม
การสื่อสารระหว่างคนทำงานด้วยกันเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องใช้เครื่องมือสื่อสารมากกว่าปกติ พูดมากกว่าปกติ ส่งเอกสารไปมาผ่านอีเมลมากกว่าปกติ เรียกได้ว่าต้องปรับวิธีการทำงานใหม่ทั้งหมดเลยทีเดียว อีกทั้งยังต้องเขียนแผนการทำงานและรายงานผลการปฏิบัติงานรายวันเพื่อส่งทุกสัปดาห์ แต่ก็เข้าใจเพราะผู้บริหารคงไม่เห็นว่าลูกน้องทำงานยังไง
การรักษาระยะห่างทางสังคม หรือน่าจะเรียกว่าการรักษาระยะห่างทางกายภาพมากกว่า ทำให้เราไม่ได้เจอใครหลายคน ทำให้เราไม่ได้กินข้าวนอกบ้าน ทำให้เราไม่ได้ไปหาพ่อกับแม่ ทำให้เราไม่ได้ไปเที่ยว แต่สิ่งที่เราได้กลับมาคือ “เวลา”
เวลาที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับคนในครอบครัวแบบ 24 ชั่วโมง อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในชีวิต การได้ทำกับข้าวกินเองทุกมื้อเป็นเรื่องดีสำหรับคนท้องที่เป็นเบาหวานอย่างเรา ได้ทำอาหารปลอดภัยกิน และคนหลายคนพัฒนาทักษะการทำอาหารไปไกลมาก จากนี้ร้านอาหารบนโลกคงจะอยู่ยากมาก
อีกสิ่งที่เราได้กลับมาคือ การฟื้นตัวของธรรมชาติบนโลกใบนี้ วันหนึ่งเราต้องกลับไปเซ็นเอกสารที่ออฟฟิศเนื่องจากเป็นการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบพัสดุจึงไม่สามารถใช้ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ได้ เราจอดรถบนตึกชั้น 6 สิ่งที่เรามองเห็นคือ ฟ้าเป็นสีฟ้าใสปราศจากฝุ่น PM 2.5 ที่คุกคามกรุงเทพฯ มาตลอดหลายเดือน เราได้ข่าวพะยูนกลับมาว่ายน้ำที่จังหวัดตรังอย่างมีความสุข เราได้ข่าวเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่บนชายหาดทั่วโลก ล่าสุดเราได้ข่าวฝูงฉลามหูดำว่ายน้ำริมหาดที่จังหวัดกระบี่
โลกอาจสูญเสียอะไรไปมากมายจากการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่อย่าง covid-19 แต่ในอีกทางหนึ่งเราก็ได้อะไรหลายๆ อย่างกลับคืนมาเช่นกัน ตราบได้ที่เราสามารถป้องกันตัวเองรักษาชีวิตไม่ให้ติดโรคนี้ได้อย่างตลอดรอดฝั่ง
4.We win Covid-19 together.
เรื่องโดย - อุธิสรา เทพบุรี นักเขียนนามปากกา อุธิยา
“จริงๆ ก็มีผลกระทบตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำแล้ว
เราผลิตสินค้าบันเทิงซึ่งขึ้นตรงต่ออำนาจการซื้อและความพึงพอใจของลูกค้าเป็นสำคัญ
ถ้าเทียบกับ covid-19 ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก
แต่ไปกระทบการใช้ชีวิตมากกว่า เราไม่สามารถไปพักผ่อนด้วยการเดินเข้าร้านหนังสือ
ร้านเครื่องเขียน หรือไปซุปเปอร์มาร์เก็ตได้ครั้งละนานๆ
และที่สำคัญงานสัปดาห์หนังสือที่ต้องยกเลิก ใจหายมากนะสำหรับเรา”
เรามองปรากฏการณ์ covid-19 ด้วยความตื่นตะลึง เห็นอะไรที่ไม่เคยเห็น มุกตลกอย่าง เจอกันหลัง 7-11 ปิด หรือสมัยเด็กเราเคยอ่านแก๊กตลกเอาครกหินมาจำนำก็ได้เห็น แต่พอเกิดขึ้นจริงๆ มันไม่ขำเลย และวิกฤตนี้เกิดขึ้นทั้งโลก ต้องเรียกว่ายุคสมัยหนึ่งคนทั้งโลกจะมีประสบการณ์ร่วมกันได้ก็น่าจะเป็นเรื่องสงคราม ตอนนี้ก็เหมือนสงครามกลายๆ ลุ้นเหตุการณ์กันวันต่อวัน ข่าวลือ ข่าวจริง กองทัพไหนรับมืออย่างไร คนเสียชีวิตเท่าไร แต่เปลี่ยนจากมนุษย์ฆ่ากันมาเป็นมนุษย์ต้องฆ่าไวรัสให้ได้
อาชีพเราคือ นักเขียนอิสระ จริงๆ ก็มีผลกระทบตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำแล้ว เราผลิตสินค้าบันเทิงซึ่งขึ้นตรงต่ออำนาจการซื้อและความพึงพอใจของลูกค้าเป็นสำคัญ ถ้าเทียบกับ covid-19 ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ไปกระทบการใช้ชีวิตมากกว่า เราไม่สามารถไปพักผ่อนด้วยการเดินเข้าร้านหนังสือ ร้านเครื่องเขียน หรือไปซุปเปอร์มาร์เก็ตได้ครั้งละนาน ๆ และที่สำคัญงานสัปดาห์หนังสือที่ต้องยกเลิก ใจหายมากนะสำหรับเรา แม้ว่าตลาดหนังสือเล่มจะเปลี่ยนเป็นอีบุ๊คบ้างแล้ว แต่มันคือเทศกาล คือ การพบปะกันระหว่างนักเขียนคนอ่าน เป็นพื้นที่ที่ได้แลกเปลี่ยนความเห็น พูดคุยกัน อัพเดทข่าวสารกัน พอไม่มีงานนี้ก็เหมือนชีวิตขาดอะไรไป อาชีพนักเขียนนักอ่านปีนี้ดูไม่สมบูรณ์ เชื่อว่าอีกหลายกิจกรรมที่ต้องล้มเลิกไปหลายๆ คนก็คงรู้สึกเหมือนกัน ภาพยนตร์ ดนตรี การท่องเที่ยว ทุกอย่างเลย
เราได้เห็นคือปฏิกิริยาตอบสนองของมนุษย์ทั่วโลก การรับมือ การแก้ปัญหา แน่นอนเราอยู่ร่วมในวิกฤตนี้กันทั้งโลก เรารับสาร เราคิด เราวิจารณ์ เราแบกรับความกังวลจากคนในครอบครัวจนเกิดความเครียดสะสมไม่รู้ตัว จนวันหนึ่งเรามานั่งไตร่ตรอง ชีวิตเราไม่ได้แย่ขนาดนั้น มีคนที่แย่กว่าเรา ไม่มีใครที่ไม่ได้ผลกระทบ พอใจมันปลดล็อคปุ๊บ เราก็มีใจอยากช่วยเหลือคนอื่น แบ่งปัน เอื้อเฟื้อแบบที่เราทำได้ เพื่อให้ทุกอย่างผ่านไปด้วยดีและเร็วที่สุด
และ...ประเทศเราเนี่ย เวลาปกติก็มึนกันมาก ไม่ค่อยมีระเบียบ มือไวไปก่อนสมอง แต่พอเกิดภัยพิบัติทีไรก็พร้อมใจช่วยเหลือกันอย่างพร้อมเพรียงโดยไม่ต้องมีใครบอก ก็เป็นอะไรที่แปลกดี ซึ่งพอรับข่าวสารแบบนี้ทำให้พลังด้านบวกกลับมา
ในภาวะที่โลกเผชิญภาวะวิกฤตที่ทำให้ต้องปรับตัว ถูกจำกัดอิสระบางอย่างทำให้เราพบว่าคนเราแค่ได้ใช้ชีวิตที่มีปัจจัยสี่ครบ มีเงินเก็บออมบ้าง ต้องการแค่ความสุขพื้นฐาน ล้มบ้างเดินบ้างแต่ได้ใช้ชีวิต ได้อยู่กับคนที่รักแค่นั้นก็พอแล้ว เพราะเราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นจริงๆ
5. Online Learning โลกใหม่ของการเรียนการสอน
ครูระดับมัธยมศึกษา, โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง กทม.
ภาพจาก www.freepik.com
“การเกิด covid–19 กลับเป็นสถานการณ์บังคับที่ทำให้ครูทุกคนต้องฝึกฝน
เรียนรู้โปรแกรมต่างๆ เพื่อเตรียมตัวกับการใช้จริง
ก็ถือได้ว่า covid–19 เป็นตัวผลักดันให้แวดวงการศึกษาหันมาใช้
รูปแบบการสอนออนไลน์อย่างจริงจังมากขึ้น"
ถ้าให้มองปรากฏการณ์ covid–19 มองว่าเปรียบเสมือนสึนามิลูกใหญ่ที่ถาโถมเข้ามาโดยที่ทุกคนไม่ทันตั้งตัว และส่งผลกระทบต่อคนทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยมีใครคาดคิด ในไทยเองมองว่าคล้ายกับการเกิดสึนามิในปี 2547 ตรงที่ประเทศไทยยุคใหม่ไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องโรคระบาดที่รุนแรงขนาดนี้ ทำให้การเตรียมการรับมือเป็นไปอย่างขลุกขลัก ต้องใช้เวลาและการระดมความคิด รวมถึงศึกษาจากตัวอย่างของหลายๆ ประเทศมาเป็นบทเรียนในการแก้ไขปัญหา
ในส่วนตัว ช่วงแรก covid–19 กระทบกับงานไม่มากนัก เนื่องจากทำงานเป็นครูสอนระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง
ช่วงที่มีการระบาดของ covid–19 เป็นช่วงที่นักเรียนปิดภาคเรียนไปแล้ว และคิดว่าโรงเรียนระดับประถม มัธยม ส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่โรงเรียนนานาชาติก็ปิดเทอมแล้วเช่นเดียวกัน จึงไม่กระทบกับการเรียนการสอน
ตอนแรกคิดว่าไม่นานการระบาดนี้น่าจะจบลงทันเปิดภาคเรียนปีการศึกษาใหม่
แต่ต่อมาสถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น โรงเรียนจึงต้องเตรียมรับมือ โดยเฉพาะการสอนออนไลน์ ซึ่งที่ผ่านมาทางโรงเรียนพยายามที่จะสนับสนุนให้ครูใช้โปรแกรมสอนออนไลน์ อย่าง google classroom นี่มีความพยายามที่จะใช้มา 2-3 ปี แล้ว แต่ด้วยความเคยชิน ความสะดวกในรูปแบบการสอนเดิมๆ การผลักดันเรื่องเหล่านี้จึงยังไม่เป็นผลสำเร็จ
การเกิด covid–19 กลับเป็นสถานการณ์บังคับที่ทำให้ครูทุกคนต้องฝึกฝน เรียนรู้โปรแกรมต่างๆ เพื่อเตรียมตัวกับการใช้จริง ก็ถือได้ว่า covid–19 เป็นตัวผลักดันให้แวดวงการศึกษาหันมาใช้รูปแบบการสอนออนไลน์อย่างจริงจังมากขึ้น
อย่างไรก็ดี การสอนออนไลน์อาจจะใช้เพื่อแก้ไขสถานการณ์ขณะนี้ และเหมาะกับบางเนื้อหา ยังไม่สามารถทดแทนการเรียนการสอนทั้งหมดได้ ต่อไปก็น่าจะมีการเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น
สำหรับโรงเรียนที่ตัวเองสอนอยู่กำลังวางแผนกันว่าจะใช้โปรแกรม google classroom ในการสั่งงาน การสอบเก็บคะแนน และน่าจะใช้ google meet สำหรับการพูดคุยในห้องเรียน
เท่าที่สำรวจเบื้องต้น เด็กนักเรียนเกินครึ่งมีทรัพยากรรองรับ แต่อาจจะติดขัดในบางราย เช่น บางคนมีพี่น้อง มีโน้ตบุ๊คเครื่องเดียวก็อาจจะต้องแบ่งกัน บางคนไม่สะดวกเพราะต้องตามพ่อแม่ไปที่ทำงาน ฯลฯ ซึ่งประเด็นพวกนี้ทางโรงเรียนก็ต้องคุยกันว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ความไม่พร้อมก็อาจจะมี ที่ต้องระวังคือพอเป็นการเรียนออนไลน์แล้ว ครูมักจะให้งานเยอะเพื่อให้นักเรียนมีคะแนนเก็บ สุดท้ายกลายเป็นงานถาโถมเด็ก
ในส่วนการใช้ชีวิต แน่นอนว่ามีผลกระทบอยู่บ้าง อย่างแรก คือค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่มีการระบาด เนื่องจากต้องซื้อหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ เจลแอลกอฮอล์ ซึ่งของเหล่านี้ปกติที่บ้านจะซื้อไว้ใช้เป็นประจำอยู่แล้วแต่ไม่เพียงพอ อีกทั้งของเหล่านี้ราคาถีบตัวสูงขึ้นเป็น 10 เท่าและหายากขึ้น
ยิ่งหลังจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้ทำงานอยู่ที่บ้านและพยายามกักตัวอยู่บ้าน พบว่าค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่งคือการสั่ง Grab Food เพื่อลดการออกจากบ้าน ในมุมหนึ่งจึงอดคิดไม่ได้ว่าขนาดเราซึ่งมีเงินเดือน ยังรู้สึกว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้กระทบ และหากเป็นคนหาเช้ากินค่ำ มีรายได้เป็นวันๆ ไม่มากนัก จะเป็นอย่างไร ขณะที่รายได้อาจจะลดลงแต่ค่าใช้จ่ายกลับเพิ่มขึ้น การเข้าถึงสิ่งของจำพวกหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อก็น่าจะยากขึ้น ทำให้รู้สึกเห็นใจคนกลุ่มนี้มากๆ ว่าเขาจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้อย่างไร เราเลยพยายามช่วยเหลือโดยสนับสนุนการซื้อสินค้าจากผู้ขายระดับเล็กๆ เพื่อให้เม็ดเงินหมุนเวียนไปถึงมือคนกลุ่มนี้บ้างไม่มากก็น้อย
ขณะเดียวกันก็คิดถึงเรื่องการวางแผนการใช้เงินก็มากขึ้น ไม่ควรประมาท จากตัวอย่างหลายๆ อาชีพที่เคยบูม อาชีพที่ทำเงินมหาศาล เช่น นักบิน มาวันนี้ก็พาลตกงานเอาง่ายๆ และจากข้อมูลที่ปรากฏขึ้นมาเรื่อยๆ ก็ดูเหมือนว่าสถานการณ์ไม่น่าจะจบโดยเร็ว หรือหากจบแล้วก็ยังต้องมีการฟื้นฟูอีกระยะยาว เศรษฐกิจย่อมกระทบเป็นวงกว้างแน่ๆ และแม้ว่าการทำงานโรงเรียนดูเหมือนจะไม่น่ามีผลกระทบอะไรมาก แต่หากผู้ปกครองนักเรียนทำธุรกิจและประสบปัญหา แน่นอนก็ย่อมส่งผลมาถึงโรงเรียนด้วยเช่นกัน
สุดท้ายแล้วสิ่งที่มองเห็นคือปรากฏการณ์นี้ชี้ให้เห็นว่า จะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้มนุษย์ต้องตระหนักถึงความร่วมไม้ร่วมมือกันอย่างจริงจัง ช่วยเหลือโดยขจัดอคติ ผลประโยชน์ทางอำนาจ การเมือง และผลประโยชน์ส่วนตน การร่วมมือทั้งในแง่องค์ความรู้ ยารักษาโรค อุปกรณ์ ปัจจัยต่างๆ เพราะหากยังมีประเทศใดประเทศหนึ่งมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก เศรษฐกิจโลกย่อมส่งผลกระทบซึ่งกันและกันแน่ อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ใหญ่ๆ แบบนี้ แม้ว่าจะบอกให้ทุกคนร่วมมือช่วยกัน เพื่อให้ผ่านพ้นสถานการณ์ไปได้ก็ตาม แต่ผู้รับผิดชอบหลักและผู้เกี่ยวข้องต้องตระหนักในหน้าที่ของตนเอง “รู้รับผิดชอบ” เป็นสิ่งสำคัญ
หมวดหมู่ :
ป้ายกำกับ : ETHNOGRAPHIC, FILMS, DATABASE,
วัฏจักรเกษตรกรรมกับเกณฑ์เริ่มต้นปีใหม่ในวัฒนธรรมไทย
หมวดหมู่ : โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ป้ายกำกับ : โบราณคดีและประวัติศาสตร์,
หมวดหมู่ : ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์
ป้ายกำกับ : ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์,