banner image

Subject Guide

หน้าแรก / Subject Guide / ชาติพันธุ์ / มอแกลน

ชาติพันธุ์ / มอแกลน

Export All

image author

รวบรวมโดย : อนันต์ สมมูล

โทรศัพท์ : 028809429ext3701

เผยแพร่ 10 ม.ค. 2565

ขอบเขตของเนื้อหา

            กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล (Chao Lay) หรือ ยิปซีทะเล (Sea Gypsies) พูดภาษาตระกูลออสโตรซีเนียน เป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมทางภาคใต้ของไทยและประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าและมาเลเซียมานานหลายร้อยปี
            
กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลในประเทศไทยมีชาวเล 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ มอแกน มอแกลน และอูรักลาโวจ ปัจจุบันอาศัยอยู่กระจายตามชุมชนชายฝั่งทะเลอันดามัน และทำมาหากินตามเกาะต่างๆของประเทศไทยในพื้นที่ 6 จังหวัด คือ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และ สตูล 
            ชาวมอแกลน เรียกตัวเองว่า มอแกลน, ชาวบก คำว่า “มอแกลน” หากออกเสียงตามท้องถิ่นจะมีเสียงสูง คือ "หม่อแกล๊น" คนภายนอกเรียกพวกเขาว่า มอแกลน, มอแกลนบก, ออลังตามับ และชาวเล  ไม่มีภาษาเขียน ใช้ภาษามอแกลนเป็นภาษาพูด อยู่ในตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน
            ตามประวัติ ชาวมอแกลนตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทยมายาวนานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ มีผู้นำคือ "พ่อตาสามพัน" หมู่บ้านของชาวมอแกลนอยู่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก แถบจังหวัดนครศรีธรรมราช ต่อมายุคการเปลี่ยแปลงการปกครองชาวมอแกลนถูกข่มเหงรังแก จนต้องแตกกระจายออกเป็น 2 สายคือ สายทางน้ำและสายทางบก "เฒ่าทวดธานี" ผู้นำสายบกได้พาลูกบ้านไปตั้งหลักปักฐานอยู่แคว้นตะโกลา เรียกกันว่า "อากูน" ปัจจุบันคือ อำเภอตะกํ่วป่า จังหวัดพังงา ต่อมาเฒ่าทวดธานี ถูกลอบฆ่า ผู้นำจึงพาลูกบ้านไปอยู่ที่ "บ้านในหยก" ต่อมาเกิดความขัดแย้งอีก ผู้นำจึงพาลูกบ้านอพยพไปตั้งหมู่บ้านตามป่าชายฟั่งทะเลตั้งแต่จังหวัดภูเก็ต ถึงเกาะพระทอง จังหวัดพังงาในปัจจุบัน แม้ว่าจะมีชุมชนมอแกลนกระจายตัวอยู่เพียง 2 จังหวัดคือพังงาและภูเก็ตแต่ก็มีจำนวนชุมชนกว่า 20 แห่ง ซึ่งนับว่ามีจำนวนชุมชนมากที่สุดในกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลด้วยกัน 
 

คำสำคัญ

เรียงลำดับข้อมูลจากใหม่ไปเก่า | เรียงลำดับข้อมูลจากเก่าไปใหม่


image

Author

นฤมล อรุโณทัย...[และคณะ], บรรณาธิการ

Imprint

กรุงเทพฯ : จรัลสนิทวงศ์การพิมพ์, 2559

Collection

online

Annotation

            หนังสือเล่มนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้อ่านได้ทำความรู้จักและเรียนรู้เกี่ยวกับเด็ก ๆ ชาวมอแกน ชาวมอแกลน และชาวอูรัก ลาโว้ย ซึ่งเป็นกลุ่มชนพื้นเมืองที่อาศัยและมีวิถีชีวิตอยู่ตามชายฝั่งและอยู่ในหมู่เกาะอันดามันทางภาคใต้ของประเทศไทย ผู้เขียนอธิบายด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย เหมาะสำหรับกลุ่มเป้าหมายคือเด็ก ๆ ที่ไม่คุ้นเคยกับกลุ่มชนพื้นเมืองในไทยมากนัก และยังมีภาพประกอบจากฝีมือการวาดของเด็กชาวเลที่ร่วมด้วยช่วยกันสื่อสารออกมาเป็นภาพให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงวิถีชีวิตของตน ที่แม้จะมีสิ่งแวดล้อม ภาษา วัฒนธรรมและรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ แต่เด็ก ๆ เหล่านี้ก็มีบ้าน มีครอบครัวเครือญาติ การทำมาหากิน การทำอาหาร ศิลปะ ดนตรี งานฝีมือและการละเล่นต่าง ๆ ไม่ต่างจากเด็กทั่วไป
 

อ่านต่อ...
image

Author

นฤมล อรุโณทัย…[และคนอื่นๆ]

Imprint

กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2557

Collection

SAC Library-Books-DS570.ช67ท62 2557

Annotation

            หนังสือเล่มนี้เป็นงานศึกษาที่ได้จากการสัมภาษณ์ผ่านแบบสอบถามจำนวน 100 ข้อ โดยกลุ่มชาวเลที่อาศัยอยู่ริมชายฝั่งและอยู่ในหมู่เกาะอันดามันทางภาคใต้ของประเทศไทยมีทั้งหมด 3 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มชาวมอแกน กลุ่มชาวมอแกลน และกลุ่มชาวอูรัก ลาโว้ย เนื้อหาในการศึกษาครอบคลุมทั้งทางด้านที่มา ประวัติศาสตร์ ความเป็นอยู่ วิถีชีวิต การทำมาหากิน ประเพณี ศาสนา วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นต่าง ๆ ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของชาวเลในแต่ละด้านตั้งแต่อดีตมาจนถึงการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวเลในปัจจุบัน ซึ่งกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้ชาวเลในปัจจุบันต้องเผชิญกับปัญหาหลายประการ 

อ่านต่อ...
image

Author

น้ำมล อรุโณทัย, นุชรี วงศ์สมุทร, อุษา โคตรศรีเพชร และ นฤมล อินทสร.

Imprint

กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2556

Collection

SAC Library-Books-DS570.ช67ว63 2556

Annotation

            หนังสือเล่มนี้เป็นบันทึกและสรุปผลการจัดเวทีเสวนาวิชาการ “วิกฤต วิถีชาวเล” ที่จัดขึ้นเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อปัญหาที่เป็นวิกฤตของชาวเลโดยองค์กรเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลประกอบไปด้วย ชาวมอแกน ชาวมอแกลนและชาวอูรัก ลาโว้ย พวกเขาเป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ริมชายฝั่งและในเกาะฝั่งทะเลอันดามันมาช้านาน และยังมีการสรุปบรรยากาศและกิจกรรมภายในงานวันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ 3 ปี พ.ศ 2555 ณ ชุมชนราไวย์ จังหวัดภูเก็ต ที่จัดขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ให้พี่น้องชาวเลทั้ง 3 กลุ่มได้มีโอกาสมาพบปะญาติพี่น้องและเพื่อนชาวเลด้วยกัน รวมทั้งยังมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับประเพณีและวิถีชีวิตของชาวเล การแสดงศิลปวัฒนธรรมจากหมู่บ้านชาวเล กิจกรรมการละเล่นแข่งขัน การขายของที่ระลึก และมีการจัดเสวนา “2 ปีมติครม. ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล: กับความจริงในพื้นที่”เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับวิกฤตปัญหาที่เกิดขึ้นกับพี่น้องชาวเล และมีการสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับงานวันรวมญาติฯ เพื่อให้องค์กรที่เกี่ยวข้องนำไปวิเคราะห์และปรับใช้ในการจัดงานวันรวมญาติฯ ครั้งต่อไป
 

อ่านต่อ...
image

Author

ปรีดา คงแป้น, บรรณาธิการ

Imprint

กรุงเทพฯ: มูลนิธิชุมชนไท, 2555

Collection

SAC Library-Books-DS570.ช67ว633 2555

Annotation

            กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลในประเทศไทยประกอบไปด้วย กลุ่มมอแกน, กลุ่มมอแกลน และกลุ่มอูรักราโว้ย ทั้งสามกลุ่มกำลังได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่อันดามันให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวโดยไม่คำนึงถึงคนพื้นเมืองดั้งเดิม ชาวเลถูกบีบให้ออกจากที่อยู่อาศัยรวมไปถึงการใช้ทรัพยากรจากทะเล แม้จะมีการศึกษาวิจัยรองรับว่าชาวเลอาศัยอยู่ในพื้นที่มาเป็นเวลานานแล้วก็ตาม ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำเพราะชาวเลถูกปฏิบัติเสมือนเป็นพลเมืองชั้นสองในประเทศไทย เช่น การที่ต้องจ่ายค่าสาธารณูปโภคที่แพงกว่าถึง 2-3 เท่า นอกจากนี้ชาวเลยังถูกบุกรุกพื้นที่ทางจิตวิญญาณด้วยการถูกอ้างสิทธิ์ครอบครองโดยนายทุนเพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว การจะประกอบพิธีกรรมใด ๆ จะต้องทำการขออนุญาตผู้อ้างสิทธิ์ครอบครองที่ดินเสียก่อน ทำให้ชาวเลต้องเผชิญความรู้สึกไม่มั่นคงในการดำรงชีวิตจากอคติของคนในสังคม
 

อ่านต่อ...
image

Author

การเสวนาพลวัตชาติพันธุ์ภาคใต้: ผู้คนและชุมชนบริเวณเกาะและชายฝั่งอันดามัน (2551 : กรุงเทพฯ)

Imprint

สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2551

Collection

SAC Library-Books-GN635.ท9ก65 2551

Annotation

            เอกสารชิ้นนี้เป็นการรวบรวมบทความวิจัยจากเวทีสัมมนาเรื่อง “พลวัติชาติพันธุ์ภาคใต้: ผู้คนและชุมชนบริเวณเกาะและชายฝั่งอันดามัน” ซึ่งจัดขึ้นในปี พ.ศ 2552 โดยนักวิชาการจากสถาบันวิจัยเอเชียอาคเนย์ร่วมสมัย (IRASEC) ร่วมกับนักวิชาการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยบทความวิจัยที่ถูกรวบรวมมา อาทิ งานศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนชาวมอแกนที่หมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา งานศึกษาประเพณี พิธีกรรมในชุมชนมอแกลน หรืองานศึกษาพัฒนาการของการตั้งถิ่นฐานของชุมชนอูรักลาโว้ยในจังหวัดภูเก็ต เป็นต้น ล้วนมุ่งเน้นการศึกษาการให้ความหมายของความเป็นชาติพันธุ์ที่ยืดหยุ่นเป็นพลวัต โดยในอดีต กลุ่มชาวเลซึ่งอาศัยอยู่ริมชายฝั่งและในหมู่เกาะอันดามันนั้นไม่มีการปักหลักถิ่นฐานที่อยู่อาศัยที่แน่นอนและมีการเปลี่ยนแปลงสถานที่อยู่อาศัยไปตามสภาพแวดล้อม ต่างจากในปัจจุบันที่การสร้างรัฐชาติได้พยายามที่จะกีดกัน ผสมผสานและกลืนกลายความเป็นชาติพันธุ์ดังกล่าวจนทำให้กลุ่มชาวเลเริ่มปักหลักสร้างถิ่นฐานที่อยู่อย่างถาวร อันนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงและปัญหาหลายประการ

อ่านต่อ...

ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3702 

แฟ็กซ์ 0-2434-6254 อีเมล์ library@sac.or.th
 

Facebook : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-Sac library
Line@ : @sac-library หรือคลิกเพื่อ Add Line http://line.me/ti/p/~@SAC-Library


  

ห้องสมุด (ชั้น 8)

จันทร์ - ศุกร์ : 8:30 – 16:30 น.

เสาร์ : 9:00 – 16:00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ

จันทร์ - ศุกร์ : 8:00 – 18:00 น.

เสาร์ : 8:00 – 17:00 น.

หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามประกาศราชการ