banner image

Subject Guide

หน้าแรก / Subject Guide / การพัฒนาอย่างยั่งยืน

การพัฒนาอย่างยั่งยืน

Export All

image author

รวบรวมโดย : จรรยา ยุทธพลนาวี

เผยแพร่ 05 พ.ค. 2564

ขอบเขตของเนื้อหา

            สมาชิกของสหประชาชาติได้รับรองวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2573 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนเน้นให้ความสำคัญกับการปรับสมดุลทั้ง 3 มิติของการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมในรูปแบบบูรณาการและการมีส่วนร่วมเพื่อไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง[1]  มิติของการพัฒนาในปัจจุบันจึงมุ่งเน้นไปภายใต้แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

           แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับชุมชนท้องถิ่น จึงเป็นแนวคิดการพัฒนาที่สามารถให้ชุมชนท้องถิ่นใช้ศักยภาพของตนเองมาเป็นพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนา โดยมุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับสิทธิชุมชนและสิทธิทางวัฒนธรรมในการจัดการทรัพยากรทางธรรมชาติ รวมถึงทรัพยากรทางวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

          คู่มือแนะนำทรัพยากรสารสนเทศด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวบรวมหนังสือ งานวิจัย วิทยานิพนธุ์ บทความในหนังสือ วารสาร ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน สิทธิชุมชน สิทธิทางวัฒนธรรมและการจัดการภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ที่สนใจค้นคว้าในประเด็นดังกล่าวสามารถใช้ประโยชน์ในการศึกษาได้ต่อไป

 
[1] OpenDevelopment Thailand. เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน. วันที่เข้าถึง 7 สิงหาคม 2564 จาก https://thailand.opendevelopmentmekong.net/th/topics/sustainable-development-goals/

คำสำคัญ

แหล่งข้อมูล

คู่มือแนะนำทรัพยากรสารสนเทศ มุสลิม ประกอบด้วยแหล่งข้อมูล ดังนี้ หนังสือภาษาไทยและหนังสือภาษาอังกฤษ (Book), งานวิจัยและวิทยานิพนธ์ (Research) ,บทความในหนังสือ (Book Chapter), บทความในวารสาร (Articles), สื่อโสตทัศน์ (Multimedia), ฐานข้อมูล (Database), เว็บไซต์ (Website), องค์กร (Organisation)

เรียงลำดับข้อมูลจากใหม่ไปเก่า | เรียงลำดับข้อมูลจากเก่าไปใหม่


image

Author

เกตุชพรรณ์ คำพุฒ

Imprint

-

Collection

Journal: วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง ปีที่ 12, ฉบับที่ 3 (ก.ย./ธ.ค. 2559), หน้า 131-166

Annotation

     บทความนี้ศึกษาบทบาทของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงในฐานะองค์กรระหว่างรัฐแห่งภูมิภาคที่มีต่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขงด้วยการอธิบายการจัดตั้ง โครงสร้าง บทบาท และผลกระทบจากการพัฒนา โดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงประกอบด้วยประเทศไทย ประเทศลาว ประเทศกัมพูชา และประเทศเวียดนาม
     ทิศทางการพัฒนาภายใต้บทบาทร่วมของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงจึงจำเป็นต้องทบทวนการขยายอำนาจต่อทิศทางการพัฒนาในอนุภาคแม่น้ำโขงรวมถึงเงื่อนไขสำคัญที่ควรคำนึงถึงได้แก่ บริบททางเศรษฐกิจการเมืองของประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ระเบียบวาระการพัฒนาขององค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ และประเด็นท้าทายของการพัฒนาร่วมสมัยทั้งในอนุภาคและระดับโลก ตลอดจนปฏิบัติการที่ฝังตัวกับทุกภาคส่วนของประเทศสมาชิกทั้งในระดับภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนท้องถิ่นในฐานะของผู้ได้รับประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรมและนิเวศวิทยา และในทุกมิติการพัฒนาต้องหนุนเสริมความเป็นธรรมทางสังคมเพื่อให้ทุกภาคส่วนไม่ถูกทิ้งไว้ในพื้นที่ชายขอบของการพัฒนา 

 

อ่านต่อ...
image

Author

ปัทมา สูบกำปัง.

Imprint

กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2559

Collection

Book: JC571 .ป632 2559

Annotation

     หนังสือเรื่องนี้เป็นรายงานการวิเคราะห์การเข้าถึงสิทธิชุมชนใน 4 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดน่าน จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดพะเยา โดยมีการทบทวนความรู้เรื่องสิทธิชุมชนตามที่กฎหมายกำหนดและบริบทในสังคมไทย รวมถึงวิเคราะห์การเข้าถึงสิทธิชุมชน ผ่านช่องทาง กลไกหรือมาตรการในการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน เพื่อการปกป้อง ดูแล อนุรักษ์ ฟื้นฟูและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 
     ผลการศึกษาสามารถจำแนกการเข้าถึงสิทธิชุมชนออกเป็น  2 กลุ่ม ได้แก่
1. สิทธิชุมชนซึ่งมีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ ป่าชุมชนศิลาแลง ในพื้นที่ชุมชนศิลาแลง จังหวัดน่าน, กว๊านพะเยา ในพื้นที่ชุมชนรอบกว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา, และทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรวมถึงสัตว์น้ำ ในพื้นที่ชุมชนท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช การใช้สิทธิชุมชนในกลุ่มนี้มุ่งเน้นที่สิทธิในการบริหารจัดการและฟื้นฟูเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสมาชิกของชุมชนและสังคมโดยรวมในระยะยาว ในลักษณะ “ความสมดุลและยั่งยืน”
2. สิทธิชุมชนในการมีส่วนร่วมจัดการ บำรุงรักษา คุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้แก ชุมชนเหนือเหมือง จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นกรณีศึกษาที่สะท้อนภาพการต่อสู้เพื่อเข้าถึงสิทธิของประชาชนในชุมชนซึ่งได้รับผลกระทบจากมลพิษสิ่งแวดล้อม จากการประกอบการทางธุรกิจของภาคเอกชน 

อ่านต่อ...
image

Author

จินตวีร์ เกษมศุข.

Imprint

กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2557

Collection

Book: HN700.C6จ62 2557

Annotation

หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงหลักการและรูปแบบของการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงความหมายและหลักการของการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนนำเสนอผลจากการสกัดบทเรียนในชุมชนบ้านจำรุง ตำบลเนินฆ้อ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ซึ่งมีความโดดเด่นในการนำหลักการมีส่วนร่วมมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาชุมชน โดยจัดทำเป็นแบบจำลองการมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านจำรุงเพื่อการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน 

อ่านต่อ...
image

Author

ปัญญา เทพสิงห์และธงพล พรหมสาขา ณ สกลนคร

Imprint

-

Collection

Journal: มนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ ปีที่ 30, ฉบับที่ 2 (พ.ค./ส.ค. 2556), หน้า 43-64

Annotation

     บทความนี้นำเสนอแนวทางการการฟื้นฟูชุมชนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยกล่าวถึงการค้นหาคุณค่าและทุนชุมชนที่มีความหมายและสามารถนำมาใช้ได้ ได้แก่ ทุนทรัพยากรธรรมชาติ ทุนภูมิปัญญาแบะทุนทางสังคม ซึ่งทุนชุมชนเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกันและเป็นปัจจัยช่วยเสริมสร้างความเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง การฟื้นฟูชุมชนจึงต้องทำความเข้าใจความสัมพันธ์ของทุนชุมชนทั้งระบบ
     นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของสังคมปัจจุบันจึงนำไปสู่สภาพที่แตกต่างของชุมชน 3 ระดับ ได้แก่ ชุมชนดั้งเดิม ชุมชนสมัยใหม่หรือชุมชนทันสมัย และชุมชนหลังสมัยใหม่ การทำความเข้าใจรูปแบบชุมชนที่แตกต่างกันย่อมนำไปสู่แนวทางการพัฒนาชุมชนในรูปแบบที่เหมาสม โดยการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนต้องพิจารณาในมิติที่หลากหลายทั้งเศรษฐกิจ ธรรมชาติ สังคม จิตสาธารณะ การศึกษาและเทคโนโลยี 

อ่านต่อ...
image

Author

รัชนี ประดับ

Imprint

-

Collection

Journal: รัฐศาสตร์สาร. ปีที่ 34, ฉบับที่ 3 (ก.ย./ธ.ค. 2556), หน้า 188-245

Annotation

     บทความนี้กล่าวถึงการให้ความหมายของคำว่า “Governmentality” โดยศึกษาจากทัศนะของมิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) เป็นแนวคิดที่รัฐต้องบริหารจัดการชีวิตของประชาชนโดยอาศัยกลไกของอำนาจในการจัดการกับชีวิตและร่างกาย 
     การขยายบทบาทของประชาชนในรูปแบบรัฐสมัยใหม่ส่งผลให้เกิดความพยายามของรัฐไทยในการส่งเสริมบทบาทของประชาชนในการมีส่วนร่วมในการพัฒนา ทั้งการกระจายอำนาจ, สิทธิชุมชน, การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ ในรูปแบบชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นว่าเป็นวิทยาการอำนาจของรัฐสมัยใหม่ในการบริหารจัดการชีวิตของประชาชน อันเป็นแนวทางให้คนในชุมชนรับผิดชอบต่อครอบครัวและชุมชนของตนเอง จนกลายเป็นสำนึกและความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเกิดขึ้น วาทกรรมการพึ่งตนเองของชุมชนในแง่สิทธิของชุมชน และความสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาแบบเสรีนิยมใหม่จึงอาจตีความในฐานะวิธีการของรัฐที่บริหารจัดการชีวิตประชาชนภายใต้การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน 

อ่านต่อ...

ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3702 

แฟ็กซ์ 0-2434-6254 อีเมล์ library@sac.or.th
 

Facebook : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-Sac library
Line@ : @sac-library หรือคลิกเพื่อ Add Line http://line.me/ti/p/~@SAC-Library


  

ห้องสมุด (ชั้น 8)

จันทร์ - ศุกร์ : 8:30 – 16:30 น.

เสาร์ : 9:00 – 16:00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ

จันทร์ - ศุกร์ : 8:00 – 18:00 น.

เสาร์ : 8:00 – 17:00 น.

หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามประกาศราชการ