banner image

Subject Guide

หน้าแรก / Subject Guide / ชาติพันธุ์ / มลาบรี

ชาติพันธุ์ / มลาบรี

Export All

image author

รวบรวมโดย : อนันต์ สมมูล

โทรศัพท์ : 028809429ext3701

เผยแพร่ 25 ส.ค. 2563

ขอบเขตของเนื้อหา

คู่มือแนะนำทรัพยากรสารสนเทศด้านชาติพันธุ์ : มลาบรี กลุ่มชาติพันธุ์มลาบรี คนในเรียกตัวเองว่า ยุมบรี, มลาบรี, มละบริ แต่บุคคลภายนอกเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มนี้แตกต่างกันอาทิ ผีตองเหลือง/ผีป่า ข่าตองเหลือง (Kha Tong Luang)/ข่าป่า (Kaa Paa) ม้ากู่/จันเก้ม ตองเหลือง/คนตองเหลือง คนป่า เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีลักษณะทางวัฒนธรรมแบบเฉพาะที่เรียกว่า วัฒนธรรมหาของป่า-ล่าสัตว์ (hunting-Gather culture) ชาวมลาบรี เดิมมีถิ่นฐานอยู่ในเขตจังหวัดสายยะบุรี ประเทศลาว ต่อมาเริ่มอพยพไปอยู่ตามที่ต่างๆ ตามแหล่งอาหารจากธรรมชาติที่มีตามฤดูกาลเช่น แถบภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ แถบภูกระดึง จังหวัดเลย และตามป่าบนดอยสูงทางภาคเหนือของประเทศไทย ปัจจุบันมีชุมชนเป็นของตนเองในพื้นที่ 2 จังหวัด หมู่บ้านห้วยหยวก อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน และบ้านทะวะ อำเภอสอง และบ้านห้วยฮ่อม อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ “มละบริ” คือคนที่อยู่กับป่า ผู้มีภูมิปัญญาเกี่ยวกับการยังชีพในป่า อาศัยป่าเลี้ยงตัวเอง พวกเขามีความสัมพันธ์กับคนกลุ่มอื่นๆ ในพื้นที่ด้วยการแลกเปลี่ยนของป่ากับของจำเป็นที่ใช้ดำรงชีวิต เช่น เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เกลือ เป็นต้น ใน subject guide ชุดนี้จะรวบรวมบรรณานุกรมหนังสือ งานวิจัย วิทยานิพนธุ์ และบทความเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์มลาบรี ทั้งหมดที่รวมรวมได้ เพื่อเป็นแนวทางให้นักวิจัยได้ทราบองค์ความรู้เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์นี้ว่ามีทรัพยากรสารสนเทศอะไรบ้าง

เรียงลำดับข้อมูลจากใหม่ไปเก่า | เรียงลำดับข้อมูลจากเก่าไปใหม่


image

Author

ฉันทนา คำนาค

Imprint

นครปฐม : มหาวิทยาลัยมหิดล, 2556.

Collection

ThaiLIS Digital Collection

Annotation

            ภาพยนตร์และการเล่าเรื่อง เป็นเครื่องมือสำคัญในการประกอบสร้างความหมาย ทำหน้าที่เป็นคำอธิบาย และประกอบสร้างความจริงเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของสรรพสิ่ง รวมไปถึงการสร้างภาพแทนให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย การศึกษานี้จึงได้ยกกรณีศึกษาเป็นภาพยนตร์ชาติพันธุ์ 2 เรื่องได้แก่ ภาพยนตร์เรื่องผีตองเหลือง และภาพยนตร์เรื่องมลาบรีข้าคือคน มาวิเคราะห์ด้วยแนวคิดการเล่าเรื่อง แนวคิดภาพตัวแทน แนวคิดการรับรู้ และแนวคิดมานุษยวิทยาทัศนา เพื่อเผยให้เห็นถึงอคติแฝง และความหมายที่คลาดเคลื่อนบางอย่าง ที่จะสามารถนำไปประยุกต์ในการปรับปรุงภาพยนตร์ชาติพันธุ์ให้กลายเป็นเครื่องมือที่แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม มากกว่าการเป็นสื่อแฝงอคติ และผลักดันกลุ่มชาติพันธุ์สู่ความเป็นอื่น

อ่านต่อ...
image

Author

Long, Mary. Long, Eugene Robert. Waters, Tony

Imprint

The journal of the Siam Society. vol. 101(2013), p.155-176 -- 0857-7099

Collection

Journal of the Siam Society (JSS), Vol. 101, 2013, pp.155-176.

Annotation

            การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามรูปแบบการพัฒนาสังคมสมัยใหม่ที่เข้ามาสู่กลุ่มชาติพันธุ์
มลาบรี ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตของพวกเขาในหลายๆด้าน จากการใช้ชีวิตเร่ร่อนในผืนป่ามาใช้ชีวิตที่เริ่มมีการตั้งหลักปักฐานถาวร ได้รับการศึกษา การบริการทางสุขภาพ และเกิดกระบวนการเข้าสู่ความเป็นพลเมืองไทย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตตามแบบสังคมสมัยใหม่ ซึ่งในขณะเดียวกันได้ทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิมของกลุ่มคนเหล่านี้ โดยเฉพาะวิถีที่เรียกว่า “Paluh” อันเป็นรูปแบบของวิถีชีวิตที่ช่วยจัดระเบียบควบคุมคนในกลุ่ม โดยการแยกตัวออกมาจากกลุ่มเดิมเมื่อเกิดปัญหาหรือความขัดแย้งภายในกลุ่ม ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่ปฏิบัติไม่ได้เมื่อมีวิถีชีวิตแบบตั้งหลักปักฐาน วิถี  “Paluh” ที่ช่วยลดความขัดแย้ง ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น ตลอดจนก่อให้เกิดการกระจายตัวและเกิดการรวมตัวเพื่อตั้งเป็นกลุ่มใหม่อีกกลุ่มจึงได้เลือนหายไป วิถีชีวิตแบบสังคมสมัยใหม่ในด้านหนึ่งจึงส่งผลกระทบต่อกลุ่มชาติพันธุ์มลาบรี อย่างภาวะการติดสุราเรื้อรัง (Alcoholism) การหย่าร้าง ความรุนแรงต่อผู้หญิง และการฆ่าตัวตาย

อ่านต่อ...
image

Author

ศักรินทร์ ณ น่าน

Imprint

เชียงใหม่ : ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2555

Collection

SAC Library--Books (7th floor)--DS570.ม46ศ62 2555

Annotation

             งานศึกษากลุ่มชาวชาติพันธุ์ชาวมลาบรีที่มีการเปลี่ยนแปลงจากสังคมสมัยใหม่ กล่าวถึงการนิยามชื่อเรียกระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์มลาบรีในการนิยามชื่อของตน จนถึงการถูกให้คำนิยามผ่านสังคมภายนอก และศึกษาถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่และทัศนคติที่มีต่อระบบนิเวศของชาวมลาบรีที่สะท้อนให้เห็นผ่านวิถีการผลิต การเลือกทำเลที่อยู่อาศัย ความสัมพันธ์ระหว่างชาวมลาบรีกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้มีการศึกษาถึงสังคมชาวมลาบรีที่มีการแบ่งทรัพยากรภายในกลุ่ม จำนวนประชากรชาวมลาบรีที่อาศัยในประเทศไทย ตลอดจนศึกษาถึงช่วงการเปลี่ยนแปลงของชาวมลาบรีและสถานภาพความเป็นพลเเมืองไทยผ่านการพัฒนาโดยรัฐ โครงการที่รัฐจัดหาพื้นที่ตั้งให้แก่ชาวกลุ่มมลาบรี โดยศึกษาผ่านกรณีชาวมลาบรีบ้านดอนไพรวัลย์ จังหวัดน่าน สถานภาพการรับสัญชาติสวัสดิการที่ควรได้รับจากการเป็นพลเมืองสภาพเศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มชาวมลาบรีที่มีการเปลี่ยนแปลง

อ่านต่อ...
image

Author

ทีวีไทย

Imprint

กรุงเทพฯ : ทีวีไทย, [2554]

Collection

Sac Library - Audio Visual Materials (8th floor) - CDF 000310

Annotation

            ชีวิตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของชาติพันธุ์มลาบรีในประเทศไทย ณ ห้วงเวลาที่ผ่านมา ทั้งจากปัจจัยด้านการเมืองความไม่สงบในภูมิภาคอินโดจีน ปัจจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติที่ลดน้อยลง และการพัฒนาแบบสังคมเมืองภายใต้นโยบายการพัตนาของรัฐแบบสมัยใหม่ ส่งผลให้วิถีดั้งเดิมแบบล่าสัตว์หาของป่าเปลี่ยนแปลงไป ในปัจจุบันนี้กลุ่มชาติพันธุ์มลาบรีตั้งถิ่นฐานอย่างถาวร รวมตัวอยู่กันเป็นหมูบ้านโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดแพร่และน่าน มีการปรับตัวให้เข้ากับวิถีสมัยใหม่ เช่น การเข้าสู่ระบบการศึกษาของคนรุ่นใหม่  การรับจ้างทำงาน และการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนี้กลุ่มชาติพันธุ์มลาบรียังคงยึดถือวิถี “การแบ่งปัน” เป็นปรัชญาที่สำคัญในการดำรงชีวิต

อ่านต่อ...
image

Author

อิสระ ชูศรี

Imprint

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2553

Collection

Elibrary -- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

Annotation

            โครงการวิจัยเป็นการบูรณาการองค์ความรู้ทางด้านภาษาศาสตร์ ชาติพันธุ์วรรณา โดยการสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้ทำวิจัยและกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งในการร่วมคิดและร่วมปฏิบัติการกับเจ้าของภาษา รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในพื้นที่ โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญ คือ 15 กลุ่มภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤตใกล้สูญ ได้แก่ กลุ่มชอง, ชุอุ้ง, ซัมเร, กะซอง, ญัฮกุร, โซ่ (ทะวืง), ก๋อง, ละเวือะ, อึมปี้, บีซู, อุรักละโวจ, มลาบรี (ตองเหลือง), มานิ (ซาไก), มอเกล็น และแสก ซึ่งใช้ลักษณะในการจำแนกเป็นสองลักษณะ คือ การฟื้นฟูภาษา และการสืบค้นเพื่อบันทึกข้อมูลและพรรณนาภาษาอย่างเป็นระบบ โดยเป้าหมายของโครงการ คือ การอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการคงอยู่ของภาษาท้องถิ่น หรือช่วยในการชะลอการสูญสลายของภาษากลุ่มชาติพันธุ์เล็ก ๆ ให้คงอยู่ตลอดไป

อ่านต่อ...

ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3702 

แฟ็กซ์ 0-2434-6254 อีเมล์ library@sac.or.th
 

Facebook : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-Sac library
Line@ : @sac-library หรือคลิกเพื่อ Add Line http://line.me/ti/p/~@SAC-Library


  

ห้องสมุด (ชั้น 8)

จันทร์ - ศุกร์ : 8:30 – 16:30 น.

เสาร์ : 9:00 – 16:00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ

จันทร์ - ศุกร์ : 8:00 – 18:00 น.

เสาร์ : 8:00 – 17:00 น.

หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามประกาศราชการ