banner image

Subject Guide

หน้าแรก / Subject Guide / ชาติพันธุ์ / อาข่า

ชาติพันธุ์ / อาข่า

Export All

image author

รวบรวมโดย : จรรยา ยุทธพลนาวี

เผยแพร่ 01 ส.ค. 2563

ขอบเขตของเนื้อหา

          กลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่าในประเทศไทยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ทีมีภาษาพูด ความเชื่อ วิถีชีวิต ที่มีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง อาศัยอยู่กระจายอยู่ในพื้นที่ 7 จังหวัดทางภาคเหนือของไทย ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง แพร่ ตาก และเพชรบูรณ์ อาศัยอยู่มากที่สุดในจังหวัดเชียงราย กลุ่มอ่าข่าที่เข้ามาประเทศไทยเป็นกลุ่มแรก เข้ามาอยู่ที่ดอยตุง และบ้านดอยแสนใจ อำเภอแม่ฟ้าหลวง กลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่ามีอัตลักษณ์ของตนเอง ทั้งด้านวิถีชีวิต การประกอบอาชีพ ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม อาหาร การแต่งกาย ภาษา ที่สืบทอดต่อ ๆ กันผ่านเทศกาลและพิธีกรรมของชาติพันธุ์อ่าข่าที่เกิดขึ้นตามระบบความเชื่ออันศักดิ์สิทธ์ เกี่ยวข้องกับชีวิตและการทำมาหากิน
         มีชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่าอยู่หลายชื่อ เช่น ประเทศจีนเรียกว่าฮาหนี่ หรือไอ่หนี่ฉุ ที่ประเทศลาวเรียกว่า ก้อ ส่วนที่ประเทศพม่าและเวียดนามเรียกว่า อ่าข่า ส่วนประเทศไทยในอดีตนั้นเรียกอีก้อ แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเรียกอ่าข่าแล้ว แต่ก็ยังมีคนเรียกอีก้ออยู่ 
         คู่มือแนะนำทรัพยากรสารสนเทศกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่าในครั้งนี้ จะให้ความสำคัญกับรายการทรัพยากรสารสนเทศที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่าในเหนือของประเทศไทย  รวมทั้งสังคมวัฒนธรรม วิถีชีวิต และประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่า

 


อ้างอิงจาก 
ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย. "กลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่า"  เข้าถึงได้จาก https://www.sac.or.th/databases/ethnic-groups/ethnicGroups/99

 

คำสำคัญ

แหล่งข้อมูล

คู่มือแนะนำทรัพยากรสารสนเทศ กลุ่มชาติพันธุ์โส้ ประกอบด้วยแหล่งข้อมูล ดังนี้ หนังสือภาษาไทยและหนังสือภาษาอังกฤษ (Book), บทความในหนังสือ (Book Chapter), บทความในวารสาร (Articles), สื่อโสตทัศน์ (Multimedia), ฐานข้อมูล (Database)

เรียงลำดับข้อมูลจากใหม่ไปเก่า | เรียงลำดับข้อมูลจากเก่าไปใหม่


image

Author

สุชาดา ลิมป์

Imprint

-

Collection

สารคดี. ปีที่ 35, ฉบับที่ 414 (ส.ค. 2562), หน้า 134-135 : ภาพประกอบ

Annotation

สถาบันวิจัยชาวเขาร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ได้จัดแสดงพิพิธภัณฑ์บ้านชาวเขา เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้สัมผัสกับรูปแบบที่อยู่อาศัยของชาวเขาที่มีถิ่นฐานอยู่บนดอยสูงจำนวน 10 กลุ่ม ได้แก่ กระเหรี่ยง ม้ง เมี่ยน ลีซู ลาหู่ อาข่า ลัวะ ถิ่น ขมุ และมลาบรี ในบทความนี้ผู้เขียนให้ความสนใจในหมู่บ้านอาข่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประตูหมู่บ้านที่เรียกว่า “ลกข่อ” ซึ่งถือเป็นประตูศักดิ์สิทธิ์ของชาวอาข่าที่สร้างอยู่ทางด้านหน้าและด้านหลังของหมู่บ้าน เพื่อคุ้มครองปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายหรือสิ่งลี้ลับจากป่าไม่ให้เข้ามาในหมู่บ้านได้ ประตูศักดิ์สิทธิ์นี้ประดับด้วยของที่เป็นมงคลหลายอย่าง เช่น ตุ๊กตาแกะสลักชาย-หญิง  ไม้แกะสลักรูปนก หอก ดาบ และเฉลวซึ่งเป็นไม่ไผ่สานที่เชื่อว่าจะป้องกันภูติผีไม่ให้เข้าหมู่บ้าน ประตูหมูบ้านนี้ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่หากใครละเมิดหรือลบหลู่ ชาวบ้านจะต้องทำพิธีเลี้ยงผีที่ประตูเพื่อขอขมาต่อลกข่อนั่นเอง 

อ่านต่อ...
image

Author

วาสนา เพิ่มสมบูรณ์

Imprint

-

Collection

สารคดี. ปีที่ 32, ฉบับที่ 381 (พ.ย. 2559), หน้า 90-99 : ภาพประกอบ ISSN 08571538

Annotation

ผู้เขียนบทความถ่ายถอดเรื่องราววิถีชีวิตและวัฒนธรรมอาหารของชาวอาข่า ผ่านเรื่องเล่าซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ได้สัมผัสจากหมู่บ้านอาข่าในจังหวัดเชียงราย ชาวอาข่าแต่ละหมู่บ้านจะให้ความสคัญกับป่าซึ่งเป็นแหล่งอาหารหลักของผู้คนในหมู่บ้าน ในการเข้าป่าแต่ละครั้งผู้ชายจะมีหน้าที่เตรียมอุปกรณ์สำหรับเก็บของป่า ตกปลา หรือล่าสัตว์ ส่วนผู้หญิงก็มีหน้าที่จัดเตรียมเสบียงและอุปกรณ์ปรุงอาหารเพื่อทำกินในป่าระหว่างการเดินทาง นอกจากจะเข้าป่าเพื่อหาพืชผัก สัตว์น้ำ และสัตว์ป่าเพื่อนำกลับมาประกอบเป็นอาหารแล้ว ในการเดินป่าแต่ละครั้ง ชาวอาข่าที่มีความรู้ด้านยาสมุนไพร ก็จะเก็บพืชสมุนไพรเพื่อนำกลับออกมาใช้ประโยชน์ในด้านการรักษาโรคอีกด้วย การเดินเข้าไปหาของป่าของชาวอาข่าจึงเทียบได้กับการเดินซุป เปอร์มาเก็ตของคนเมืองนั่นเอง 

อ่านต่อ...
image

Author

กฤติพงศ์ จูเปาะ

Imprint

-

Collection

วารสารผู้ไถ่. ปีที่ 36, ฉบับที่ 99 (ก.ย./ธ.ค. 2558), หน้า 69-71 : ภาพประกอบ

Annotation

ข้าวเป็นหนึ่งในพืชพันธุ์ธัญญาหารที่ชาวอาข่าปลูกเพื่อใช้บริโภคในครัวเรือน ในการทำไร่นั้นชาวอาข่าจะบุกเบิกพื้นที่ป่าและใช้เพื่อเพาะปลูกเพียงหนึ่งหรือสองปี จากนั้นก็จะย้ายไปบุกเบิกพื้นที่ป่าแห่งใหม่ การทำไร่แบบนี้เรียกว่า “ไร่หมุนเวียน” ภูมิปัญญาการทำไร่ของชาวอาข่ามีด้วยกัน 2 รูปแบบ ได้แก่ การทำไร่แบบญ้านะ คือการบุกเบิกพื้นที่ทำไร่ด้วยการตัดโค่นต้นไม้และเผา อีกรูปแบบหนึ่งคือการทำไร่แบบญ้าเพ่อ คือการใช้พื้นที่ที่ผ่านการเพาะปลูกมาแล้วหนึ่งปีเพื่อทำไร่ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง นอกจากขั้นตอนในการทำไร่แล้ว ชาวอาข่ายังประกอบพิธีกรรมต่างๆ ควบคู่ไประหว่างที่รอผลผลิตตามความเชื่อดั้งเดิม เช่น พิธีโล้ชิงช้า พิธีเชิดชูผู้นำทางวัฒนธรรม พิธีแบ่งปันผลผลิตให้แก่ผู้นำพิธีกรรม พิธีกินข้าวใหม่ และพิธี “หมี่ จ่า คือ หมี เลอ-เออ” ซึ่งเป็นพิธีขออโหสิกรรมกับสิ่งมีชีวิตและเจ้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการทำไร่ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา 

อ่านต่อ...
image

Author

นภาพร ราชวงศ์

Imprint

-

Collection

สุขศาลา. ปีที่ 4, ฉบับที่ 16 (ม.ค. 2555), หน้า 43-45 : ภาพประกอบ (ภาพสีบางภาพ) ISSN 1906-196X

Annotation

บทความนี้มุ่งเน้นเรื่องภูมิปัญญาการแพทย์ด้านการรักษาอาการกระดูกหักของหมอพื้นบ้านอาข่า เขียนจากประสบการณ์ของพยาบาลวิชาชีพประจำสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯดอยตุง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ที่มีโอกาสเข้าสังเกตการณ์การรักษาอาการกระดูกหักของหมอพื้นบ้าน โดยขั้นตอนการรักษามีทั้งการใช้สมุนไพร น้ำมนต์ อุปกรณ์สำหรับทำเป็นเฝือก มีการบริกรรมคาถาและการปฏิบัติตนตามความเชื่อร่วมด้วย ผู้เขียนเฝ้าติดตามอาการของกรณีตัวอย่างจนทราบข่าวว่าผู้ป่วยหายดี สามารถกลับไปประกอบอาชีพและมีความพึงพอใจกับกระบวนการรักษาแบบพื้นบ้านที่ไม่ต้องถูกเจาะขาฝังเหล็กตามวิธีการของแพทย์แผนปัจจุบัน จากกรณีตัวอย่างนี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำสถานีอนามัยจึงได้มีมุมมองใหม่ต่อระบสุขภาพชุมชน มีการพัฒนาการให้บริการแบบผสมผสาน เช่น ในกรณีที่กระดูกหัก เจ้าหน้าที่จะให้หมอพื้นบ้านร่วมดูฟิล์มเอ็กซ์เรย์ หากอาการไม่รุนแรงมากนักก็ให้รักษาด้วยการแพทย์พื้นบ้าน แต่หากมีอาการที่เสี่ยงต่ออันตรายก็ส่งตัวไปรักษาต่อในโรงพยาบาล นับเป็นการทำงานร่วมกับชุมชนอย่างผสมผสาน ใช้ชุมชนเป็นฐานจนเกิดความเข้าใจอันดีต่อกัน 

อ่านต่อ...
image

Author

พนาภรณ์ ศรีมูล

Imprint

-

Collection

หน้าจั่ว ฉบับที่ 26 (2554), หน้า 179-199 : ภาพประกอบ, แผนที่ ISSN 08571457

Annotation

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ เรื่อง “พลวัตทางสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของชาติพันธุ์อาข่า : กรณีศึกษาหมู่บ้านเหมืองแร่ ตำบลแม่คะ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่” ชาวอาข่ากลุ่มนี้นับถือศาสนาคริสต์ก่อนที่จะเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่นี้ ดังนั้นองค์ประกอบของผังหมู่บ้านจึงต่างไปจากคติการวางผังแบบจารีตดั้งเดิมที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์อาข่า การเปลี่ยนแปลงทางสถาปัตยกรรมที่อยู่อาศัยนี้เป็นผลมาจากการเปลี่ยนความเชื่อและศาสนา ส่งผลให้ชาวอาข่าที่นี่สร้างหมู่บ้านที่มีสภาพแวดล้อมที่ต่างออกไปจากบรรพบุรุษ  ประกอบกับวิถีชีวิตที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ทำให้ชาวอาข่าหมู่บ้านเหมืองแร่ปรับแนวคิดทางสถาปัตยกรรมให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไป 

อ่านต่อ...

ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3702 

แฟ็กซ์ 0-2434-6254 อีเมล์ library@sac.or.th
 

Facebook : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-Sac library
Line@ : @sac-library หรือคลิกเพื่อ Add Line http://line.me/ti/p/~@SAC-Library


  

ห้องสมุด (ชั้น 8)

จันทร์ - ศุกร์ : 8:30 – 16:30 น.

เสาร์ : 9:00 – 16:00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ

จันทร์ - ศุกร์ : 8:00 – 18:00 น.

เสาร์ : 8:00 – 17:00 น.

หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามประกาศราชการ