banner image

Subject Guide

หน้าแรก / Subject Guide / ชาติพันธุ์ / กะเหรี่ยง-ปกาเกอะญอ

ชาติพันธุ์ / กะเหรี่ยง-ปกาเกอะญอ

Export All

image author

รวบรวมโดย : อนันต์ สมมูล

โทรศัพท์ : 028809429ext3701

เผยแพร่ 17 ก.ค. 2563

ขอบเขตของเนื้อหา

            ปกาเกอะญอ หรือ กะเหรี่ยงสะกอ หรือ กะเหรี่ยงขาว เป็นกลุ่มชาวกะเหรี่ยงที่มีวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ พื้นที่แถบลุ่มน้ำต่างๆ บริเวณเทือกเขาตะนาวศรี เขตชายแดนไทย-พม่า ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีประชากรมากที่สุด มีหลักฐานการอยู่อาศัยมานาน เป็นชนเผ่าดั้งเดิมที่อยู่อย่างกระจัดกระจายมานานกว่า 100-200 ปี ชาวปกาเกอะญอโดยทั่วไปมีรูปร่างลักษณะสูงปานกลาง สีผิวของกะเหรี่ยงมีตั้งแต่เหลืองไปจนถึงน้ำตาลคล้ำ รูปใบหน้าค่อนข้างจะแบน จมูกแบน ผมสีดำหยาบ มักเรียกตัวเองว่า ปกาเกอะญอ จกอ คานยอ
            ในคู่มือแนะนำทรัพยากรสารสนเทศชุดนี้ ได้รวบรวมบรรณานุกรมหนังสือ บทความ งานวิจัย และวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ และได้คัดเลือกทรัพยากรสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอมาจัดทำสาระสังเขป เพื่อเป็นแนวทางให้นักวิชาการเลือกสรรทรัพยากรสารสนเทศในกลุ่มชาติพันธุ์นี้ได้อย่างสะดวกและตรงตามความต้องการมากที่สุด



 

คำสำคัญ

เรียงลำดับข้อมูลจากใหม่ไปเก่า | เรียงลำดับข้อมูลจากเก่าไปใหม่


image

Author

เมืองพล เมฆเมืองทอง

Imprint

[กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2518]

Collection

SAC Library-Research and Thesis-DS570.ก6ม82 2518

Annotation

            ศึกษาเชิงชาติพันธุ์วรรณนาโดยบรรยายถึงประวัติความเป็นมา ลักษณะทางกายภาพของกะเหรี่ยง สภาพทางการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ การนับถือศาสนา การศึกษา รวมถึงสังคมวัฒนธรรม โดยศึกษาจากบ้านเลโคะ ต.แม่ยาม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน มี 44 หลังคาเรือนมีประชากรรวม ราว 260 คน เริ่มศึกษาเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2517 ถึง เดือนมีนาคม พ.ศ. 2518 เพื่อทำความเข้าใจสภาพทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชน และยังทำให้ทราบถึงปัญหาต่างๆในหมู่บ้านแห่งนี้ ซึ่งประกอบไปด้วย ปัญหาด้านการเมือง ปัญหาด้านอนามัย ปัญหาด้านการประกอบอาชีพ โดยทำการศึกษาเพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขให้หมู่บ้านแห่งนี้ดีขึ้นในทุก ๆ ด้าน รวมถึงมีการศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีตามแบบฉบับของกะเหรี่ยงบ้านเลโคะที่ว่าด้วยเรื่องการแต่งกายที่แตกต่างกันระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง

อ่านต่อ...
image

Author

บัณฑิต ไกรวิจิตร

Imprint

กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559

Collection

SAC Library-Research and Thesis-DS570.ก6 บ632 2559

Annotation

            นับตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ข้อถกเถียงทางการเมืองสิ่งแวดล้อมนิยมขององค์กรอนุรักษ์และหน่วยงานรัฐ ซึ่งวางอยู่บนแนวคิดความหลากหลายทางชีวภาพ และมีวิธีวิทยาที่เน้นให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางของการศึกษา ได้อธิบายชาวโผล่วด้วยภาพแทนที่หยุดนิ่ง มองว่าชาวโผล่วเป็นผู้ที่ไม่สามารถเข้าใจการเผชิญหน้าระหว่างชีวิตป่าได้ ภาพแทนดังกล่าวได้เข้ามาปะทะแบบพัวพันกับปฏิบัติการระหว่างชาวโผล่วเอง และชีวิตป่าของพวกเขา จนท้ายที่สุดกดให้ชาวโผล่วมีสถานะ “เบี้ยล่าง” เมื่อผ่านเวลาไป 30 ปี ชาวโผล่วได้สร้างสรรค์ภาพแทนผสม ที่รวมเอาภาพแทนทั้งจากองค์กรภายนอก และภาพแทนชีวิตป่าของพวกเขา ทำให้ชีวิตป่าเข้าสู่การต่อรองทางการเมือง และการสร้างภาพแทนชีวิตป่า วิทยานิพนธ์เล่มนี้จึงจัดทำขึ้นเพื่อศึกษาภาพแทน ที่ถูกสร้างขึ้นให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโผล่ว ในพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี ระยะเวลาศึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555-2559 แสดงให้เห็นถึงจักรวาลวิทยาของชาวโผล่วว่าเป็นผู้สร้างความรู้เกี่ยวกับป่า

อ่านต่อ...
image

Author

ดรุณี สิงห์พงไพร

Imprint

เชียงใหม่ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2559

Collection

Thai Digital Collection (TDC) - TDC-ThaiLIS

Annotation

            การศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ บ้านห้วยห้อม ตำบาลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวในชุมชนหลังการเข้ามาของการพัฒนา โดยพบว่า ในราว พ.ศ.2500 การพัฒนาถูกนำเข้ามาโดยองค์กรภายนอกหรือการพัฒนาทำให้เกิดการก่อรูป ความสัมพันธ์ทางสังคมแบบใหม่ และทำการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในด้านต่าง ๆ เพื่อมาทดแทนวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวปกาเกอะญอ เช่น มีการส่งเสริมการปลูกกาแฟ กาทำผ้าทอขนแกะ หรือแม้แต่การเข้ารับนับถือศาสนาคริสต์ของคนบางกลุ่ม การพัฒนาเหล่านี้ ได้สร้างกลุ่มชนชั้นใหม่ คือกลุ่ม “เส่โข่” หรือคนรวย สามารถยกระดับตนเองให้มีบทบาทในการจัดการชุมชนและสร้างความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ ผ่านการจ้างงานสร้างอาชีพ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงคุณค่า ความเชื่อในวัฒนธรรมของชุมชน

อ่านต่อ...
image

Author

ภูมิชาย คชมิตร

Imprint

ขอนแก่น : มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2558

Collection

SAC Library-Research and Thesis-DS570.ท9ภ74 2558

Annotation

            ศึกษาถึงการธำรงชาติพันธุ์ของคนทวาย ในบ้านบ้องตี้บน และบ้านท้ายเหมือง ตำบลบ้องตี้ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ในอดีตคนงานเหมืองแร่ที่เข้ามาทำงานเหมืองแร่ที่บ้านบ้องตี้บน และบ้านท้ายเหมือง เมื่อประมาณสี่สิบปีที่แล้ว กระทั่งเหมืองแร่ปิดกิจการ อดีตคนงานเหมืองแร่ก็ยังคงสร้างบ้านเรือนอยู่บริเวณที่เป็นเหมืองแร่เก่าต่อไป นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 หลังจากที่กองกำลังทหารพม่าตีค่ายกะเหรี่ยงอิสระที่ตั้งอยู่ตามเส้นแนวชายแดนฝั่งประเทศพม่า  ทางการไทยจึงได้มีนโยบายมอบสัญชาติไทยให้กับคนต่างด้าวจากประเทศพม่า  หลังจากที่มีการโอนสัญชาติให้คนต่างด้าวเป็นจำนวนมาก ทำให้ลูกของคนต่างด้าวและคนที่เกิดในประเทศไทยได้รับสัญชาติไทย ฉะนั้นแล้วเมื่อคนในหมู่บ้านได้รับสัญชาติไทยมีการแบ่งแยกกันเองสำหรับ คนไทย และคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงที่มีสัญชาติไทยแต่เดิมจะเรียกตัวเองว่า “ไทยเก่า” หรือ “ไทยเดิม”ส่วน  คนพม่า คนมอญ คนมุสลิม และอื่นๆ ก็จะถูกเรียกว่า “ไทยใหม่”           

อ่านต่อ...
image

Author

ชนะพันธ์ รวีโชติภัคนันท์

Imprint

[ขอนแก่น]: การศึกษาอิสระปริญญารัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการปกครองท้องถิ่น วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่นมหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2554

Collection

SAC Library-Research and Thesis-DS570.ก6 ช36 2554

Annotation

            ศึกษารูปแบบวิถีชีวิตด้านต่าง ๆ ของกะเหรี่ยงที่อยู่ในอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี พบว่ากะเหรี่ยงได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี เนื่องมาจากภัยสงครามในสมัยนั้น โดยบอกเล่าผ่านบทเพลงพื้นบ้านกะเหรี่ยง กะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชนที่รักความสงบ ดำรงชีพโดยการทำอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้าง กะเหรี่ยงมีความเชื่อถือผู้นำและยึดมั่นต่องานประเพณีและช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสังคม  เพื่อนำผลการศึกษาไปปรับใช้กำหนดยุทธศาสตร์ และแผนพัฒนาของเทศบาล เช่น ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชนชาวกะเหรี่ยง อนุรักษ์ความเป็นอยู่ส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณี ส่งเสริมและสนับสนุนด้านการเรียนรู้ชุมชนเช่นโครงการฝึกอบรมอาชีพด้านเกษตรกรรม ทอผ้า และส่งเสริมการแต่งกายพื้นบ้าน ตลอดจนสนับสนุนด้านความเป็นอยู่และสุขภาพเพื่อให้ชาวกะเหรี่ยงในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี
 

อ่านต่อ...

ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3702 

แฟ็กซ์ 0-2434-6254 อีเมล์ library@sac.or.th
 

Facebook : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-Sac library
Line@ : @sac-library หรือคลิกเพื่อ Add Line http://line.me/ti/p/~@SAC-Library


  

ห้องสมุด (ชั้น 8)

จันทร์ - ศุกร์ : 8:30 – 16:30 น.

เสาร์ : 9:00 – 16:00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ

จันทร์ - ศุกร์ : 8:00 – 18:00 น.

เสาร์ : 8:00 – 17:00 น.

หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามประกาศราชการ