banner image

หนังสือแนะนำ

หน้าแรก / หนังสือแนะนำ / First islanders : prehistory and human migration in Island Southeast Asia

detail image

First islanders : prehistory and human migration in Island Southeast Asia

รายละเอียด


ปีที่พิมพ์ :

2017


ผู้แต่ง :

Bellwood, Peter S


เลขเรียกหนังสือ :

GN855.S68 B45 2017


Collection :

Books


ลิงก์หนังสือ :

รายละเอียด :

First islanders. Prehistory and Human Migration in Island Southeast Asia

            ประวัติวัฒนธรรม (Culture-historical) เป็นกระบวนทัศน์หรือแนวทางการศึกษาหลักในงานโบราณคดีที่พัฒนาขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายศริสต์ศตวรรษที่ 19 เพื่อใช้ในการจำแนก จัดกลุ่ม และจัดลำดับอายุสมัยหน่วยวัฒนธรรมจากลำดับการทับถมของชั้นดินและคุณลักษณะต่าง ๆ ของหลักฐานทางโบราณคดี (วัตถุทางวัฒนธรรม) เช่น วัสดุ เทคโนโลยีการผลิต หน้าที่การใช้งาน และรูปแบบของโบราณวัตถุ โดยให้ความสำคัญกับปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแต่ละวัฒนธรรมคือการแพร่กระจายของแนวคิดและวัตถุ (diffusion) และการเคลื่อนย้ายของผู้คน (migration) จากวัฒนธรรมหนึ่งหรือพื้นที่หนึ่งซึ่งเก่าแก่หรือเจริญกว่าไปสู่อีกวัฒนธรรมหนึ่ง ในบางครั้งพบว่าลักษณะการแพร่กระจายและเคลื่อนย้ายเหล่านี้อาจทำให้เกิดการคิดค้นสิ่งใหม่ขึ้น(innovation) ในอีกวัฒนธรรมก็เป็นได้ (อ่านเพิ่มเติมใน สว่าง เลิศฤทธิ์, 2547)   

            First islanders… เป็นงานเขียนล่าสุดของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ปีเตอร์ เบลล์วูด (Peter Bellwood) คณะโบราณคดีและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ปรับปรุงเนื้อหาจาก “Prehistory of the Indo-Malaysian Archipelago” ฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง เมื่อ พ.ศ. 2540 นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการแพร่กระจายและการเคลื่อนย้ายของผู้คนยุคก่อนประวัติศาสตร์ในภาคพื้นสมุทรของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเกาะไต้หวัน ตั้งแต่สมัยไพลสโตซีนที่พบหลักฐานบรรพมนุษย์สำคัญถึงสองสายพันธุ์คือมนุษย์ชวา (Homo erectus erectus) และมนุษย์ฟลอเรสหรือมนุษย์ฮอบบิท (Homo floresiensis) จนถึงสมัยโลหะตอนต้น ที่ปรากฏหลักฐานการติดต่อกับอินเดียระยะแรกเริ่ม เมื่อประมาณ 1,500-2,000 ปีมาแล้ว ได้อย่างรอบด้านและเป็นปัจจุบัน ทั้งหลักฐานและค่ากำหนดอายุทางโบราณคดี ข้อมูลสภาพแวดล้อมโบราณ ภาษาศาสตร์ มานุษยวิทยากายภาพ และผลการศึกษาพันธุกรรมของประชากรโบราณ ที่เป็นงานเขียนโดยตรงและบทเสริมจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้อง
 
            ตัวอย่างที่น่าสนใจคือข้อสมมติฐาน “Out of Taiwan” การแพร่กระจายของประชากรตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน สันนิษฐานว่าเป็นประชากรสมัยหินใหม่จากจีนตอนใต้ซึ่งอพยพลงมาที่เกาะไต้หวัน ศูนย์รวมและทางผ่านสำคัญของการเคลื่อนย้ายไปฟิลิปปินส์ บอร์เนียว สุลาเวสี อินโดนีเซีย ไมโครนีเซีย เมลานีเซีย และภาคพื้นแปซิฟิค ตั้งแต่ประมาณ 5,500 ปีมาแล้ว แม้ว่าประชากรเหล่านี้ได้นำความรู้ด้านการเกษตรกรรม (การเพาะปลูกข้าวและข้าวฟ่าง) การเลี้ยงหมู และความรู้ที่เกี่ยวข้องกับทางทะเลไปสู่หมู่เกาะต่าง ๆ ในระยะใกล้และระยะไกลแทนที่ประชากรเนกริโตในสังคมหาของป่า-ล่าสัตว์ดั้งเดิม (ประชากรพื้นเมืองออสตราโล-ปาปวน) ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการเคลื่อนย้ายของประชากรกลุ่มตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติกและไทย-กะไดจากจีนตอนใต้ไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ แต่เนื่องด้วยข้อเสียเปรียบทางภูมิศาสตร์ที่เป็นหมู่เกาะ เข้าถึงได้ยาก พื้นที่เป็นภูเขาโดยส่วนใหญ่ มีชายฝั่งแคบ และมีพื้นที่ราบลุ่มสำหรับการเพาะปลูกจำกัด ทำให้เกิดพัฒนาการสังคมและวัฒนธรรมช้ากว่าในภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ที่เข้าสู่สมัยสำริดตั้งแต่ 3,000 ปีมาแล้ว เป็นต้น


แนะนำหนังสืออ่านเพิ่มเติม
สว่าง เลิศฤทธิ์. โบราณคดี : แนวคิดและทฤษฎี. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2547.
Bellwood, Peter. Prehistory of the Indo-Malaysian Archipelago. Honolulu: Hawaii University Press, 1997.
Bellwood, P. First farmers: The origins of agricultural societies. Oxford: Blackwell Publishing, 2005.
Bellwood, P. First migrants. Chichester: Willey-Blackwell Publishing, 2005.

user image

ผู้แนะนำ : นายนฤพล หวังธงชัยเจริญ


ตำแหน่ง :

อาจารย์

การศึกษา :

กำลังศึกษาต่อ ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (โบราณคดี) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร

ประสบการณ์ :

ความสนใจทางวิชาการ โบราณคดีเชิงชีววิทยา โบราณคดีเชิงสังคม และยุคก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย


ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3702 

แฟ็กซ์ 0-2434-6254 อีเมล์ library@sac.or.th
 

Facebook : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-Sac library
Line@ : @sac-library หรือคลิกเพื่อ Add Line http://line.me/ti/p/~@SAC-Library


  

ห้องสมุด (ชั้น 8)

จันทร์ - ศุกร์ : 8:30 – 16:30 น.

เสาร์ : 9:00 – 16:00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ

จันทร์ - ศุกร์ : 8:00 – 18:00 น.

เสาร์ : 8:00 – 17:00 น.

หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามประกาศราชการ