banner image

หนังสือแนะนำ

หน้าแรก / หนังสือแนะนำ / The Tai and the Tai kingdoms; with a fuller treatment of the Tai-Ahom kingdom in the Brahmaputra Valley.

detail image

The Tai and the Tai kingdoms; with a fuller treatment of the Tai-Ahom kingdom in the Brahmaputra Valley.

รายละเอียด


ปีที่พิมพ์ :

2016


ผู้แต่ง :

Gogoi, Padmeswar, 1907-


เลขเรียกหนังสือ :

DS509.5.T3 G6 2016


Collection :

Books


ลิงก์หนังสือ :

รายละเอียด :

            หนังสือ The Tai and the Tai Kingdoms: with a fuller treatment of the Tai-Ahom kingdom in the Brahmaputra Valley เขียนโดย ศาสตราจารย์ปัทเมศวร โกกอย นักวิชาการชาวไทอาหมและอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยกวาฮะตีในรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ.1968 และพิมพ์ปรับปรุงใหม่ ครั้งที่ 2 โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยกวาฮะตี ค.ศ. 2016

            หนังสือเล่มนี้ กล่าวถึง ประวัติศาสตร์ชนชาติไท และราชอาณาจักรไทกลุ่มต่างๆ ในเอเชียอาคเนย์ อัสสัมและจีน โดยเน้นความสำคัญที่ไทอาหมในลุ่มแม่น้ำพรหมบุตรอินเดีย ต่างจากหนังสือประวัติศาสตร์คนไทก่อนหน้านี้ที่มักเลือกกล่าวถึงคนไทกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ อย่างไรก็ดีสิ่งที่ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของผู้เขียนคือ การพยายามอธิบายประวัติศาสตร์คนไทอาหมอย่างเป็นอิสระจากกรอบประวัติศาสตร์รัฐชาติอินเดียได้อย่างน่าสนใจ ด้วยข้อมูลใหม่จากเอกสารที่ยังไม่ได้รับการพูดถึงมาก่อน 

            เนื้อหาหนังสือแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเน้น ประวัติศาสตร์ภาพรวมของชนชาติไท เรียบเรียงตามลำดับเวลา เปิดเรื่องด้วยที่มาและความสำคัญของคำเรียกชื่อชนชาติ อธิบายประวัติที่มาของคนไทแต่ละกลุ่มเช่น ฉาน สยาม อาหม เพื่อให้ภาพรวมของชนชาติไท (บทที่ 1) จากนั้นจึงเล่าแบบสืบย้อนประวัติศาสตร์ยุคต้นของชนชาติไทเน้นอาณาจักรอ้ายลาว (บทที่ 2) การเกิดขึ้นและล่มสลายของอาณาจักรน่านเจ้าจากการรุกรานของชนชาติจีน รวมทั้งให้ภาพระบบการปกครอง เศรษฐกิจและสังคม (บทที่ 3) การเคลื่อนย้ายมาตั้งอาณาจักรมาวฉาน เล่าผ่านตำนาน และพงศาวดารต่างๆ เป็นบทที่สำคัญเชื่อมมาเป็นจุดกำเนิดของไทอาหม (บทที่ 4) อาณาจักรไทยในลุ่มแม่น้ำและแม่โขง เล่าผ่านประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้าย การทำสงคราม และการรุ่งเรืองของอาณาจักรไทต่างๆ ในภูมิภาค (บทที่ 5) 

            ส่วนที่สอง คือครึ่งหลังเน้นเฉพาะประวัติศาสตร์ไทอาหม ตั้งแต่เริ่มต้นอพยพเข้ามาตั้งดินแดนในอัสสัมด้วยการนำของเจ้าเสือก่าฟ้า ผ่านโครงเรื่องเล่าการก่อตั้งอาณาจักร การสู้รบกับชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อขยายอำนาจการปกครอง การสืบทอดภาษาและวัฒนธรรมไทโดยลำดับยุคสมัยตามกษัตริย์ปกครอง  (บทที่ 6) และประวัติราชวงศ์อาหมช่วงหลัง จุดหักเหสู่การสูญเสียอัตลักษณ์ไทของอาหมหลังเปลี่ยนมานับถือศาสนาฮินดู ก่อนจะถูกรุกรานจากพม่า และอังกฤษจนนำไปสู่การล่มสลายของอาณาจักรอาหมที่เคยยิ่งใหญ่มากว่า 600 ปี (บทที่ 7) และสุดท้ายให้ภาพระบบการปกครองและบริหารราชการของอาหมเพื่อสนับสนุนความเป็นไทของอาหมว่า มีระบบปกครองคล้ายคลึงกับน่านเจ้า (บทที่ 8)

            นักวิชาการและผู้ที่สนใจใคร่รู้ในเรื่องของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชนชาติไทโดยเฉพาะไทอาหมไม่ควรพลาดหนังสือเล่มนี้ เพราะถือเป็นหนังสือที่เขียนปูพื้นฐานให้ความรู้ประวัติศาสตร์อาหมแบบเชื่อมโยงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชนชาติไท เพื่อเข้าใจที่มาและความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ไทต่างๆ โดยเฉพาะคนไทอาหม จากมุมมองคนใน หรือนักประวัติศาสตร์อาหมเอง

แนะนำหนังสืออ่านเพิ่มเติม
1.    เรณู วิชาศิลป์. พงศาวดารไทอาหม. กรุงเทพฯ :Toyota Foundation, 2539.
2.    บรรจบ พันธุเมธา. กาเลหม่านไต. กรุงเทพฯ : เรืองแสง, 2549.
3.    พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ.งานค้นคว้าเรื่องชนชาติไทย. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2549.
4.    สารนาถ. เยี่ยมไทอาหมสายเลือดเรา.กรุงเทพฯ : ศยาม, 2555.
5.    Acharyya, N. N. (Nagendra Nath). The history of medieval Assam, from the thirteenth to the seventeenth Century; a critical and comprehensive history of Assam during the First four centuries of Ahom rule, based on original Assamese sources, Available both in India and England. Gauhati: Dutta Baruah. 1966.
6.    Gogoi, Padmeswar, Tai-Ahom religion and customs. Gauhati : Publication Board, Assam, 1976.
 

user image

ผู้แนะนำ : นางสาวกนกวรรณ ชัยทัต


ตำแหน่ง :

นักวิจัยอิสระ

การศึกษา :

กำลังศึกษา ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ประสบการณ์ :

ความสนใจทางวิชาการ 1. มีความสนใจทางวิชาการ ด้านประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะ ประวัติศาสตร์ในสมัยรัชกาลที่ 5 และการเป็นสมัยใหม่ทางวัฒนธรรม รวมถึงมีความชำนาญในการค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ ผ่านการอ่านเอกสารชั้นต้น 2. มีความสามารถ และความชำนาญในการอ่านเอกสารโบราณ เช่น อักษรขอม อักษรล้านนา และอักษรไทกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อักษรและเอกสารโบราณไทอาหม และมีความสามารถ และสนใจเป็นพิเศษในประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทอาหม และไทกลุ่มอื่นๆ ในประเทศอินเดีย 3. มีความสามารถในการทำวิจัย และความชำนาญพิเศษในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลภาคสนามทางด้านชาติพันธุ์ และมีความสามารถเขียนบทความทางวิชาการภาษาอังกฤษได้ดี


ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3702 

แฟ็กซ์ 0-2434-6254 อีเมล์ library@sac.or.th
 

Facebook : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-Sac library
Line@ : @sac-library หรือคลิกเพื่อ Add Line http://line.me/ti/p/~@SAC-Library


  

ห้องสมุด (ชั้น 8)

จันทร์ - ศุกร์ : 8:30 – 16:30 น.

เสาร์ : 9:00 – 16:00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ

จันทร์ - ศุกร์ : 8:00 – 18:00 น.

เสาร์ : 8:00 – 17:00 น.

หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามประกาศราชการ