banner image

หนังสือแนะนำ

หน้าแรก / หนังสือแนะนำ / ทหารของพระราชากับการสร้างสำนึกแห่งศรัทธาและภักดี

detail image

ทหารของพระราชากับการสร้างสำนึกแห่งศรัทธาและภักดี

รายละเอียด


ปีที่พิมพ์ :

2565


ผู้แต่ง :

เทพ บุญตานนท์


เลขเรียกหนังสือ :

UA853.ท9 ท73 2565


Collection :

Books (7th floor)


ลิงก์หนังสือ :

รายละเอียด :

ทหารของพระราชากับการสร้างสำนึกแห่งศรัทธาและภักดี

รูปที่ 1 ปกหนังสือ ทหารของพระราชากับการสร้างสำนึกแห่งศรัทธาและภักดี
หมายเหตุจาก. https://lib.sac.or.th/Catalog/BibItem.aspx?BibID=b00099589

 

           หนังสือ ทหารของพระราชากับการสร้างสำนึกแห่งศรัทธาและภักดี พัฒนามาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง The King’s Soldiers: Building Royalism in the Thai Armed Forces, 1868-1957 ของอาจารย์ ดร.เทพ บุญตานนท์ อาจารย์ประจำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนังสือเล่มนี้จะพาผู้อ่านย้อนกลับไปทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับกองทัพไทยเมื่อราวหนึ่งร้อยห้าสิบปีก่อน ผ่านการสำรวจพิธีกรรมทางทหาร และพระราชกรณียกิจทางการทหารของพระมหากษัตริย์ไทย หรือช่วงแห่งการปฏิรูปสยามให้เป็นกองทัพสมัยใหม่ที่ส่วนสำคัญในการส่งเสริมพระราชอำนาจทางการทหารและการเมืองของพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของการกำเนิด “ทหารของพระราชา” ที่ยังคงดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน

 

พิธีกรรม กับการสถาปนาอำนาจทางการทหาร

           ผู้เขียนได้กล่าวว่า ในอดีตพระมหากษัตริย์กับกิจกรรมในกองทัพยังคงไม่เด่นชัดมากนักมีเพียงพิธีกรรมที่เป็นลักษณะของการแสดงออกทางการเมือง เช่น พระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของขุนนางและเชื้อพระวงศ์ ส่วนบทบาทของกองทัพมีเพียงหน้าที่ในการดูแลเรื่องสงคราม ในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ถือเป็นช่วงแห่งการปฏิรูปสยามให้เป็นกองทัพสมัยใหม่ โดยรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริในการสนับสนุนให้พระราชโอรส และเชื้อพระวงศ์ไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศในสาขาต่าง ๆ เพื่อกลับมาพัฒนาประเทศไทย (หรือสยามในขณะนั้น) นอกจากนี้รัชกาลที่ 5 ยังได้ก่อตั้ง “มหาดเล็กไล่กา” หรือ “ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์” เพื่อให้เชื้อพระวงศ์และบุตรหลานของขุนนางได้รับการฝึกทหารแบบตะวันตก และยังทรงก่อตั้งโรงเรียนทหารขึ้นใน พ.ศ. 2424 ซึ่งภายหลังได้เปิดโอกาสให้ไพร่ที่ไม่มีสังกัดมูลนายเข้ามาเป็นทหารโดยได้รับค่าตอบแทน

           นอกจากนี้ยังได้ก่อตั้งโรงเรียนนายร้อยขึ้นใน พ.ศ 2430 เพื่อเป็นแหล่งผลิตกองกำลังทหารที่มีความรู้และความสามารถทางการทหารทัดเทียมตะวันตกนักเรียนนายร้อยทุกคนจะได้รับการอบรมสั่งสอนให้มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์จึงกล่าวได้ว่าในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการก้าวเข้าสู่การเป็นกองทัพสมัยใหม่ พิธีกรรมทางทหารของประเทศไทยได้มีการรับเอาพิธีกรรมขนบธรรมเนียมทางทหารตลอดจนพระราชพิธีของพระมหากษัตริย์แบบตะวันตกมาประยุกต์ใช้หลายพิธีกรรม เช่น พิธีสวนสนาม, พิธีในวันทหารผ่านศึก, พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา และพิธีทูลเกล้าฯ ถวายพระคทาจอมพลให้แก่พระมหากษัตริย์ พิธีกรรมเหล่านี้มีวัตถุประสงค์ของการจัดที่แตกต่างกันแต่ความเอิกเกริกของพิธีกรรมนั้นแฝงไปด้วยการแสดงถึงความเข้มแข็งทางทหาร, ความยิ่งใหญ่, ความเคารพต่อพระมหากษัตริย์ และผู้เขียนได้นำเสนอสองประเด็นสำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนในการสร้างสำนึกของความจงรักภักดี ดังนี้

  1. การยกเลิกระบบไพร่และทาส ที่แสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ที่มีต่อราษฎร เนื่องจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ถือเป็นการปลดแอกความเหลื่อมล้ำของระบบชนชั้นระหว่างชนชั้นสูง และไพร่ทาส
  2. การมีพระราชบัญญัติให้ชายไทยที่มีร่างกายแข็งแรงต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารประจำการในกองทัพ 2 ปี เพื่อเป็นเสริมสร้างพลังให้กับกองทัพในรับมือกับภาวะสงคราม และผู้ที่เข้ารับการเกณฑ์ทหารจะได้รับการอบรมและถูกปลูกฝังให้ยึดมั่นในพระมหากษัตริย์



     

รูปที่ 2-3 ภาพบางส่วนจากพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารเมื่อ ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448)
หมายเหตุ. จาก หนังสือทหารของพระราชากับการสร้างสำนึกแห่งศรัทธาและภักดี หน้า 45-46

 

รูปที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถือคทาจอมพลที่กองทัพบกได้สร้างทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อ พ.ศ. 2446 หมายเหตุ. จาก หนังสือทหารของพระราชากับการสร้างสำนึกแห่งศรัทธาและภักดี หน้า 55

 

           ผู้เขียนได้วิเคราะห์ไว้ว่าการยกเลิกระบบไพร่และทาสรวมถึงการมีพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหารล้วนแสดงให้เห็นถึงการได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากรัชกาลที่ 5 ที่นอกจากจะเป็นการทลายกำแพงของระบบชนชั้นในสังคมแล้วการปลุกปั้นกองทัพสมัยใหม่ยังถือเป็นกองสร้างกองทัพส่วนพระองค์เพื่อป้องกันไม่ให้ขุนนางหรือผู้ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัชกาลที่ 5 มาช่วงชิงอำนาจไปทำให้ศูนย์รวมอำนาจทางการทหารทั้งหมดอยู่ที่พระมหากษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว

 

การยืนยันสถานะของพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ

           หลังจากที่รัชกาลที่ 5 ได้วางรากฐานให้สยามก้าวเข้าสู่กองทัพสมัยใหม่แสดงให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์เป็นทั้งผู้มีบุญบารมีและมีความสามารถในทางการทหาร พระมหากษัตริย์เริ่มเข้ามามีบทบาททางการทหารผ่านพระราชกรณียกิจต่าง ๆ นับแต่นั้นมา เช่น การทอดพระเนตรการซ้อมรบ, การให้พระบรมราโชวาทกับนักเรียนนายร้อย และการเข้าร่วมพิธีกรรมของกองทัพ ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นว่าการมีส่วนร่วมของพระมหากษัตริย์มีส่วนในการส่งเสริมให้ภาพลักษณ์ของพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพรัก และสร้างความชอบธรรมต่อการครองราชบัลลังก์ของพระมหากษัตริย์เนื่องจากในอดีตไม่เคยมีการระบุสถานะของพระมหากษัตริย์ไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจน พระราชกรณียกิจทางทหารที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นจึงมีความสำคัญในการส่งเสริมสถานะของพระมหากษัตริย์และถูกใช้เรื่อยมาจนกระทั่งบทบาทของพระมหากษัตริย์ได้ปรากฎในกฎหมายอย่างเป็นทางการในฐานะจอมทัพของชาติใน

รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2475 ระบุในหมวดที่ 1 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ในมาตรา 5 ระบุไว้ว่า“พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพสยาม”
(เทพ บุญตานนท์, 2565, น. 9)

           จากรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2475 ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้คำว่า “จอมทัพ” เพื่อยืนยันสถานะให้พระมหากษัตริย์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้พระมหากษัตริย์ยังมีพระบรมราโชวาทแก่นายทหารที่เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องแบบทหาร, ถวายยศจอมพลและยศจอมพลเรือแด่พระมหากษัตริย์เมื่อขึ้นครองราชสมบัติเพื่อเป็นการประกาศนโยบายในการปกครอง และให้ขวัญกำลังใจแก่กองทัพซึ่งปรากฏครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) และถือเป็นแนวปฏิบัติที่ถูกใช้เรื่อยมาจนถึงพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ยกเว้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ 8) เนื่องจาก รัชกาลที่ 8 ในขณะนั้นยังทรงพระเยาว์และประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สยามในขณะนั้นถือได้ว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองเมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและมี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนซึ่ง จอมพล ป.พิบูลสงคราม มีนโยบายทางการเมืองที่ชัดเจนว่าต้องการลดทอนอำนาจทางการเมืองของพระมหากษัตริย์โดยการยกเลิกพระราชพิธีต่าง ๆจึงทำให้ในสมัยรัชกาลที่ 8 ไม่มีการจัดพิธีบรมราชาภิเษก และพิธีถวายเครื่องยศจอมพลแด่พระองค์

           หนังสือเล่มนี้จึงเป็นการนำเสนอให้เห็นว่านอกจากรัฐธรรมนูญจะมีส่วนในการช่วยยืนยันสถานะของพระมหากษัตริย์ พิธีกรรมทางทหารและพระราชกรณียกิจทางทหารถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความชอบธรรมให้แด่พระกษัตริย์ตั้งแต่ในสมัยระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สืบทอดมาจนถึงระบอบประชาธิปไตย และถูกผลิตซ้ำมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึง “สำนึกแห่งศรัทธาและภักดี” ผ่านสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับกองทัพไทยในอดีตที่ถูกฝังรากลึกมาจนถึงปัจจุบัน


ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3702 

แฟ็กซ์ 0-2434-6254 อีเมล์ library@sac.or.th
 

Facebook : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-Sac library
Line@ : @sac-library หรือคลิกเพื่อ Add Line http://line.me/ti/p/~@SAC-Library


  

ห้องสมุด (ชั้น 8)

จันทร์ - ศุกร์ : 8:30 – 16:30 น.

เสาร์ : 9:00 – 16:00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ

จันทร์ - ศุกร์ : 8:00 – 18:00 น.

เสาร์ : 8:00 – 17:00 น.

หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามประกาศราชการ