banner image

หนังสือแนะนำ

หน้าแรก / หนังสือแนะนำ / ประวัติศาสตร์เมืองแพร่ : รัฐจารีตสู่การสร้างอาณานิคมภายใน ภายใต้วาทกรรม

detail image

ประวัติศาสตร์เมืองแพร่ : รัฐจารีตสู่การสร้างอาณานิคมภายใน ภายใต้วาทกรรม

รายละเอียด


ปีที่พิมพ์ :

2564


ผู้แต่ง :

ชัยพงษ์ สำเนียง


เลขเรียกหนังสือ :

DS589.พ94 ช643 2564


Collection :

Books (7th floor)


ลิงก์หนังสือ :

รายละเอียด :

ประวัติศาสตร์เมืองแพร่: รัฐจารีตสู่การสร้างอาณานิคมภายใน ภายใต้วาทกรรม "รัฐชาติ"

หนังสือประวัติศาสตร์เมืองแพร่: รัฐจารีตสู่การสร้างอาณานิคมภายใน ภายใต้วาทกรรม "รัฐชาติ" มีให้บริการที่ห้องสมุด ศมส.

 

           ในฐานะนักเดินทางท่องเที่ยวจะรู้จักและมีภาพเกี่ยวกับจังหวัดแพร่ว่าเป็นเมืองที่ผลิตผ้าหม้อห้อม เมื่อผ่านหรือไปเที่ยวเมืองแพร่ต้องมีเสื้อหม้อห้อมติดไม้ติดมือกลับมาใช้หรือนำมาฝากญาติ ๆ มีพระธาตูช่อแฮ อันเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนเกินปีขาลที่คนปีขาลจะต้องไปกราบไหว้สักการะสักครั้งในชีวิต และแวะเที่ยวชมแพะเมืองผี สถานที่ที่มีความสวยงามทางธรณีวิทยา แต่ใครจะทราบว่าเมืองแพร่มีประวัติศาสตร์ ความเป็นมา มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจอย่างมาก บางเรื่องเป็นความภาคภูมิใจ แต่บางเรื่องเป็นเรื่องที่ตอกย้ำความเจ็บปวดของ “คนเมืองแพร่”

           หนังสือ “ประวัติศาสตร์เมืองแพร่: รัฐจารีตสู่การสร้างอาณานิคมภายใน ภายใต้ วาทกรรม "รัฐชาติ" โดย ชัยพงษ์ สำเนียง เป็นหนังสือที่เปิดมุมมองของผู้อ่านให้เข้าใจประวัติศาสตร์เมืองแพร่ในหลายแง่มุม หลายมิติ ภายใต้บริบทที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งมุมมองของภาครัฐ มุมมองของนักวิชาการ และมุมมองของคนท้องถิ่น ชี้ให้เห็นพลวัตของประวัติศาสตร์เมืองแพร่ที่มีความผันแปรและเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนเขียน-เล่าประวัติศาสตร์เรื่องนั้น ๆ เขาเขียน-เล่าเพื่อวัตถุประสงค์อะไร และต้องการให้เกิดผลอะไร

           ดร.ชัยพงษ์ สำเนียง เป็นคนจังหวัดแพร่โดยกำเนิด จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาสังคมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปริญญาโทสาขาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปริญญาเอกสาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความสนใจงานด้านประวัติศาสตร์ล้านนา การเมืองการปกครองท้องถิ่น โดยมีผลงานมากมาย อาทิ พลวัตการสร้างและการรับรู้ประวัติศาสตร์เมืองแพร่ พ.ศ. 2445-2549, พัฒนาการของกลุ่มทุนและเครือข่ายธุรกิจในภาคเหนือ พ.ศ. 2446-ปัจจุบัน, กบฎเงี้ยว การเมืองของความจำ ประวัติศาสตร์ขบวนการเครื่องไหวของ “คนล้านนา” ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

           การเปลี่ยนแนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ผ่านการอภิปรายและวิเคราะห์พลวัตของการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ทางสังคม ให้สามารถมองเห็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกันได้อย่างครบถ้วนทุกมิติ ดังที่ ดร.ชัยพงษ์ สำเนียง นำเสนอประวัติศาสตร์และพัฒนาการของเมืองแพร่จากการศึกษาค้นคว้าหลักฐานชั้นต้น หลักฐานชั้นรอง ผ่านงานต่าง ๆ ที่กล่าวถึงเมืองแพร่ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ตำนาน จดหมายเหตุ พงศาวดาร งานวิจัย หนังสือ วรรณกรรมท้องถิ่น ประกอบกันเพื่อทำความเข้าใจการรับรู้ประวัติศาสตร์เมืองแพร่ นำเสนอข้อมูลตั้งแต่ยุคสร้างบ้านแปงเมืองราวพุทธศตวรรษที่ 17 ว่า เมืองแพร่เป็นเมืองขนาดเล็ก มีปฏิสัมพันธ์กับเมืองรอบข้างอย่าง ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน และล้านนา ในฐานะเมืองเครือญาติ เมืองพันธมิตร เมืองหน้าด่าน และเมืองในเขตอิทธิพล

           ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 พัฒนาการของเมืองใหญ่อย่างล้านนา หงสาวดี อังวะ และกรุงเทพฯ มีศักยภาพมากขึ้น มีพื้นที่ราบกว้างขวางอุดมสมบูรณ์ มีการติดต่อค้าขายกับหัวเมืองต่าง ๆ นำไปสู่การขยายอาณาจักรให้กว้างขวางมากขึ้น และได้ผนวกรวมเมืองขนาดเล็กเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร เมืองแพร่จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสุโขทัย ล้านนา พม่า และสยามตามลำดับ ต่อมาเมื่ออาณาจักรเหล่านั้นอ่อนแอเมืองแพร่ก็แยกตัวเป็นอิสระ ร่วมเป็นพันธมิตรกับเมืองอื่น และยอมอ่อนน้อมต่อเมืองที่เข้มแข็งกว่า อย่างสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เมืองแพร่มาสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้ากรุงธนบุรีเนื่องจากขณะนั้นพระเจ้ากรุงธนบุรีกำลังขยายอาณาจักรขึ้นไปหัวเมืองทางหนือ

           ต้นพุทธศตวรรษที่ 24 สยามได้ขยายอำนาจเข้าครอบครองหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน และเชียงใหม่ ทำให้เมืองแพร่สูญเสียสถานะเมืองหน้าด่าน กลายเป็นเมืองเล็ก ๆ มีประชากรน้อย ไม่มีทรัพยากรที่สำคัญ ไม่ใช่เป็นเมืองยุทธศาสตร์ในการขยายอาณาเขตและป้องกันประเทศ ไม่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับเมืองอื่น ๆ จึงไม่ได้รับเกียรติจากสยามเท่าที่ควร

           ต่อมายุคปฏิรูปการปกครอง สมัยรัชกาลที่ 5 มีนโยบายรวมศูนย์อำนาจ เมืองแพร่ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นส่วนหนึ่งหรือท้องถิ่นหนึ่งของสยาม เกิดการเปลี่ยนแปลงในเมืองหลายด้าน เช่น การเปลี่ยนแปลงระบบภาษีจากเดิมเก็บเป็นสิ่งของ เปลี่ยนเป็นเงิน มีการส่งข้าราชการจากส่วนกลางมาปกครอง ทำให้อำนาจของเจ้าเมืองเดิมลดลง มีการกีดกันคนเงี้ยว คนยวน คนลาวซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่เดิมออกจากระบบ “รัฐชาติ” ที่มีเส้นเขตแดน มีสิทธิความเป็นพลเมือง ประกอบกับก่อนหน้านั้นเมืองแพร่เกิดภัยแล้งติดต่อกันหลายปี ผู้คนอพยพออกจากพื้นที่และมีการเกณฑ์แรงงานจากส่วนกลาง ทั้งหมดจึงเป็นต้นเหตุการลุกขึ้นต่อต้านอำนาจรัฐของราษฎรเงี้ยวและเจ้านายเมืองแพร่ ที่รับรู้กันว่าเหตุการณ์ “กบฎเงี้ยว พ.ศ. 2445” ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการสร้างและการรับรู้ประวัติศาสตร์เมืองแพร่โดยรัฐชาติ โดยละเลยมุมมองหรือบริบทของท้องถิ่น นำไปสู่การดูถูกเหยียดหยามตีตราว่าเมืองแพร่เป็นพวกทรยศไม่จงรักภักดี เป็นพวกกลุ่มกบฎที่ต่อต้านการปฏิรูปการปกครอบของรัฐที่นำความทันสมัยมาสู่สยาม นำไปสู่ “มายาคติ” ทางประวัติศาสตร์ ที่รัฐเลือกที่จะให้รับรู้หรือไม่ให้รับรู้อะไร รัฐใช้ประวัติศาสตร์ในการกำหนดทิศทาง สร้างตัวตน และผู้คนของบ้านเมืองนั้น ๆ นำไปสู่การสร้างประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองภายใต้กระแสประวัติศาสตร์ที่ทรงอิทธิพลในขณะนั้น

           การสร้างและการรับรู้ประวัติศาสตร์เมืองแพร่โดยรัฐชาติ มุ่งเสนอว่าการกบฎครั้งนี้เกิดขึ้นที่เมืองแพร่เมืองเดียว เป็นการก่อกบฎของ “พวกเงี้ยว” ไม่เกี่ยวกับ “คนเมือง” ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของภาคเหนือ ตีตราเหตุการณ์นี้ว่า “กบฎเงี้ยวเมืองแพร่” แต่ตามจริงพื้นที่ของการก่อกบฎขยายตัวไปตามเมืองต่าง ๆ ในภาคเหนือครอบคลุมพื้นที่ ลำปาง พะเยา เชียงแสน และเชียงใหม่ ทั้งนี้เพื่อต้องการใช้การปกครองหัวเมืองทางเหนืออย่างเบ็ดเสร็จ รัฐจึงใช้เหตุการณ์ “กบฎเงี้ยวเมืองแพร่” เป็นตัวอย่างของการปราบปรามผู้ทรยศ ไม่จงรักภักดีต่อรัฐอย่างเด็ดขาด โดยนัยคือเมืองต่าง ๆ ที่เหลืออย่าเอาเป็นเยี่ยงอย่าง

           หลังเหตุการณ์กบฎเงี้ยว พ.ศ. 2445 ข้าราชการจากส่วนกลางได้เข้ามาสร้างประวัติศาสตร์เมืองแพร่ในฐานะ “เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย” ในรูปหน่วย “จังหวัด” ลดทอนเมืองเล็กเมืองน้อยของรัฐจารีต มาเป็น “อำเภอ” หรือ “ตำบล” ขณะเดียวกันมุ่งเปลี่ยนสำนึกของ “คนแพร่” ที่มีสำนึกของความเป็น “เมือง” มีประวัติศาสตร์ความเป็นมา มีคติความเชื่อ และความภาคภูมิใจในความเป็น “เมืองแพร่” พยายามสร้างสำนึกความเป็น “คนจังหวัดแพร่” ซึ่งการรับรู้ในฐานะจังหวัด มีผลอย่างกว้างขวางภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2457 แต่สำนึกความเป็น “เมืองแพร่” ก็ยังคงอยู่และทับซ้อนกับความเป็น “จังหวัดแพร่” แสดงให้เห็นถึงความเลื่อนไหลของการรับรู้ ต่อมา ปี พ.ศ. 2454 มีการสร้างเส้นทางรถไฟถึงสถานนีรถไฟเด่นชัย ส่งผลต่อกระบวนการผลิตเพื่อค้าขาย และระบบเศรษฐกิจของคนเมืองแพร่ มีนายทุนที่ฐานะร่ำรวยจากการค้าขายและค้าไม้ ซึ่งต่อมามีส่วนสำคัญต่อการสร้างการรับรู้ อัตลักษณ์ของคนเมืองแพร่ในปัจจุบัน

           ช่วงทศวรรษ 2500 มีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ส่งผลให้เกิด “วาทกรรมการพัฒนาสมัยใหม่” และได้สร้างนิยาม “ความเจริญ” หรือ “ความเหนือกว่า” หรือ “ความด้อยกว่า” ของ “คนอื่น” ภายใต้ตัวชี้วัดทางวัตถุที่แผนพัฒนาฯ ถือว่าเป็นความเจริญ และวาทกรรมดังกล่าวยังสร้างความเป็น “เมืองศูนย์กลางการพัฒนา” กับ “เมืองชายขอบของการพัฒนา” เมืองแพร่ถูกสร้างให้ “เป็นอื่น” ในฐานะเมืองชายขอบของการพัฒนาที่ด้อยกว่าเมืองศูนย์กลางการพัฒนา ส่งผลต่ออัตลักษณ์เมืองแพร่ที่ถูกมองในแง่ลบว่าเป็นเมืองเงี้ยว เป็นเมืองกบฎ (ลูกหลานของกบฎ) เมืองแห่ระเบิด (เมืองคนโง่) เมืองพ่อเลี้ยง เมืองคนดุ (มีปืนเถื่อนเยอะ) ส่งผลให้กลุ่มคนแพร่ที่อาศัยอยู่นอกพื้นที่เมืองแพร่ได้รับผลกระทบต่อ “วิกฤต อัตลักษณ์” คนกลุ่มนี้ได้พยายามสร้างการรับรู้เพื่อโต้ตอบและเพื่อให้มีตำแหน่งแห่งที่ในวิถีการพัฒนาสมัยใหม่ด้วยการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ เช่น เมืองแพร่เมืองพระลอ (ตำนานพื้นบ้านเรื่องพระลอ พระเพื่อนพระแพง) เมืองคนจริง เมืองคนจิตใจงาม เป็นต้น และหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 กลุ่มนายทุนที่สะสมทุนจากการค้าขายและป่าไม้ ได้เข้ามาเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกสภาจังหวัด (ส.จ.) และมีส่วนสำคัญต่อการสร้างการรับรู้อัตลักษณ์ที่ส่งผลต่อการรับรู้ต่อ “เมืองแพร่” ในฐานะ “เมืองไม้สัก” “เมืองพ่อเลี้ยง” “เมืองเสรีไทย” และ “เมืองเสื้อหม้อฮ้อม” นับแต่ทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา

           ช่วงหลังทศวรรษ 2540 สังคมเริ่มให้ความสำคัญกับความเป็นท้องถิ่น เกิดการสร้างประวัติศาสตร์เมืองแพร่ในโครงเรื่องใหม่ภายใต้แนวคิดประวัติศาสตร์ชาตินิยม ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนิยม และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาตินิยม

           โครงสร้างใหม่ของประวัติศาสตร์เมืองแพร่ ถูกสร้างขึ้นภายใต้ความไม่ชัดเจนถึงที่มา มีโครงเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น เมืองแพร่มีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ 14 โดยพ่อขุนพลหรือเป็นเชื้อสายพระวงศ์ลาว หรือเจ้าเมืองแพร่ยุคหลังเป็นราชวงศ์มังราย เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเก่าแก่และความยิ่งใหญ่ของเมืองแพร่ที่ไม่ด้อยกว่าเมืองอื่น ๆ ในประเทศไทย เหตุการณ์กบฎเงี้ยวเมืองแพร่ ที่คนทั่วไปรับรู้ว่า “เมืองแพร่เป็นกบฎ” มีการสร้างโครงเรื่องใหม่ที่ผสมผสานระหว่างแนวคิดชาตินิยมที่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นแกนในการอธิบาย หรือแนวคิดมหาบุรุษผสมกับแนวคิดท้องถิ่นนิยม ที่อธิบายประวัติศาสตร์จากมุมมองของท้องถิ่นภายใต้บริบทประวัติศาสตร์ชาตินิยม สร้างโครงเรื่องแบบท้องถิ่นชาตินิยมที่คนท้องถิ่นต้องทำความดีเพื่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ท้องถิ่นมีตำแหน่งแห่งที่ในประวัติศาสตร์กระแสหลักโดยนำเสนอโครงเรื่องเป็นความเสียสละของเจ้าหลวงเมืองแพร่ เป็นเจ้าหลวงผู้ภักดี เป็นเจ้าหลวงผู้อาภัพ เจ้าหลวงถูกคนอื่นยุยง และพวกเงี้ยวก่อการกบฎแต่เพียงกลุ่มเดียว

           ปัจจุบัน “แพร่” ไม่ใช่เมืองไม่ใช่แคว้นอิสระแต่เป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย ในหนังสือเล่มนี้ ผู้อ่านจะได้ศึกษาแต่ละช่วงตอนของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่มีระยะเวลาอันยาวนาน ได้เห็นความแตกต่างในแต่ละยุคสมัย เพื่อสร้างความเข้าใจพลวัตของเมืองแพร่ เมืองขนาดเล็กที่ถูกห้อมล้อมด้วยอำนาจขนาดใหญ่ จนทุกวันนี้ยังยืนหยัดในความเป็นตัวตนอย่างอิสระ ภายใต้วาทกรรม "รัฐชาติ"

           หนังสือ ประวัติศาสตร์เมืองแพร่: รัฐจารีตสู่การสร้างอาณานิคมภายใน ภายใต้วาทกรรม "รัฐชาติ" ถือว่าเป็นความพยายามครั้งสำคัญ ในการเขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้หลุดพ้นไปจากกรอบการมองประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เป็นเพียงส่วนประกอบย่อย ๆ ของรัฐชาติ ซึ่งที่ผ่านมามักจะถูกใช้เป็นแนวทางหลักในการเขียนประวัติศาตร์ท้องถิ่นต่าง ๆ ในสังคมไทย หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับนักวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น อาจารย์ นักศึกษา ครู และนักเรียนที่สนใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่นโดยเฉพาะประวัติศาสตร์เมืองแพร่ และประวัติศาสตร์ล้านนา หรือภาคเหนือตอนบน ทั้งนี้หนังสือและงานวิจัยต่าง ๆ ที่ผู้เขียนอ้างถึงและอ้างอิงในหนังสือเล่มนี้ สามารถหาอ่านได้ที่ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

user image

ผู้แนะนำ : อนันต์ สมมูล


ตำแหน่ง :

นักบริการสารสนเทศ

การศึกษา :

บรรณารักษ์ศาสตร์

ประสบการณ์ :


ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3702 

แฟ็กซ์ 0-2434-6254 อีเมล์ library@sac.or.th
 

Facebook : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-Sac library
Line@ : @sac-library หรือคลิกเพื่อ Add Line http://line.me/ti/p/~@SAC-Library


  

ห้องสมุด (ชั้น 8)

จันทร์ - ศุกร์ : 8:30 – 16:30 น.

เสาร์ : 9:00 – 16:00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ

จันทร์ - ศุกร์ : 8:00 – 18:00 น.

เสาร์ : 8:00 – 17:00 น.

หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามประกาศราชการ