banner image

หนังสือแนะนำ

หน้าแรก / หนังสือแนะนำ / Anthropocene : a very short introduction

detail image

Anthropocene : a very short introduction

รายละเอียด


ปีที่พิมพ์ :

2018


ผู้แต่ง :

Anthropocene : a very short introduction


เลขเรียกหนังสือ :

GF75 .E48 2018


Collection :

Books


ลิงก์หนังสือ :

รายละเอียด :

We are in Anthropocene” ประโยคอันโด่งดังที่ถูกกล่าวโดย พอล ครูตเซน  (Paul Crutzen) นักเคมีชาวดัตช์และนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลที่ได้รับการนับถือมากที่สุดคนหนึ่ง ขณะที่เขากำลังร่วมประชุมในงานสัมมนาวิชาการที่จัดขึ้นในเม็กซิโก ปี 2000

          แนวคิดของพอล ครูตเซนทำให้นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการสาขาอื่นๆ หันมาให้ความสนใจภาวะการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ การให้ความสนใจในการก้าวเข้าสู่ยุคสมัยของ “แอนโธพอซีน” ไม่ได้มีเพียงการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศด้วยวิธีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เพียงเท่านั้น แต่รวมไปถึงในมิติสังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา โบราณคดี รัฐศาสตร์ ศิลปะการแสดงและสาขาวิชาอื่นๆ ที่ศึกษาทุกการกระทำของมนุษย์อันส่งผลต่อธรรมชาติ

          Erle C. Ellis นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ผู้เชี่ยวชาญทางธรณีวิทยาและระบบนิเวศทางธรรมชาติ จาก University of Maryland เขียนหนังสือเรื่อง “Anthropocene : A very Short Introduction” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและการก้าวเข้าสู่ยุคสมัย “แอนโธพอซีน” โดยกล่าวถึงความสำคัญของร่องรอยต่างๆ จากพฤติกรรมของมนุษย์ที่มีต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนให้คำอธิบายทางธรณีวิทยาไว้อย่างน่าสนใจ

          หนังสือเริ่มต้นขึ้นในบทแรกด้วยการกล่าวถึงความเป็นมาของคำว่า Anthropocene ให้ข้อมูลเรื่องประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย การลำดับเรื่องเวลาทั้งในแง่วิทยาศาสตร์และปรัมปรา รวมทั้งทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วินที่ช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิวัฒนาการของมนุษย์ได้ชัดเจนจากความรู้ในอดีตมากขึ้น และกล่าวถึงงานเขียนของ Bill McKibben เรื่อง “ The End of Nature” ตีพิมพ์ในปี 1989 ที่กลายเป็นหนังสือเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ผู้เขียนยังได้กล่าวทิ้งท้ายบทแรกไว้ด้วยการชี้ให้เห็นว่า “แอนโธพอซีน” ได้กลายเป็นยุคสมัยที่บทบาทของมนุษย์มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่อสภาวะของโลก ซึ่งเป็นผลที่สืบเนื่องมาเป็นระยะเวลายาวนาน

          หลังจากให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและแนวคิดการเข้าสู่ยุคสมัยแห่ง“แอนโธพอซีน”   นักวิทยาศาสตร์ท่านนี้จึงพาผู้อ่านเข้าสู่โลกแห่งธรณีวิทยาในลำดับถัดไป โดยในบทที่สอง ผู้เขียนนำเสนอเรื่อง “ระบบโลก (Earth System)” เพื่อต้องการให้ผู้อ่านทำความเข้าใจระบบโลกต่อการมีเสถียรภาพหรือเกิดการเปลี่ยนแปลง และมีปัจจัยใดบ้างที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงนั้น อันเป็นรากฐานในการทำความเข้าใจว่าการกระทำของมนุษย์จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบโลกได้อย่างไร ผู้เขียนได้ให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องระบบโลกโดยอธิบายถึงชั้นบรรยากาศของโลก ชีวมณฑล แหล่งกำเนิดอ็อกซิเจน ระดับคาร์บอนที่ส่งผลต่อสภาพอากาศ การอธิบายเส้นโค้งคีลิงซึ่งเป็นกราฟที่แสดงผลการเปลี่ยนแปลงความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศของโลก และการก่อตั้ง The International Geosphere-Biosphere Programme (IGBP) ในปี 1987 เพื่อเป็นองค์กรในการขับเคลื่อนองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับระบบโลกและการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับโลก

          เมื่อทำเข้าใจระบบโลกและการเปลี่ยนแปลงแล้ว ความรู้เรื่อง “ธรณีกาล” จึงถูกนำมาอธิบายเป็นลำดับถัดมาในบทที่สาม เพื่อทำความเข้าใจยุคสมัย “แอนโธพอซีน” ในฐานะที่เป็นช่วงเวลาหนึ่งของธรณีกาล ในบทนี้ผู้เขียนได้กล่าวถึงรายละเอียดของการลำดับช่วงเวลาของโลก หรือ ธรณีกาล ที่ศึกษาจากร่องรอยของสิ่งมีชีวิตและกิจกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น โดยใช้การศึกษาวิเคราะก์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากชั้นหิน ดิน และแผ่นเปลือกโลก
ยุคล่าสุดจากการนับช่วงเวลาธรณีกาลที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 2.6 ล้านปีมาแล้วนั้น รู้จักกันในชื่อ ยุคควอเทอร์นารี ที่แบ่งย่อยเป็น สมัยไพลสโตซีน และ สมัยโฮโลซีน ซึ่งในยุคสมัยนี้มีการนำเสนอเรื่องการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสภาพอากาศเย็นและธารน้ำแข็ง จึงทำให้มีชื่อเรียกที่คุ้นเคยกันดีว่า ยุคน้ำแข็ง (Ice Age)

          ดังนั้น ในการจะกำหนดยุคสมัยแห่ง “แอนโธพอซีน” จึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบด้วยวิธีการทางธรณีวิทยาเช่นเดียวกับการกำหนดอายุสมัยของธรณีกาลอื่น ในปี ค.ศ.2009 จึงมีการจัดตั้ง Anthropocene Working Group (AWG) เพื่อเป็นคณะทำงานในการค้นคว้าตรวจสอบยุคสมัยธรณีกาลยุคใหม่ที่เชื่อว่าเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาจากผลกระทบของการกระทำทั้งปวงของมวลมนุษย์

          ผู้เขียนอภิปรายถึงผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์ว่ากิจกรรมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม เริ่มต้นขึ้นเมื่อมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมรวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดในช่วงกลางของศควรรษที่ 20 ว่า ผลจากกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากฝีมือของมนุษย์นั้นได้ทำให้เกิดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นทั้งการเกิดก๊าซเรือนกระจก การพังทลายของหน้าดิน การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต และการเพิ่มขึ้นของสารเคมีและก๊าซพิษในอากาศ

ผู้เขียนยังนำเสนอผลของการเปลี่ยนแปลงของระบบธรรมชาติของโลกด้วยการใช้ภาพลูกบอลและหลุมมาเป็นภาพตัวแทนของระบบโลก ในช่วงยุคโฮโลซีนระบบโลกค่อนข้างมีเสถียรภาพ เปลี่ยนแปลงน้อย ขณะที่ในยุคแอนโธโพซีนมีการเปลี่ยนแปลงของระบบโลกเพิ่มมากขึ้น โดยมีกิจกรรมสำคัญที่ทำให้เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับโลกในช่วงที่มนุษย์มีการทำเกษตรกรรม และในช่วงหลังจากที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม

ในการอธิบายร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกนั้น ผู้เขียนจึงใช้ความรู้จากการศึกษาทางโบราณคดีเข้ามาเติมเต็มข้อมูลดังกล่าว เนื่องจากในสังคมของมนุษย์ยุคต่างๆ มักจะทิ้งหลักฐานของการประกอบกิจกรรมไว้ ไม่ว่าจะเป็นร่องรอยการใช้ถ่านฟืน เครื่องมือเครื่องใช้หรือวัตถุทางโบราณคดีอื่นๆ รวมถึงหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับโครงกระดูกของมนุษย์ที่ถูกนำมาวิเคราะห์ทางกายภาพเพื่ออภิปรายถึงรูปแบบกิจกรรมที่เกิดขึ้นของมนุษย์ในแต่ละช่วงเวลา

          ส่วนท้ายของหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนได้กล่าวสรุปถึงสิ่งที่ทำให้ยุคแอนโธพอซีนกลายมาเป็นประเด็นสำคัญที่ควรให้ความสนใจ แอนโธพอซีนทำให้มนุษย์ต้องกลับมาทบทวนบทบาทและการกระทำของตนที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกมากกว่าการคิดถึงเพียงแต่เรื่องการดำรงชีวิต และเรื่องราวของแอนโธพอซีนยังเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นที่ทุกคนสามารถช่วยกันสร้างอนาคตทั้งของมวลมนุษย์และสิ่งมีชีวืตอื่นๆ ให้สามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้และบันทึกร่องรอยไว้ในฐานะส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ของโลก
 

user image

ผู้แนะนำ : จรรยา ยุทธพลนาวี


ตำแหน่ง :

รักษาการผู้จัดการฝ่ายบริการสารสนเทศ

การศึกษา :

ปริญญาโท สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ประสบการณ์ :


ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3702 

แฟ็กซ์ 0-2434-6254 อีเมล์ library@sac.or.th
 

Facebook : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-Sac library
Line@ : @sac-library หรือคลิกเพื่อ Add Line http://line.me/ti/p/~@SAC-Library


  

ห้องสมุด (ชั้น 8)

จันทร์ - ศุกร์ : 8:30 – 16:30 น.

เสาร์ : 9:00 – 16:00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ

จันทร์ - ศุกร์ : 8:00 – 18:00 น.

เสาร์ : 8:00 – 17:00 น.

หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามประกาศราชการ