banner image

หนังสือแนะนำ

หน้าแรก / หนังสือแนะนำ / นโยบายและการจัดการสิ่งแวดล้อม

detail image

นโยบายและการจัดการสิ่งแวดล้อม

รายละเอียด


ปีที่พิมพ์ :

2551


ผู้แต่ง :

โสภารัตน์ จารุสมบัติ


เลขเรียกหนังสือ :

GE320.ท9ส94 2551


Collection :

Books (7th floor)


ลิงก์หนังสือ :

รายละเอียด :

ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ยังไม่ได้มีแนวทางหรือนโยบาบในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ชัดเจน และสอดรับกับความต้องการของประชาชน ในหลายครั้ง เราจะพบกรณีความขัดแย้งของรัฐกับชุมชนในการบริหารจัดการพื้นที่และสิ่งแวดล้อมที่เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน และคุณภาพของสิ่งแวดล้อม ดังกรณีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ที่ชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จังหวัดสงขลาได้เดินทางออกมาทวงข้อเรียกร้องที่ภาครัฐรับปากจะทบทวนการพัฒนาโครงการ

           ผลกระทบจากการพัฒนาโครงการดังกล่าวที่มีต่อระบบนิเวศในพื้นที่ เป็นส่วนหนึ่งของการทำให้เกิดผลเสียทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นโดยฝีมือของมนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นสำคัญที่หลายภาคส่วนหันมาให้ความสนใจ นั่นคือ “Anthropocene หรือ มนุษยสมัย” ศัพท์ใหม่ที่กำลังถูกพูดถึงในแวดวงวิชาการ โดยกล่าวถึงกิจกรรมใดก็ตามที่มนุษย์ได้ทำกิจกรรมแล้วก่อให้เกิดผลเสียทางด้านระบบนิเวศเสียสมดุล และผลเสียนั้นได้กลับมาส่งผลต่อมนุษย์เอง1  ประเด็นของ Anthropocene จึงมีความความหมายกว้างขวางและเชื่อมโยงหลากหลายสาขา หนังสือเรื่อง นโยบายและการจัดการสิ่งแวดล้อม เป็นหนังสืออีกหนึ่งเล่มที่จะช่วยให้ผู้อ่านเห็นว่าจริงๆ แล้ว คำว่า Anthropoceneนั้นได้อยู่กับเรามานาน และไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเรื่องไกลตัว หนังสือเล่มนี้เขียนโดย โสภารัตน์ จารุสมบัติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

           นโยบายและการจัดการสิ่งแวดล้อม เป็นหนังสือที่จะพาผู้อ่านทุกท่านทำความเข้าใจความสำคัญของนโยบายและการจัดการสิ่งแวดล้อม ปัญหาที่ (ไม่) ใหม่แต่ใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำเสีย ปัญหาขยะพลาสติก ปัญหาป่าไม้ถูกทำลาย หรือแม้แต่ปัญหาฝุ่น PM 2.5 มลภาวะทางอากาศภัยเงียบที่เกิดจากควันเสียของรถยนต์ โรงงานไฟฟ้า และโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้เคยแวะมาทักทายก่อนสถานการณ์โควิด-19 จะแพร่ระบาด และกำลังหวนกลับมาทักทายอีกครั้ง โดยมีข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา ออกมาแจ้งเตือนว่าในช่วงฤดูหนาวในปลายปีนี้ของประเทศไทยไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ให้ประชาชนเตรียมตัวรับมือกับฝุ่น PM 2.52 อีกครั้ง เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้จึงจะช่วยให้ผู้อ่านเห็นถึงนโยบายและการจัดการสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในประเทศไทย

เส้นทางของนโยบายและการจัดการสิ่งแวดล้อมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย

           เมื่อมีจำนวนประชากรเพิ่มมากยิ่งขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์จึงเป็นต้นเหตุที่ทำให้มนุษย์เริ่มแสวงหาสิ่งที่ดี และแย่งชิงทรัพยากรโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา ธรรมชาติเริ่มเสื่อมโทรมดังจะเห็นได้จากความแห้งแล้งที่เข้ามาแทนความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ ปัญหาเหล่านี้คือสิ่งที่ประชากรทั่วทุกมุมโลกต้องรับมือและเริ่มมีการหยิบยกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้นมาถกเถียงในเวทีสากล ในประเทศไทยเริ่มมีแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 โดยการกำหนด

           “พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2518 โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ”

           พระราชบัญญัติดังกล่าวถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ถึงแม้ว่าจะเป็นกฎหมายทางด้านสิ่งแวดล้อมฉบับแรกของประเทศไทยเนื่องจากมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่รัฐบาลเท่านั้น ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบหรือจัดการ ดังรายละเอียดในมาตรา 6 ที่ระบุไว้ว่า

“ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และบุคคลอื่น ส่งเอกสารการสำรวจผลกระทบกระเทือนต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และเอกสารหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการและแผนงานมาพิจารณา ในการนี้อาจเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงด้วยหากเห็นว่าโครงการและแผนงานใดอาจจะทำให้เกิดผลเสียหาย”3

           รวมถึงในมาตราอื่นๆ ที่เนื้อหาจะถูกระบุไว้ในลักษณะของการนำเสนอข้อมูล จึงกล่าวได้ว่าประเทศไทย ณ ขณะนั้นยังไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญต่อปัญหาการจัดการสิ่งแวดล้อม ทำให้นโยบายและมาตรการต่างๆ ที่กำหนดออกมาถูกกลืนกินไปตามกาลเวลา และเริ่มกลับมามีบทบาทอีกครั้งเมื่อรัฐบาลได้ออกกฎหมายฉบับใหม่ที่มีความเกี่ยวข้องกับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมออกมา ในปี พ.ศ. 2535

           “พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจัดทำนโยบายและแผนการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม”

           กฎหมายฉบับนี้ทำให้เริ่มเห็นจุดเด่นในการให้สิทธิในการพิจารณาตรวจสอบ เช่น มาตรา 50 ระบุไว้ว่า

เพื่อประโยชน์ในการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามมาตร 48 และมาตรา 49 ให้กรรมการผู้ชำนาญการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ มีอำนาจตรวจสอบสถานที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการหรือกิจการที่เสนอขอรับความเห็นชอบในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้ตามความเหมาะสม4

           กล่าวได้ว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการวางแนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย แม้มาตรการที่ออกมาจะยังมีช่องว่างเรื่อง

  • โครงสร้างการบริหารจัดการของรัฐ โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคอยกำกับดูแล แต่กลับพบปัญหาว่าแต่ละหน่วยงานมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะในพื้นที่ของตนเองเท่านั้น
  • การรับรู้ของประชาชน ที่ยังขาดกลไกการสร้างความตื่นตัวให้ประชาชนรักษาสิ่งแวดล้อม
  • การมีส่วนร่วมของประชาชน จากกรณีตัวอย่างโรงไฟฟ้าหินกรูด-บ่อนอก เมื่อประชาชนในพื้นที่ได้ออกมาต่อต้านเนื่องจากเข้าใจว่าการสร้างโรงงานไฟฟ้าจะทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รัฐบาลในขณะนั้นเพิกเฉยต่อเสียงเรียกร้องของประชาชนเหตุเพราะโครงการได้ถูกอนุมัติไปแล้ว จนทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน
  • การจัดการเกี่ยวกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งทางตรงและทางอ้อม จากงบประมาณที่ไม่เพียงพอต่อการจัดการ เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ก่อให้เกิดปัญหาการจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น กรณีปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้น เกิดการแบ่งขั้วระหว่างผู้สร้างมลพิษต้องจ่าย (Polluters Pay Principle) และคนที่ได้รับประโยชน์ต้องจ่าย (Beneficiaries Pay Principle)5

           จากปัญหาดังกล่าวทำให้ประเทศไทยต้องมองหาแนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเทศไทยต้องทบทวนเรื่องของแนวคิดการจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่อย่างหลากหลายและนำมาปรับใช้ในระยะยาว อาทิ การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ธรรมาภิบาล และการมีส่วนร่วมของประชาชน (Good Governance and Public Participation), แนวคิดการกระจายอำนาจ (Decentralization) และสุดท้ายแนวคิดสิทธิชุมชน (Community Rights) เพื่อให้ประเทศไทยได้ทบทวนแนวคิดที่จะสามารถใช้ได้จริง เหมาะกับบริบทของประเทศไทยเป็นการวางรากฐานของสิ่งแวดล้อม

           ปลายทางของหนังสือเล่มนี้จึงเป็นการชี้ชวนให้ผู้อ่านเห็นถึงแนวคิดของนโยบายและการจัดการสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยที่มีความเชื่อมโยงกับบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ลดช่องว่างของปัญหา และสร้างอนาคตของการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีในอนาคต หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ที่สนใจประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมเชิงนโยบาย และด้านสังคมศาสตร์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

user image

ผู้แนะนำ : วิภาวดี โก๊ะเค้า


ตำแหน่ง :

นักบริการสารสนเทศ

การศึกษา :

กำลังศึกษาระดับปริญญามหาบัณฑิต สาขาการจัดการจดหมายเหตุและสารสนเทศมรดกทางวัฒนธรรม

ประสบการณ์ :


ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3702 

แฟ็กซ์ 0-2434-6254 อีเมล์ library@sac.or.th
 

Facebook : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-Sac library
Line@ : @sac-library หรือคลิกเพื่อ Add Line http://line.me/ti/p/~@SAC-Library


  

ห้องสมุด (ชั้น 8)

จันทร์ - ศุกร์ : 8:30 – 16:30 น.

เสาร์ : 9:00 – 16:00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ

จันทร์ - ศุกร์ : 8:00 – 18:00 น.

เสาร์ : 8:00 – 17:00 น.

หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามประกาศราชการ