banner image

หนังสือแนะนำ

หน้าแรก / หนังสือแนะนำ / สิทธิชุมชน : สิทธิตามรัฐธรรมนูญเพื่อการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น

detail image

สิทธิชุมชน : สิทธิตามรัฐธรรมนูญเพื่อการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น

รายละเอียด


ปีที่พิมพ์ :

2556


ผู้แต่ง :

อภิชาติ ใจอารีย์


เลขเรียกหนังสือ :

JC599.ท9อ46 2556


Collection :

Books (7th floor)


ลิงก์หนังสือ :

รายละเอียด :

อภิชาติ ใจอารีย์ อาจารย์ประจำภาควิชาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชน คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้เขียนหนังสือ สิทธิชุมชน: สิทธิตามรัฐธรรมนูญเพื่อการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น เพื่อต้องการชี้ชวนให้ผู้อ่านเห็นถึงพัฒนาการของแนวคิด และตัวบทกฎหมายของสิทธิชุมชนในประเทศไทย ผู้เขียนชี้ให้เห็นถึงประเด็นของการดูแล ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น มีการหยิบยกกรณีศึกษาตัวอย่างด้านจัดการป่าชุมชนอย่างมีส่วนร่วม เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจและเห็นความสำคัญของหลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมมากยิ่งขึ้น

 

แนวคิดเกี่ยวกับสิทธิชุมชน

           ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทำให้มนุษย์แสวงหาและช่วงชิงเพื่อให้ได้สิทธิในการถือครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดี ความต้องการดังกล่าวก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ตลอดจนการเข้ามาแทรกแซงของผู้มีอำนาจ ผลพวงจากการกระทำของมนุษย์ยังทวีความรุนแรงมากยิ่งจนทำให้เกิดความร่อยหรอทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

           ในปี พ.ศ. 2511 มีนักวิชาการผู้มีบทบาทในการพัฒนาจาก 10 ประเทศ ร่วมประชุมถึงประเด็นเรื่องความหายนะที่มนุษย์กำลังประสบอยู่ทั้งในปัจจุบันและที่จะประสบในอนาคต (UN Development of Economic and social Affairs Division for Sustainable Development, 2008)1  กล่าวได้ว่าการประชุมในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาของสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

           ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีของสหประชาชาติและได้รับรองสิทธิพลเมือง ตามหลักสากล โดยในหลักธรรมนูญประชาชน ปี พ.ศ. 2540 ระบุให้สิทธิเจ้าของชุมชนเป็นผู้จัดการทรัพยากร และในปี พ.ศ. 2550 ได้ถูกระบุให้สิทธิชุมชน อยู่ในหมวด 3 ว่าด้วย สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ผู้เขียนได้นำเสนอให้เห็นว่า แม้ประเทศไทยจะให้ความสำคัญกับการดูแล จัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ผลลัพธ์กลับยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลว เมื่อชุมชนถูกลิดรอนสิทธิ์ ภาครัฐกลายเป็นผู้มีอำนาจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

           ผู้เขียนยังค้นคว้าข้อมูลพัฒนาการของนิยาม ความหมายของสิทธิชุมชนเพื่อให้เข้าใจสิทธิชุมชน และศึกษารายงานการวิจัยเพื่อแสดงให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดจากการขาดการมีส่วนร่วมจากชุมชน อันนำเสนอให้เห็นความสำคัญของ “แนวคิดการแก้ไขปัญหาแบบมีส่วนร่วม” คือ การให้ชุมชนเป็นผู้ขับเคลื่อนสิทธิด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะเจ้าของชุมชน ภายใต้ข้อกฎหมายที่กำหนด บริบททางสังคมของชุมชน และการกำหนดนโยบายจากภาครัฐ จึงจะช่วยลดช่องว่างระหว่างชุมชนและภาครัฐอันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

ความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อสมดุลธรรมชาติ

           อาจารย์อภิชาติ ใจอารีย์ ได้กล่าวถึง “การพัฒนาที่ขาดสมดุล” เนื่องจากการพัฒนามีความสัมพันธ์โดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น การพัฒนาจึงถูกดำเนินไปอย่างขาดความรอบคอบในการใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะหมุดหมายสำคัญมีเพียงการพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการอาศัยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี และผู้เขียนยังอ้างถึงสาระสำคัญตามแนวคิดของ Freedman ที่อ้างอิงอยู่ในงานเขียนของ วศิน อิงคพัฒนากุล และเกษม จันทร์แก้ว ที่เสนอว่า สิ่งแวดล้อมเปรียบเสมือนกล่องที่มี 4 ด้าน ที่เป็นแรงผลักดันกัน (Driving Forces)2   กล่าวคือ หากสิ่งแวดล้อมนั้นผลักดันคุณภาพสิ่งแวดล้อมในทางที่ดี ผลลัพธ์ก็จะผลักดันก็จะเป็นไปในทางที่ดีขึ้น แต่หากมีคุณภาพสิ่งแวดล้อมในทางที่ไม่ดี ผลลัพธ์ก็จะผลักดันให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ซึ่งทั้ง 4 มิติ ประกอบไปด้วย

           1. มิติทางทรัพยากร (Resource Dimension)

           2. มิติเทคโนโลยี (Technology Dimension)

           3. มิติของเสียและมลพิษสิ่งแวดล้อม (Waste and Pollution Dimension) และ

           4. มิติมนุษย์และเศรษฐสังคม (Human Dimension)

 

ชุมชนท้องถิ่นกับการจัดการป่า

           บทส่งท้ายของหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนได้ยกกรณีศึกษาชุมชนท้องถิ่นกับการจัดการป่า ในประเด็น “ป่าชุมชน” กล่าวคือ มีป่าไม้รายล้อมรอบชุมชน ชุมชนสามารถพึ่งพาธรรมชาติเพื่อดำรงชีพ ประกอบการทำมาหากินซึ่งสามารถทำได้ตลอดทั้งปี การผลัดเปลี่ยนแต่ละฤดูกาลยังช่วยสร้างรายได้เลี้ยงดูครอบครัวของผู้คนในชุมชน

           แม้ว่าป่าชุมชนจะสามารถช่วยให้คนในชุมชนมีชีวิตอยู่ดี กินดีขึ้น แต่การพึ่งพาที่เกินความจำเป็น การพึ่งพาเพื่อตอบสนองความต้องการบางอย่างโดยไม่เหลียวแลถึงผลกระทบที่จะตามมาอาจก้ให้เกิดปัญหาได้ เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การซื้อ-ขายพันธุ์ไม้หายาก นำมาซึ่งหายนะ จึงต้องกำหนดกฎระเบียบของแต่ละชุมชนเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในชุมชน

           ผู้เขียนได้นำเสนอกรณีศึกษาการจัดการป่าชุมชนบ้านพุเตย เพื่อให้เห็นถึงกระบวนการการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนบ้านพุเตย ชุมชนประวัติศาสตร์ในจังหวัดกาญจนบุรี ที่ประชากรมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ มีหลากหลายของพรรณไม้และสัตว์ป่า ความน่าสนใจของกรณีศึกษานี้ คือ ชุมชนพุเตยใช้หลักการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาในชุมชน มีความสัมพันธ์แบบเครือญาติ ปกป้องผืนป่าเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม และเคารพผู้นำชุมชน มีการพัฒนาเป็นการมีส่วนร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ หรือเรียกว่า “การมีส่วนร่วมแบบพหุภาคี”

           ท้ายของหนังสือเล่มนี้จึงเป็นการชี้ชวนให้ผู้อ่านร่วมทบทวน ตรวจสอบ แนวคิด พัฒนาการของนิยาม และความหมายของ “สิทธิชุมชน” เพื่อให้เข้าใจถึงปรากฏการณ์ทางสังคมจากการออกมาการเรียกร้องสิทธิของคนในชุมชนที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง โดยมุ่งหวังว่าจะสามารถกะเทาะเปลือกเพื่อให้เห็น “สิทธิชุมชนอย่างแท้จริง”

user image

ผู้แนะนำ : วิภาวดี โก๊ะเค้า


ตำแหน่ง :

นักบริการสารสนเทศ

การศึกษา :

กำลังศึกษาระดับปริญญามหาบัณฑิต สาขาการจัดการจดหมายเหตุและสารสนเทศมรดกทางวัฒนธรรม

ประสบการณ์ :


ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3702 

แฟ็กซ์ 0-2434-6254 อีเมล์ library@sac.or.th
 

Facebook : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-Sac library
Line@ : @sac-library หรือคลิกเพื่อ Add Line http://line.me/ti/p/~@SAC-Library


  

ห้องสมุด (ชั้น 8)

จันทร์ - ศุกร์ : 8:30 – 16:30 น.

เสาร์ : 9:00 – 16:00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ

จันทร์ - ศุกร์ : 8:00 – 18:00 น.

เสาร์ : 8:00 – 17:00 น.

หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามประกาศราชการ