banner image

หนังสือแนะนำ

หน้าแรก / หนังสือแนะนำ / นัยนามแห่งอิสลาม : บทสำรวจคำสอนอิสลามว่าด้วยสันติภาพ ความรุนแรง ครอบครัว และสตรี

detail image

นัยนามแห่งอิสลาม : บทสำรวจคำสอนอิสลามว่าด้วยสันติภาพ ความรุนแรง ครอบครัว และสตรี

รายละเอียด


ปีที่พิมพ์ :

2560


ผู้แต่ง :

สุชาติ เศรษฐมาลินี


เลขเรียกหนังสือ :

BP190.5 .ส722 2560


Collection :

Books


ลิงก์หนังสือ :

รายละเอียด :

            อาจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เป็นชาวมุสลิมเชื้อสายจีนยูนนาน ที่เกิดและเติบโตในจังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ อาจารย์สุชาติ มองว่าสังคมปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นระดับกว้างในโลกตะวันตกหรือในโลกมุสลิม รวมทั้งที่แคบลงมาในสังคมไทย ดูเหมือนว่ายังคงตกอยู่ภายในวังวนของความขัดแย้งและความหวาดระแวง ไม่ไว้ใจกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งระหว่างศาสนา สำหรับผู้ที่เป็นมุสลิมแล้ว ผู้คนจำนวนไม่น้อยมองว่าศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแห่งความรุนแรง และเหมารวมว่ามุสลิมคือผู้ก่อการร้าย จนเกิดอาการที่เรียกว่า “อิสลามโมโฟเบีย” (Islamophobia) หรือโรคเกลียดกลัวอิสลาม แพร่กระจายไปในวงกว้างและรวดเร็วอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

           สาเหตุของความกลัวอิสลามมาจากปัจจัยทั้งภายนอกและภายใน ในส่วนของปัจจัยภายนอก ได้เห็นงานทางวิชาการของ เอ็ดเวิร์ด ซาอิด ที่ชี้ให้เห็นว่าโลกตะวันตกมีความพยายามสร้างชุดองค์ความรู้ เพื่อเขียนภาพอิสลามให้เป็นไปตามจินตนาการของโลกตะวันตก วัฒนธรรมอาหรับและอิสลามจึงถูกสื่อออกมาในลักษณะที่เป็นสิ่งแปลกประหลาด ล้าหลัง ไร้อารยธรรม และอันตราย นอกจากอคติในงานวิชาการแล้ว ภาพความป่าเถื่อน ความน่ากลัวของอิสลามและมุสลิม ยังถูกผลิตซ้ำในสื่อแทบทุกแขนงในโลกตะวันตก เช่น ในภาพยนตร์ฮอลลีวูด มุสลิมหรือชาวอาหรับมักเป็นผู้ร้ายเสมอ เป็นต้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน สื่อในโลกตะวันตกได้พยายามบิดเบือนเพื่อสร้างภาพลักษณ์เชิงลบเกี่ยวกับอิสลามอย่างชัดเจน แม้ว่าหลายประเทศเริ่มจะมีการใช้มาตรการทางกฎหมายจัดการกับความบิดเบือน และการทำร้ายหรือเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิมแล้วก็ตาม

           สำหรับปัจจัยภายในของความกลัวอิสลามนี้ ต้องยอมรับว่าในหมู่มุสลิมเองก็มีบางกลุ่มที่นิยมใช้ความรุนแรงและสร้างความเสียหายอย่างมาก แม้จะเป็นเพียงคนกลุ่มน้อยก็ตาม เมื่อเหตุการณ์ใช้ความรุนแรงปรากฏเป็นข่าวตามสื่อต่างๆ ก็ย่อมสร้างความหวาดกลัวให้แก่คนทั่วไปที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอิสลาม


           ในกรณีของประเทศไทย ก็ถูกตอกย้ำด้วยสถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทำให้คนไทยในที่อื่นๆ เกิดความหวาดกลัวชาวมุสลิมเช่นกัน

           เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ แบ่งเป็น 4 หัวข้อหลักๆ โดยอาจารย์สุชาติ ได้เริ่มต้นสร้างความรู้ ความเข้าใจด้วยการอธิบายหลักการของศาสนาอิสลามในหัวข้อ “อิสลามกับสันติภาพ” เพื่อวางพื้นฐานความเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาอิสลามกับการศึกษาสันติวิธี การสร้างสันติภาพและการจัดการความขัดแย้งในวิถีอิสลาม

           หัวข้อต่อมา “อิสลามกับความรุนแรง” อาจารย์สุชาติ ได้ยกตัวอย่างบทสัมภาษณ์เรื่อง “อิสลามกับผู้ก่อการร้าย?” ของ โอลิวิเย รอย (Olivier Roy) นักวิชาการชาวฝรั่งเศสผู้มีชื่อเสียง ซึ่งเชี่ยวชาญในการศึกษากลุ่มสุดโต่งที่นิยมใช้ความรุนแรงในการต่อสู้ในหลายภูมิภาค ผู้เขียนเห็นว่าข้อคิดของรอยช่วยให้เข้าใจได้ชัดเจนขึ้นในเรื่องปรากฏการณ์ความรุนแรงต่อเนื่องที่เกิดขึ้นในที่ต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงความเชื่อมโยงระหว่างอิสลามและลัทธิก่อการร้าย

           หลังจากที่ผู้เขียนได้ทำให้เราเข้าใจถึงหลักความคิดและกรอบคำสอนของศาสนาอิสลามแล้ว ผู้เขียนยังได้กล่าวถึงส่วนที่เป็นมิติของชีวิต ที่แสดงในเห็นถึงความสัมพันธ์กันระหว่างสองด้าน คือ จริยธรรม (ethic) และ ศีลธรรม (moral) โดยผู้เขียนได้เลือกใช้ประเด็นครอบครัวมาเป็นเครื่องมือเพื่ออธิบายการเชื่อมโยงระหว่างสองด้านนี้

           ในหัวข้อ “อิสลามกับครอบครัว” ซึ่งผู้เขียนได้อธิบายความหมายและความสำคัญของศาสนาอิสลามกับความเปลี่ยนแปลงของครอบครัวในหลายด้าน และได้เน้นถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันศาสนากับความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว ซึ่งบทบาทของสถาบันครอบครัวนั้น เป็นสิ่งสำคัญในการชี้นำให้ลูกหลานได้ก้าวเดินไปสู่อนาคตที่มั่นคง

           ในตอนท้ายของหนังสือ ผู้เขียนได้กล่าวถึงหัวข้อ “อิสลามกับสตรี” แสดงให้เห็นถึงความคิดและความเชื่อของผู้คนที่มีต่อศาสนาอิสลามในประเด็นเรื่อง ผู้หญิง โดยชี้ให้เห็นถึงคำสอนของศาสนาอิสลามที่ให้ความหมายและความสำคัญต่อบทบาทของผู้หญิง และไม่ยอมรับความรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะการทำร้ายร่างกายเด็กและผู้หญิง และเน้นให้เห็นถึงบทบาทของผู้หญิงในการเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

           เมื่อผู้อ่านได้อ่านหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มนี้จบแล้ว หวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะเข้าใจในศาสนาอิสลามและความเป็นมุสลิมได้มากขึ้น และนำไปสู่การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุขต่อไป
 

user image

ผู้แนะนำ : ปริยฉัตร เวทยนุกูล


ตำแหน่ง :

นักบริการสารสนเทศ

การศึกษา :

ปริญญาตรี สาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์และบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ประสบการณ์ :


ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3702 

แฟ็กซ์ 0-2434-6254 อีเมล์ library@sac.or.th
 

Facebook : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-Sac library
Line@ : @sac-library หรือคลิกเพื่อ Add Line http://line.me/ti/p/~@SAC-Library


  

ห้องสมุด (ชั้น 8)

จันทร์ - ศุกร์ : 8:30 – 16:30 น.

เสาร์ : 9:00 – 16:00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ

จันทร์ - ศุกร์ : 8:00 – 18:00 น.

เสาร์ : 8:00 – 17:00 น.

หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามประกาศราชการ