banner image

หนังสือแนะนำ

หน้าแรก / หนังสือแนะนำ / ตามรอยอาทิตย์อุทัย : แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎร

detail image

ตามรอยอาทิตย์อุทัย : แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎร

รายละเอียด


ปีที่พิมพ์ :

2563


ผู้แต่ง :

ณัฐพล ใจจริง


เลขเรียกหนังสือ :

DS575.5.ญ6 ณ63 2563


Collection :

Books


ลิงก์หนังสือ :

รายละเอียด :

           “ตามรอยอาทิตย์อุทัย: แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎร” เขียนโดย “ณัฐพล ใจจริง” นักประวัติศาสตร์ ที่เรียกได้ว่าอยู่แถวหน้าในเวทีวิชาประวัติศาสตร์ไทย ภายในเล่มมีทั้งหมด 10 บท ที่ชี้ให้เห็นสภาพทางการเมืองและนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล “คณะราษฎร” ในชุดของนายกรัฐมนตรี พจน์ พหลโยธิน (พระยาพหลพลพยุหเสนา) กับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ระหว่างปี พ.ศ. 2475 ถึง พ.ศ. 2484 ซึ่งเป็นช่วงเวลา 10 ปี หลังจากการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงช่วงเวลาที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2

       
            หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นว่ารูปแบบของการพัฒนาการเมืองการปกครองของสยาม-ไทย นั้น นอกเหนือจากการมีรูปแบบตามประเทศในตะวันตก หรือ “อัศดงคตาภิวัฒน์” (Westernization) ที่ลอกเลียนแบบจากสหราชอาณาจักรในยุคลัทธิอาณานิคม (ตรงกับยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของ 3 รัชกาล คือ 5, 6, 7 (พ.ศ. 2411-2477 หรือ 66 ปี) แล้ว ยังมีรูปแบบของสหรัฐอเมริกา (USA-Americanization) ในยุคสมัยของสงครามเย็น ซึ่งตรงกับรัชสมัยอันยาวนาน 70 ปีของรัชกาลที่ 9 (พ.ศ. 2489-2559) ที่ปรากฏควบคู่กันไปแบบขึ้นๆ ลงๆ ควบคู่ไปกับ “ลัทธิทหาร” (Militarism) ของรัฐบาล ป. พิบูลสงคราม (ยุคหลัง) ตลอดจนช่วงสมัยอันยาวนานของรัฐบาลสฤษดิ์-ถนอม-เปรม-สุจินดา-ประยุทธ์ รวมทั้งยังมีการพัฒนาอีกรูปแบบหนึ่งที่ผู้นำไทยต้องการลอกเลียนแบบจากประเทศในโลกตะวันออกที่มักจะถูกมองข้ามไป นั่นคือ ตามแบบของญี่ปุ่นที่เราอาจใช้คำรวมๆ ว่า Japanization

           
            ใน 5 บทแรก จึงเป็นเหมือนการปูพื้นให้ผู้อ่านเข้าใจว่า ญี่ปุ่นได้ปฏิรูปประเทศมานับตั้งแต่สมัยจักรพรรดิเมจิ จนประสบความสำเร็จเท่าเทียมกับประเทศในโลกฝั่งตะวันตกและทำสงครามทางทะเลพิชิตรัสเซียได้อย่างไร รวมทั้งในขณะที่ญี่ปุ่นก้าวเข้าสู่ยุคสมัยของลัทธิทหาร/อำนาจนิยม มีนโยบายแบบลัทธิจักรวรรดินิยม คือ ขยายอิทธิพลเข้ายึดครองดินแดนทั้งในแผ่นดินใหญ่และน่านน้ำของเอเชีย (ไต้หวัน เกาหลี แมนจูเรีย/แมนจูกัว) รุกล้ำเข้ามาในเขตอิทธิพลของสหรัฐฯ (ฟิลิปปินส์), ของฝรั่งเศส (อินโดจีน), ของฮอลันดา (อินโดนีเซีย), และของสหราชอาณาจักร (มาลายา สิงคโปร์ พม่า และอินเดีย) ซึ่งก็คือดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ในเวลานั้นมีไทยเป็นเอกราชอยู่เพียงชาติเดียว และไทยก็เพิ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คือ การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่รัฐบาลใหม่ของผู้นำใหม่อย่างคณะราษฎรกำลังมองหาและต้องการมิตรใหม่ๆ อย่างญี่ปุ่นนั่นเอง

           ในครึ่งหลังของหนังสือ บทที่ 6 ถึง 10 เป็นเรื่องความสัมพันธ์อันสนิทแนบแน่นระหว่างรัฐบาลใหม่ของไทยกับรัฐบาลลัทธิทหารญี่ปุ่น ทั้งการไปดูงานเพื่อเรียนรู้รูปแบบของการพัฒนาแบบญี่ปุ่น ทั้งการไปเยือนจากระดับรัฐบาล ระดับรัฐมนตรี ระดับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งข้าราชการ ตำรวจ พลเรือน ตลอดจนนักหนังสือพิมพ์ ปัญญาชน เช่น “ศรีบูรพา” หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ และการส่งคนไทยไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น

         
          หนังสือเล่มนี้น่าจะเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้การถกเถียงเรื่องยุคสมัยของประวัติศาสตร์ไทย ในยุคที่คณะราษฎรหรือผู้นำใหม่เรืองอำนาจ และเป็นยุคที่ฝ่ายเจ้า/ขุนนาง หรือผู้นำเก่า ตกต่ำที่สุด และหนังสือเล่มนี้เป็นตัวแทนของประวัติศาสตร์ long history ของไทยและญี่ปุ่น ที่น่าสนใจและน่าเรียนรู้อย่างยิ่ง

user image

ผู้แนะนำ : ปริยฉัตร เวทยนุกูล


ตำแหน่ง :

นักบริการสารสนเทศ

การศึกษา :

ปริญญาตรี สาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์และบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ประสบการณ์ :


ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3702 

แฟ็กซ์ 0-2434-6254 อีเมล์ library@sac.or.th
 

Facebook : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-Sac library
Line@ : @sac-library หรือคลิกเพื่อ Add Line http://line.me/ti/p/~@SAC-Library


  

ห้องสมุด (ชั้น 8)

จันทร์ - ศุกร์ : 8:30 – 16:30 น.

เสาร์ : 9:00 – 16:00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ

จันทร์ - ศุกร์ : 8:00 – 18:00 น.

เสาร์ : 8:00 – 17:00 น.

หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามประกาศราชการ