banner image

หนังสือแนะนำ

หน้าแรก / หนังสือแนะนำ / "ประชาธิปไตย" คนไทยไม่เท่ากัน

detail image

"ประชาธิปไตย" คนไทยไม่เท่ากัน

รายละเอียด


ปีที่พิมพ์ :

2557


ผู้แต่ง :

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์.


เลขเรียกหนังสือ :

JQ1745.อ444 2557


Collection :

Books


ลิงก์หนังสือ :

รายละเอียด :

“ประชาธิปไตย” คนไทยไม่เท่ากัน
          ศาสตราจารย์ ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งนอกจากจะมีบทบาทนักวิชาการในรั้วอุดมศึกษาแล้วยังได้ชื่อว่าเป็นผู้เขียนหนังสือที่พยายามสร้างความเข้าใจว่าเราจะอยู่ร่วมกันในสังคมนี้ได้อย่างไรและใช้งานเขียนในการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือในการหาคำตอบเหล่านั้น เช่นเดียวกับการเขียนหนังสือเรื่อง “ประชาธิปไตย” คนไทยไม่เท่ากัน ก็เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของผู้เขียน ที่ชี้ให้เห็นประวัติศาสตร์ของโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่ส่งผลต่อความคิดของกลุ่มคนต่างๆ และทำให้พวกเขาเหล่านั้นออกมาเคลื่อนไหว


เนื้อหาภายในหนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน เพื่อแยกอภิปรายปัญหาความขัดแย้งตามโครงสร้างทางสังคม เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงโครงสร้างการเมือง “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” โดยมีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นผู้ขับเคลื่อนแนวคิดดังกล่าว 

          ในช่วงปี พ.ศ. 2516 – 2519 เศรษฐกิจของประเทศไทยประสบกับสภาวะไร้เสถียรภาพจากปัญหาการไร้เสถียรภาพทางการเมือง ผู้เขียนได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับ “เสถียรภาพทางการเมือง” ว่าเป็นเป้าหมายสำคัญของการต่อสู้เพื่อดำรงอยู่ของสังคมการเมืองหนึ่งๆ ซึ่งกลุ่มอำนาจเศรษฐกิจจึงได้รวมตัวกันสนับสนุนผู้ที่สามารถรักษาเสถียรภาพทางการเมืองได้ จนกระทั่งได้มาเป็นพันธมิตรของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์

          ภายหลังจากที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ได้รับการสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2523 ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2521 ซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การขึ้นสู่อำนาจในช่วงนี้จึงเป็นการประสานอำนาจของหลายฝ่ายเข้าด้วยกัน จนทำให้เกิดคำว่า “ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ” มาใช้อธิบายสถานการณ์ช่วงนั้น

        ในบทที่ 2 ผู้เขียนเสนอให้เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ในปี พ.ศ. 2540 ยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มคนในชนบทซึ่งเริ่มไม่ยอมรับในเรื่องความเหลื่อมล้ำอย่างที่เคยเป็น การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ยังสัมพันธ์กับบทบาทของรัฐในสมัยนายกรัฐมนตรีพันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลจากพรรคไทยรักไทยที่ได้รับเสียงข้างมากในการเลือกตั้ง และถือว่าเป็นกลุ่มอำนาจใหม่ที่ปรากฏตัวขึ้นมา ทำให้กลุ่มอำนาจเดิมและนายทุนมีความสั่นคลอน รวมทั้งไม่ยินยอมทำตามนโยบายของพันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารพาณิชย์ การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ทำให้เกิด “ธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร” (Non-Bank) โดยเฉพาะธุรกิจบัตรเครดิต ซึ่งส่งผลให้ประชาชน “ชนชั้นกลางระดับล่าง”[i] สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายกว่าเดิม

          การดำเนินนโยบายประชานิยมของพันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร ยังคงเน้นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชาชนและนโยบายที่รัฐให้บริการแก่ประชาชนในฐานะพลเมืองที่มีสิทธิอันชอบธรรม เพื่อให้ชนชั้นกลางระดับล่างพึงพอใจ ทั้งการลงทะเบียนคนจนและนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค

          ถึงแม้ว่านโยบายของรัฐบาลพันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตรจะเป็นที่พอใจแก่ประชาชนระดับกลางถึงระดับล่างจำนวนไม่น้อย แต่กลุ่มนักพัฒนาชนบทกลับเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับการตอบสนองจากการเรียกร้องสิทธิของชาวบ้านและการพัฒนาชนบทในแนวทางการพัฒนาแบบ “วัฒนธรรมชุมชน” ซึ่งมีแนวคิดมุ่งเน้นให้เกิดการจัดการทรัพยากรโดยชุมชน ทั้งนี้ ผู้เขียน ได้เสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาภายใต้กรอบแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนว่า มีข้อจำกัดเรื่องการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชนบท เนื่องจากมีสาระสำคัญในการรักษามรดกเก่า แต่ทว่า การเคลื่อนไหวของชาวบ้านภายใต้แนวคิดนี้ก่อให้เกิดผลสำคัญคือ การแสดงให้เห็นว่าชาวบ้านสามารถเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐได้ และสร้างการรับรู้ การให้ความหมายกับวัฒนธรรมของชาวบ้านให้เข้ามามีส่วนร่วมของวัฒนธรรมไทยได้มากขึ้น
 

        ปมปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลพันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร พร้อมกับข่าวคราวการทุจริตที่เกิดขึ้น ทำให้กลุ่มทหารกระทำการปฏัติรัฐประหาร ในปี พ.ศ. 2549 โดยได้รับการสนับสนุนจากคนชั้นกลาง นักธุรกิจและกลุ่มอำนาจที่ได้ประโยชน์จากระบบการเมืองแบบเก่า หากแต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในช่วงรัฐบาลพันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้เกิดกลุ่มคนในพื้นที่ชนบทเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนพันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร จนกระทั่งเกิดการสร้างวาทกรรมและวัฒนธรรมของ “กลุ่มคนเสื้อแดง” ซึ่งในทางหนึ่งหมายรวมถึงกลุ่มผู้สนับสนุนพันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตรและอีกนัยหนึ่งให้ความหมายที่กลุ่มคนที่เห็นความสำคัญของประชาธิปไตย

         ความขัดแย้งทางการเมืองผ่านการประท้วงเรียกร้องจึงเกิดขึ้นจากความขัดแย้งจากโครงสร้างทางสังคม การสร้างความเหลื่อมล้ำ และผลกระทบของการใช้อำนาจ ก่อให้เกิดการรวมตัวเป็นกลุ่มอำนาจทั้งกลุ่มการเมืองและกลุ่มชาวบ้าน ศาสตราจารย์ ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ได้วิเคราะห์ต้นตอของปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมทั้งบริบทการเมืองการปกครองและเศรษฐกิจ  รวมถึงชี้ให้เห็นว่าทุกความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ไม่สามารถที่จะพิจารณาแก้ไขแต่ละปัญหาได้อย่างปัจเจก จึงต้องศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อให้สามารถแก้ไขหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมได้ในองค์รวม โดยเฉพาะการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน
 
 
[i] อ้างจากคำที่ผู้เขียนใช้ในหนังสือ หน้า 60

 

user image

ผู้แนะนำ : จรรยา ยุทธพลนาวี


ตำแหน่ง :

รักษาการผู้จัดการฝ่ายบริการสารสนเทศ

การศึกษา :

ปริญญาโท สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ประสบการณ์ :


ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3702 

แฟ็กซ์ 0-2434-6254 อีเมล์ library@sac.or.th
 

Facebook : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-Sac library
Line@ : @sac-library หรือคลิกเพื่อ Add Line http://line.me/ti/p/~@SAC-Library


  

ห้องสมุด (ชั้น 8)

จันทร์ - ศุกร์ : 8:30 – 16:30 น.

เสาร์ : 9:00 – 16:00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ

จันทร์ - ศุกร์ : 8:00 – 18:00 น.

เสาร์ : 8:00 – 17:00 น.

หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามประกาศราชการ