ศิลปะการแสดงพื้นบ้าน (Folk Performing Arts) มีความสำคัญในฐานะเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สะท้อนวิธีคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ และอัตลักษณ์ของกลุ่มคน ซึ่งอาศัยการแสดงออกทั้งในด้านลีลาท่าทาง การเคลื่อนไหว การพูด การร้อง การเต้น การบรรเลง การขับกล่อม และการละเล่นต่างๆ ซึ่งปรากฏอยู่ในประเพณี พิธีกรรม และเทศกาลของท้องถิ่น การแสดงเหล่านี้มีทั้งความงดงามและมีความหมายทางวัฒนธรรม เพราะใช้สื่อสารให้สมาชิกในชุมชนมีสำนึกร่วมเดียวกัน และสื่อสารกับบุคคลภายนอกให้รู้ว่าวัฒนธรรมของกลุ่มแตกต่างจากวัฒนธรรมอื่นอย่างไร
ในการศึกษาทางมานุษยวิทยา การแสดงพื้นบ้านคือปรากฏการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมที่น่าสนใจ Victor Turner (1987, 1988) เคยกล่าวว่าการแสดงคือภาพสะท้อนของ “ชีวิตทางสังคม” ซึ่งบุคคลจะใช้การแสดงเป็นสื่อในการวิพากษ์วิจารณ์หรือตอกย้ำกฎระเบียบของสังคม การแสดงพื้นบ้านยังมีการปรับตัวไปตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจพลวัตทางสังคมและวัฒนธรรมที่ปรากฏอยู่ในการแสดงพื้นบ้าน คนท้องถิ่นอาจใช้การแสดงพื้นบ้านภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น จากเดิมที่เคยแสดงในพิธีกรรมทางศาสนา อาจเปลี่ยนไปสู่การแสดงเพื่อการท่องเที่ยวและการส่งเสริมอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม
Frank J. Korom (2013) อธิบายว่าในยุคโลกาภิวัตน์และวัฒนธรรมข้ามพรมแดนภายใต้ระบบทุนนิยมโลกปัจจุบัน ศิลปะการแสดงในท้องถิ่นต่างๆ กลายเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมที่ถูกนำไปใช้เพื่อสร้างอัตลักษณ์ เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินชีวิต ศิลปะการแสดงพื้นบ้านจึงเป็นทั้งงานสร้างสรรค์ทางสุนทรียะและงานทางการเมืองที่ใช้ตอกย้ำอัตลักษณ์ของกลุ่มคน เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจความซับซ้อนของการแสดงพื้นบ้านที่คนท้องถิ่นใช้เป็นเครื่องมือในการไกล่เกลี่ยต่อรองกับคนกลุ่มต่างๆ
ในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีวัฒนธรรมเกี่ยวกับการแสดงพื้นบ้านอย่างหลากหลายและเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ประเภทของศิลปะการแสดงในที่นี้จะครอบคลุม 6 ลักษณะ ได้แก่ การฟ้อน เต้นและร่ายรำ การแสดงละคอนที่เป็นเรื่อง การเล่นดนตรี การร้องสด การแสดงที่ใช้หุ่น และกายกรรม การแสดงเหล่านี้จะสะท้อนความคิด ความเชื่อ โลกทัศน์ และวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น ซึ่งปรากฏอยู่ในพิธีกรรมทางศาสนา พิธีกรรมเกี่ยวกับชีวิต พิธีกรรมทางเกษตรกรรม และเทศกาลงานประเพณีต่างๆ
การประชุมครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้นักวิชาการไทยและต่างชาติ ที่กำลังศึกษาวิจัยเกี่ยวกับศิลปะการแสดงพื้นบ้านในภูมิภาคอาเซียนได้นำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆต่อสาธารณะ และเปิดโอกาสให้คนท้องถิ่นทั้งไทยและในกลุ่มประเทศอาเซียนได้นำศิลปะการแสดงพื้นบ้านของตนมาเผยแพร่ต่อสังคม
วัตถุประสงค์
- เพื่อส่งเสริมให้นักวิชาการนำเสนอผลงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการแสดงพื้นบ้านในภูมิภาคอาเซียน
- เพื่อสนับสนุนให้สังคมไทยมีโอกาสเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมของประเทศในภูมิภาคอาเซียน
- เพื่อส่งเสริมให้คนท้องถิ่นในภูมิภาคอาเซียนได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางวัฒนธรรมผ่านการแสดงพื้นบ้านของแต่ละประเทศ
- เพื่อสนับสนุนการสร้างฐานข้อมูลเกี่ยวกับสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรกำลังดำเนินการ
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
- เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆเกี่ยวกับการศึกษาในประเด็นการแสดงพื้นบ้านในภูมิภาคอาเซียน
- คนไทยมีโอกาสเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมการแสดงพื้นบ้านในภูมิภาคอาเซียน
- คนท้องถิ่นในภูมิภาคอาเซียนมีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางวัฒนธรรมผ่านการแสดงพื้นบ้าน
- ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรได้ข้อมูลเกี่ยวกับการแสดงพื้นบ้านในอาเซียนเพื่อนำไปจัดทำเป็นฐานข้อมูล
ผลผลิต
- บทความวิชาการที่นำเสนอในเวที
- หนังสือจากการประชุม
- วีดิทัศน์บันทึกการแสดงของ 10 ประเทศในอาเซียน
- นิทรรศการ
- การออกร้านจากประเทศในอาเซียน 10 ประเทศ
- สาธิตการแสดงพื้นบ้าน
รูปแบบกิจกรรม
- การปาฐกถาพิเศษเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ
- การเสนอบทความวิชาการของนักวิชาการไทยและต่างชาติ
- การแสดงพื้นบ้านจากกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ
- การออกร้านจำหน่ายสินค้าจากกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ
- การจัดนิทรรศการจากกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ
- การประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน
สถานที่จัดประชุม
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันเวลา
4-6 กันยายน 2558
กลุ่มเป้าหมาย
นักวิชาการ นักศึกษา ประชาชน นักกิจกรรมทางวัฒนธรรม จำนวนผู้เข้าร่วมประชุม 300 คน