มอญวัดบางลำพู จ.เพชรบุรี
ชาวมอญไม่ว่าในถิ่นฐานใดยังคงพยายามสืบสานและส่งต่อความเป็นมอญให้แก่บรรดาลูกหลาน สไบมอญคืออัตลักษณ์อันโดดเด่นอย่างหนึ่งของชาวมอญ หนึ่งในชุมชนที่ยังคงรักษาวิถีคนมอญไปพร้อมกับการรื้อฟื้นภูมิปัญญาที่กำลังจะสูญหาย ก็คือชุมชนมอญบ้านบางลำภู ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรีมานานนับร้อยปี
คนมอญชอบไปวัด มีวิถีชีวิตใกล้ชิดกับวัด เมื่อเข้ามาภายในวัดผู้หญิงมอญจะห่มผ้าสไบเอาไว้ปกปิดช่วงบน เพื่อความสุภาพและสำรวมกาย ผ้าสไบถือเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกายของชาวมอญเลยก็ว่าได้ ถ้าออกจากบ้านก็ต้องมีผ้าสไบไปด้วย สไบที่คนมอญใช้กันมีหลายแบบ ส่วนใหญ่จะมีขนาดไม่ใหญ่มาก ความกว้างประมาณ 12-15 เซนติเมตร ความยาวประมาณ 2 เมตร เดิมชาวมอญบางลำภูมีการปักผ้าสไบใช้เองกันอยู่บ้าง แต่ลวดลายที่ใช้ปักไม่ใช่ลายที่เป็นที่นิยมกันแบบในปัจจุบัน ในยุคแรกของการฟื้นฟูการปักผ้าสไบนั้น ชาวมอญบางลำภูได้ผ้าสไบมอญเจ็ดริ้ว จังหวัดสมุทรสาครเป็นต้นแบบ เป็นสไบลายดอกมะเขือ จากนั้นจึงมีการสร้างสรรค์ลายดอกลำพู ลายกุ้ง หอย ปู ปลา อันเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นที่อยู่ใกล้กับทะเล ลายดอกลีลาวดีอันเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดเพชรบุรี ขาดไม่ได้คือลายหงส์ที่เป็นสัญลักษณ์ของชาวมอญ