Tuesday, 18 June 2013 10:43

จาก “ผีเสื้อและดอกไม้” ถึง “Tanah Surga... Katanya” : หนังเด็กไทยและอินโดนีเซียความเหมือนที่แตกต่าง

Rate this item
(0 votes)

 

จาก “ผีเสื้อและดอกไม้” ถึง “Tanah Surga... Katanya”:
หนังเด็กไทยและอินโดนีเซียความเหมือนที่แตกต่าง1

กำจร หลุยยะพงศ์2
28 สิงหาคม 56

 

เกริ่นนำ

หากจะกล่าวถึงหนังเด็ก หลายท่านคงจะนึกย้อนกลับไปสู่วัยเด็กและมักจะคิดถึงความสนุกสนาน จินตนาการที่ได้รับจากหนังเด็ก แต่หนังเด็กมิใช่จะมีแค่ความสนุกสนานเท่านั้น หนังเด็กเป็นอะไรมากกว่าที่คุณคิด หนังเด็กไม่ใช่แค่เรื่องเด็กๆ นักวิชาการในกลุ่ม screen theory ซึ่งสนใจมิติเชิงอุดมการณ์หรือกรอบความคิดในการมองโลกระบุว่า หนังเด็กที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเล่นๆ แต่ในเวลาเดียวกันหนังเด็กกลับเป็นพื้นที่ที่แฝงอุดมการณ์ของผู้ใหญ่ต่อเด็ก ไม่ว่าจะเป็นวิธีคิดต่อเด็ก และความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับสังคม โดยเฉพาะสังคมทุนนิยมและผู้ใหญ่เป็นใหญ่ได้อย่างแนบเนียน

 

จากแนวคิดดังกล่าวผู้เขียนก็ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า วิธีคิดของนักวิชาการในซีกโลกตะวันตกนั้นจะสอดรับกับหนังเด็กในซีกโลกตะวันออกด้วยหรือไม่ ผู้เขียนจึงได้ลองหยิบหนังเด็กสองเรื่องคือ หนังเด็กไทยเรื่อง “ผีเสื้อและดอกไม้” (2528) และหนังเด็กอินโดนีเซียเรื่อง “Tanah Surga... Katanya” (2555, 2012) หรืออาจถอดความได้ว่า “แผ่นดิน สรวงสวรรค์ ดังที่เขาว่ากัน” มาแสดงให้เห็น แม้หนังทั้งสองเรื่องจะมีความต่างกันของพื้นที่และเวลาที่ห่างกันมากกว่า 27 ปี แต่หนังเด็กทั้งสองเรื่องกลับมีความเกี่ยวโยงกันถึงประเด็นเรื่องเด็กกับพื้นที่ “ชายแดน” ทั้งระหว่างไทยกับมาเลเซียในหนังเด็กไทย คือ ยะลา และพรมแดนระหว่างอินโดนีเซียกับมาเลเซียในหนังเด็กอินโดนีเซีย คือ รัฐกะลิมันตัน อีกทั้ง มีโครงเรื่องที่คล้ายคลึงกันอย่างน่าประหลาดใจ

การศึกษาหนังเด็กทั้งสองเรื่องนอกจากจะเข้าใจอุดมการณ์ที่แฝงอยู่แล้ว ยังทำให้เห็นความเหมือนและความต่างของวิธีคิดของเด็กของไทยและเพื่อนบ้านอุษาคเนย์หรืออาเซียนอีกด้วย

แต่ก่อนที่จะนำเสนอให้เห็นอุดมการณ์ที่แฝงอยู่ในหนังเด็กทั้งสองเรื่องนั้น จะแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างหนังกับเด็กพอให้เข้าใจสังเขปก่อน

1. หนังกับเด็ก: ความต่างที่เหมือนกัน

เด็กกับหนังแม้จะดูเหมือนมีความแตกต่างกัน ทว่า เมื่อพิจารณาตามแนวคิดของนักวิชาการด้าน “เด็กศึกษา” (childhood studies) และ “ภาพยนตร์ศึกษา” (film studies) กลับพบความต่างที่เหมือนกัน นั่นก็คือ ไม่ว่าจะเป็น “เด็ก” หรือ “หนัง” ต่างเป็นสิ่งที่ “ถูกประกอบสร้างขึ้น”

ในกรณีของเด็ก นักวิชาการชาวฝรั่งเศสนาม Aries (อ้างถึงใน Davies, 2010) ระบุว่า เด็กเป็นสิ่งที่สังคมกำหนด ในอดีตก่อนศตวรรษที่ 12 เรามักจะไม่เห็นเด็กปรากฏขึ้นมา เพราะเด็กจะไม่แตกต่างจากผู้ใหญ่ แต่เมื่อสังคมก้าวสู่ศตวรรษที่ 16-17 เด็กเริ่มถูกทำให้แตกต่างจากผู้ใหญ่ สังคมเริ่มมองเด็กเป็นผู้บริสุทธิ์ ตามทัศนะของ Rousseau และให้ความสำคัญแก่เด็กมากขึ้น โดยเห็นได้เด่นชัดจากการระบุให้เด็กต้องเข้าเรียนในโรงเรียน การตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็ก การแพทย์ของเด็ก และการถือกำเนิดของหนังสือเด็ก จนกระทั่งในศตวรรษที่ 20 สังคมเริ่มยกย่องเด็ก ให้เด็กเป็นผู้กระทำจนเกิดประเด็นเรื่อง “สิทธิเด็ก” ขึ้น โดยระบุเป็น “ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิเยาวชน” (1959) ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อสังคมปัจจุบันเริ่มกลายเป็นสังคมทุนนิยมยังเริ่มมองว่าเด็กคือผู้บริโภค และการกลายเป็น “สินค้า”

ส่วนในด้านของหนัง ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน นักวิชาการด้านภาพยนตร์กลุ่มแรก ซึ่งสังกัดสำนัก screen theory ในช่วงทศวรรษที่ 1960 ก็เสนอว่า ภาพยนตร์มิได้เป็นภาพสะท้อนสังคมแต่กลับเป็นพื้นที่ที่ประกอบสร้างความหมายแก่สังคมตามอุดมการณ์ที่กำหนดไว้ อันได้แก่ อุดมการณ์ทุนนิยม อุดมการณ์เพศชายเป็นใหญ่ เป็นต้น และต่อมานักวิชาการชาวต่างชาติด้านภาพยนตร์กับเด็กก็เริ่มนำเสนอให้เห็นในช่วงปลายทศวรรษที่ 80 ว่า หนังเด็กก็สามารถผลิตซ้ำอุดมการณ์บางอย่างให้กับสังคม ดังงานของ Jackson (1986) และเติบโตอย่างเด่นชัดในช่วงทศวรรษที่ 2000 เป็นต้นมา ได้แก่ Wojcik-Andrews (2000) Wilson (2003) Kapur (2005) Lebeau (2008) Lury (2010) Cvetkovic and Olson (2013) งานทั้งหมดเริ่มชี้ให้เห็นว่า หนังเด็กมิได้ทำเพื่อเด็ก แต่เป็นหนังที่ผู้ใหญ่กำหนดและผลิตซ้ำอุดมการณ์ให้กับเด็ก นับตั้งแต่อุดมการณ์เรื่องเด็ก คือ ผู้อ่อนแอ ผู้ถูกกระทำ ผู้บริสุทธิ์ ปีศาจ และยังขยายไปสู่อุดมการณ์อื่นๆ ที่มีผลต่อเด็ก ได้แก่ เพศ ซึ่งมักจะมองเด็กเป็น “วัตถุทางเพศ” (โดยเฉพาะเด็กหญิง) “ครอบครัว” และ “การบริโภคนิยม” นอกจากนั้น หนังเด็กในปัจจุบัน ก็เริ่มมุ่งไปสู่การ “ต่อสู้” อุดมการณ์เด็กในแบบเดิมที่มักจะมองเด็กคือ “ผู้ถูกกระทำ” เป็น “ผู้กระทำ” ซึ่งเป็นไปตามกรอบแนวคิดการมองเด็กแบบใหม่ของ UN ที่เน้น “สิทธิเด็ก”

สำหรับในกรณีของประเทศไทย ชาญชนะ หอมทรัพย์ (2554) ศึกษาภาพของเด็กในหนังไทยที่เน้นความรุนแรงต่อเด็ก นับตั้งแต่ พ.ศ. 2519-2554 ก็พบภาพเด็กสองภาพคือ “เหยื่อ” และ “ผู้กระทำความรุนแรง” ในขณะที่ภาพแรกเป็นภาพแบบฉบับเดิม และภาพที่สองเป็นภาพที่เริ่มเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2546 เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงก็จะทำให้เด็กเริ่มเป็นผู้ก่อความรุนแรงมากขึ้น ดังเช่น ภาพยนตร์เรื่อง “13 เกมสยอง” (2549) “ส้มตำ” (2552) งานของชาญชนะแสดงให้เห็นว่า เด็กเป็นสิ่งที่สังคมกำหนดขึ้น เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงภาพของเด็กก็ย่อมแปรเปลี่ยน แต่งานของชาญชนะ ยังมิได้มุ่งเน้นสู่ “หนังเด็ก” ว่า หนังเด็กนั้นจะผลิตซ้ำอุดมการณ์อะไรมากไปกว่านี้หรือไม่ และจะดำเนินไปตามแนวคิดของนักวิชาการตะวันตกด้วยหรือไม่ที่มองว่า หนังเด็กจะประกอบสร้างตามอุดมการณ์ของผู้ใหญ่ที่มองเด็ก ทั้งในความอ่อนแอ ผู้กระทำ และเกี่ยวโยงกับอุดมการณ์อื่นๆ เช่น เพศ ครอบครัว และสังคมด้วยหรือไม่

2. “ผีเสื้อและดอกไม้” และ “Tanah Surga... Katanya” : ความเหมือนที่แตกต่าง

เมื่อพิจารณาหนังเด็กทั้งสองเรื่อง “ผีเสื้อและดอกไม้” และ “Tanah Surga…Katanya” จะพบความเหมือนและความต่าง ดังนี้

ในด้านแรก ความเหมือน หากวิเคราะห์หนังด้วยภาพภายนอกที่ปรากฏพบว่า หนังทั้งสองเรื่องเป็นหนังที่ผู้ใหญ่สร้าง ต่างได้รับความนิยม ได้รับรางวัลในระดับประเทศ หนังเรื่อง “ผีเสื้อและดอกไม้” ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมรางวัลตุ๊กตาทองปี พ.ศ. 2528 และรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากการประกวดภาพยนตร์นานาชาติครั้งที่ 5 ปี ค.ศ. 1986 ณ รัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนหนังเรื่อง “Tanah Surga…Katanya” ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก “Festival Film Indonesia” ปี 2012

หากมองในด้าน “เรื่องเล่า” ทั้งสองเป็นหนังที่เล่าเรื่องของเด็กบน “พรมแดน” ระหว่างประเทศ แม้จะต่างกันที่พื้นที่ประเทศและเวลา แต่ “โครงเรื่อง” กลับมีส่วนคล้ายคลึงกันคือ

“ผีเสื้อและดอกไม้” เล่าเรื่องถึง “ฮูหยัน” เด็กหนุ่มที่ต้องออกจากโรงเรียนกลางคันเพื่อทำงานช่วยพ่อด้วยการขายไอติม และหลังจากพ่อประสบอุบัติเหตุ เขาก็ตัดสินใจทำงานเป็นคนลักลอบขนส่งข้าวสารข้ามพรมแดนไทยกับมาเลเซียผ่านทางรถไฟ ส่วนหนังเรื่อง “Tanah Surga..Katanya” ก็เล่าเรื่องถึง “Salman” เด็กหนุ่มที่ต้องทำงานด้วยการส่งของจากรัฐกะลิมันตันพรมแดนอินโดนีเซียไปสู่สาลาวักมาเลเซียเพื่อหาเงินค่าเดินทางมารักษา “ปู่” ในขณะที่พ่อของเขาเดินทางไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียกับน้องสาว “Salina”

ถ้าจับภาพเฉพาะ “ภาพเด็ก” ในสองประเทศก็มีความคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ เป็นเด็กผู้ชายชาว มุสลิม อาศัยอยู่กับครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ ไร้แม่ มีฐานะยากจน อยู่บนพรมแดนระหว่างประเทศ โดยที่ประเทศที่ตนยืนอยู่นั้นเป็นประเทศที่ดูเหมือนมีปัญหา และปัญหาที่ว่านั่นก็คือ “ความยากจน” แม้ว่า ตัวเอกคือ “ฮูหยัน” ในหนังเรื่อง “ผีเสื้อและดอกไม้” จะเป็นเด็กหนุ่มมุสลิมที่เป็นคนส่วนน้อยในประเทศไทย ส่วนหนังเรื่อง “Tanah Surga..Katanya” ตัวเอกคือ “Salman” กลับเป็นเด็กมุสลิมที่เป็นคนส่วนใหญ่แต่ด้วยพื้นที่ห่างไกลจากเมืองหลวงเขาจึงกลายเป็นคนกลุ่มน้อยโดยปริยาย แต่ทั้งสองกลับไม่ยอมหยุดนิ่งกับที่ แต่พากัน “ต่อสู้” เพื่อให้ได้มาดังใจปรารถนา

 

เมื่อวิเคราะห์หนังทั้งสองเรื่องในเชิง “อุดมการณ์” ซึ่งจะเจาะลึกลงถึงกรอบความคิดภายในภาพยนตร์ เปรียบเทียบได้กับการวิเคราะห์รากของต้นไม้แทนที่จะวิเคราะห์ภาพที่ปรากฏภายนอก (ตัวละคร การเล่าเรื่อง โครงเรื่อง) ก็จะพบจุดเหมือนที่น่าสนใจ คือ ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องเดินตามอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ โดยกำหนดให้ตัวเอกเป็น “ชาย” สอดรับกับตัวเอกของหนังเด็กทั่วโลกที่มักจะเน้น “เด็กชาย” มากกว่า “เด็กหญิง” เมื่อเป็นตัวเอก “เด็กชาย” จุดเน้นก็คือการแสดงให้เห็นความเข้มแข็งของเด็กชาย ความอดทน การก้าวสู่โลกกว้าง และการเรียนรู้สังคม ในทางตรงกันข้ามหากเป็น “เด็กหญิง” ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ก็จะตอกย้ำความนุ่มนวล อ่อนแอของเด็กหญิง ในบางครั้งก็แสดงให้เห็นการเป็นวัตถุทางเพศหรือ “เหยื่อ” การแสดงบทบาทรองมากกว่าบทบาทหลัก และการตอกย้ำพื้นที่ของผู้หญิงที่อยู่เพียงในบ้าน ในกรณีของภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องบทบาทของตัวละครเด็กหญิงตอกย้ำความน่ารัก คือ “มิมปี” และ “Salina” และเป็นเพียงตัวประกอบมากกว่า (ไม่ถึงขั้นการเป็นวัถตุทางเพศ) และสำหรับหนังเรื่อง “ผีเสื้อและดอกไม้” เด็กหญิง “มิมปี” มีบทบาทเป็นแรงบันดาลใจและคู่รักของพระเอกอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น หนังทั้งสองเรื่องยังมีความเหมือนกันตรงที่ต่างนำเสนอภาพ “ครูสตรี” ที่เป็นผู้ตอกย้ำความคิดบางประการให้กับเด็กหนุ่มอีกด้วย

ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องยังผลิตอุดมการณ์เรื่อง “ครอบครัว” โดยสร้างความหมายใหม่ของนิยามแห่ง “ครอบครัว” ว่า อาจไม่จำเป็นต้องเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์พร้อมทั้ง “พ่อ-แม่-ลูก” ครอบครัวอาจมีเฉพาะพ่อกับลูกก็เป็นได้ แต่สิ่งที่เหนือไปกว่านั้นนั่นก็คือ ครอบครัวจำเป็นต้องมี “ความรักผูกพัน” นอกจากนั้นเมื่อผนวกกับอุดมการณ์เรื่องเพศก็จะพบว่า หนังเลือกตัวละครพ่อมากกว่าแม่ ซึ่งอาจหมายถึงการให้ความสำคัญต่อระบบพ่อเป็นใหญ่มากกว่าสตรี

ในด้านที่สอง ภายใต้ภาพแห่งความเหมือนนั้น หนังทั้งสองเรื่องกลับมีความแตกต่างกัน ความต่างที่ว่าก็คือความต่างเรื่อง “อุดมการณ์” ของสองประเทศ คือ “เด็กเป็นผู้กระทำ” และ “ชาตินิยม”

 

หนังเรื่อง “ผีเสื้อและดอกไม้” ตัวละครเอกดำเนินรอยตามอุดมการณ์ “เด็ก” คือ “ผู้กระทำ” แม้จะลำบากสักเพียงไร เขาก็เป็นผู้ที่ไม่ยอมแพ้ แม้จะต้องออกจากโรงเรียนกลายเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัวด้วยอาชีพลักลอบนำส่งข้าวสารข้ามพรมแดน

ภายในเรื่อง “ฮูหยัน” เป็นเด็กน้อยที่ค่อยๆ เติบโตจนเป็นผู้ใหญ่ นับตั้งแต่การออกเดินทางออกจากบ้านด้วยรถไฟ การสูบบุหรี่ การเรียนรู้มิตรภาพจากเพื่อน การมีความรักกับ “มิมปี” การหาเลี้ยงครอบครัว และการเรียนรู้ความตายจากเพื่อนวัยเดียวกัน

 

จากเด็กวัยบริสุทธิ์คนหนึ่งได้เติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ได้เรียนรู้ความรัก ความทุกข์ ความสุข การเดินทางของเด็กที่ก้าวสู่ผู้ใหญ่นี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับกลุ่มหนังตะวันตกที่เรียกว่า coming of age หรือการก้าวสู่วัยผู้ใหญ่ เด็กจะต้องพบกับปัญหาต่างๆ และคลี่คลายจนกลายเป็นผู้ใหญ่ในที่สุด (นอกจากหนังเรื่องนี้แล้ว หนังเด็กไทยที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันก็คือ “เด็กหอ” (2549)

จุดที่น่าสนใจก็คือ หนังไทยเรื่องนี้แม้จะผลิตซ้ำอุดมการณ์ที่เด็ก (ชาย) เป็นผู้กระทำที่เดินทางตามความต้องการของตนและก้าวสู่วัยผู้ใหญ่ด้วยตนเองแล้ว ทว่า ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อพิจารณาในฉากจบของภาพยนตร์กลับพบว่า อุดมการณ์หลักในภาพยนตร์ก็คืออุดมการณ์เด็กที่ผู้ใหญ่ต้องการนั่นก็คืออุดมการณ์ “เด็กดี” ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายและเสียงพร่ำสอนของคุณครู เพราะในท้ายที่สุดตัวละครใน “ผีเสื้อและดอกไม้” ก็ต้องเลิกจากการเป็นคนลอบขายข้าวสารและกลายเป็นคนปลูก “ดอกไม้” และ “เด็ก” ยังคงต้องเป็น “ผีเสื้อ” ที่ตอมสิ่งที่สวยงามเท่านั้น ฉากสุดท้ายที่ตัวละคร “ฮูหยัน” เดินทางกลับบ้านและหอบดอกไม้กลับไปด้วย แม้ดูเหมือนเป็นเพียงภาพฝันที่เป็นไปไม่ได้ในโลกความเป็นจริง แต่กลับเป็นภาพที่คนในสังคมรวมถึงผู้ใหญ่ต้องการให้เด็กเป็นเช่นนั้น

สำหรับหนังเรื่อง “Tanah Surga..Katanya” หนังอินโดนีเซียเรื่องนี้สร้างตัวละครเอกต่างไปจากหนังเรื่อง “ผีเสื้อและดอกไม้” เพื่อตอกย้ำอุดมการณ์เรื่อง “ชาตินิยม” (nationalism)

ในขณะที่หนังเรื่อง “ผีเสื้อและดอกไม้” ไม่ได้กล่าวถึง “ชาติ” อย่างชัดเจนนัก มีเพียงฉากเริ่มเรื่องที่ “กล้อง” จับภาพของแผนที่ประเทศไทยในส่วนปลายด้ามขวานในห้องเรียนเพื่อบ่งบอกพื้นที่ที่เกิดเรื่องราว และการใช้เสียง “เพลงชาติ” คลอไปในฉากที่ตัวละครเดินออกจากโรงเรียนเพื่อหางาน แต่สำหรับหนังอินโดนีเซีย ประเด็นเรื่อง “ชาติ” กลับถูกขับย้ำอยู่เสมอบนอุดมการณ์ “ชาตินิยม” หรือการคำนึงถึงความเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่และความรักชาติ

หนังวาง “Salman” ตัวละครเอกให้อยู่ที่พรมแดนระหว่างมาเลเซียกับอินโดนีเซียและเริ่มซึมซับว่า บริเวณชายขอบของอินโดนีเซียช่างมีความแตกต่างจากดินแดนมาเลเซีย ในขณะที่อินโดนีเซียมีความยากจน กันดาร ขาดแคลน ในทางกลับกันมาเลเซียกลับมีความเจริญอย่างมาก ด้วยเหตุนี้พ่อของเด็กน้อยจึงเลือกไปทำงานและหาภรรยาใหม่ที่มาเลเซีย (รวมถึงเลือกเชียร์ฟุตบอลทีมมาเลเซียในวันที่แข่งขันกับอินโดนีเซีย) ส่วนปู่และเด็กน้อยกลับยังเลือกที่อยู่ในดินแดนอินโดนีเซีย ซึ่งก็ด้วยเหตุผลทางอุดมการณ์ชาตินิยม

 

หนังผลิตซ้ำอุดมการณ์ชาตินิยม จาก “ปู่” “ครู” และ “หมอ” สู่ “เด็กน้อย” ปู่ยืนยันว่าพื้นที่แห่งนี้ได้มาเพราะการต่อสู้เพื่อเอกราชในสงครามระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซียช่วงทศวรรษที่ 1960 ส่วนครูและหมอก็ย้ำให้เด็กรักพื้นที่ ด้วย “แผนที่อินโดนีเซีย” การสอนให้ร้องเพลง “ชาติ” และให้รู้จัก “ธงชาติอินโดนีเซีย” และหากเด็กคนใดดำเนินตามก็จะกลายเป็น “เด็กดี” ในสายตาผู้ใหญ่ (คล้ายคลึงกับหนังเรื่อง “ผีเสื้อและดอกไม้” เพียงแต่ในกรณีนี้ความดีที่ว่าคือความ “รักชาติ” ไม่ใช่การปฏิบัติตัวเป็นเด็กดีตามกฎหมาย)

หนังยังผลิตซ้ำอุดมการณ์เรื่องชาติอินโดนีเซียในอีกหลายฉาก นับตั้งแต่ฉากแรกที่ปู่เล่าเรื่องการต่อสู้เพื่อรักษาดินแดน การตั้งคำถามถึงสกุลเงินที่ใช้ในดินแดนแห่งนี้ ฉากเด็กน้อยแบกของไปขายยังชายแดนมาเลเซียและเห็นพ่อค้าที่นั่นใช้ผ้าที่มีสีสันเหมือนธงชาติอินโดนีเซียปูรองสินค้า ด้วยความรักชาติที่ถูกปลูกฝังมาเขาจึงแลกผ้าผืนนั้นคืน ฉากความดีใจที่เด็กน้อยเดินทางกลับมาที่พรมแดนพร้อมชูผ้าที่เป็นสัญลักษณ์ธงชาติ รวมถึงในฉากสุดท้ายที่พ่อของ “Salman” ก็จำต้องหวนกลับคืนสู่มาตุภูมิอินโดนีเซียตามคำร้องเรียกของลูกชายเมื่อพ่อของตนเสียชีวิต แม้อาจไม่ได้เห็นฉากตัวละครเดินทางกลับแต่หนังก็ตัดไปให้เห็นภาพวาดของลูกสาว “Salina” ปรากฏภาพครอบครัวอยู่ร่วมกันพร้อมหน้าอย่างมีความสุขบนผืนดินอินโดนีเซีย ภาพเหล่านี้แทนความหมายได้ดีว่า “แผ่นดิน สรวงสรรค์ อย่างที่เขาว่ากันนั้นเป็นจริง” บนดินแดนอินโดนีเซีย

 

หนังยังใช้เทคนิคทางภาพและเสียงเพื่อสื่อความหมายความยิ่งใหญ่ของชาติอินโดนีเซีย ดังฉาก “Salman” ถือธงชาติกลับมาที่ชายแดน กล้องใช้ภาพขนาดกว้างและภาพมุมต่ำเผยให้เห็น “Salman” กำลังวิ่งขึ้นเนินด้วยความเบิกบาน เขาชูธงขึ้นเหนือศีรษะ พร้อมเพลงชาติอินโดนีเซียหรืออินโดนีเซียรายาดังกระหึ่ม ต่อจากนั้นกล้องก็แทนสายตาของเด็กน้อยมองไปยังชาวมาเลเซียคนหนึ่งที่หน้าตาเหมือนแขกกำลังถือกล้วย ภาพถัดมาเด็กน้อยก็ได้สร้างจินตนาการให้ชาวมาเลย์ผู้นั้นกลายเป็นทหาร “กุลข่า” (ทหารรับจ้างชาวเนปาลที่ชาวอังกฤษจ้างมาต่อสู้กับชาวอินโดนีเซียในยุคอาณานิคม) กำลังถือมีดจ้องมองมาที่เด็กน้อย จากนั้นเด็กน้อยก็ยิ้มและภาพทหารกุลข่าก็กลายเป็นเพียงคนธรรมดาที่กำลังกินกล้วย ฉากนี้เองเด็กน้อยกลายเป็นเหมือนวีรบุรุษทั้งในจินตนาการและโลกความจริงที่ยังคงมีความรักชาติและช่วยกอบกู้เอกราชในครั้งที่สองให้กับชาติอินโดนีเซียได้สำเร็จในยุคปัจจุบัน

หนังเด็กของอินโดนีเซียเรื่องนี้จึงเป็นหนังเด็กที่ผู้ใหญ่สร้างและเต็มไปด้วยอุดมการณ์ชาตินิยมของชาวอินโดนีเซีย คำถามที่น่าขบคิดคือ เพราะเหตุใดหนังอินโดนีเซียจึงต้องผลิตซ้ำความหมายของอุดมการณ์ชาตินิยม ปัญหาเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นสำหรับคนรุ่นเก่า (เช่น คุณปู่) ที่ร่วมต่อสู้เพื่อแย่งชิงดินแดนในยุคอาณานิคม แต่กลับปะทุอย่างแรงสำหรับคนรุ่นกลางและรุ่นใหม่ที่อุดมการณ์ชาติเริ่มจางหาย หนังจึงมีบทบาทในการตอกย้ำซ้ำทวนความเป็นชาติให้กับผู้ชม เพื่อทำให้คนรุ่นเด็กและรุ่นพ่อให้ยังคงรักในแผ่นดินเกิดของตน

บทสรุป : การผลิตซ้ำอุดมการณ์ผู้ใหญ่ในหนังเด็ก

หนังมิใช่เป็นเรื่องความบันเทิง แม้จะเป็นหนังเด็ก ในทัศนะของนักวิชาการสำนัก screen theory หนังยังเป็นเครื่องมือชั้นเลิศที่ผลิตซ้ำอุดมการณ์บางอย่างให้กับสังคมโดยเฉพาะเด็กให้เรียนรู้โลก ทั้งในด้านบวกและด้านลบ แต่ไม่ว่าจะเป็นด้านใดก็ตาม เด็กก็คือผู้ที่ต้องเรียนรู้ตามที่ผู้ใหญ่กำหนด ดังที่ปรากฏในหนังเด็กอินโดนีเซียเรื่อง “Tanah Surga..Katanya” เด็กอินโดนีเซียก็ต้องเดินตามอุดมการณ์ “ชาตินิยม” และหากเด็กทำตามก็จะกลายเป็นเด็กดี อาจดูเหมือนจะแปลกและแตกต่างจากหนังไทยเรื่อง “ผีเสื้อและดอกไม้” แต่หากย้อนกลับไปดูหนังเด็กไทยเรื่อง “ก้านกล้วย” (2549) และบรรดาหนังเด็กไทยในทศวรรษที่ 2550 ที่เน้นความสมานสามัคคีระหว่างคนในชาติ เช่น “ดรีมทีมฮีโร่ฟันน้ำนม” (2551) “อนุบาลเด็กโข่ง” (2552) “ยักษ์” (2555) ก็จะพบว่า แนวคิดดังกล่าวก็ไม่แตกต่างกันเท่าไรนัก แต่อาจจะต่างไปจากหนังเด็กฝรั่งในปัจจุบันที่ไม่ค่อยได้กล่าวถึงเรื่องชาตินิยม หากมีก็จะผสมอยู่ในหนังเด็กที่เกี่ยวข้องกับสงคราม ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากประเด็นเรื่องชาตินิยมอาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญของตะวันตกแล้ว แต่จะขยายสู่ประเด็นเด็กพลัดถิ่น ความแตกต่างของเด็ก และการบริโภคนิยม ที่ก้าวไปสู่วิถีชีวิตของเด็กยุคใหม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจในตะวันตกอย่างมาก

ส่วนหนังเด็กไทยเรื่อง “ผีเสื้อและดอกไม้” ที่แม้เด็กจะเป็น “ผู้กระทำ” แต่ในฉากจบกลับต้องดำเนินตาม “คำสอนของผู้ใหญ่” ที่อยากให้เป็น “เด็กดีเคารพกฎหมาย” ซึ่งเท่ากับเป็นการผลิตซ้ำอุดมการณ์ “ผู้ใหญ่ผู้เป็นใหญ่” แต่อย่างน้อยในอีกด้านหนึ่ง หนังเรื่องนี้ก็ยังแสดงให้เห็นถึงเด็กที่เป็นชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ห่างไกลที่ยังเป็นผู้กระทำที่ต่างจากหนังเด็กไทยส่วนใหญ่ที่มุ่งเน้นหนังเด็กในพื้นที่ส่วนกลางและชนชั้นกลาง และเป็นหน่ออ่อนให้กับหนังเด็กไทยในยุคหลังที่เริ่มกล่าวถึงเด็กที่มีความแตกต่างหลากหลาย เช่น “เอ๋อเหรอ” (2548) “อาข่าผู้น่ารัก” (2551)

อุดมการณ์ทั้งสองที่แตกต่างกันในหนังของสองชาติ คือ “เด็กผู้กระทำ” และ “ชาตินิยม” และอุดมการณ์ที่เหมือนกันก็คือ “เพศ” และ “ครอบครัว” เหล่านี้ล้วนแล้วมาจากการที่ภาพยนตร์ผลิตขึ้นโดย “ผู้ใหญ่” เป็นสำคัญ

หนังเด็กที่เห็นจึงเป็นหนังเด็กที่ผลิต “โดย” ผู้ใหญ่” และ “เพื่อ” เด็กและผู้ใหญ่ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่า หนังเด็กทั้งสองเรื่องดำเนินรอยตามอุดมการณ์ของผู้ใหญ่เป็นหลัก ดังแนวคิด “เดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด” แต่อาจมีการแทรกอุดมการณ์ต่อต้านผู้ใหญ่บ้างโดยเฉพาะการที่เด็กเป็นผู้กระทำ แต่เมื่อพิจารณาในฉากจบเราก็จะพบว่า อุดมการณ์ผู้ใหญ่โดยเฉพาะมิติสังคมทั้งเรื่อง “ชาติ” และ “เด็กดี” กลับเป็นอุดมการณ์ที่ครอบงำอุดมการณ์เด็กอย่างไม่เสื่อมคลาย

อนึ่ง จากการวิเคราะห์หนังเด็กทั้งสองประเทศไม่ได้หมายความว่า หนังเด็กจะมีอุดมการณ์เพียงเท่านี้ หากสามารถกวาดตาไปยังหนังเด็กเรื่องอื่นก็จะทำให้เห็นอุดมการณ์อื่นได้อีกด้วย ดังเช่น หากพิจารณาหนังเด็กไทยเรื่อง “กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้” (2537) “แฟนฉัน” (2546) “อรหันต์ซัมเมอร์” (2552) ความสุขของกะทิ” (2552) “ปัญญาเรณู” (2554) ก็จะพบอุดมการณ์อื่นๆ ที่รอคอยการขุดคุ้ยต่อไปในอนาคต โปรดติดตามในตอนต่อไป

 

อ้างอิง

 

กาญจนา แก้วเทพ. 2554. “เด็กกับการสื่อสาร” ใน กาญจนา แก้วเทพ (บรรณาธิการ) ผู้คนที่หลากหลายในการสื่อสาร. หน้า 10-267. กรุงเทพฯ : ภาพพิมพ์.

กำจร หลุยยะพงศ์. 2547. หนังอุษาคเนย์. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กำจร หลุยยะพงศ์. 2556. ภาพยนตร์กับการประกอบสร้างสังคม. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ชาญชนะ หอมทรัพย์. 2554. “ความรุนแรงต่อเด็กบนจอเงิน : สนามอารมณ์ของผู้ใหญ่ในสังคมจริง” วารสารหนังไทย ฉบับที่ 15 (กันยายน) : 75-96.

CvetKovic, Vibiana Bowman and Olson, Debbie. (eds.) 2013. Portrayals of Children in Popular Culture. Lanham : Lexington Books.

Davies, Messenger. 2010. Children, Media and Culture. Bershire: Open University Press.

Jackson, Kathy Merlock. 1986. Images of Children in American Film. London: Scarecrow Press.

Kapur, Jyotsna. 2005. Coining Capital. New Brunswick: Rutgers University Press.

Lebeau, Vicky. 2008. Childhood and Cinema. London: Reaktion Books.

Lury, Karen. 2010. The Child in Film. New Brunswick: Rutgers University Press.

Wilson, Emma. 2003. Cinema’s Missing Children. London : Wallflower Press.

____________________________________

1เอกสารประกอบการบรรยายเรื่อง “พลวัตของแนวคิดชาตินิยมในอาเซียน: กรณีศึกษาอินโดนีเชียและมาเลเซียจากภาพยนตร์เรื่อง Tanah Surga…Katanya” ในวันที่ 28 สิงหาคม 2556 เวลา 13.00-16.00 น. ณ ห้อง Multimedia ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ และเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง “ภาพยนตร์เด็กไทยกับการประกอบสร้างภาพตัวแทนเด็กและอุดมการณ์ที่แฝงอยู่” สนับสนุนโดย สกว.

2 รองศาสตราจารย์ ดร. ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

Read 6094 times Last modified on Monday, 02 September 2013 11:28
SFbBox by EnterLogic