Print this page

มานุษยวิทยาทัศนา (Visual Anthropology)

Rate this item
(1 Vote)

          ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้สื่อโสตทัศน์สร้างความเข้าใจและส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคม ที่ผ่านมาศูนย์ฯได้จัดโครงการด้านมานุษยวิทยาทัศนามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการบันทึกการประกอบพิธีกรรมและประเพณีต่างๆไปจนถึงการจัดเทศกาลฉายภาพยนตร์ชาติพันธุ์ อันจะช่วยให้นักมานุษยวิทยาและผู้ผลิตภาพยนตร์รุ่นใหม่ได้เข้าใจบทบาทของสื่อภาพและเสียงในการส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรม การรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงต่างๆในสังคม

          ในด้านของกระบวนการทำงาน ทางศูนย์ฯ ให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการตีความ การนำข้อมูลทางวัฒนธรรมมาผลิตสื่อวิดีทัศน์ และการนำสื่อเหล่านี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสาธารณะ ดังจะเห็นได้จากโครงการหนังเก่ากลับบ้าน หรือ Images Returning Home project ในระหว่างปี 2550-2554 ซึ่งเป็นโครงการที่ศูนย์ฯ ร่วมมือกับสถาบันภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ หรือ The Institute for Scientific Film (IWF) มีวัตถุประสงค์คือนำภาพยนตร์และรูปถ่ายกลับไปยังชุมชนเจ้าของวัฒนธรรมทางภาคเหนือของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่นๆที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น เช่น โครงการเยาวชนหรือเด็กแอ๊นท์ (Dek-Ant) ซึ่งเชิญชวนเยาวชนให้ฝึกใช้สื่อวิดีทัศน์ในการบันทึกวัฒนธรรมของชุมชน อันจะทำให้เยาวชนเข้าใจชุมชนของตนและแบ่งปันความเข้าใจนั้นต่อสังคม

          ในปี 2555 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการทางมานุษยวิทยาทัศนา(Visual Anthropology Workshop) โดยเป็นการอบรมทักษะการผลิตภาพยนตร์ชาติพันธุ์ ทั้งแนวคิดและเทคนิคการผลิตภาพยนตร์ชาติพันธุ์ และได้รับประสบการณ์การออกพื้นที่ภาคสนาม โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ คืออาจารย์ปีเตอร์ ครอว์ฟอร์ด (Peter Crawford) จากมหาวิทยาลัยทรอมโซ (University of Tromsø) ประเทศนอร์เวย์ และอาจารย์แกรี่ คิลเด (Mr.Gary Kildea) จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University)

          ในปี 2556 นี้ ทางศูนย์ฯ ได้จัดงานเสวนาภาพยนตร์ “การมองวัฒนธรรมผ่านภาพยนตร์ชาติพันธุ์ในประเทศไทยและอาเซียน” หรือ “Visualizing Culture: Ethnographic Film in Thailand and ASEAN Screening and Roundtable” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจ ส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรม และสร้างอัตลักษณ์ร่วมระหว่างประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกิจกรรมนี้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของศูนย์ฯ ซึ่งเน้นความสำคัญของความร่วมมือและการสร้างเอกลักษณ์ร่วมกันระหว่างประเทศต่างๆเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ในปี 2558 ในงานเสวนาภาพยนตร์มีกิจกรรมน่าสนใจมากมาย อาทิ การฉายภาพยนตร์ที่สร้างโดยผู้เข้าร่วมการอบรม “2012 Visual Anthropology Workshop” ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์ฯเมื่อปีที่ผ่านมา การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความสำคัญของภาพยนตร์ชาติพันธุ์ในการเผยแพร่ความรู้ทางมานุษยวิทยาและการสร้างความเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่าง นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมฉายภาพยนตร์ชาติพันธุ์จากประเทศอาเซียน คือประเทศเวียดนามและประเทศพม่า การเสวนาภาพยนตร์ชาติพันธุ์และผลงานทางด้านมานุษยวิทยาทัศนาของสถาบันการศึกษาวัฒนธรรมและศิลปะแห่งเวียดนาม (VICAS) และโรงเรียนภาพยนตร์ย่างกุ้ง (The Yangon Film School) กิจกรรมเสวนาภาพยนตร์นี้นับเป็นก้าวแรกในการทำความเข้าใจบทบาทของภาพยนตร์ชาติพันธุ์ในการเสริมสร้างความเข้าใจในอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีร่วมกันและส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป

          As a visual medium, ethnographic film is an invaluable tool for fostering awareness and developing understanding about the world’s rich tapestry of cultures. In order to support and promote the development of this medium in Thailand, since 2004, SAC has sponsored a variety of activities related to the collection, production and dissemination of ethnographic films. Two components of the Ethnographic Film Project are the development of an ethnographic films database and the expansion of SAC’s ethnographic film collection. SAC currently has 300 ethnographic films representing a wide range of topics and world regions available through the library.

 

Read 4089 times Last modified on Thursday, 30 January 2014 16:37