บทความ/Blog

    ผู้เขียน : ธันวดี สุขประเสริฐ  | โพสเมื่อ : 4 พ.ค. 2564

 

คัมภีร์ใบลาน จารจารึก ด้วยศรัทธา

 

 

คัมภีร์ใบลาน เป็นบันทึกลายลักษณ์อักษรด้วยวิธีจารตัวหนังสือลงบนใบของต้นลาน แล้วเจาะรูร้อยหูด้วยสายสนองหรือเชือกมัดคัมภีร์มัดรวมกันเป็นผูก เนื้อเรื่องที่จารลงบนใบลาน ส่วนใหญ่เป็นพระธรรมคำสอนในพระไตรปิฎกหรือเรื่องที่เกี่ยวเนื่องด้วยสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากเรื่องราวทางธรรมแล้ว คัมภีร์ใบลานยังบันทึกเหตุการณ์และเรื่องราวอันเกี่ยวกับทางโลก เช่น ประวัติศาสตร์ โหราศาสตร์ วรรณกรรม พงศาวดาร กฎหมายโบราณ ตำรายา เวทมนตร์คาถา เป็นต้น

การจารหรือเขียนหนังสือลงในใบลานนั้น มีมาตั้งแต่โบราณกาล พุทธศาสนิกชนเชื่อว่าการจารหรือการคัดลอกคัมภีร์ใบลาน รวมถึงการสร้างคัมภีร์ใบลานถวายวัด เป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนา ทั้งผู้จารหรือเจ้าของลานผู้ถวายคัมภีร์จะได้อานิสงส์ผลบุญอันยิ่งใหญ่ มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เพื่อจะได้บรรลุและเข้าถึงนิพพานในชาติต่อ ๆ ไป หญิงบางคนที่มีศรัทธาแรงกล้าจึงนำเอาเส้นผมของตนถักเป็นสายสนองผูกคัมภีร์ใบลาน เพราะความเชื่อดังกล่าว

ตัวอักษรที่พบในคัมภีร์ใบลานในแถบเอเชีย ได้แก่ อักษรเทวนาครี อักษรสิงหล อักษรขอม อักษรไทย อักษรพม่า และอักษรธรรมหรืออักษรตระกูลไท (ไทยวน ไทลื้อ ไทใหญ่ ไทขึน ไทน้อย และอักษรลาว)

การบันทึกอักขระลงบนใบลานจะจารด้วยเหล็กจาร แล้วจะมัดรวมเป็นผูก มีไม้ประกับ เป็นแผ่นไม้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างยาวเท่าใบลาน หนาประมาณ 1-2 เซนติเมตร ทำจากไม้เนื้อแข็ง ใช้ขนาบ 2 ข้าง เป็นปกหน้าและปกหลัง อาจมีการตกแต่งให้สวยงาม

       

 

อุปกรณ์บันทึกคัมภีร์ใบลาน

 

การบันทึกคัมภีร์ใบลาน ประกอบด้วย ใบลานของต้นลาน เหล็กจาร ในการขูดขีดเซาะให้เกิดร่องของตัวอักษร จากนั้นจึงใช้ หมิ่นหม้อ ที่ผสมกับ น้ำมันยาง นำมาชุบทาบนใบลานที่จารด้วยเหล็กจารแล้ว หมิ่นหม้อที่ผสมน้ำมันยางจะไหลซึมเข้าสู่ร่องของตัวอักษร จากนั้นให้เช็ดทำความสะอาดใบลาน เพื่อเอาหมิ่นหม้อผสมน้ำมันยางที่อยู่ด้านบนออกไป ให้คงเหลือเพียงร่องของตัวอักษรที่มีสีดำเด่นชัดขึ้นมา

เหล็กจาร เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้บันทึกคัมภีร์ใบลาน รูปร่างลักษณะเป็นแท่งคล้ายปากกาปัจจุบัน ทำจากไม้และเหล็กแหลม โดยเหลาไม้และกลึงให้เป็นแท่งสำหรับเป็นด้ามจับ และนำเหล็กแหลมทำเป็นไส้ไว้ที่ปลายของไม้ เพื่อเป็นตัวที่ใช้ขูดขีดใบลานเซาะให้เป็นร่องของตัวอักษร ด้ามที่เป็นไม้มักจะทำให้เหมาะสำหรับมือของผู้ใช้และมักมีการแกะสลักตกแต่งเพื่อความสวยงาม

เหล็กจาร

 

น้ำมันยาง วัสดุที่ใช้ผสมกับหมิ่นหม้อเพื่อการบันทึกคัมภีร์ใบลาน น้ำมันยางมีลักษณะเป็นของเหลว ข้นหนืด มีคุณสมบัติในการยึดเกาะใบลาน เมื่อผสมกับหมิ่นหม้อแล้วใช้ชุบหรือทาใบลานที่จารด้วยเหล็กจารแล้วจะเกาะติดกับร่องตัวอักษรในใบลาน ไม่ไหลซึมออกมา ทำให้ตัวร่องตัวอักษรในใบลานมีความคมชัด ไม่ซีดจางไปง่าย ๆ  น้ำมันยางนี้ได้จากต้นยางนา โดยการขุดโพรงที่โคนต้น และเผาเพื่อให้ต้นยางนาคายน้ำมันยางออกมา การทำเช่นนี้ไม่ทำให้ต้นยางนาตาย (คนอีสานมักเอาน้ำมันยางนี้ไปทำไต้จุดไฟส่องสว่างในเวลากลางคืน) หมิ่นหม้อ คือวัสดุที่ใช้ในการบันทึกคัมภีร์ใบลาน โดยใช้งานร่วมกับ “เหล็กจาร” และ “น้ำมันยาง” หมิ่นหม้อ หรือขี้หมิ่นนี้ได้จากก้นหม้อดินเผาที่ใช้ในครัวเรือนไทยในอดีต เนื่องจากหมิ่นหม้อแบบนี้จะมีความละเอียดมากกว่าที่อื่น

 

น้ำมันยางและหมิ่นหม้อ

 

เมื่อมีการสร้างคัมภีร์ใบลาน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเก็บรักษาที่ดี เนื่องจากใบลานเป็นวัสดุที่มีความเปราะบาง สามารถผุกร่อนไปตามกาลเวลา เพื่อรักษาใบลานให้มีสภาพสมบูรณ์ มีอายุการใช้งานนาน นัยหนึ่งเป็นการธำรงคำสอนทางพุทธศาสนาที่จารึกลงในใบลานให้คงอยู่นานที่สุด ดังนั้น การจัดเก็บคัมภีร์ใบลานจึงต้องห่อด้วยผ้าห่อคัมภีร์ ก่อนนำไปเก็บในหีบธรรมหรือตู้ธรรมที่อยู่ในวิหารหรือหอไตร

นอกจากคุณค่าของเนื้อหาที่อยู่ในคัมภีร์แล้ว ผ้าห่อคัมภีร์ยังเป็นมรดกวัฒนธรรมสำคัญที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ วัสดุที่ใช้ทำผ้าห่อคัมภีร์นั้นมีหลากหลาย แตกต่างกันทั้งฐานะของผู้สร้าง พื้นที่  และยุคสมัย เราจึงพบผ้าห่อคัมภีร์ที่ทำจากวัสดุหลายประเภท เช่น ผ้า ไม้ หญ้า กระจก ฯลฯ มีทั้งผ้าพื้นเมืองพื้นถิ่นและผ้าที่มาจากต่างประเทศ อย่างผ้าฝ้าย ผ้าซิ่น ผ้าไหม ผ้าลายขิด ผ้าทอยกดอก ผ้าทอยกดิ้น ฯลฯ เมื่อห่อผ้าแล้วจะมีไม้ปันจั๊กหรือไม้ฉลาก สำหรับสลักชื่อผู้สร้าง วันเดือนปี และสถานที่สร้าง ระบุไว้ ซึ่งไม้จะมีทั้งสีทองและสีของไม้ธรรมดา แล้วแต่ความต้องการของผู้สร้าง

พิพิธภัณฑ์คัมภีร์ใบลานอักษรธรรมล้านนา วัดสูงเม่น อ.สูงเม่น จ.แพร่

แหล่งเรียนรู้ อนุรักษ์ และสงวนรักษาคัมภีร์ใบลานอักษรธรรมล้านนา ในแถบภาคเหนือของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

 

นอกจากการห่อคัมภีร์ด้วยผ้าแล้ว บ้างใช้เทคนิคการถักทอร่วมกับวัสดุต่าง ๆ เช่น  การนำไม้ไผ่มาทอสอดแทรกไปในผืนผ้า ผ้าที่มีไม้ไผ่สอดสลับ จะใช้เส้นฝ้ายหลากสี มีทั้งที่ทอด้วยเทคนิคธรรมดา และทอด้วยวิธีขิดเป็นลวดลายพื้นฐานรูปต่าง ๆ สลับกับไม้ไผ่สอดคั่นเป็นระยะโดยตลอด ไม้ไผ่ที่นำมาทอร่วมในผืนผ้า จะมีทั้งที่มีลักษณะเป็นเส้นกลม และเส้นแบน ใช้สอดแทนเส้นพุ่งในการทอ หรืออีกลักษณะหนึ่งคือทอด้วยวิธีเกาะ โดยสลับสีเส้นฝ้ายกับไม้ไผ่สอดคั่นกันจนเป็นผืนเป็นลวดลายเรขาคณิต มีขนาดกว้างยาวประมาณ 55  X 30 ซม. ผ้าแบบที่มีโครงไม้ไผ่นี้เป็นผ้าที่ทำขึ้นสำหรับใช้ห่อคัมภีร์โดยเฉพาะ โครงไม้ไผ่จะช่วยรับน้ำหนักคัมภีร์ที่มีน้ำหนักมากได้ดี

ผ้าห่อคัมภีร์ไม้ไผ่จากศูนย์เอกสารและอักษรโบราณล้านนา สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง

 

ในวัฒนธรรมของกลุ่มคนไทยวน ไทลื้อ ไทเขิน ไทใหญ่ เชื่อกันว่าการนำไม้ไผ่มาทอสอดไปในผืนผ้านั้น เป็นเสมือนขั้นบันไดที่ผู้ทอและผู้ถวายจะสะสมไว้เป็นเนื้อนาบุญ เมื่อผู้ทอและผู้ถวายสิ้นชีวิตไปแล้ว ดวงวิญญาณจะอาศัยไม้ไผ่นั้นแทนขั้นบันได เพื่อเดินทางไปสู่สรวงสวรรค์

ในสมัยที่การพิมพ์ยังไม่แพร่หลาย คัมภีร์ใบลานมีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่พุทธศาสนา ผู้ชายสามารถบวชเรียนได้ มีโอกาสอุทิศตนตามหลักศาสนา สามารถจารคัมภีร์ใบลานหรือคัดลอกพระธรรมคำสอนเพื่อถวายวัด สำหรับผู้หญิงที่ไม่มีสิทธิ์ในการจารพระธรรมลงบนใบลาน ก็มีบทบาทในการทำนุบำรุงศาสนาด้วยการเป็นโยมอุปปัฏฐายิกา ทำบุญเนื่องในโอกาสต่าง ๆ  สร้างศาสนสถาน-วัตถุ หรือนำผ้าทอของตนถวายเป็นผ้าห่อคัมภีร์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดงานศิลปหัตถกรรมที่ถักทอผ้าอย่างประณีตงดงาม มีลวดลายสีสันตามความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของผู้ทอ ไม่จำกัดลวดลาย และนำไปถวายเพื่อใช้ในการห่อคัมภีร์ ถือเป็นโอกาสที่จะได้อานิสงส์เท่าเทียมกับฝ่ายชาย ได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ด้วยการอุทิศแรงกายและความตั้งใจจริงในการถักทอ และตัดเย็บผ้าห่อคัมภีร์ให้เป็นเครื่องปกป้องพระธรรมคำสอนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา ได้บรรลุและเข้าถึงนิพพานในชาติต่อ ๆ ไป

ปัจจุบันการคัดลอกหรือจารคัมภีร์ใบลาน รวมถึงประเพณีถวายคัมภีร์และผ้าห่อคัมภีร์ อาจจะสูญหายไปไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมวัฒนธรรม ความเปราะบางของคัมภีร์ใบลานก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อการสูญสลายของตัววัตถุ ยิ่งไปกว่านั้นการคัดลอกและจารใบลานได้นั้นต้องอาศัยความชำนาญของผู้จารที่มีความรู้ด้านอักขระโบราณ ซึ่งปัจจุบันหาผู้ชำนาญได้น้อยเต็มที คงเหลือแต่คัมภีร์เก่าแก่และผ้าห่อคัมภีร์ที่เก็บรักษาไว้ในหอธรรมหรือหอไตรตามวัดต่าง ๆ ที่ให้คนรุ่นหลังได้เข้าไปศึกษาหาความรู้ในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่ไม่ใช่แค่เพียงคุณค่าทางพุทธศาสนาหรือความงดงามของผืนผ้าเท่านั้น แต่ยังเต็มไปด้วยเรื่องราว ความหมายที่ซ่อนเร้นแฝงอยู่ในแรงศรัทธา ความเชื่อ วิถีชีวิตของผู้คน และภูมิปัญญาท้องถิ่น

-----------------------

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. นวลพรรณ บุญธรรม. 2554. ผ้าห่อคัมภีร์วัดคงคาราม: ประวัติศาสตร์(ที่อยาก)บอกเล่า. ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) https://db.sac.or.th/museum/article/56
  2. พิพิธภัณฑ์คัมภีร์ใบลานอักษรธรรมล้านนา. ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/1361
  3. มิวเซียมไทยแลนด์ https://www.museumthailand.com/th/3547/storytelling/วัดสูงเม่น/
  4. ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ https://www.sacict.or.th/th/detail/2782
  5. พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร http://www.thaitextilemuseum.com
  6. พิพิธภัณฑ์คัมภีร์ใบลานอักษรธรรมล้านนา วัดสูงเม่น อ.สูงเม่น จ.แพร่ เก็บข้อมูลเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ณ งานมหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นล้านนาครั้งที่ 3 อ.ลอง จ.แพร่
  7. สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง จ.ลำปาง เก็บข้อมูลเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ณ งานมหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นล้านนาครั้งที่ 3 อ.ลอง จ.แพร่