เรือนพื้นถิ่น ข่าว/ปกิณกะ


อัพเดต  24 ธ.ค. 2562

แนะนำบทความ "เรือนละเวือะแบบจารีต อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่"

ที่มา : https://www.tci-thaijo.org/index.p…/NAJUA-Arch/…/view/230614 | คำสำคัญ : สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น   กลุ่มชาติพันธ์ละเวือะ   กลุ่มชาติพันธุ์ผู้พูดภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก  

กลุ่มชาติพันธุ์ละเวือะ พูดภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานดั้งเดิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป ก่อนที่กลุ่มชนชาติพันธุ์ผู้พูดภาษาตระกูลไทจะเคลื่อนย้ายเข้ามา เนื่องจากต้องการศึกษาเรือนแบบจารีต ผู้วิจัยใช้หมู่บ้านชาติพันธุ์ละเวือะ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่กรณีศึกษาที่ยังรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี และจารีตต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์ และสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นได้มากกว่าชุมชนอื่นๆ ที่ตั้งอยู่ใกล้กับชุมชนเมือง จากการเก็บข้อมูลภาคสนามพบว่า พัฒนาการของเรือนพื้นถิ่นในชุมชนกรณีศึกษา สามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) เรือนแบบจารีต 2) เรือนที่มีพัฒนาการจากการต่อเติม ทว่ายังคงแสดงลักษณะของเรือนดั้งเดิม และ 3) เรือนแบบแผนใหม่ อย่างไรก็ตาม สำหรับบทความนี้ ผู้วิจัยมุ่งอธิบายเฉพาะเรือนแบบจารีต ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการสิ้นสูญไปในอนาคต เพราะปัจจุบันเหลือเรือนรูปแบบดังกล่าวเพียงหลังเดียวในหมู่บ้าน โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพที่เน้นกระบวนการบันทึกข้อมูลภาคสนามด้วยวิธีการสังเกต การสำรวจรังวัดอาคาร การสัมภาษณ์เจ้าของเรือนและผู้ทรงคุณวุฒิ การศึกษาพบว่าเรือนแบบจารีตมีรูปทรงทางสถาปัตยกรรมและลักษณะการใช้สอยพื้นที่ภายในเรือนที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตขนบธรรมเนียมประเพณี รวมไปถึงความเชื่อที่สัมพันธ์กับผังพื้นของเรือนในระดับต่างๆ อย่างเป็นระบบ อีกทั้งยังสามารถอธิบายสภาพแวดล้อมสรรค์สร้างในการกำหนดให้เห็นการวางตัวขององค์ประกอบด้านพื้นที่ภายในเรือนอย่างเด่นชัดขึ้น นำไปสู่การตั้งข้อสังเกตของที่ตั้งเรือน ทิศทางของเรือน รูปทรงของเรือนและทิศทางของพื้นที่ใช้สอยภายใน สอดประสานให้เห็นถึงปัจจัยในการก่อรูปเรือนแบบจารีต ซึ่งอธิบายผ่านข้อมูลและข้อจำกัดของพื้นที่วิจัยเพื่อให้สามารถอภิปรายและสะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบอันเก่าก่อนของเรือนในชุมชนกรณีศึกษานี้ได้ ทั้งนี้เพื่ออภิปรายผลในประเด็นเรื่องรูปทรงทางสถาปัตยกรรม โครงสร้าง การจัดวางพื้นที่ใช้สอยภายในเรือน พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และพื้นที่ทางความเชื่อภายในเรือน ซึ่งจะเป็นคุณูปการในการสร้างสถานะภาพความรู้เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมเรือนที่อยู่อาศัยของกลุ่มชนชาติพันธุ์ที่มีการตั้งถิ่นฐานเก่าแก่ที่สุดกลุ่มหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ข่าว/ปกิณกะ

  • สิริชัย ร้อยเที่ยง, เกรียงไกร เกิดศิริ. (2562) “เรือนละเวือะแบบจารีต อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่” ใน วารสารวิชาการ การออกแบบสภาพแวดล้อม. Vol 6 No 1 (2019): 6(1). 109-131.