เขียนโดย ธนภาษ เดชพาวุฒิกุล | วันที่เผยแพร่เอกสาร 01/01/2513
ผู้เข้าชม 5646 | จำนวนดาวน์โหลด 0
คะแนนสื่อ
บทความชาติพันธุ์คัดสรรจากวารสารสยามสมาคม
ธนภาษ เดชพาวุฒิกุล
ไทย
ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
จากการพิจารณาข้อเขียนในวารสารสยามสมาคมซึ่งได้รับการตีพิมพ์ระหว่าง พ.ศ. 2464-2520 ปรากฏว่ามีข้อเขียนจำนวนมากกว่า 100 เรื่องที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องชาติพันธุ์ในสังคมไทยและประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง นอกจากข้อมูลที่ปรากฏจะกล่าวถึงกลุ่มคนหลากชาติพันธุ์ในหลายพื้นที่แล้ว ยังมีขอบเขตเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกับความรู้ด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ คติชนวิทยา ฯลฯ อีกด้วย
ดังนั้น เพื่อให้สะดวกต่อการพิจารณาคัดเลือกข้อเขียนขึ้นเว็บไซท์ของโครงการหนังสือเก่าชาวสยาม เราจึงอาจจำแนกข้อเขียนได้เป็น 2 กลุ่มหลัก คือ
กลุ่มที่ 1. ตัวบทด้านชาติพันธุ์วรรณาที่เขียนโดยข้าราชการท้องถิ่นชาวไทย
ข้อเขียนทั้ง 5 เรื่องได้รับการเรียบเรียงขึ้นโดยข้าราชการสยามที่ปฏิบัติงานอยู่ในส่วนภูมิภาคตามคำร้องขอของกรรมการสยามสมาคมซึ่งมีความคิดที่จะสืบค้นเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ชนบทหรือพื้นที่ปกครองส่วนภูมิภาคของสยาม ด้วยการให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นรวบรวมข้อมูลส่งกลับมายังส่วนกลาง ภายในข้อเขียนจะแบ่งเนื้อออกเป็นหัวข้อย่อยต่างๆ ซึ่งเป็นไปตามชุดคำถามที่กรรมการของสยามสมาคมสนใจใคร่รู้ ทั้งนี้ เนื่องจากผู้อ่านวารสารสยามสมาคมส่วนใหญ่คือชาวต่างชาติและชนชั้นนำสยามที่มีความรู้ทางภาษาตะวันตก ดังนั้น ข้อเขียนที่เรียบเรียงจากข้อมูลท้องถิ่นของสยามจึงได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษโดยข้าราชการชาวต่างชาติ เพื่อนำเสนอคู่กับบทความพากษ์ภาษาไทยในวารสารสยามสมาคมเล่มเดียวกัน ลักษณะเด่นของบทความในกลุ่มนี้มีหลายประการ หากที่สำคัญก็คือการให้ข้อมูลพื้นฐานด้านชาติพันธุ์วรรณาซึ่งเอื้อต่อการทำความเข้าใจการธำรงชาติพันธุ์ของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ในสยามภายใต้มิติทางประวัติศาสตร์ อาทิ รูปพรรณสัณฐาน การแต่งกาย เครื่องนุ่งห่ม ถิ่นที่อยู่ ทำเล ขนบธรรมเนียม อาหาร รูปแบบการบริโภค การกสิกรรมและวิธีการล่าสัตว์ การคมนาคม การค้า หัตถกรรม ตลอดจนลัทธิความเชื่อ ธรรมเนียมการปกครอง ศิลปวิทยาการของแต่ละชาติพันธุ์ เป็นต้น และหากกล่าวจากมุมมองของผู้เขียนและผู้อ่านในช่วงเวลาที่ข้อเขียนได้รับการเขียนขึ้นแล้ว ข้อมูลทั้งหมดข้างต้นล้วนเป็นประเด็นความรู้ด้านชาติพันธุ์ที่ปัญญาชนสยามและชาวต่างชาติในขณะนั้นให้ความสนใจเนื่องจากเป็นประโยชน์ทั้งต่อการจัดการปกครองของรัฐบาลสยามและการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกลุ่มคนที่ถูกมองว่า “ด้อยวัฒนธรรม” ซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศสยาม อาจกล่าวได้ว่า ข้อเขียนทั้ง 5 เรื่องนับได้ว่าเป็นงานสำรวจด้านชาติพันธุ์วรรณาระยะเริ่มแรกที่เขียนโดยชาวสยามรุ่นใหม่ และมีความเหมาะอย่างยิ่งต่อการทำบันทึกในรูปดิจิตอลเพื่อนำขึ้นเผยแพร่ในเว็บไซท์โครงการหนังสือเก่าชาวสยาม
กลุ่มที่ 2. บันทึกและข้อคิดคำนึง : รายงานการสำรวจ-ท่องเที่ยว-และข้อพิจารณาด้านชาติพันธุ์วรรณา
เอกสารหายากชาติพันธุ์กลุ่มที่ 2 ซึ่งคัดเลือกจากข้อเขียนในวารสารสยามสมาคมครอบคลุมช่วงเวลานับแต่การจัดพิมพ์วารสารสยามสมาคมเล่มแรกจนถึงราวทศวรรษ 2520 ประกอบด้วยข้อเขียนทั้งของชาวต่างชาติและชาวไทย สำหรับผู้เขียนกลุ่มแรกนั้น แม้จะปรากฏว่ามีภูมิหลังด้านอาชีพการงานที่หลากหลาย แต่จำเพาะที่ได้มีผลงานลงตีพิมพ์ในวารสารสยามสมาคมนั้นโดยส่วนใหญ่คือบรรดาผู้ดำรงสถานะบรรดาข้าราชการและที่ปรึกษาด้านการปกครองแก่รัฐบาลสยาม ขณะที่บางรายแม้มิได้มีภาระหน้าที่ในสยามประเทศแต่ก็เป็นผู้มีความสนใจต่อเรื่องราวของสยามเป็นการเฉพาะ สำหรับผู้เขียนกลุ่มที่สองนั้นแทบทั้งหมดก็คือปัญญาชนนักปกครองชาวสยามผู้มีโอกาสได้เรียนรู้ศิลปวิทยาการสมัยใหม่ และมีปฏิสัมพันธ์ทั้งด้านการงานและวิชาการใกล้ชิดกับคนกลุ่มแรก ทั้งนี้ ทั้งนี้ เนื่องจากข้อเขียนในกลุ่มนี้มีเป็นจำนวนมาก จึงอาจจำแนกย่อยออกเป็นอีกสองกลุ่มตามรูปแบบการเขียน คือ
2.1 รายงานการเดินทางและบันทึกความทรงจำ
ลักษณะเด่นของข้อเขียนในกลุ่มนี้อยู่ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ที่ผู้เขียนได้เดินทางไปถึง โดยอาจนำเสนอในลักษณะรายงานการเดินทางสำรวจหรือบันทึกความทรงจำ ข้อมูลที่ปรากฏประกอบด้วยสภาพภูมิศาสตร์ เส้นทางการเดินทาง ประวัติความเป็นมาของสถานที่ ทั้งใแง่มุมด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ รวมถึงประวัติความเป็นมากลุ่มคนที่อาศัยอยู่ รูปแบบของข้อเขียนดังกล่าวมีลักษณะคล้ายคลึงกับงานเขียนประเภทบันทึกความทรงจำ บันทึกการเดินทางของชาวยุโรปในดินแดนอาณานิคม หรืองานสำรวจเบื้องต้นทางด้านประวัติศาสตร์-โบราณคดี โดยที่ข้อเขียนบางชิ้นได้ถูกใช้ในการบรรยายหรือเสนอต่อที่ประชุมของสยามสมาคม อาจกล่าวได้ว่าสายสัมพันธ์อันดีที่ปัญญาชนต่างชาติมีอยู่กับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของสยาม ประกอบกับการพัฒนาเส้นทางคมนาคมสมัยใหม่ โดยเฉพาะรถไฟ ได้มีส่วนทำให้การเดินทางสำรวจพื้นที่เขตชนบทห่างไกลของสยามดำเนินไปโดยสะดวกยิ่งขึ้น อนึ่ง ความสนใจที่มีมูลเหตุจากหน้าที่การงานและแรงจูงใจของผู้เขียนที่แตกต่างกันของผู้เขียนแต่ละท่านทำให้ข้อมูลและประเด็นที่ปรากฏในงานเขียนมีรายละเอียดแตกต่างกันไป อาทิ Eric Seidenfaden จะให้ความสนใจในหลากหลายประเด็น แต่โดยเฉพาะเน้นที่ด้านชาติพันธุ์ ภูมิศาสตร์ โบราณคดี ขณะที่งานเขียนของ J.P. Anderson มีลักษณะการเล่าประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้ประสบทั่วๆ ไปอย่างละเอียดละออ โดยเฉพาะระยะเวลาและระยะทาง เป็นต้น สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งของภาพประกอบภายในตัวบทที่ถ่ายจากสถานที่จริง ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับวิถีชีวิตและสังคมชนบทของสยาม
2.2 บทความวิชาการ
ตัวบทในกลุ่มนี้ครอบคลุมขอบเขตเนื้อหาชาติพันธุ์ วัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา ประวัติศาสตร์ โดยมุ่งเน้นที่ลักษณะการเขียนที่เป็นวิชาการมีการอ้างอิง และด้วยเหตุที่ข้อเขียนในกลุ่มนี้ปรากฏในวารสารสยามสมาคมนับแต่ปีแรกๆ จนกระทั่งถึงปัจจุบัน จึงทำให้รูปแบบการนำเสนอมีการเปลี่ยนแปลงไปตามมาตรฐานทางวิชาการที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย โดยเฉพาะระบบการอ้างอิง วิธีวิทยา รวมถึงหัวข้อหรือประเด็นที่ได้รับความสนใจ ซึ่งหากพิจารณาในแง่ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าข้อเขียนในกลุ่มนี้ได้ฉายให้เห็นถึงพัฒนาการของการศึกษาด้านมานุษยวิทยาและกลุ่มชาติพันธุ์ในสังคมไทยซึ่งหาได้ยากจากวารสารวิชาการอื่นๆ ทั้งนี้ แม้วารสารสยามสมาคมจะเป็นสิ่งพิมพ์ทางวิชาการระดับสูง อีกทั้งนักเขียนของวารสารเองก็มุ่งเน้นกิจกรรมทางปัญญาเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมหาอำนาจก็ส่งผลกระทบต่อสถานภาพการสร้างสรรค์งานศึกษาด้านชาติพันธุ์ของสมาชิกสยามสมาคมไม่น้อย ดังปรากฏให้เห็นเมื่อครั้งจอมพล ป. ประกาศใช้นโยบายชาตินิยม หรือเมื่อสหรัฐอเมริกาได้เข้ามีบทบาทแทนที่มหาอำนาจเก่าอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แรงกดดันและอิทธิพลจากกระแสคิดภายนอกเช่นนี้เองได้ส่งผลต่อประเด็นและวิธีการศึกษาด้านชาติพันธุ์อย่างลึกซึ้ง ดังปรากฏชัดเจนว่านับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมาข้อเขียนด้านชาติพันธุ์ในวารสารสยามสมาคมได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญมาจากการเข้ามาของนักมานุษยวิทยาอาชีพซึ่งดำเนินการวิจัยด้านชาติพันธุ์และสังคมของผู้คนในชนบทของสยาม ขณะที่สำหรับผู้ศึกษาชาวไทยก็ปรากฏว่ามีทั้งปัญญาชนที่เคยเป็นอดีตนักปกครอง นักวิชาการรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาจากต่างประเทศ และที่เป็นนักวิชาการสมัครเล่นผู้สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับผู้คนในชนบท เงื่อนไขเช่นนี้ทำให้บทความที่ลงพิมพ์ในวารสารสยามสมาคมหลังสงครามโลกครั้งที่สองมีลักษณะของความหลากหลายแต่มีความเป็นวิชาการเข้มข้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะบทความหลายเรื่องเป็นผลผลิตของข้อมูลจากงานวิจัยภาคสนามมากกว่าการคาดคะเนจากตำนาน พงศาวดาร ดังเช่นที่ผู้ศึกษารุ่นก่อนนิยม อาจกล่าวได้ว่าภายใต้บรรยากาศของสงครามเย็น วาระการพัฒนาแห่งชาติ การหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาชนบท ปัญหาภัยคอมมิวนิสต์ และการขยายตัวของสถาบันการศึกษาระดับภูมิภาคได้มีส่วนเอื้อให้ข้อเขียนด้านชาติพันธุ์ทวีจำนวนขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน จากแต่เดิมที่ประเด็นสนใจมักมุ่งที่เรื่องของโบราณคดีและประวัติศาสตร์
กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อดาวน์โหลดเอกสาร เข้าสู่ระบบ *