เขียนโดย Cadière, L. M. (Léopold Michel), 1869-1955 | วันที่เผยแพร่เอกสาร 01/01/2513
ผู้เข้าชม 3249 | จำนวนดาวน์โหลด 0
คะแนนสื่อ
Croyances et dictons populaires = ความเชื่อและคำพังเพยของชาวบ้านแห่งหุบเขาเหงือนเซิน จังหวัดกว๋างบิ่ง อันนัม
Cadière, L. M. (Léopold Michel), 1869-1955
ไทย
ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
R. P. Cadière. (Année 1901). Croyances et dictons populaires de la vallée du Nguón-Sơn. Bulletin de l'Ecole française d'Extrême-Orient. Volume 1 Numéro 1 pp. 119-139
ดูเอกสารต้นฉบับจาก www.persee.fr
ความเชื่อและคำพังเพยของชาวบ้าน
แห่งหุบเขาเหงือนเซิน จังหวัดกว๋างบิ่ง อันนัม
(Croyances et dictons populaires
de la vallée du Nguõnsơn
Province de Quảng-binh (Annam)
โดย R.P. CADIÈRE
มิชชันนารี
สรุปความโดย ดร.เสาวนิต รังสิยานนท์
I เทพเจ้า ผี นางไม้
ชาวอันนัมเชื่อเรื่องสวรรค์ และยังเชื่อว่าเจ่ออิ (tròi) ควบคุมดูแลโลกมนุษย์ ตัดสินพฤติกรรมของมนุษย์ และมี................เทพเจ้าแห่งคุณความดีเรียกว่า เธิ่น (Thần) เป็นเทพผู้พิทักษ์หมู่บ้าน ส่วนมา (Ma) ในภาษาอันนัมคือศพ และวิญญาณที่อยู่ในหลุมฝังศพ บางครั้งวิญญาณก็เร่ร่อน นอกจากนี้ มา (Ma) ยังหมายถึงวิญญาณชั่วร้ายที่ชอบทำร้ายมนุษย์ จึงต้องเซ่นด้วยการทำหลุมฝังศพ หรือเครื่องเซ่นไหว้ตามประเพณี “มา” จะสิงสู่อยู่ทุกหนแห่ง แต่จะแสดงตัวในบางสถานที่ เรียกว่า ลินห์ (linh) หรือเธี่ยง (thiêng) เช่นที่หมู่บ้านถั่นห์บา (Thạnh-ba) และที่ กูลั่ก (Cu-lạc) มี “มา” มากมายหลายชนิด ซึ่งล้วนแต่ทำร้ายมนุษย์ หรืออย่างน้อยก็ทำให้คนกลัว เช่น “มาเจออี” (Ma trơi) เป็นดวงไฟลอยไปมาในเวลากลางคืนในที่ราบที่มีน้ำขังเฉอะแฉะในกูลั่ก (Cu-lạc) เกาเลา (Cao-lao) หรือดั๋งเด (Ðạ̀ng-dề) ส่วน “มาเล” (Ma le) เป็นผีที่แลบลิ้นยาว ๆ หลอกผู้หญิงและเด็กที่ไปตลาด แต่ผี “มาเลาะอัน” (Ma loạn) ไปด้วยกันเป็นกลุ่ม ๆ เวลาเกิดโรคระบาด ผู้คนจะได้ยินแต่เสียงของผีเหล่านี้ เชื่อกันว่าหากผีมาเลาะอันเข้าไปในบ้านใด คนในบ้านนั้นก็จะป่วยด้วยโรคระบาด “มากุตโจก” (Ma cut trồc) เป็นผีหัวขาด เวลาไปไหนมาไหน ไม่มีใครเห็น แต่คนจะรู้ มักจะทำความเสียหายให้แก่นาข้าว นอกจากนี้ยังมี “มาร่า” (Ma rà) อยู่ใต้น้ำ คอยทำร้ายเด็กเลี้ยงควาย หรือคนที่ข้ามแม่น้ำ ส่วน มาเซาะ” (Ma xớ) อยู่ตามที่เปลี่ยวหรือที่มืดปรากฏตัวในเวลากลางคืน “มาเมาะอิ” (Ma mọi) เป็นผีที่อยู่ตามป่าเขา ชาวอันนัมที่อยู่ตามภูเขากลัวมาก ทำให้ป่วยไข้และเป็นโรคได้ ชาวป่าชาวเขาเชื่อเรื่องนี้ ในบทความได้เล่าเรื่องอิทธิฤทธิ์ของ “มา” ประเภทต่าง ๆ นอกจาก “มา” แล้วยังมีนางไม้ชาวอันนัมเรียกว่า “กอนตินห์ (Con tinh) อยู่ในต้นไม้ที่มีอายุมาก หากผู้ใดตัดต้นไม้ที่มีอายุมากจะถูก “กอนตินห์” ทำอันตรายได้ เวลาตัดไม้ชาวอันนัมมักจะขอให้ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ตัดให้เพราะชาวคริสต์ไม่กลัวนางไม้กอนตินห์
II สัตว์
ความเชื่อเรื่องสัตว์ของชาวอันนัมน่าสนใจมาก เพราะสัตว์ในชีวิตประจำวันของพวกเขา จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับตำนาน คำพังเพย และเพลง เสียงร้องของสัตว์บางประเภทจะบอกสภาพภูมิอากาศ เช่นเสียงคำรามของเสือ เสียงกวางร้อง เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าฝนจะตกหรือจะมีลมจากทางทิศเหนือ และหากมดทำรังใหญ่บนต้นไม้ริมฝั่งแม่น้ำแสดงว่าน้ำจะท่วมสูง ส่วนสัตว์ที่บอกลางร้ายได้แก่ ไก่ที่ขันในเวลากลางวันโดยไม่มีสาเหตุ หนูที่ร้องจี๊ด ๆ ในเวลากลางคืน หรืออีกาที่บินเรี่ยพื้นเพื่อข้ามถนนหนทาง ฯลฯ นอกจากนี้ในสุภาษิตและคำพังเพยยังกล่าวถึงสัตว์เป็นจำนวนมาก เช่น “วัวควายที่อยู่ด้วยกันมักจะคุ้นเคยกัน แต่คนอยู่ด้วยกันจะเกลียดชังกัน” “ทำดีต่อสัตว์ สัตว์จะรู้คุณ ช่วยเหลือคน คนจะเนรคุณ” นอกจากนี้ยังมีคำพังเพยที่แสดงการศึกษาด้านจิตวิทยา เช่น “เขาทั้งสองเหมือนเขา(สัตว์)กับหาง” หมายความว่า คนทั้งสองไม่ลงรอยกัน “ทำคอกพอดีกับตัววัว” หมายถึงคนที่ทำตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด ไม่มาก ไม่น้อย กว่าที่ได้รับคำสั่ง แต่ส่วนมากจะทำน้อยกว่า ชาวอันนัมจัดลำดับขั้นของสัตว์ โดยพูดถึงสัตว์บางชนิดในด้านดี บางชนิดก็ได้รับการดูถูก นกที่มีจงอยปากยาว คอยาว ขายาว (นกกระสา – ผู้แปล) อยู่ในทุ่งนา เป็นที่ชื่นชอบของชาวอันนัม ส่วนนกตะกรุมหัวล้าน ชาวอันนัมเรียกว่า ชายแก่ นก pélican ถึงแม้จะตัวใหญ่ มีจงอย ปากใหญ่ ชาวอันนัมก็ยังเรียกว่า thằng bè คำว่า thằng หมายถึงคนชั้นต่ำ นกบางชนิดก็ได้รับการยกย่องว่ามาจากฟ้า หรือเป็นสมบัติของท้องฟ้า หรืออยู่อย่างอิสระในท้องฟ้า เช่น เป็ดป่า หรือห่านป่า สัญชาตญาณของสัตว์ป่าบางชนิด ชาวอันนัมเชื่อว่าเป็นอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของอำนาจเบื้องบน ดังนั้นชื่อสัตว์บางชนิดจะมีคำว่า linh หรือ thiêng ซึ่งหมายความว่า มีอิทธิฤทธิ์ ตัวอย่างเช่น หนูที่รอดพ้นจากกับดัก ในคืนเดียวกันนั้นหนูก็กัดแทะผ้าโพกศีรษะผืนสวยของหัวหน้าครอบครัว ชาวอันนัมเชื่อว่ามีวิญญาณหรืออิทธิฤทธิ์ ผลักดันให้นูรอดจากกับดัก และแก้แค้นผู้ที่วางกับดัก ดังนั้นในภาษาอันนัมจึงเรียกหนูว่า ông thiêng
สัตว์ในตำนาน
ผู้เขียนเล่าถึงสัตว์ในตำนานพื้นบ้านที่ให้คุณและให้โทษแก่ผู้คน เช่น ตำนานของ Con ngoc หรือพลอยมีชีวิต ลักษณะเป็นขนที่งอกบนลำตัวของสัตว์บางชนิดที่มีอายุมาก เช่น ช้างจะมี Con ngoc อยู่บนงา หรือระหว่างงา 2 ข้าง แรดจะมีอยู่บนนอ ชาวอันนัมถือเป็นเครื่องรางนำโชค Con ngoc มีแสงสว่างในตัวตอนกลางคืน ชาวอันนัมยกย่องว่า เสือ เป็น นาย เป็นเจ้าชาย บ่อยครั้งที่ผู้เขียนได้ยินพวกเขาเรียกเสือว่า เจ่ออิ (ท้องฟ้า) ทั้งนี้ด้วยความกลัว ยำเกรง และเคารพ เมื่อไปในป่าพวกเขาจะไม่เอ่ยคำว่าเสือ นอกจากนี้ เสือยังเป็นทุกสิ่งที่ลึกลับ เหนือธรรมชาติ และมีคุณสมบัติวิเศษหลายอย่าง เช่นน้ำลายเสือเมื่อตกลงบนพื้นดินทำให้เกิดหนอนตัวโตและมีพิษ กระดูกไหล่เสือ เป็นเครื่องรางที่มีราคาแพงมาก หากผู้ใดมีเครื่องรางนี้จะไม่ได้รับอันตรายจากเสือ นอกจากนี้ยังเชื่อว่า เมื่อเสือกินคนแล้ว วิญญาณของคนจะอยู่กับเสือ เนื่องจากคนที่ถูกเสือกิน ไม่มีหลุมฝังศพ และไม่ได้รับเครื่องเซ่น วิญญาณก็จะขี่หลังเสือ กลับมาที่บ้านเดิมโดยหวังว่าจะได้เครื่องเซ่น ด้วยเหตุนี้ ชาวอันนัมจึงเก็บชิ้นส่วนหรือข้าวของที่เหลือของคนที่ถูกเสือกิน และฝังไว้อย่างดี เพื่อให้วิญญาณที่อยู่ในตัวเสือมาอยู่ที่หลุมฝังศพ และครอบครัวของผู้ตายจะได้อยู่อย่างมีความสุข และยังเชื่อกันอีกว่าหากเสือตะปบโดนหูของผู้ใดแล้ว เสือก็จะไม่กินคนนั้น เมื่อจวนตัวหากคนกราบไหว้อ้อนวอนเสือก็ไม่ทำอันตราย ด้วยเหตุนี้ เสือจึงเป็นที่เคารพนับถือของชาวอันนัม ถึงอย่างไรก็ตาม พวกเขาคิดว่ามีเสือมากเกินไปและคอยวางกับดัก เมื่อเสือลดจำนวนลง พวกเขาก็สร้างตำนานขึ้นมาเพื่อบอกเล่าถึงสาเหตุดังกล่าว เช่นเล่าว่าเสือตัวผู้มักจะกินลูก หากแม่เสือไม่เอาไปซ่อนไว้ให้ดี นอกจากนี้ยังมีเรื่องเสือ ช้าง และนก bruant เสือสร้างกลอุบายเพื่อจะกินช้าง แต่ในที่สุดก็เสียรู้นก bruant เสือจึงไม่ได้กินช้าง ส่วนเรื่องเล่าเรื่องเสือและเสียงเป่าเขาวัว ซึ่งทำให้เสือตื่นและวิ่งหนี
ปลาวาฬ
ชาวอันนัมกราบไหว้เสือด้วยความกลัว แต่พิธีกรรมที่ชาวอันนัมจัดทำเพื่อปลาวาฬนั้น ก็ด้วยคุณความดีของ
ปลาวาฬเอง
มีตำนานพื้นบ้านของ ธันห์ห่า (Thanh-hà) ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ปากน้ำ ซงเกียนห์ (Sông-gianh) ว่า ราวกลางเดือนมีนาคม 1898 ชาวประมงในหมู่บ้านคนหนึ่งเห็นปลาวาฬตายกลางทะเล ซึ่งเชื่อว่าเป็นโชคดีของผู้ค้นพบและของหมู่บ้าน หลังจากทางการได้รับแจ้งแล้วก็เกณฑ์เรือและคนออกไปลากศพปลาวาฬ เพื่อนำไปฝัง ซึ่งมีพิธีกรรมเช่นเดียวกับการฝังศพคน เช่นคนที่พบปลาวาฬเป็นคนแรกได้รับการสมมุติให้เป็นทายาทในพิธีฝังศพ ผู้คนก็นำเครื่องบูชามาเคารพศพ มีการจุดประทัด ตามปกติเมื่อฝังศพแล้ว จะสร้างเจดีย์ไว้บนหลุมฝังศพ โดยวิญญาณปลาวาฬจะเข้าสิงร่างคน และบอกว่าปลาวาฬที่ตายเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย เจดีย์ที่มีอยู่ในปัจจุบันชื่อว่า “เจดีย์มาดามปลาวาฬ” นอกจากนี้ชาวประมงยังมีเรื่องเล่าว่า ปลาวาฬช่วยชีวิตคนที่กำลังจะจมน้ำหรือช่วยเรือที่กำลังจะจมทะเล ผู้คนในหมู่บ้านชาวประมงเชื่อเรื่องนี้อย่างเหนียวแน่น ต่อไปนี้เป็นคำพังเพย บางครั้งก็มีเรื่องเล่าประกอบ เช่น ช้างที่อยู่ในป่าไม่มีทั้งแหย่งและปลอกคอ สุนัขที่มีรอยด่างที่ปลายหางจะนำเคราะห์กรรมาสู่เจ้าของ หนูมีรอยด่างที่หน้าผากและปลายหาง ถึงแม้ไม่มีใครเลี้ยงก็จะโต หดหู่เหมือนสุนัขราคาหนึ่งซูครึ่ง (เมื่อพูดถึงคนที่น่าเวทนา) สุนัขราคาหนึ่งซูครึ่งคือสุนัขข้างถนน ขี้เรื้อน อิดโรย เป็นอาหารชั้นเลว ส่วนสุนัขธรรมดาราคา 6 ซู และที่ดีที่สุดราคาเท่าจอบ (pioche) 1 อัน (12 ซู) ซึ่งมาจากการที่ชาวอันนัมขายสุนัขให้แก่ช่างตีเหล็กซึ่งทำงานหนัก และสามารถรับประทานเนื้อที่ได้ชื่อว่าย่อยยากมากได้ ช่างตีเหล็กให้เครื่องมือ 1 ชิ้นแก่คนขายเป็นการแลกเปลี่ยน การกระทำแบบชาวบ้านเช่นนี้กำลังจะสูญหายไป นอกจากนี้ยังมีนิทานพื้นบ้าน เช่น เรื่องเต่าแข่งกับเสือขึ้นภูเขา และเต่าเป็นฝ่ายชนะด้วย เล่ห์กล เรื่องกระต่ายกับเสือ เรื่องกบกับเสือ เรื่องนกยูงกับอีกา เรื่องนกช่างตีเหล็ก เรื่องแม่ไก่ป่า เรื่องตัวไหม เรื่องตัวต่อ ฯลฯ โดยจะขอเล่าเรื่องนกยูงกับอีกาเป็นตัวอย่าง 1 เรื่อง เมื่อก่อนนี้นกยูงกับอีกาเป็นเพื่อนกัน วันหนึ่งคิดจะแก้เหงา นกยูงจึงชวนอีกาให้เล่นระบายสีตามตัว (เมื่อก่อนนี้นกยูงยังไม่มีลวดลายสวยเหมือนเดี๋ยวนี้) นกยูงให้อีกาเริ่มระบายสีให้ตัวเองก่อน อีการะบายสีให้นกยูงมีลวดลายที่สวยงาม แต่เมื่อถึงตาของนกยูง ๆ ระบายสีให้อีกาดำทั้งตัว และแต้มสีขาวรอบคอให้ เมื่ออีการู้เข้าจึงโกรธและไม่ยอมคบหานกยูงเป็นเพื่อน อีกาไปอาศัยอยู่ในภูเขา ส่วนนกยูงอยู่ในที่ราบ ตั้งแต่นั้นมา
III เรื่องพืชผล
เป็นคำพังเพยหรือเรื่องเล่าที่สะท้อนให้เห็นความเชื่อของชาวอันนัม เช่น
เรื่องข้าว
ห้ามคนหอบฟางเดินตัดทุ่งนาเมื่อข้าวตั้งท้อง เพราะข้าวจะไม่มีเมล็ดเช่นเดียวกับฟาง และจะชูรวงขึ้นสู่ฟ้าแทนที่จะโน้มรวงลงสู่ดิน เพราะมีเมล็ดข้าวเต็ม
เรื่องมะละกอ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางตอนเหนือของซองเกียนห์ กล่าวกันว่าผลมะละกอไม่ดีต่อสุขภาพ เมื่อรับประทานแล้วจะทำให้เจ็บป่วยเมื่ออากาศชื้น นอกจากนี้ก็มีความเชื่อเรื่องการรับประทานกล้วยแฝด ว่าจะทำให้คลอดลูกแฝดหรือจะทำให้ลูกที่เกิดมามีนิ้วมือหรือนิ้วเท้าเพิ่มขึ้นเป็นข้างละ 6 นิ้ว สำหรับความเชื่อเกี่ยวกับพืชชนิดอื่น ๆ ก็มี เช่นความเชื่อเกี่ยวกับอ้อย ต้นไม้ที่ตาย เรื่องเม็ดพริกที่กระเด็นเข้าตา เรื่องมันป่า เป็นต้น IV เรื่องสิ่งของ และสถานที่
มีคำพังเพยเรื่องเครื่องมือทำนา เกวียน ถังใส่น้ำ บ่อน้ำ โดยเปรียบเทียบบ่อน้ำว่าเหมือน ถาดหวายใบใหญ่ ซึ่งคนทั้งหมู่บ้านดื่มได้ นอกจากนี้มีนิทานพื้นบ้านเรื่อง มีดตัดฟืน หลุมปืนใหญ่ ในแม่น้ำหงอนซอน (Nguồn-son) บ่อเงิน ยอดเขาเลซอน (Lệ-sơn) วัดในถ้ำ ป้อมเกาเลา (Cao Lao) เจดีย์ข้าว กระแสน้ำช่าอิ (Chày) ชาวกูลัก (Cu-lạc) แหลมด๊า ญาอิ (Ðá Nhảy) เจดีย์ล็องตร์ (Antre)
กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อดาวน์โหลดเอกสาร เข้าสู่ระบบ *