เขียนโดย Finot, Louis, 1864-1935 | วันที่เผยแพร่เอกสาร 01/01/2513
ผู้เข้าชม 2206 | จำนวนดาวน์โหลด 0
คะแนนสื่อ
religion des Chams, La = ศาสนาของชนชาติจาม
Finot, Louis, 1864-1935
ไทย - อังกฤษ
ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
M. L. Finot. (Année 1901). La Religion des Chams d'après les monuments, étude suivie d'un Inventaire sommaire des monuments Chams de l'Annam. Bulletin de l'Ecole française d'Extrême-Orient. Volume 1 Numéro 1 pp. 12-33
ดูเอกสารต้นฉบับจาก www.persee.fr
ศาสนาของชนชาติจาม (La religion des Chams) โดย หลุยส์ ฟิโน ผู้อำนวยการสถาบันฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ (Louis FINOT) Directeur de l’ École français d’ Extrême - Orient
สรุปความโดย ดร.เสาวนิต รังสิยานนท์
พื้นที่ชายฝั่งทะเลจีน ซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรอันนัมปัจจุบัน ในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรจัมปา อันทรงอิทธิพลเป็นเวลาหลายศตวรรษ แต่ปัจจุบันชนชาติจามอาศัยอยู่ในหุบเขา 2 แห่งทางใต้ของอันนัม หลังจากถูกบดขยี้ในกลางศตวรรษที่ 17 พวกเขาพากันลืมศาสนา และพระนามของพระเป็นเจ้าที่บรรพบุรุษเคยสักการะจนหมดสิ้น หากจะศึกษาจากพิธีกรรมในปัจจุบัน (ค.ศ.1901-ผู้แปล) ของพวกเขา ก็จะไม่ได้ร่องรอยของพิธีกรรมในอดีต หลักฐานที่พอจะใช้ศึกษาได้ก็มีแต่เพียงจารึก และหลักฐานทางโบราณคดี ซึ่งก็ชำรุดไปบ้าง หลักฐานบางอย่างก็ข้ามน้ำข้ามทะเลไปอยู่เสียไกลลิบ บางอันก็อยู่ใต้ทะเล รูปปั้นหรือเทวรูปที่ยังคงมีอยู่ ก็ถูกย้ายออกจากเทวสถานไปประดับอยู่ตามสวนสาธารณะ หรือในสวนตามบ้านผู้คน ทำให้สูญเสียความหมายในด้านศาสนา แต่ก็ยังพอเสาะหาประวัติศาสนาของจามจากหลักฐานที่ยังพอเหลืออยู่ได้
ศาสนาของชนชาติจามคือศาสนาฮินดู แต่ก็มีศาสนาพุทธแทรกอยู่ในการทำพิธีกรรม นอกจากการนับถือพระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ และพระชายาตามแบบศาสนาฮินดู
ชนชาติจามในความสำคัญแก่พิธีบูชาพระพรหมน้อยกว่าชาวกัมพูชา จะเห็นได้จากรูปปั้นพระพรหมที่ปราสาทมีซอน (My-sorn) ปะปนอยู่กับรูปปั้นเทพองค์อื่น ๆ
ส่วนการบูชาพระศิวะนั้นกระทำต่อศิวะลึงค์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระศิวะซึ่งมีแพร่หลาย นอกจากนี้ยังมีศิวะลึงค์ประดิษฐานอยู่บนแท่นบูชาที่เทวสถานในปราสาท Pho-hai และที่เจดีย์กลัยลาโม (Glai-Lamo) แต่ที่วัด Po Klong Garai ที่ Phanrang ที่ศิวะลึงค์ที่มีรูปสลักพระพักตร์ของกษัตริย์ผู้สร้างวัด ที่วัด Po Romê ที่ Phanrang เป็นภาพแกะสลักนูนต่ำของกษัตริย์จาม เหนือขึ้นไปมีภาพพระเศียร 3 เศียรสวมมงกุฎ มีวัวนนทิหมอบอยู่ที่ซ้ายขวาแสดงให้เห็นชัดเจนว่ากษัตริย์ที่สร้างวัดได้รับการยกย่องเทียบเท่าพระศิวะ
ยังมีภาพพระศิวะในอิริยาบทต่าง ๆ เช่นที่หน้าบันวัด Po Klong Garai อยู่ในท่ายืนมี 6 กร ส่วนในภาพนูนต่ำที่ Tourane ยืนอยู่บนหลังวัวนนทิ หรือในท่าฟ้อนรำ และท่านั่ง นอกจากนี้รูปปั้นพระศิวะยังทำหน้าที่ทวารบาล เช่นที่ดงเซือง (Đong-dương) ส่วนพระอุมาชายาของพระศิวะ เป็นเทวนารีที่สำคัญที่สุดของจาม โดยมีพระนามต่าง ๆ เช่น ภควัตตี โพนาดา ซึ่งมีเทวาลัยในนามของพระนางคือ เทวาลัยโพนาดาที่นาตรัง และชาวอันนัมก็ยังสักการะอยู่ในปัจจุบัน เช่นเดียวกับที่พวกจามเคยกระทำในกาลก่อน เทวาลัยบางแห่งก็สร้างอุทิศถวายแด่พระพิฆเนศวร แต่รูปปั้นของเทพองค์นี้ก็มีไม่มากนัก เท่าที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันเป็นรูปนูนต่ำที่ Tourane ส่วนเทวรูปนั้นอยู่ที่เขตเบียนหัว (Biên-hòa) ในโคชินจีน ภาพนูนต่ำของพระขันธกุมารมีอยู่ภาพเดียว รูปปั้นของโคนนทิแพร่หลายในอาณาจักรจัมปาเช่นเดียวกับที่ชวา ศาสนาจามให้ความสำคัญแก่การบูชาพระวิษณุและพระลักษมีมากเช่นกัน แต่ก็รองลงมาจากพิธีกรรมของพระศิวะและพระอุมา เทวรูปของพระวิษณุนั้นเป็นทั้งเทวรูปและจารึกตามหลักฐานที่ Aymonier ค้นพบในปี 1891 เทวรูปพระวิษณุที่บิ่นห์ธันห์ (Binh-thanh) ในเบียนหัว มีชาวอันนัมมาสักการะบูชามาก ส่วนเทวรูปอีกองค์หนึ่งชำรุดพบที่โคธันห์ ในกว๋างตรี (Quang-tri) อาจจะเป็นเทวรูปพระวิษณุ และที่ หมีเซิน(My-sơn) พบภาพนูนต่ำของพระวิษณุ ในซากโบราณสถานที่ ดงเซือง (Đong-dương) พบทับหลังแกะเป็นภาพนูนต่ำของ พระลักษมีประทับนั่งระหว่างช้าง 2 เชือก อีกภาพหนึ่งแสดงให้เห็นพระลักษมีบนขนดพญานาค มี 4 กร แต่ภาพในลักษณะเดียวกันนี้ของพระลักษมีพบที่หัวหมี (Hoà-mỷ) มี 2 กร ส่วนที่ตูราน (Tourane) เป็นรูปปั้นใหญ่ของพระลักษมีประทับนั่ง มี 2 กร ครุฑเป็นพาหนะของพระวิษณุ ครุฑและโคนนทิเป็นที่รู้จักแพร่หลายในวัดจาม โดยมีรูปครุฑอยู่ที่หน้าบัน เทวรูปที่แสดงภาพเทพเจ้า 2 หรือ 3 องค์ ของตรีมูรติอยู่ด้วยกันค่อนข้างหายาก เท่าที่พบมีเพียง 2 แห่งเท่านั้น แห่งแรกที่ อูเดียม (Ưu-dièm) เป็นรูปพระศิวะและพระอุมาประทับนั่งบนหลังโคนนทิ และมีพระขันธกุมารอยู่บนหลังนกยูง เหนือขึ้นไปมีเทวรูปพระวิษณุประทับอยู่บนหลังครุฑ ส่วนทางขวาของพระศิวะ มีพระพรหมประทับบนดอกบัว ทั้งหมดนี้แกะสลักเป็นภาพนูนต่ำในลักษณะของจารึก แห่งที่สองที่ ตรีธุย (Tri-thuy) ในคันห์หัว (khánh-hoà) เป็นแผ่นหินแตกออกเป็น 2 ชิ้น และถูกน้ำทะเลกัดเซาะ เป็นภาพแกะสลักนูนต่ำ มีรูปพระพรหมอยู่ทางซ้าย ส่วนทางขวาเป็นพระศิวะ 4 กร ตรงกลางไม่ชัดนัก น่าจะเป็นรูปพระวิษณุ
ศาสนาพุทธ
ศาสนาพุทธไม่มีอิทธิพลมากนัก วัดในศาสนาพุทธจึงมีน้อยในอาณาจักรจัมปา ที่ดงเซือง (Đong-Dương) มีวัดในศาสนาพุทธเพียงหนึ่งแห่งท่ามกลางโบสถ์พราหมณ์ ในวัดนี้มีพระพุทธรูป 1 องค์ สูง 1.50 เมตร ส่วนที่เป็นเศียรตกอยู่ข้างองค์พระ และในป่าแถบนั้นยังพบพระพุทธรูป 3 องค์ ไม่มีพระเศียร ที่บิ่นห์ดิ่นห์ (Binh-dinh) พบพระพุทธรูปพระโพธิสัตว์ ทำด้วยบรอนซ์ องค์เล็ก ปางนาคปรก ส่วนที่ถ้ำ ฟองนฮา (Phong-nha) ที่กว๋างบิ่นห์ พบพระพิมพ์ทำด้วยดินเหนียว ขนาดตั้งแต่ 2-7 เซนติเมตร บางองค์เป็นรูปพระโพธิสัตว์ บางองค์เป็นรูปพระศิวะหรือพระลักษมี วัตถุที่ค้นพบเป็นหลักฐานที่แสดงว่าถ้ำฟองนฮาเคยเป็นสถานที่ ๆ ทำพิธีกรรมทางศาสนาพุทธลัทธิมหายาน เช่นเดียวกับในชวา และกัมพูชา สรุปได้ว่าศาสนาใหญ่ 2 ศาสนาของอินเดียเคยรุ่งเรืองในอาณาจักรจัมปา โดยมีพิธีกรรมหลักคือการบูชาศิวะลึงค์ สัญลักษณ์ของพระศิวะ หรือบูชาพระอุมา “เทวนารีแห่งราชอาณาจักร” (โพนาการ์ (Po-Nagar) และบูชาพระลักษมี นอกจากนี้ประชาชนยังเลื่อมใสในครุฑ และโคนนทิ พระพาหนะของพระเป็นเจ้า ส่วนพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์ไม่มีความสำคัญมากนัก สำหรับศาสนาพุทธนิกายมหายาน ก็มีกษัตริย์และคนอีกกลุ่มหนึ่งนับถือ บทความนี้ต่อท้ายด้วยรายการหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของจามที่ค้นพบในอันนัม
กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อดาวน์โหลดเอกสาร เข้าสู่ระบบ *