เขียนโดย Maspero, G. (Gaston), 1846-1916. | วันที่เผยแพร่เอกสาร 01/01/2513
ผู้เข้าชม 2151 | จำนวนดาวน์โหลด 0
คะแนนสื่อ
Say-Fong, une ville morte = ไซฟอง นครแห่งอดีต
Maspero, G. (Gaston), 1846-1916.
ไทย - อังกฤษ
ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
G. Maspero. (Année 1903). Say-fong. une ville morte. Bulletin de l'Ecole française d'Extrême-Orient. Volume 3 Numéro 3 pp. 1-17
ดูเอกสารต้นฉบับจาก www.persee.fr
“Say-Fong, une ville morte” (ไซฟอง นครแห่งอดีต) โดย M.G. MASPERO Administrateur des Services civils de l’Indo-Chine ผู้บริหารฝ่ายพลเรือนของอินโดจีน
สรุปความโดย ดร.เสาวนิต รังสิยานนท์
I ซากปรักหักพังที่พบในเดือนมีนาคม 1902
เวียงจันทน์เป็นเพียงหมู่บ้านขนาดใหญ่ มีคนอาศัยอยู่ประมาณ 100 ครัวเรือน ไม่มีร่องรอยของความรุ่งเรืองในอดีต ใกล้หมู่บ้านเป็นป่า เต็มไปด้วยซากปรักหักพังของเจดีย์และพระพุทธรูป ซึ่งปกคลุมด้วยหนามและเถาวัลย์อันรกเรื้อ มีซากป้อมปราการซึ่งครั้งหนึ่งเคยมั่นคงแข็งแรง ล้อมรอบด้วยคูน้ำและนาข้าว แต่ถัดจากทุ่งนาก็เป็นป่ารกเต็มไปด้วยซากของโบราณวัตถุ อีกเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร ผู้เขียนพบร่องรอยของเมืองร้างนี้ในเดือนมีนาคม 1902 ตรงกันข้ามกับเวียงจันทน์เป็นเส้นทางที่คดเคี้ยวของแม่น้ำโขงจากท่าบ่อ เกาะน้อย หนองคาย และไหลวกกลับไปสู่เวียงจันทน์ เมืองร้างนี้อยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ตรงกันข้ามกับเมืองกุก (Mưàng-kuk) ปัจจุบันเป็นเพียงหมู่บ้านชาวลาวที่ยากจนที่ผู้คนเรียกว่า ไซฟอง (Sày-fông) และซากของเมืองเก่าก็จมอยู่ที่พื้นดิน ถูกทิ้งร้างเป็นเวลาหลายศตวรรษ จากร่องรอยที่เหลืออยู่ แสดงว่าเคยเป็นเมืองที่ใหญ่มาก ประกอบด้วยย่านใหญ่ 3 ย่าน คือ ย่านที่อยู่ติดแม่น้ำ ส่วนย่านที่สองขนานกับย่านแรก ย่านที่สามตั้งฉากกับแม่น้ำและอยู่ติดกับทั้งสองย่านแรก ตรงกลางเมืองเป็นที่สูงกว่าพื้นที่โดยรอบ ชาวบ้านเรียกว่า “สะพานเขมร” และซากของเมืองโบราณได้รับการดูแลดีกว่าที่อื่น ส่วนสุดทางด้านตะวันตกมีทะเลสาบ Kham-Sën มีผู้คนอาศัยอยู่ ริมฝั่ง ในที่แห่งนี้ผู้เขียนพบจารึก 3 หลัก และรูปปั้น 1 รูป สูง 40 เซนติเมตร กว้าง 30 เซนติเมตร เห็นได้ชัดว่าเป็นศิลปะแบบพราหมณ์ แบบเดียวกับที่นครวัด หินทรายเนื้อละเอียดแบบเดียวกับที่ใช้กับรูปปั้นไม่มีในแถบเวียงจันทน์ จารึกหลักที่ 1 ทั้ง 4 ด้านจารึกด้วยภาษาสันสกฤต สั่งให้สร้างโรงพยาบาล คล้ายกับที่เคยพบในกัมพูชา ส่วนจารึกอีก 2 หลัก จารึกด้วยภาษาลาว จารึกหลักแรกสูงประมาณ 50 เซนติเมตร กว้าง 3.5 เซนติเมตร มีอักษรจารึก 2 ด้านกล่าวถึงการสร้างเจดีย์วัดกลาง จารึกนี้สร้างระหว่าง ค.ศ. 1559-1565 ในสมัยที่ไซฟองขึ้นกับเวียงจันทน์ จารึกหลักที่สองสูงประมาณ 60 เซนติเมตร กว้าง 40 เซนติเมตร มีอักษรจารึก 2 ด้านค่อนข้างชัดเจน อยู่ในสมัยกษัตริย์แห่งจันทบุรี (ชื่อเดิมของเวียงจันทน์) ค.ศ. 1598 กล่าวถึงการทำบุญถวายเจดีย์ Muhn-noy-bhum
II ประวัติศาสตร์
ปัจจุบันนี้เรื่องราวของไซฟองได้เลือนหายไปจากความทรงจำของชาวลาว จากตำนานและหลักฐานอื่น ๆ พอจะสันนิษฐานได้ว่า ระยะที่ไซฟองรุ่งเรือง ควรอยู่ในศตวรรษที่ 11, 12 และ 13 ก่อนที่ศาสนาพุทธจะเข้ามาในลาว และอาจจะเริ่มเสื่อมเมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเจ้าเห็นความสำคัญของเวียงจันทน์ในกลางศตวรรษที่ 14 ด้วยความเลื่อมใสในพุทธศาสนาพระไชยเชษฐาจึงสร้างเจดีย์มากมาย รวมทั้งพระธาตุหลวงและเจดีย์ศรีสุพรรณ และกษัตริย์ที่ครองราชย์สืบต่อจากพระองค์ก็ทรงสร้างสืบต่อมา เมื่อ Gérard van Wusthoff มาถึงเวียงจันทน์ในปี 1641 เขาก็ตะลึงลานกับความวิจิตรตระการตาของเวียงจันทน์เป็นอันมาก เมื่อเวียงจันทน์เจริญรุ่งเรือง ไซฟองก็เสื่อมลง เมื่อถูกอันนัมและสยามรุกรานในปี 1792 และ 1827 ไซฟองก็เหลือเพียงซากปรักหักพัง จากหลักฐานทางเอกสารเป็นที่เชื่อถือได้ว่า ไซฟองเป็นเมืองหลวงที่รุ่งเรืองประมาณศตวรรษที่ 12 และเป็นพันธมิตรหรือเมืองบริวารของเขมร และในวันหนึ่งข้างหน้าอาจจะพบหลักฐานที่บอกสถานะของไซฟองในประวัติศาสตร์ลาว
III เรื่องเล่าจากไซฟอง
ก่อนเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานพระพุทธเจ้าทรงทำนายว่า พระพุทธศาสนาจะอยู่ในโลกเป็นเวลา 5,000 ปี และเมื่อมีคนที่มีผ้าพาดไหล่สีเหลืองผ่านมา เขาก็จะสืบต่อพระศาสนาได้ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วเป็นเวลา 1,433 ปีก็เกิดกลียุคในเมืองของพระเจ้าอินทร ชาวเมืองประพฤติชั่ว ปล้นสะดมภ์ และฆ่ากัน เพราะมียักษะ 4 ตน หว่านพืชพันธุ์แห่งความชั่วร้าย พระเจ้าอินทรจึงสอนประชาชนให้รู้จักศีลห้า และธรรมะแปดประการ และวันหนึ่งบ่าเธา (Bà Thao) ก็มาสร้างเมืองที่บึงไซฟอง ซึ่งต่อมาเมืองนี้ก็มั่งคั่ง สมบูรณ์ พูลสุข ประชาชนอยู่ในศีลธรรม ภายใต้การปกครองของพระราชาบ่าเธา ซึ่งต่อมามีพระนามว่าพระเจ้า Bhlah Sahling ตามชื่อเทวรูปที่อยู่ในไซฟอง พระองค์มีโอรสนาม Amkhà หรือท้าว Amkhà ซึ่งเป็นคนดีมีศีลธรรม และรูปโฉมงดงาม เมื่อเจริญวัยก็ขอประทานอนุญาตจากพระบิดาเพื่อสร้างเมืองใหม่ แล้วท้าว Amkhà ก็สร้างเมืองเชียงแสน ต่อมาท้าว Sàm-khà เจ้าเมือง Hi-nahkhôn ส่งทูตมาเจรจาให้ท้าว Amkhà ถวายบรรณาการ ท้าว Amkhà ไม่ยอมและเสด็จไปไซฟองทูลขอให้พระบิดาช่วยทำศึกจนชนะท้าว Sàm-khà และได้เมืองขึ้นเพิ่มขึ้นอีกมาก กษัตริย์ไซฟองสถาปนาท้าว Amkhà เป็น “พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรเชียงแสน” กษัตริย์ไซฟองอยู่ในราชสมบัติ 80 ปี ก็สวรรคต
สรุปความจาก
Maspero, G. (Gaston), 1846-1916. “Say-Fong, une ville morte”. ฺBEFEO, 1903,t.III, fase. 1, p.1-17
กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อดาวน์โหลดเอกสาร เข้าสู่ระบบ *