เขียนโดย สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ | วันที่เผยแพร่เอกสาร 01/01/2513
ผู้เข้าชม 25535 | จำนวนดาวน์โหลด 188
คะแนนสื่อ
หนังสือเรื่อง นิทานโบราณคดี
ผู้เขียน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
สถานที่ภูมิศาสตร์ มณฑลอุดรธานี
กลุ่มชาติพันธุ์ ลาว ผู้ไทย กะเลิง ย้อ แสก โย้ย กะตาก กะโซ้
ปีที่พิมพ์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๐ , ปีพ.ศ. ๒๕๐๓
สำนักพิมพ์ เขษมบรรณกิจ
เนื้อหาโดยย่อ
หนังสือนิทานโบราณคดีเป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระองค์ทรงนิพนธ์ไว้เมื่อครั้งอยู่ปีนัง ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๗๖ – ๒๔๗๘ อันเป็นการรวบรวมเรื่องราวต่างๆ ซึ่งอยู่นอกพงศาวดารเอาไว้ ตามคำขอและความต้องการของหม่อมเจ้าพูนพิสมัย ดิศกุล เนื้อหาที่มีการรวบรวมทั้งหมดจะเป็นเรื่องราวที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงประสบเจอคราวที่พระองค์ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๓๕ – ๒๔๕๗ ซึ่งพระองค์ได้เดินทางไปตรวจราชการตามหัวเมืองที่ห่างไกล โดยเฉพาะหัวเมืองทางภาคอีสาน เนื้อหาที่เกี่ยวกับผู้คนทางภาคอีสานจะประกอบด้วยเนื้อหาเรื่อง “ไทยลานช้าง” อันเป็นการอธิบายถึง ลักษณะการเรียกชื่อกลุ่มคนทางตอนเหนือแต่เดิมว่า “ลาวพุงดำ” ซึ่งมาจากการสักบรเวณลำตัวและต้นขา และเรียกกลุ่มคนทางภาคอีสานว่า ลาวพุงขาว เพราะไม่ได้สักเช่นคนทางเหนือ นอกจากนี้ ในพ.ศ. ๒๔๓๓ ยังมีการเรียกชื่อมณฑลตามชื่อกลุ่มชนที่เข้าใจแต่เดิม คือ มณฑลลาวเฉียง มณฑลลาวการ และมณฑลลาวพวน ทว่าการเรียกกลุ่มคนและชื่อมณฑล ตามหัวเมืองที่ห่างไกลว่าลาวเช่นนี้ จะส่งผลเสียต่อสยามในช่วงที่ชาติมหาอำนาจตะวันตกเข้ามาล่าอาณานิคมในภูมิภาคนี้ หลังการปรับระบบบริหารราชการส่วนภูมิภาคใหม่ ในพ.ศ. ๒๔๓๕ จึงมีการเปลี่ยนชื่อมณฑลใหม่ให้สอดคล้องตามทิศ คือมณฑลพายัพ มณฑลอุดร และมณฑลอีสาน แล้วจึงเรียกชื่อกลุ่มคนที่อยู่ตามมณฑลต่างๆ ว่าชาวพายัพ ชาวอุดร และชาวอีสาน เนื้อเรื่องต่อมาเป็นการอธิบายถึงพิธีกรรมของคนภาพอีสานในการรับขวัญสู่ขวัญ คือ “พิธีบายศรี” โดยอธิบายว่า พิธีบายศรีเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งของคนภาคอีสานในการต้อนรับผู้ที่เดินทางมาในถิ่นนี้ โดยเริ่มพิธีจะมีผู้ทำพอธีจุดธูปบูชาเครื่องสักการะและกล่าวบทเชิญขวัญ ลำดับต่อมาจะมีการนำด้ายขาวมาผูกข้อมือผู้เข้าร่วมในพิธี นอกจากนี้ยังมีการฟ้อนรำ และการละเล่นรื่นเริงประกอบ เรื่องต่อมาที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้เกี่ยวกับผู้คน คือเรื่อง “คนต่างจำพวก” เนื้อหาในเรื่องนี้เป็นการอธิบายลักษณะผู้คนในมณฑลอุดรและมณฑลอีสานที่ได้พบเห็น ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันหลายกลุ่ม กลุ่มแรกที่กล่าวถึงคือ ผู้ไทย โดยอธิบายว่า มีถิ่นฐานเดิมอยู่เมืองพวนล้านช้าง พบได้ในสองมณฑลนี้ และพบมากในเมืองเรณูนครและสกลนคร กลุ่มที่สอง คือ กะเลิง พบได้ในเมืองสกลนคร ผู้ชายไว้ผมมวย บางคนไว้ผมประบ่า มักสักรูปนกไว้ที่แก้ม กลุ่มที่สามคือ ย้อ พบได้ตามเมืองท่าอุเทน ถิ่นฐานเดิมอยู่เมืองชัยบุรี เคยอพยพหนีกองทัพสยามไปอยู่ในแดนญวนครั้งหนึ่ง แล้วจึงกลับเข้ามาอยู่ในดินแดนสยามในสมัยรัชกาลที่ ๓ กลุ่มต่อมาคือพวกแสก พบมากในเมือง อาจสามารถขึ้นกับเมืองนครพนม ถิ่นฐานเดิมอยู่เชิงเขาบรรทัด ผู้หญิงแสกจะมีการละเล่นเต้นสาก กลุ่มที่ห้า คือโย้ย พบที่เมืองอากาศอำนวย ขึ้นกับเมืองสกลนคร กลุ่มที่หกคือพวกกะตาก พบบ้างที่เมืองสกลนคร และกลุ่มที่เจ็ดคือกะโซ้ นับเป็นข่าผิวคล้ำ พบได้ในมณฑลอุดร แต่รวทกันอยู่เป็นจำนวนมากในเมืองกุสุสาลย์มณฑล ขึ้นกับเมืองสกลนคร กลุ่มสุดท้ายได้พบที่มณฑลอีสานคือ กลุ่มเขมรป่าดง ซึ่งอยู่บริเวณเมืองสุรินทร์ สังคะ ขุขันธ์ ศรีสะเกษ และประโคนชัย ขึ้นกับเมืองนครราชสีมา ท้ายสุดของเนื้อเรื่องในตอนนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้อธิบายว่าผู้คนหลากหลายกลุ่มที่กล่าวมา เมื่อสังเกตจากลักษณะทางภาษาแล้วสามารถจำแนกได้เพียงสองกลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มไทยและข่าเท่านั้น นอกจากนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังได้กล่าวว่า กลุ่มคนลาวที่ไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้ น่าจะมาจากพวกละว้า หรือ ลวะ ซึ่งเป็นกลุ่มคนเจ้าของถานลุ่มนำเจ้าพระยาแต่เดิม