เขียนโดย เสาวลักษณ์ อนันตศานต์ และ วินัย ภู่ระหงษ์ | วันที่เผยแพร่เอกสาร 01/01/2513
ผู้เข้าชม 7076 | จำนวนดาวน์โหลด 0
คะแนนสื่อ
การเกด (๒๗-๓๐/๒๕๕๒)
บทละครนอกเรื่องการเกดเป็นบทละครสมัยอยุธยา มีต้นฉบับหนังสือสมุดไทยอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ จำนวน ๓ เล่ม เมื่อพิจารณาเนื้อเรื่องทั้ง ๓ เล่ม เนื้อความต่างกันเป็น ๒ สำนวน
คือ เล่ม ๑ เป็นสำนวนหนึ่ง และเล่ม ๒ เล่ม ๓ เป็นอีกสำนวนหนึ่ง ทั้ง ๒ สำนวน ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง เนื้อความไม่สมบูรณ์และไม่ติดต่อกัน
สำนวนที่ ๑ มีเนื้อเรื่องดังนี้
ท้าวมณฑาเป็นกษัตริย์ครองเมืองอุทยาน มเหสีชื่อ มหาหงส์ มีธิดาชื่อ สาวหยุด เมื่อนางมีอายุพอสมควรที่จะมีคู่ ท้าวมณฑาก็ให้จัดพิธีสยุมพรและป่าวร้องกษัตริย์ทั้งหลายมาร่วมในพิธี โดยตั้งเงื่อนไขว่า ถ้าผู้ใดยกศรซึ่งตามปรกติจะต้องใช้คนถึง ๑,๐๐๐ คนยกได้สำเร็จ ก็จะได้อภิเษกสมรส กษัตริย์ทั้ง ๑๐๑ พระองค์เดินทางมาร่วมพิธี มีชื่อต่าง ๆ กัน เช่น พระจำปี พระจำปา เจ้ามะลิเชียงใหม่ เจ้าดาวเรืองเมืองอังวะ แต่ไม่มีผู้ใดสามารถยกศรได้กล่าวถึงพระการเกดเป็นโอรสของท้าวกาหลงกับนางลำเจียก แห่งเมืองวาริน ออกจากเมืองไปเล่าเรียนศิลปศาสตร์อยู่กับพระฤๅษี เมื่อถึงคราวจะได้คู่ครอง พระอินทร์มาเข้าฝันบอก เล่าเรื่องราวของนางสาวหยุดให้ทราบ พระการเกดจึงกราบลาพระฤๅษีออกเดินทางไปยังเมืองอุทยานและยกศรได้สำเร็จ กษัตริย์ทั้ง ๑๐๑ ต่างก็อิจฉา ได้ท้ารบกับพระการเกด พระการเกดจึงใช้ไม้เท้ากายสิทธิ์ต้นชี้ตายปลายชี้เป็น ชี้ให้กษัตริย์เหล่านั้นตายหมด ภายหลังได้ชุบให้ฟื้น เพราะเกรงว่าบาปกรรมจะติดตัวไป กษัตริย์ทั้ง ๑๐๑ จึงยอมเป็นบริวาร
มียักษ์ตนหนึ่งชื่อท้าวพุดตาน เป็นโอรสของท้าวทานตะวันและนางนมสวรรค์ ครองเมืองหิมวันต์ วันหนึ่ง ท้าวพุดตานเหาะออกจากเมืองไปเที่ยวเล่น พบกองทัพของกษัตริย์ทั้ง ๑๐๑ กำลังยกกลับบ้านเมืองก็สงสัย เข้าไปไต่ถาม กษัตริย์ทั้ง ๑๐๑ ไม่ได้มีจิตใจภักดีต่อพระการเกดอย่างแท้จริง ก็แกล้งเล่าถึงความงามของนางสาวหยุดเพื่อให้ท้าวพุดตานไปปราบพระการเกด ท้าวพุดตานได้ฟังก็อยากได้นางสาวหยุดมาเป็นคู่ครอง ได้ขอให้ท้าวทานตะวันแต่งสารไปขอนางสาวหยุดจากท้าวมณฑา ท้าวมณฑาปฏิเสธ อ้างว่านางมีคู่ครองแล้ว ท้าวทานตะวันถือเป็นสาเหตุยกทัพมาตีเมืองอุทยาน
พระการเกดได้ต่อสู้กับท้าวพุดตานและใช้ไม้เท้ากายสิทธิ์ชี้ท้าวพุดตานตาย ท้าวทานตะวันจึงไปขอความช่วยเหลือจากสหายชื่อท้าวมะลิวัลย์ พระประยงค์โอรสของท้าวมะลิวัลย์รับอาสาไปจับตัวพระการเกดที่เมืองอุทยาน โดยใช้วิธีสะกดคนทั้งเมืองให้หลับ แล้วอุ้มพระการเกดมาจองจำไว้ แต่เทวดาบังตาไม่ให้พระประยงค์เห็นไม้เท้ากับเกือกแก้วของพระการเกด จึงไม่ได้นำไปด้วย
ทางเมืองอุทยาน เมื่อพระการเกดหายไปก็เข้าใจกันว่าถูกยักษ์จับตัวไป นางสาวหยุดจึงสวมเกือกแก้ว ถือไม้เท้า หลบออกจากวังไปตามหา ระหว่างทางนางต้องผ่านป่าซึ่งมีผีดิบ ชื่อนางบานไม่รู้โรยเฝ้ารักษาอยู่ เกิดต่อสู้กันขึ้น นางสาวหยุดใช้ไม้เท้าชี้นางบานไม่รู้โรยตาย สำนวนแรกมีเนื้อความจบเพียงเท่านี้
การเกดอีกสำนวนหนึ่ง ซึ่งสมุดไทยระบุว่าเป็นเล่ม ๒ และเล่ม ๓ แต่มีเนื้อเรื่องต่างไปจากสำนวนแรก เนื้อเรื่องเริ่มด้วยพระการเกดขี่ม้าไปถึงเมืองของท้าวกรุงสีพิมล และซ่อนตัวอยู่ในสวน เห็นนางมะลิทองราชธิดาของท้าวกรุงสีพิมลกำลังเก็บดอกไม้เพื่อร้อยมาลัยไปถวายท้าวกรุงสีพิมล
พอถึงเวลากลางคืนพระการเกดซึ่งแอบอยู่ที่ปราสาทของนางก็เข้าไปหาและเกี้ยวพาราสีจนได้นางมะลิทองเป็นชายา รุ่งเช้าพี่เลี้ยงของนางมะลิทองมาเห็นพระการเกดอยู่กับนางมะลิทอง ก็ไปกราบทูลท้าวกรุงสีพิมล ท้าวกรุงสีพิมลจึงให้เสนาผูกหอกยนต์ดักไว้ที่หน้าต่างห้อง ตกกลางคืน พระการเกดขี่ม้าเหาะเข้าห้องนอนของนางมะลิทองก็ถูกหอกยนต์ตายทั้งม้าด้วย ก่อนตายพระการเกดร้องสั่งนางมะลิทองให้นำศพของตนและม้าห่อผ้าขาวใส่แพลอยน้ำ นางมะลิทองก็ทำตามศพพระการเกดและศพม้าลอยน้ำไป พญาครุฑซึ่งเป็นบิดาเลี้ยงของพระการเกดบินผ่านมาก็จำได้ จึงคาบศพไปให้พระโคดมสมมิตรนาคาผู้เป็นอาจารย์ของพระการเกดชุบชีวิตพระการเกดฟื้นคืนชีวิตแล้วได้อยู่ปรนนิบัติพระอาจารย์อยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งก็กลับไปหานางมะลิทอง พวกนางพี่เลี้ยงชาวในเห็นพระการเกดก็จำได้ นำความไปกราบทูลท้าวกรุง
สีพิมล ท้าวกรุงสีพิมลจึงให้ทหารมาล้อมปราสาทและได้ต่อสู้กัน ท้าวกรุงสีพิมลเสียทีถูกพระการเกดฆ่า แล้วชุบให้ฟื้นขึ้นมาอีก ท้าวกรุงสีพิมลจึงยกนางมะลิทองให้
พระการเกดอยู่กับนางมะลิทองชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก็ทูลลาท้าวกรุงสีพิมลกลับบ้านเมือง พระการเกดพานางมะลิทองเดินทางผ่านเมืองของยักษ์ชื่อท้าวไอยรา ได้แวะพักที่ศาลาในสวน ท้าวไอยราทราบว่ามีผู้บุกรุกสวนก็โกรธ จะจับตัวไปลงโทษ แต่พอเห็นนางเข้าก็นึกรัก อยากได้นางเป็นภรรยา จึงเป่ามนตร์ให้พระการเกดกับนางมะลิทองหลับไป สำนวนที่ ๒ มีเนื้อความจบเพียงเท่านี้
บทละครเรื่องการเกดทั้ง ๒ สำนวน เป็นบทที่แต่งขึ้นสำหรับให้ชาวบ้านเล่นเพื่อความบันเทิง สำนวนกลอนไม่สู้ไพเราะ แต่ก็มีการแต่งบทตามกฎเกณฑ์และบรรจุเพลงหน้าพาทย์กับเพลงร้องไว้ ดังตัวอย่าง
ตอนพระการเกดยกศร
พระองค์จึงทรงเข้ายกศิลป์ เคลื่อนขึ้นจากดินพ้นที่
ภูธรยกศรขึ้นทันที จรลีเดินรอบขอบชลา (การเกด เล่ม ๑)
ตอนนางผีดิบบานไม่รู้โรยออกชมป่า
ถึงพฤกษารื่นรมย์ลมโชย ไม่รู้โรยยินดีจะมีไหน
อิ่มเอิบกำเริบหฤทัย ตั้งใจหาคู่จะสู่ชม (การเกด เล่ม ๑)
ส่วนสำนวนที่ ๒ มีลักษณะเป็นกลอนชาวบ้าน ไม่เน้นความไพเราะ ดังตัวอย่าง
ตอนพระการเกดออกเที่ยวกับม้า
เมื่อนั้น การเกดทรงศักดิ์พระจักรี ได้ฟังอาชามาพาที
พระภูมีระรื่นชื่นพระทัย ท้าวเสด็จขึ้นทรงมิ่งอาชา อัศดรจรพาเหาะไป
วิ่ง ๆ มิ่งแก้วตาพาไปไว ๆ ข้ามห้วยเขื่อนเขาลำเนาไพร ลอยล่องท่อง
ในเวหา (การเกด เล่ม ๒)
ตอนพระการเกดได้นางมะลิทอง
ว่าพลางทางเลิกเบิกภูษา เห็นนมฉายาตละปั้น
พินิจพิศดูนางจอมขวัญ ป่วนปั่นพระทัยจะใคร่สม รูปร่างเจ้าก็งาม
อยู่สันทัด เอวกลมนมตัดกำดัดชม เย้ายวนใจชายจะใคร่สม เชยชม
กัลยานางนารี (การเกด เล่ม ๒)
โฉมฉาย จะยากเย็นเป็นตายพี่ไม่คิด มิใช่ชายชั่วจะกลัวผิด
ถึงจะสิ้นชีวิตไม่คิดเลย ขอแต่ได้น้องประคองเชย น้องเอยเจ้าได้มาเมตตา
รู้แล้วว่าแก้วเจ้าไม่สั่ง ใจจิตคิดรังสั่งมาหา (การเกด เล่ม ๒)
ตอนพญาครุฑมาพบศพพระการเกด
คิดแล้วสุบรรณท้าวปักษา คาบศพอาชาเข้ามินาน ได้แล้ว
ปักษีบินทะยาน มินานมาถึงซึ่งไพรพง หยุดอยู่กลางไพรที่ในดง ที่ไกล
อาศรมพระนาคา (การเกด เล่ม ๓)
การเกดอาจเป็นชื่อที่รู้จักกันทั่วไป มีเพลงกล่อมเด็กบทหนึ่งกล่าวถึงการเกด ดังนี้
เจ้าการเกดเอย ขี่ม้าเทศจะไปท้ายวัง
ชักกฤชออกมาแกว่ง ร่าจะไปแทงฝรั่ง
เมียห้ามก็ไม่ฟัง เจ้าการเกดเอย
เพลงกล่อมเด็กบทนี้เป็นของเก่า และเชื่อว่าการเกดเป็นบุคคลจริง เป็นคนกล้าหาญ เป็นที่นิยมมชอบของคนทั่วไป ผู้แต่งบทละครทั้ง ๒ สำนวนอาจได้ชื่อการเกดจากเพลงกล่อมเด็กบทนี้นำไปเป็นชื่อตัวเอกและเป็นชื่อเรื่องเรื่องการเกดเป็นเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ มีความแปลกในด้านการตั้งชื่อตัวละครเป็นดอกไม้ เช่น ระบุชื่อกษัตริย์ทั้ง ๑๐๑ เป็นต้นว่า พระจำปี พระจำปา เจ้ามะลิเชียงใหม่ เจ้าดาวเรืองเมืองอังวะ
เหล่านี้ไม่ปรากฏในบทละครนอกเรื่องอื่น ๆ จุดเด่นของเรื่องนี้คือ การใช้จินตนาการทำให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน เช่น การใช้ไม้เท้าต้นชี้ตายปลายชี้เป็นฆ่าคนตายแล้วชุบชีวิตให้ฟื้น การใช้ของวิเศษอย่างอื่น คือ เกือกแก้วการผูกหอกยนต์ การใช้เวทมนตร์ มีตัวละครในจินตนาการ คือ ม้าเหาะได้ ยักษ์ ผีดิบเรื่องการเกดยังแสดงให้เห็นโลกทัศน์ของคนไทยที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา คือ ความเชื่อในเรื่องของกฎแห่งกรรม ตัวอย่างเห็นได้จากที่พระการเกดใช้ไม้เท้าต้นชี้ตายปลายชี้เป็นชี้ให้กษัตริย์ทั้ง ๑๐๑ ตายหมด ภายหลังก็ชุบชีวิตเพราะเกรงว่าบาปกรรมจะติดตัวไป
ความเชื่อที่ปรากฏในเรื่องการเกด คือ ความเชื่อเรื่องเทวดา คนในสังคมไทยส่วนใหญ่เชื่อว่า ผู้มีบุญหรือผู้ที่ทำความดีจะได้รับความช่วยเหลือจากเทวดาในยามที่ประสบความเดือดร้อนหรือในเวลาที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในชีวิต เช่น พระอินทร์มาเข้าฝันพระการเกดบอกเล่าเรื่องคู่ครองของพระการเกด ตอนที่พระประยงค์จับตัวพระการเกดไป ก็ไม่ได้นำไม้เท้ากับเกือกแก้วของพระการเกดไปด้วย เพราะเทวดาช่วยบังตาไม่ให้เห็นของวิเศษนั้น ความช่วยเหลือของเทวดาเป็นวิธีการที่ทำให้ดำเนินเรื่องต่อไปได้และสมเหตุสมผล คือ นางสาวหยุดใช้ไม้เท้ากับเกือกแก้วเป็นอุปกรณ์ในการออกตามพระการเกด และสามารถเอาชนะศัตรูได้
คุณค่าทางวรรณศิลป์ของบทละครนอกเรื่องการเกด คือ การใช้คำง่าย เป็นภาษาที่ชาวบ้านใช้ มีคำคล้องจอง และมีเพลงหน้าพาทย์กับเพลงร้องกำกับไว้ตามแบบแผนของบทละครด้วย.
รศ.เสาวลักษณ์ อนันตศานต์
รศ.วินัย ภู่ระหงษ์
คัดจาก สารานุกรมวรรณคดีไทย จัดทำโดย คณะบรรณาธิการจัดทำ สารานุกรมวรรณคดีไทย ราชบัณฑิตยสถาน (อยู่ในระหว่างดำเนินการ)
โดยได้รับอนุญาตจาก ผู้เขียน และประธานคณะบรรณาธิการจัดทำสารานุกรมวรรณคดีไทย
ให้นำมาประกอบในโครงการ หนังสือเก่าชาวสยาม ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เท่านั้น
หมายเหตุ เนื่องจากข้อเขียนที่นำมาลงนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของราชบัณฑิตยสถานและยังไม่ได้พิมพ์ออกเผยแพร่ จึงห้ามคัดลอก ตัดทอน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปใช้ นำไปอ้างอิงหรือเผยแพร่ต่อ โดยไม่ได้รับอนุญาต