หมวดใหญ่ : วรรณกรรม
หมวดหมู่ย่อย : นิราศ
เขียนโดย นราธิปประพันธ์พงศ์, กรมพระ, 2404-2474 | วันที่เผยแพร่เอกสาร 01/01/2513
ผู้เข้าชม 9777 | จำนวนดาวน์โหลด 21
คะแนนสื่อ
โคลงสุภาพเรื่องนิราศชะอำ
นราธิปประพันธ์พงศ์, กรมพระ, 2404-2474
๒๔๗๒
โรงพิมพ์อักษรนิติบางขุนพรหม
ไทย
กรม พระนคร
นิราศ
โครงสุภาพ
นราธิปประพันธ์พงศ์, กรมพระ. (๒๔๗๑). โคลงสุภาพเรื่องนิราศชะอำ. พระนคร : โรงพิมพ์อักษรนิติ.
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ฝีพระโอษฐ์ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
พ.ศ.2471
บรรณนิทัศน์ “ โคลงสุภาพ เรื่องนิราศชะอำ ”
ผู้แต่ง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
หนังสือเรื่อง โคลงสุภาพเรื่องนิราศชะอำ
สถานที่ภูมิศาสตร์ จังหวัดกรุงเทพมหานครถึงชะอำจังหวัดเพชรบุรี
กลุ่มชาติพันธุ์ ไทย เขมร จีน
ปีที่พิมพ์ ๒๔๗๒
สำนักพิมพ์ โรงพิมพ์อักษรนิติบางขุนพรหม เนื้อหาโดยย่อ
โคลงสุภาพเรื่องนิราศชะอำ เป็นพระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒ บทประพันธ์นี้ขึ้นต้นด้วยร่ายสุภาพแล้วต่อด้วยโคลงสี่สุภาพ จำนวน๑๕๑ บท เนื้อหาพรรณนาการเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปยังชะอำจังหวัดเพชรบุรี ในคราวที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ออกสำรวจพื้นที่ชายทะเล วางผังเมือง และตัดถนนที่ชะอำเพื่อให้ชะอำมีความเจริญมากยิ่งขึ้น โดยระหว่างการเดินทางได้บรรยายถึงลักษณะธรรมชาติ พร้อมกับบันทึกสถานที่ทางภูมิศาสตร์ที่พบเห็นระหว่างการเดินทาง
การเดินทางของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ในครั้งนี้ใช้รถไฟเป็นพาหนะ โดยออกเดินทางในเวลาเจ็ดนาฬิกา จากสถานีรถไฟหัวลำโพงและมีการบันทึกถึงชื่อสถานที่ต่างๆ ระหว่างการเดินทาง ได้แก่ สถานีจิตรลดา สามเสน บางซื่อ บางซ่อน สะพานพระราม บ้านบางตำรุ ตลิ่งชัน ศาลาธรรมสพน์ ศาลายา วัดสุวรรณ งิ้วราย สะพานเสาวภา บ้านเขมร ท่าแฉลบ นครปฐม สนามจันทร์ โพรงมะเดื่อ บางตาล หนองปลาดุก บ้านโป่ง นครชุมน์ คลองตาคต บ้านเขือง เจ็ดเสมียน บ้านกล้วย สะพานจุฬาลงกรณ์ เมืองราชบุรี บ้านคูบัว บ้านปากท่อ บ้านโขต คลองประดู่ หนองปลาไหล เมืองเพชรบุรี ห้วยเสือ เขาทโมน หนองไม้เหลือง หนองจอก หนองศาลาจนกระทั่งถึงชะอำจังหวัดเพชรบุรี
จากนั้นยังได้บรรยายถึงลักษณะเด่นของสถานที่ภูมิศาสตร์ที่ได้พบเห็นระหว่างการเดินทาง ดังเช่น บรรยายถึงคลองตาคดว่า คนชื่อตาคตนี้เคยติดคดทรยศต่อคนอื่นหรือไม่หรือมีการประลองขุดคลอง ทั้งยังบรรยายลักษณะของคลองตาคดนั้นมีความคดเคี้ยวสมดังชื่อ ดังโคลงบทที่ว่า
(๗๔) ผ่านคลอง ตาคตโอ้ เอ๋ยตา คตเอย
เคยคต ทรยศทา ถิ่นย้วย
หรือประลอง ขุดคลองนา เคี้ยวคต ไฉนเฒ่า
ขึ้นชื่อ ลือตาด้วย คตเคี้ยวเสียวอโข ฯ
(โคลงสุภาพ เรื่องนิราศชะอำ: ๒๒)
บรรยายถึงที่มาของชื่อศาลาธรรมสพน์ว่า เป็นศาลาที่ไว้สำหรับทำพิธีศพ และมีการเปลี่ยนชื่อใหม่ภายหลัง ดังโคลงบทที่ว่า
(๔๐) ศาลาธรรม สพน์แสร้ง อักษร ผสมฤๅ
ทำศพ ราษฎรชอน ชื่อด้าว
ฟังธรรม นี่คำตอน ใหม่ประดิษฐ์ เดียร์พี่
ไหนเน่ห์ เสาะเล่ห์น้าว เสนาะถ้อยประดอยหา ฯ
(โคลงสุภาพ เรื่องนิราศชะอำ: ๑๔)
บรรยายถึงบ้านกล้วยว่า เป็นหมู่บ้านที่มีต้นกล้วยจำนวนมากจึงได้ตั้งชื่อว่าบ้านกล้วย และกล่าวถึงบ้านเขมรว่า เป็นหมู่บ้านที่คนเขมรอาศัยอยู่ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเชลยถูกกักต้อนมาจากกัมพูชา เป็นต้น
ในโคลงสุภาพเรื่องนิราศชะอำนี้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ได้แสดงให้ทราบว่าในสมัยนั้นได้มีการรับประทานอาหารแบบชาวต่างชาติ ดังเห็นในโคลงบทที่พรรณนาถึงการรับประทานอาหารเช้า ได้รับประทานไข่ นม ขนมปัง ยาคู และคอฟฟี่ ดังในโคลงบทที่ว่า
(๒๐) สนามองค์ ทรงเครื่องเช้า เฉลีมหวัง
เสวยไข่นม ขนมปัง อ่อนปิ้ง
ยาคู คอฟฟี้ดัง ดื่มทิพ รสฤๅ
พิศิษฏ์สง่า มาลาพริ้ง พักตร์ทึ้งทาณฑ์กร ฯ
(โคลงสุภาพ เรื่องนิราศชะอำ: ๙)
และยังกล่าวถึงการประกอบอาชีพของคนไทยว่านิยมประกอบอาชีพทำไร่ทำสวนดังบทที่พรรณนาถึงการเดินทางโดยรถยนต์ว่ารถได้แล่นผ่านไร่ ผ่านสวน ของชาวบ้าน นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงคนจีนว่าคนจีนในสมัยนั้นยังมีการลงทุนสร้างโรงสีอีกด้วย
ทั้งนี้ จากบทประพันธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ได้สะท้อนให้เห็นความเชื่อและความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ดังโคลงบทกล่าวถึงขณะที่รถไฟจอดที่หน้าสถานีรถไฟนครปฐม ก็ยกมือขึ้นไหว้องค์พระปฐมเจดีย์
(๖๔) รถไฟไปจอดหน้า สถานี
เห็นปฐมะเจดีย์ เด่นใกล้
มหามกุฏ นุสสรณีย์ สถาปนาตถ์ สนองเอย
ไหว้พระไตร รัตน์ไหว้ ชนกผู้ผพดุงหัว ฯ
(โคลงสุภาพ เรื่องนิราศชะอำ: ๒๐)
จำนวน ๖๓ หน้า
กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อดาวน์โหลดเอกสาร เข้าสู่ระบบ *
ไฟล์ : nirat_resize.pdf
คำอธิบาย :
ขนาดไฟล์ : 5.28 MB
ดาวน์โหลด : 21