ขึ้นเขาเผาข้าวหลาม

12425 ครั้ง |

ชื่อเรียกอื่น :
เดือนที่จัดงาน : กุมภาพันธ์,มีนาคม
เวลาทางจันทรคติ : ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 วันมาฆบูชาของทุกปี
สถานที่ : วัดสุวรรณคีรี(เขาดงยาง)
: โรงเรียนวัดหัวสำโรง
ภาค / จังหวัด : ภาคตะวันออก
: ฉะเชิงเทรา
ประเภท : ประเพณีตามเทศกาล หรือประเพณี 12 เดือน
ประเพณีที่เกี่ยวข้อง :
คำสำคัญ : เผาข้าวหลาม,เขาดงยาง,ลาวเวียง,วัดสุวรรณคีรี,โรงเรียนวัดหัวสำโรง
ผู้เขียน : สาวิตรี ตลับแป้น
วันที่เผยแพร่ : 27 เม.ย. 2560
วันที่อัพเดท : 11 ต.ค. 2561

ประเพณีขึ้นเขาเผาข้าวหลาม

            เกือบสองร้อยปีของการสืบทอดงานประเพณี “บุญข้าวหลาม” ของชาวลาวเวียงที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ มาอาศัยในอำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 3) พอถึงเดือนสามช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าว ชาวบ้านได้พร้อมใจกันไปทำบุญด้วยการนำข้าวใหม่ มีกลิ่นหอม นำไปทำข้าวหลามเผาให้สุกหอมในกระบอกไม้ไผ่สีสุก  สมัยนั้นชาวบ้านนำข้าวหลามไปถวายพระที่วัดหนองบัวและวัดหนองแหน พร้อมกับถวายขนมจีนน้ำยาป่าด้วย

            การมาเป็นประเพณีขึ้นเขาเผาข้าวหลาม มีความสืบเนื่องมาจากความศรัทธาในพุทธศาสนาของชาวลาวเวียง ที่เขาดงยาง วัดสุวรรณคีรีในปัจจุบัน บนยอดเขามีรอยพระพุทธบาท ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันเดินเท้าเพื่อไปสักการะปิดทอง การเดินทางต้องเดินเท้าผ่านป่าระยะทาง 5-6 กิโลเมตร ชาวบ้านจึงได้ทำการเผาข้าวหลามกันในวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 3 เพื่อนำไปถวายพระและเป็นเสบียงสำหรับการเดินทางไปทำบุญในเช้าวันรุ่งขึ้นซึ่งตรงกับวันมาฆบูชา วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 ของทุกปี

            ปัจจุบันประเพณีการขึ้นเขาเผาข้าวหลามได้จัดขึ้น 2 แห่ง ในวันเดียวกัน คือที่วัดสุวรรณคีรี(เขาดงยาง) อำเภอพนมสารคาม และที่โรงเรียนวัดหัวสำโรง อำเภอแปลงยาว  การจัดในอีกชุมชนนั้นมีความน่าสนใจ  จากการยอมรับประเพณีของอีกชุมชนหนึ่ง  เกิดมาจากว่าชาวลาวเวียงได้ใช้เส้นทางเดินไปเขาดงยาง แล้วต้องผ่านมายังชุมชนหัวสำโรง ซึ่งเป็นบ้านเรือนของชาวไทยเชื้อสายเขมร  ต่อมาบุญข้าวหลามจึงเป็นประเพณีของที่นี่ด้วย

            การจัดงานใน 2 ชุมชนมีรูปแบบแตกต่างกัน งานประเพณีขึ้นเขาเผาข้าวหลามของอำเภอพนมสารคาม จัดขึ้นที่วัดสุวรรณคีรี(เขาดงยาง) ลักษณะเป็นงานวัด มีการออกร้านที่มีร้านค้าจำนวนมากนำสินค้ามาขาย หนึ่งในสินค้าเด่นคือข้าวหลาม มีการจัดเตรียมสถานที่บริเวณทางขึ้นเขาดงยางให้คนมาไหว้พระทำบุญบริจาค ถวายสังฆทาน มีการตกแต่งทำกระเช้าลอยฟ้าขนาดใหญ่ สามารถชักรอกขึ้นไปยังซุ้มประตูตรงบันไดทางขึ้นเขาที่มีรูปปั้นราหูขนาดใหญ่ตั้งอยู่ด้านหน้า  ทางวัดเรียกกระเช้านี้ว่า ผ้าป่าลอยฟ้า

            คุณบุญสม สนธิ ชาวบ้านในชุมชนบ้านปากห้วย อาชีพทำสวน ทำไร่มัน เขาเป็นคนสำคัญเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงช่วยงานวัดมาตั้งแต่เป็นเด็ก ปัจจุบันคุณบุญสมอายุ 69 ปี สมัยก่อนบนเขาดงยางมีเพียงวิหารหลังเดียวเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทและพระพุทธรูป เวลานั้นยังเป็นเพียงสำนักสงฆ์ ทางขึ้นเขาเป็นดินยังไม่มีบันได ต่อมาได้เกิดไฟไหม้วิหารเดิม จึงได้ยกเอารอยพระพุทธบาทอันเดิมกับพระพุทธรูปที่คงเหลือลงมาไว้ข้างล่าง ในเวลาต่อๆมาจึงได้มีสิ่งก่อสร้างใหม่  กลายเป็นวัดสุวรรณคีรี ที่บนเขามีวิหารพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ มีวิหารพระพุทธชินราช มีการสร้างวิหารครอบรอยพระพุทธบาทจำลองขึ้นมาใหม่ รวมถึงมีรูปเคารพและรูปปั้นอื่นๆ

             เกี่ยวกับงานประเพณี ได้เปลี่ยนไปตามวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลง  เมื่อการคมนาคมสะดวกขึ้น จากเดิมการเผาข้าวหลามคือเสบียงในการเดินเท้าของชาวบ้านที่อยู่ไกลออกไป  พอมีถนนทำให้ไม่ต้องเดินมา  จึงไม่ได้เผาข้าวหลามกันเหมือนเดิม คุณบุญสมได้พูดถึงตนเองว่าเมื่อก่อนเดินเท้ามาวัด เคยเผาข้าวหลามมาเช่นกัน ต่อมาเขาได้ใช้จักรยาน มอเตอร์ไซด์ ปัจจุบันใช้รถยนต์  อีกสิ่งหนึ่งของการจัดงานที่เปลี่ยนไปคือ เมื่อก่อนเคยมีการแสดงลิเก ฉายภาพยนตร์ รำวง เนื่องจากใช้งบเยอะ กรรมการวัดต้องช่วยกันออกเงิน ประกอบกับท่านเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันท่านเห็นว่า การจ้างการแสดงต้องใช้เงินทำบุญจ่ายไปด้วย ถือเป็นการสิ้นเปลืองจึงได้งดไป      

            ในอีกพื้นที่จัดงานคือ โรงเรียนวัดหัวสำโรง  ริเริ่มการสืบสานงานประเพณีโดยศูนย์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านหัวสำโรง  อาจารย์ฉันทนา สระบุรินทร์และอาจารย์วงค์เดือน ทิมทอง ได้กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้เช่นกัน ชาวบ้านในชุมชนหัวสำโรงในปัจจุบันก็ไม่เผาข้าวหลามมาถวายพระ จากเดิมช่วงที่เผาข้าวหลามตามบ้าน จะมองเห็นควันโขมงเต็มไปหมด จุดเปลี่ยนสำคัญคือ การเกิดนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์เมื่อประมาณยี่สิบปีที่ผ่านมา คนหนุ่มสาวเข้าไปทำงานโรงงาน ให้คนเฒ่าคนแก่เลี้ยงหลานอยู่บ้าน มองกันว่าเป็นตัวแปรสำคัญที่กระทบกับวิถีชีวิต  ส่งผลต่อทัศนคติความคิด ความเชื่อเรื่องผิดผี การเลี้ยงผีหายไป ทัศนคติของคู่รักเปลี่ยนไป ส่งผลต่อสถาบันครอบครัวอย่างซับซ้อน

            ดังนั้นเพื่อเป็นการสืบสานงานประเพณีขึ้นเขาเผาข้าวหลาม ด้วยการเห็นพ้องกันในระดับอำเภอทั้งภาคราชการ โรงเรียนและเอกชน การจัดงานของชุมชนหัวสำโรง อ.แปลงยาวจึงเป็นงานใหญ่ มีขบวนแห่รถตกแต่งข้าวหลามยักษ์และผลิตภัณฑ์ชุมชน มีความอลังการกับขบวนผู้เข้าร่วม ทั้งขบวนม้า รถม้า จักรยานเสือภูเขา มอเตอร์ไซด์โบราณและชอปเปอร์ ขบวนแห่ตั้งแถวกันที่โรงเรียนวัดหัวสำโรง รอช่วงบ่ายหลังจากจบกิจกรรมในงานช่วงเช้า ขบวนจะเคลื่อนไปตามถนน ไปยังเขาดงยาง วัดสุวรรณคีรี โดยขบวนแห่ที่จะไปนมัสการรอยพระพุทธบาทจำลองจะไปพร้อมกับผ้าป่าที่ไปถวายวัด

             สิ่งที่โดดเด่นของงานคือ การจัดให้มีการเผาข้าวหลาม โดยให้ชุมชนต่างๆเข้าร่วม นำข้าวหลามมาเผาในเตาเดียวกัน วางเรียงกันเป็นแนวยาว ตามการประชาสัมพันธ์ว่า เป็นเตาเผาข้าวหลามที่ยาวที่สุดในโลก วิธีการทำข้าวหลามเริ่มจากการหาไม้ไผ่มาทำเป็นกระบอกข้าวหลาม ต้องเลือกลำไม้ไผ่สีสุกให้พอดีไม่อ่อนไม่แก่ ไม่มีตามด  ซึ่งจะทำให้ไม่มีเยื่อไผ่  ส่งผลให้กลิ่นไม่ดีและข้าวจะติดกับกระบอกไม้ไผ่  จากนั้นนำมาเลื่อยเป็นท่อนๆด้านที่เป็นข้อต่อจะเป็นก้นกระบอก จากนั้นนำข้าวเหนียวผสมกับกะทิใส่ลงกระบอกไป แล้วเผาให้สุก

             นอกจากการเผาข้าวหลาม ทางศูนย์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ยังได้จัดกิจกรรมพิเศษนอกเหนือไปจากการเปิดให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์เครื่องใช้พื้นบ้านบนเรือนไทยประยุกต์ และใต้ถุนเรือนมีกลุ่มนักเรียนบรรเลงดนตรีไทยขับกล่อม อาจารย์วงค์เดือน ได้จัดให้มีการสาธิตการทำข้าวต้มเขมร(เว็ดหนมจวม) อาหารพื้นบ้านของคนเชื้อสายเขมร โดยมีคุณย่าคุณยายมาช่วยสอน ข้าวต้มเขมรคือข้าวต้มมัด รสชาติกลมกล่อม ไม่มีน้ำมันเยิ้มติดกับใบตอง ภายในงานยังมีการ

              ออกร้านของดีชุมชนที่น่าสนใจหลายร้าน แต่น่าเสียดายที่คนมาร่วมงานที่นี่ค่อนข้างน้อย จึงได้ลดจำนวนวันจัดงานให้เหลือเพียงวันเดียว  เพราะคนส่วนใหญ่มุ่งไปขึ้นเขาทำบุญที่เขาดงยาง วัดสุวรรณคีรี

              ถึงอย่างนั้นบรรยากาศในงานปีนี้ก็มีความคึกคัก ควันจากการเผาข้าวหลามคลุ้งไปในช่วงเจ็ดโมงเช้า คนที่เฝ้าเตาเผาจะถือไม้ยาวๆ คอยเขี่ยฟืนเติมไฟไปทั้งสองด้านของกระบอกข้าวหลามที่ตั้งเรียงไว้บนดินที่ขุดเป็นรางตื้นๆมีการขึงเชือกยึดกระบอกข้าวหลามไว้  เปลวไฟจะให้ความร้อนลามเลียไปจนกว่าข้าวหลามจะสุก ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ข้าวหลามที่สุกแล้วได้แบ่งไปทำบุญ ส่งเข้าประกวดสุดยอดข้าวหลาม ข้าวหลามที่ชนะรางวัลที่ 1-3 มีความนุ่มหอมอร่อย  ส่วนหนึ่งนำไปแข่งขันกินข้าวหลาม มีการส่งเสียงเชียร์กันด้วยความสนุกสนาน ส่วนที่เหลือก็นำไปแจกจ่ายกัน

              ช่วงบ่ายจบกิจกรรมในงาน ขบวนแห่ตั้งแถวเคลื่อนขบวนไป  หัวขบวนนำทีมด้วยขบวนม้า  การเดินทางใช้ถนนเส้นรองที่มีรถไม่พลุกพล่าน บางช่วงข้างทางเห็นเป็นป่าและคลองสาธารณะ ใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงขบวนแห่จึงมาถึงบริเวณหน้าวัดสุวรรณคีรี มองเห็นผู้คนมาเที่ยวงานพลุกพล่าน การจราจรติดขัด มีรถยนต์จอดมากมาย บนสะพานลอยข้ามถนนสายหลัก มีผู้คนข้ามหลั่งไหลกันไปที่วัด แม้แต่รถขบวนยังเข้าไปในบริเวณวัดได้ยาก  ตรงส่วนของทางขึ้นเขาที่มีบันไดประมาณ 718 ขั้น แม้อากาศจะร้อน แต่ก็มีร่มเงาให้บ้างจากต้นไม้ทั้งสองข้างทาง ทางขึ้นเขาคราคร่ำไปด้วยผู้คนทั้งที่กำลังขึ้นไปและเดินกลับลงมาหลังจากไปนมัสการรอยพระพุทธบาทและสักการะองค์พระพุทธไสยาสน์บนยอดเขา ระหว่างทางมีจุดให้พักได้เป็นระยะ มีเต็นท์โรงทานบริการน้ำดื่ม มีการอนุญาตให้ขายอาหารได้ บนเขาสามารถชมวิวมองเห็นทิวทัศน์ด้านล่าง 

             แม้ว่าการมาทำบุญของผู้คน อาจจะไม่ได้มีข้าวหลามติดมือมาเหมือนแต่ก่อน แต่จุดมุ่งหมายของผู้คนยังคงเหมือนเดิม คือการมาวัดเพื่อทำบุญในวันมาฆบูชา วันพระใหญ่ที่มีความสำคัญในพุทธศาสนา  ข้าวหลามยังคงเป็นเอกลักษณ์ที่เราจะเห็นได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการถวายพระ เป็นเครื่องไหว้ในถาดที่ถวายพระพุทธทันใจมหาสิทธิโชค พระพุทธรูปปางสมาธิองค์ใหญ่ด้านหน้าวัดที่สร้างขึ้นมาถวายในหลวงรัชกาลที่ 9  ส่วนข้าวหลามที่แม่ค้านำมาขายในงานก็เป็นสินค้ายอดนิยมที่คนมาเที่ยวงานได้ซื้อกลับไปรับประทานที่บ้าน

 

---------------------------------------------------------------

ข้อมูลจาก  :  สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่ 10-11  เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2560

---------------------------------------------------------------


บรรณานุกรม

เที่ยววัดทำบุญไหว้พระที่วัดสุวรรณคีรี(เขาดงยาง) ฉะเชิงเทรา. (ออนไลน์)แหล่งที่มา http://www.faithaistory.com/suwankivi/ (16 มีนาคม 2560).

ฉันทนา สระบุรินทร์.(วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2560). สัมภาษณ์. ข้าราชการเกษียน(อดีตอาจารย์โรงเรียนวัดหัวสำโรง) ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา.

บุญสม สนธิ. (วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560). สัมภาษณ์. ชาวบ้าน. ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา.

วงค์เดือน ทิมทอง.(วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2560). สัมภาษณ์. อาจารย์โรงเรียนวัดหัวสำโรง

           ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา.