สารทเดือนสิบ

18011 ครั้ง |

ชื่อเรียกอื่น : บุญสารทเดือนสิบ, ยกหฺมฺรับ
เดือนที่จัดงาน : กันยายน,ตุลาคม
เวลาทางจันทรคติ : วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10
สถานที่ : จ.นครศรีธรรมราช
ภาค / จังหวัด : ภาคใต้
: นครศรีธรรมราช
ประเภท : ประเพณีตามเทศกาล หรือประเพณี 12 เดือน
ประเพณีที่เกี่ยวข้อง :
คำสำคัญ : สารท,ศราทธ์,เปตพลี,หฺมฺรับ,ชิงเปรต,อุทิศส่วนกุศล
ผู้เขียน : วริสรา แสงอัมพรไชย
วันที่เผยแพร่ : 26 ส.ค. 2559
วันที่อัพเดท : 1 ก.ย. 2559

บุญสารทเดือนสิบ จังหวัดนครศรีธรรมราช

          สารทเดือนสิบ คำว่า “สารท” เป็นคำที่มาจากภาษาอินเดีย แปลว่า “ฤดู” ซึ่งฤดูสารทนี้เป็นฤดูที่พืชผักผลไม้ ข้าวจ้าว ข้าวสาลีเริ่มออกผลเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผู้ที่ต้องการให้พืชพันธุ์ธัญญาหารของตนเจริญงอกงามดี ก็ได้นำพืชพันธุ์เหล่านั้นไปถวายสิ่งที่ตนเองเคารพนับถือ

          ต่อมาประเพณีสารทได้เปลี่ยนความเชื่อถือไปตามกาลเวลาและความเชื่อในท้องถิ่นต่างๆ บางแห่งเชื่อว่าการทำบุญวันสารทก็เพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่บรรพบุรุษและผู้มีพระคุณทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้ว บางแห่งก็เป็นประเพณีการทำบุญเนื่องจากว่างภารกิจไร่นาจึงถือโอกาสทำบุญครั้งใหญ่เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว

 

ความเป็นมาประเพณีสารทเดือนสิบ

            ประเพณีสารทเดือนสิบ สันนิษฐานว่าเป็นประเพณีที่รับมาจากอินเดียเหมือนกับประเพณีอื่นๆ ที่ชาวนครศรีธรรมราชรับมา เนื่องจากชาวนครศรีธรรมราชติดต่อกับอินเดียมานานก่อนดินแดนส่วนอื่นๆ ของประเทศไทย วัฒนธรรมและอารยธรรมของอินเดียส่วนใหญ่จึงถ่ายทอดมา

             ในศาสนาพราหมณ์มีประเพณีที่เรียกว่า “เปตพลี” เป็นประเพณีที่จัดขึ้นอุทิศแก่ผู้ตาย คำว่า เปต เป็นภาษาบาลี ตรงกับคำว่า เปรต ในภาษาสันสกฤต แปลว่า ผู้ไปก่อน หมายถึงบรรพบุรุษที่ตายไปแล้วของใครๆ ทุกคน ถ้าเป็นคนดี พระยมจะพาวิญญาณไปสู่แดนอันเป็นบรมสุขไม่มาเกิดอีก ต่อมาได้เกิดความเชื่อใหม่ คือความเชื่อเกี่ยวกับนรก ดังนั้นชาวอินเดียจึงเกรงว่า บรรพบุรุษของตนที่ตายไปอาจจะตกนรก วิธีการช่วยไม่ให้บรรพบุรุษเหล่านั้นตกนรกคือ การทำบุญอุทิศส่วนกุศลส่งไปให้เรียกว่า พิธีศราทธ์ (ศราทธ์ เป็นภาษาสันสกฤต ตรงกับภาษาบาลีว่า สารท) ซึ่งได้กำหนดวิธีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ ซึ่งเรียกว่า ทำบุญทักษิณานุปทาน หรือ เปตพลี ที่มีความเชื่อมาจากเรื่องเปรตของพราหมณ์

              ในความเชื่อของไทยนั้น การเซ่นไหว้ผีบ้านผีเรือนหรือผีปู่ย่าตายายที่ปฏิบัติกันมา เป็นความเชื่อเดียวกับพราหมณ์เช่นกัน ต่างกันที่ผีปู่ย่าตายายของไทย มักอยู่ตามบ้านเรือนของลูกหลาน ส่วนผีบรรพบุรุษของชาวอินเดีย เมื่อตายและเผาภายใน 10 วัน ร่างกายจะอ่อนปวกเปียกเพราะถูกไฟเผา เมื่อลูกหลานทำพิธีศราทธ์ให้ จะมีร่างกายที่แข็งแรง

 

ประเพณีสารทเดือนสิบ เมืองนครศรีธรรมราช

          ประเพณีสารทเดือนสิบของเมืองนครศรีธรรมราช ได้มีการจัดงานประจำปีติดต่อกันทุกปี โดยถือเอาช่วงปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคม ประเพณีสารทเดือนสิบเป็นเทศกาลประกอบการทำบุญที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา เช่นเดียวกับชาวอินเดียที่มีประเพณีเปตพลี เพื่อเป็นการแสดงกตัญญูต่อบุพการี และด้วยเหตุผลที่สำคัญต่อวิถีชีวิตของชาวนครีศรีธรรมราช คือ

          ความเชื่อทางพุทธศาสนา เชื่อว่าปลายเดือนสิบนั้น ปู่ย่าตายายและญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว จะได้รับการปล่อยตัวจากพญายม เพื่อให้ขึ้นมาพบญาติพี่น้องและลูกหลานของตนในเมืองมนุษย์ ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 จึงเป็นโอกาสที่ญาติพี่น้องที่ตกนรกได้ขึ้นมาเยี่ยมเยียน ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่จึงพยายามที่จะหาอาหารต่างๆ ไปทำบุญตามวัดเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ที่ล่วงลับไปที่ขึ้นมาจากนรก การทำบุญในวันแรก คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ชาวนครศรีธรรมราชเรียกวันนี้ว่า วันหฺมฺรับเล็ก และจะมีการจัดพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลเป็นการส่งผู้ที่ล่วงลับไปอีกครั้งหนึ่ง ชาวนครศรีธรรมราชเรียกวันนี้ว่า วันหฺมฺรับใหญ่

          และในปลายเดือน 10  ที่เป็นเทศกาลสารทนั้น เป็นระยะที่พืชพันธุ์ต่างๆ กำลังให้ผล ดังนั้นชาวเมืองส่วนใหญ่ที่มีอาชีพทางเกษตร จะชื่นชมผลผลิตของตน ความชื่นชมที่นิยมทำคือ จัดทำบุญตามประเพณีที่ชาวนครศรีธรรมราชเคยปฏิบัติกันมา โดยมักเก็บเอาพืชผลของตนไปถวายพระสงฆ์

          นอกจากนี้ เพื่อเป็นการแสดงความสนุกสนานประจำปีร่วมกัน  เมื่อมีโอกาสก็พยายามหาทางจัดงานรื่นเริงในจังหวะที่ทำบุญรับญาติผู้ล่วงลับมาจากนรก และทำบุญในโอกาสที่รับผลผลิตทางการเกษตร และสุดท้าย เพื่อนำพืชผลต่างๆ ที่ชาวเมืองได้รับจากเกษตรไปทำบุญสำหรับพระภิกษุสงฆ์เก็บไว้เป็นเสบียงในฤดูฝน ที่จะเริ่มในปลายเดือนสิบ     

 

การจัดหฺมฺรับ

          หฺมฺรับ เป็นภาษาถิ่นใต้มาจากคำว่า สำรับ การจัดเสบียงอาหารที่นำไปถวายพระสงฆ์จัดเป็นสำรับ จึงเรียกว่า หฺมฺรับ การจัดหฺมฺรับไปถวายสงฆ์นั้น จัดถวายโดยใช้วิธีให้พระภิกษุจับฉลาก เรียกว่า สลากภัต เพื่อกันการครหานินทาทั้งปวงที่จะเกิดแก่พระภิกษุและชาวเมืองผู้ถวาย เดิมการจัดหฺมฺรับนิยมใช้ภาชนะซึ่งเป็นกระบุงทรงเตี้ยๆ สานด้วยตอกไม้ไผ่ขนาดเล็กใหญ่ ขึ้นอยู่กับผู้จัด แต่ปัจจุบันมักจัดตามสะดวก อาจจะเป็นกระจาด ถาด กระเชอ กะละมัง เข่ง หรือถังใบโตๆ ก็ได้

          ภายในหฺมฺรับด้านล่างรองด้วยข้าวสาร เกลือ กะปิ หอม กระเทียม กล้วย อ้อย มะพร้าว ด้าย เข็มเย็บผ้า ฯลฯ ตามด้วยขนมตายายและขนมต่างๆ เช่น ข้าวเหนียวกวน (ข้าวเหนียวแดง) ยาหนม (กาละแม) ทุเรียนกวน ต้น ถัดขึ้นมาก็ใส่สิ่งอันเป็นของหฺมฺรับ คือ ขนม 5 อย่าง อันเป็นเอกลักษณ์บุญสารทเดือนสิบของชาวเมืองนครศรีธรรมราชโดยเฉพาะ ได้แก่

ขนมพอง         เป็นสัญลักษณ์แทนเรือ แพ ที่บรรพบุรุษใช้ข้ามห้วงมหรรณพ เพราะขนมพองมีลักษณะแผ่จึงเปรียบเสมือนแพ ที่มีน้ำหนักเบาลอยน้ำ และขี้ข้ามได้

ขนมลา           เป็นสัญลักษณ์แทนแพรพรรณ เครื่องนุ่งห่ม เพราะขนมลามีลักษณะเป็นเส้นใยเสมือนใยที่ถักทอเป็นผืนผ้าแพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม

ขนมบ้า           เป็นสัญลักษณ์แทนลูกสะบ้า สำหรับใช้เป็นของเล่นต้อนรับสงกรานต์ เพราขนมบ้ามีรูปทรงคล้ายลูกสะบ้า การละเล่นที่นิยมมากในสมัยก่อน

ขนมดีซำ         เป็นสัญลักษณ์แทนเงิน เบี้ย สำหรับใช้สอย เพราะมีรูปทรงของขนมคล้ายเบี้ยหอย

ขนมกงหรือขนมไข่ปลา   เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องประดับ เพราะมีทรงกลมคล้ายกำไล แหวน

          บางท่านกล่าวว่าขนมที่เป็นหัวใจของหฺมฺรับนั้นมี 6 อย่าง โดยเพิ่ม ลามันลอย(ขนมรังนก) เป็นสัญลักษณ์แทนฟูก และหมอน ซึ่งมีในบางท้องถิ่นเท่านั้นที่ยังคงทำขนมประเภทนี้ จากนั้นนำมาตกแต่งเป็นรูปเจดีย์ พุ่มเงิน หรือรูปอื่น ประดับประดาด้วยขนมที่มีสีสันให้ดูสวยงาม จำนวนขนมถึงจะเป็น 5 หรือ 6 อย่างก็ตาม จะเห็นได้ว่าขนมของหฺมฺรับนั้น เป็นขนมแห้งที่สามารถเก็บไว้ได้นาน โดยไม่บูดเน่า        

 

พิธีกรรม

          วันยกหฺมฺรับ คือวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 ชาวบ้านก็ชวนกันไปวัด เพื่อนำหฺมฺรับที่จัดไว้เรียบร้อยไปวัด และยังนำอาหารไปถวายพระสงฆ์ด้วย นอกจากนี้มักจะนำอาหารและขนมเดือนสิบอีกส่วนไปวางไว้ในที่ต่างๆตามวัด เพื่อแผ่ส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วที่ปราศจากญาติหรือญาติไม่ได้มาร่วมทำบุญ การทำนี้เรียกว่า ตั้งเปรต

          การตั้งเปรตในระยะหลังนี้นิยมสร้างเป็นร้านขึ้นมาในบริเวณลานวัด เพื่อให้ผู้คนจะได้นำอาหารและขนมมาวางสะดวก ร้านที่สร้างขึ้นมาเรียกว่า หลาเปรต (หลา เป็นภาษาปักษ์ใต้ แปลว่า ศาลา) เมื่อนำอาหารและขนมเดือนสิบมาตั้งบนหลาเปรตเรียบร้อยแล้ว จะนำสายสิญจน์มาผู้ไว้กับหลาเปรต ส่วนปลายอีกข้างหนึ่งพระสงฆ์จะใช้จับเมื่อสวดบังสุกุลอัฐิของญาติมิตร ในการสวดบังสุกุล ชาวบ้านจะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

          เมื่อเสร็จพิธีสงฆ์ บังสุกุล และกรวดน้ำ แล้วจึงเก็บสายสิญจน์ จากนั้นผู้คนต่างจะเข้าไปแย่งขนมที่ตั้งเปรต เนื่องจากมีความเชื่อว่า การกินอาหารและขนมในพิธีบุญจะได้กุศลอย่างแรง เป็นสิริมงคลแก่ตอนเองและครอบครัว การเข้าไปแย่งอาหารหรือขนมที่เป็นเครื่องบูชา จะเรียกว่า ชิงเปรต

          และในวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 ซึ่งเป็นวันสารท ชาวบ้านจะชวนนำอาหารไปถวายพระอีกวัน ในวันนี้การทำบุญเป็นการฉลองหฺมฺรับที่จัดตั้งไว้ตั้งแต่วันแรม 14 ค่ำ ในวันฉลองหฺมฺรับ มีการทำบุญเลี้ยงพระ บังสุกุลเพื่ออุทิศส่วนกุศล นับเป็นวันที่มีพิธีการสำคัญวันหนึ่ง เพราะถ้าหากไม่ได้จัดหรือผู้ใดไม่มาร่วมงานพิธีวันนี้ บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วจะอดอยากทุกข์ยาก

 

ความท้าทายกับการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน

           งานสารทเดือนสิบในท้องถิ่นอาจกำลังถูกท้าทายกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม เศรษฐกิจ ด้วยเช่นกัน

           สภาพสังคมจากสังคมที่เป็นครอบครัวใหญ่เปลี่ยนครอบครัวขนาดเล็กลง เช่น บางครัวเรือนมีความจำเป็นต้องแยกครอบครัวไปประกอบอาชีพทำมาหากินต่างถิ่น จึงไม่ค่อยมีโอกาสมาร่วมทำบุญสารทเดือนสิบ

            ปัญหาทางเศรษฐกิจ เมื่อลูกหลานแยกครอบครัวไปประกอบอาชีพต่างถิ่น เมื่อคิดจะมาร่วมทำบุญวันสารทเดือนสิบ ปัญหาคือเรื่องค่าใช้จ่ายการเดินทาง บุตรหลานจึงใช้วิธีส่งเงินมาให้แทน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่ได้ซึมซับประเพณีสารทเดือนสิบ

 


บรรณานุกรม

นิตยา กนกมงคล. (2552). “งานบุญสารทเดือนสิบ: เวลาแห่งการอุทิศ” คุณธรรม จริยธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย. กรุงเทพ. กรมศิลปากร

ปรีชา นุ่นสุข. (2540). ประเพณีสารทเดือนสิบ. กรุงเทพฯ: องค์การค้าคุรุสภา.

ผจญ มีจิตต์. (2558). “บุญสารทเดือนสิบในชุมชนชะอวด” ใน สารนครศรีธรรมราช (ฉบับพิเศษ เดือนสิบ58), หน้า 53-72

สมศรี แสงแก้ว. (2552). “เที่ยวงาน...บุญเดือนสิบเมืองคอน” ใน วารสารวัฒนธรรมไทย ฉบับที่ 9 เดือนกันยายน 2552, หน้า23-26