สมโภชน์ปิดทองประจำปีคุณปู่ศรีราชา

1347 ครั้ง |

ชื่อเรียกอื่น : งานปีคุณปู่ศรีราชา,งานประจำปีหลวงพ่อปู่ศรีราชา
เดือนที่จัดงาน : ธันวาคม
เวลาทางจันทรคติ : วันขึ้น 14-15 ค่ำเดือนอ้าย
สถานที่ : ยี่สาร สมุทรสงคราม
ภาค / จังหวัด : ภาคกลาง
: สมุทรสงคราม
ประเภท : ประเพณีเกี่ยวกับการเฉลิมฉลองและเพื่อสิริมงคล
ประเพณีที่เกี่ยวข้อง :
คำสำคัญ : คุณปู่ศรีราชา,ยี่สาร,สงกรานต์
ผู้เขียน : ปณิตา สระวาสี
วันที่เผยแพร่ : 27 ก.ค. 2559
วันที่อัพเดท : 8 พ.ย. 2559

งานสมโภชน์ปิดทองประจำปีคุณปู่ศรีราชา

ตำนานคุณปู่ศรีราชาเป็นเรื่องเล่าท้องถิ่นในแถบตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เล่าต่อกันมาว่า “คุณปู่ศรีราชาเป็นคนจีนที่ล่องเรือสำเภามาค้าขาย โดยมากันสามคนพี่น้อง พี่คนโตชื่อว่า “จีนเครา” คนรองชื่อว่า “จีนขาน” ส่วนคนสุดท้องชื่อว่า “จีนกู่” เมื่อสามพี่น้องแล่นเรือมาจนถึงบริเวณเขายี่สารซึ่งในอดีตเป็นทะเล เรือสำเภาได้พุ่งชนกับเขาจนเรือแตก พี่น้องทั้งสามคนจึงต้องพลัดพรากจากกัน โดยพี่คนโตที่ชื่อจีนเคราได้ไปอยูที่ “เขาตะเครา” คนรองที่ชื่อจีนขานอยู่ที่ “เขายี่สาร” ส่วนน้องคนเล็กชื่อจีนกู่ได้ไปอยู่ที่ “เขาอีโก้” ทั้งสามพี่น้องได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในที่ต่างๆ ทำให้เกิดเป็นหมู่บ้านอยู่กันสืบมาจนทุกวันนี้”

บ้านยี่สารตั้งอยู่ริมคลองขุดยี่สารใกล้กับเขาขนาดเล็กชื่อเดียวกับหมู่บ้าน มีเส้นทางน้ำติดต่อกับอ่าวบางตะบูน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นส่วนที่ติดกับชายฝั่งทะเล รอบล้อมไปด้วยป่าชายเลน ในอดีตชาวบ้านมักอาศัยการเดินเรือเป็นการติดต่อกับภายนอก ปัจจุบันไม่นิยมการคมนาคมทางเรือแล้ว ผู้คนดั้งเดิมมักมีบรรพบุรุษร่วมกันและเป็นคนจีน การทำมาหากินเป็นตามลักษณะบริบทสภาพแวดล้อม คือ จับสัตว์น้ำ ตัดฟืน เลี้ยงกุ้งและปูทะเล ทำถ่านไม้โกงกาง บางส่วนที่มีการศึกษาสูงจะย้ายไปประกอบอาชีพนอกหมู่บ้าน

ชื่อ “ยี่สาร” สันนิษฐานว่ามากจาก “ยี่สาน” ซึ่งน่าจะมีรากมาจากคำว่า “ปสาน” หรือ “บาซาร์” ในภาษาเปอร์เซีย ที่หมายถึงตลาด เชื่อว่ายี่สารเคยเป็นชุมชนการค้ามาก่อน

ชาวยี่สารมีความเชื่อความศรัทธาต่อ “คุณปู่ศรีราชา” หรือชาวบ้านเรียกสั้นๆ ว่า “คุณปู่” เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน เชื่อว่าคุณปู่เป็นสิ่งที่คอยปกป้องคุ้มครองหมู่บ้านให้แคล้วคลาดจากภยันตรายต่างๆ เช่น ทำให้โจรไม่สามารถเข้าปล้นหมู่บ้านได้ในอดีต บนบานศาลกล่าวให้คุณปู่ช่วยปกป้องคุ้มครองในการเดินทางค้าขายที่ในอดีตชาวบ้านต้องใช้การเดินทางทางเรือ คุณปู่ยังเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจในเรื่องต่างๆ เช่น สิ่งของสูญหาย การเจ็บไข้ได้ป่วย การสอบ การเกณฑ์ทหาร สารพัดปัญหาของชาวบ้านที่จะขอให้คุณปู่ช่วยเหลือ โดยมีการเสี่ยงทายเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยการโยนไม้เสี่ยงทาย เชื่อว่าถ้าไม้คว่ำอันหนึ่งหงายอันหนึ่ง ถือว่าท่านรับที่ช่วยเหลือปัญหา แต่ถ้าไม้คว่ำทั้งสองอันแสดงว่าปัญหาหนักเกินกว่าคุณปู่จะช่วยได้ แต่ถ้าไม่เสี่ยงทายหงายทั้งสองอัน เชื่อว่าคุณปู่กำลังหัวเราะและไม่ตอบปัญหาและผู้ถามปัญหาสามารถเสี่ยงทายใหม่ได้ การทำสิ่งใดมักต้องจุดธูปบอกคุณปู่เสมอ การแก้บนที่ขาดไม่ได้คือการจุดประทัด

ศาลเดิมของคุณปู่ศรีราชาตั้งอยู่บริเวณอู่ตะเภา มีลักษณะเป็นศาลไม้ยกพื้นเตี้ย ภายในบรรจุไม้เจว็ดเป็นสัญลักษณ์แทนคุณปู่ศรีราชา ทำจากไม้ตะเคียนขนาดราว 150 ซม. ต่อมาได้ย้ายที่ตั้งศาลเนื่องจากศาลเดิมทรุดโทรม มาตั้งอยู่ที่บริเวณหน้าวัดเขายี่สาร และยังมีการบวชคุณปู่ศรีราชาเป็นพระและสร้างศาลให้ใหม่ โดยจัดงานบวชคุณปู่ในงานประจำปีคุณปู่กลางเดือนอ้ายหรือราวเดือนธันวาคม ราวปี พ.ศ. 2516 โดยใช้พระพุทธรูปปางประทานพรแทนไม้เจว็ด กลายสถานภาพเป็น “หลวงพ่อปู่ศรีราชา” และสร้างศาลถาวร ในปี พ.ศ. 2517 ตั้งอยู่บริเวณหน้าสถานีอนามัยในปัจจุบัน เป็นอาคารหลังคาทรงจัตุรมุข ผนังด้านหลังทึบ ตกแต่งด้วยฝีมือช่างเมืองเพชร ประดิษฐานหลวงพ่อปู่ แต่ไม้เจว็ดก็ยังได้รับการดูแลและเก็บรักษาไว้ที่ศาลใหม่ด้วย เพราะคนเก่าคนแก่คนหมู่บ้านยังคงนับถือคุณปู่ที่เป็นไม้เจว็ดแบบเดิม เพราะเชื่อว่าคุณปู่เป็นคนจีนแก่ที่นุ่งขาวห่มขาว ไม่ใช่เป็นพระแต่อย่างใด

แต่เดิมนั้นงานประจำปีคุณปู่ศรีราชา เป็นประเพณีเล็กๆ ที่ทำกันเฉพาะคนในชุมชน โดยจัดงานสมโภชน์ในช่วงวันขึ้น 14-15 ค่ำเดือนอ้าย ในวันงานชาวบ้าน แต่เดิมจะสร้างโรงพิธีขึ้นมาต่างหาก ปัจจุบันใช้พื้นที่ศาลโดยตรง ก่อนวันงานจะเป็นวันที่ทำพิธีอัญเชิญคุณปู่มาประทับ และเชิญ “คุณปู่หัวละมาน” ที่เชื่อว่าเป็นทหารเอกของคุณปู่มาประทับด้วย จากนั้นจะแห่ทั้งคู่ลงเรือไปยังบ้านปากอ่าว บางตะบูน เพื่อแจ้งให้คนหมู่บ้านอื่นได้ทราบ โดยแห่แบบจีนคือมีเครื่องแห่และจุดประทัดระหว่างแห่ เมื่อถึงบางตะบูน ชาวบ้านจะตั้งเครื่องเซ่นไหว้หน้าบ้าน บ้างก็มีการแสดงพวกลิเก ลำตัด เพื่อรับคุณปู่ จากนั้นจึงแห่กลับ  วันรุ่งขึ้นจึงจะเป็นวันทำพิธี

แต่ปัจจุบันเนื่องจากการสื่อสารสะดวกขึ้น จึงไม่มีการแห่ทางเรือแต่ใช้การขึ้นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ตามจุดต่างๆ ริมถนนเป็นการบอกข่าวแทน

วันทำพิธีชาวบ้านจะเริ่มตั้งโต๊ะเครื่องเซ่นไหว้หน้าโรงพิธี โดยแต่ละบ้านจะทำเครื่องเซ่นบ้านละ 1 สำรับ ประกอบด้วย ขนมต้มขาวต้มแดง ขนมคันหลาว กล้วยน้ำว้า มะพร้าวอ่อน ข้าวสวยและไข่ต้ม และทำบายศรีเหน็บที่ปากชามข้าว และน้ำสะอาด  และมีเครื่องเซ่นที่ทางคณะจัดงานเตรียมไว้รวมกับชาวบ้านที่นำมาร่วมด้วย ได้แก่ หัวหมูคู่ ไก่คู่ เป็ดคู่ ผลไม้ต่างๆ ขนมจันอับและน้ำชา แสดงถึงร่องรอยความเชื่อในความเป็นคนจีนของคุณปู่ศรีราชา

จากนั้นเริ่มทำพิธีก่อนเที่ยง โดยอัญเชิญคุณปู่ศรีราชามารับเครื่องเซ่น นำน้ำที่ชาวบ้านนำมาไปทำเป็นน้ำมนต์ประพรมให้ชาวบ้าน และให้ชาวบ้านเอากลับไปดื่มเพราะถือเป็นสิริมงคล เมื่อเสร็จพิธีชาวบ้านจะนำอาหารของตนกลับไปรับประทานที่บ้าน ในตอนกลางคืนจะมีมหรสพต่างๆ แสดงถวายคุณปู่

ปรัมพิธีในปัจจุบันจัดหน้าศาลคุณปู่มีโต๊ะวางเครื่องเซ่น โต๊ะวางบายศรีใหญ่และพวงดอกไม้ อ่างน้ำมนต์ ราวเทียนและกระถางธูป ด้านหน้าปูเสื่อขนาดใหญ่สำหรับรับคนจำนวนมากที่มาไหว้คุณปู่ ที่มุมของบริเวรพิธีทั้งสี่ด้านปักด้วยธงผ้าขาว 5 ชั้น 3 ยอด ด้านข้างตั้งศาลผี 2 ชั้น มีร่มกางที่พนัก ชั้นต่อมาวางหมอนอิง และชั้นที่ลดระดับด้านล่างนำก้านกล้วยและไม้ไผ่ทำเป็นรูปสามเหลี่ยมสำหรับปักเทียน ยอดประดับด้วยใบตองหรือที่เรียกกันว่าปราสาทผึ้งซึ่งทำกันมาในแถบภาคอีสาน

ด้านหน้าจัดวางรูปปั้นจำลองทำด้วยโลหะของเจ้าอาวาสและพระสงฆ์องค์สำคัญของวัดเขายี่สาร ได้แก่ หลวงพ่อล้าย หลวงพ่อกลอย และหลวงพ่อน้อม ด้านข้างปรัมพิธีด้านขวาจะเป็นกลุ่มของกรรมการจัดเก็บรายได้ที่รับบริจาคจากชาวบ้านที่มาไหว้และแก้บนคุณปู่ ส่วนด้านซ้ายเป็นโต๊ะขายดอกไม้ธูปเทียนที่ครูและเด็กนักเรียนจากโรงเรียนวัดเขายี่สารเป็นผู้ขาย

อย่างไรก็ดีพิธีกรรมต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน เช่น ตัวผู้ประกอบพิธี ที่เป็นคนจีนในหมู่บ้านคนสุดท้ายเสียชีวิตลง ชาวบ้านไปว่าจ้างผู้ประกอบพิธีจากภายนอกที่ส่วนใหญ่จะเป็นหมอขวัญ หรือหมอพราหมณ์ มาทำแทนทำให้มีพิธีแบบพราหมณ์ผสม มีการบวงสรวงเทวดาพร้อมๆ กับการเชิญคุณปู่ศรีราชามารับเครื่องเซ่นไหว้

นอกจากนี้รูปแบบการจัดงานประเพณีก็เปลี่ยนแปลงไป คือจากงานประเพณีเล็กๆ ในหมู่บ้านกลายเป็นงานบุญขนาดใหญ่ที่มีผู้คนต่างถิ่นมาเที่ยวงานมากขึ้น เพราะการเดินทางที่สะดวกขึ้น และยังมาจากความเฟื่องฟูการธุรกิจทำนากุ้งอันการมาบนที่ศาลคุณปู่และเชื่อว่าทำให้ประสบความสำเร็จ  จึงมีคนมาจองมหรสพแก้บนกันจำนวนมาก ชาวบ้านก็นำสินค้าในท้องถิ่นมาขายในงานมากขึ้น

งานเวียนเทียนคุณปู่ศรีราชาในเทศกาลสงกรานต์

ในวันสุดท้ายของงานสงกรานต์จะมีพิธีเวียนเทียนคุณปู่ขึ้น โดยถือเอาวันที่ 17 เมษายน ของทุกปีเป็นวันจัดงาน ในอดีตจะมีการแห่คุณปู่ศรีราชาไปบางตะปูนเช่นเดียวกับงานประจำปีเพื่อให้ชาวบ้านร่วมทำบุญและแจ้งให้ท้องถิ่นอื่นทราบ และจะแห่กลับมาประกอบพิธีเวียนเทียนที่หมู่บ้าน โดยในวันงานตอนแปดโมงเข้า ชาวบ้านจะจัดเครื่องเซ่นไหว้ ครอบครัวละ 1 สำรับ โดยแต่ละบ้านจะทำเครื่องเซ่นบ้านละ 1 สำรับ ประกอบด้วย ขนมต้มขาวต้มแดง ขนมคันหลาว กล้วยน้ำว้า มะพร้าวอ่อน ข้าวสวยและไข่ต้ม และทำบายศรีเหน็บที่ปากชามข้าว และน้ำสะอาด  

ในอดีตการเวียนเทียนจะทำโดยใช้แว่นเทียน 3  อัน มีการจุดเทียนปักบนแว่นเทียน ชาวบ้านจะนั่งล้อมวงในโรงพิธีแล้วส่งแว่นเทียนทั้งสามอัน เวียนกันไปจนครบ 3 รอบ ในแต่ละรอบจะมีคำกล่าวบูชาคุณปู่ร่วมด้วย เมื่อเสร็จพิธีก็ปะพรมน้ำมนต์ให้ชาวบ้าน และให้ชาวบ้านเอากลับไปดื่มเพราะถือเป็นสิริมงคล เมื่อเสร็จพิธีชาวบ้านจะนำอาหารของตนกลับไปรับประทานที่บ้าน ช่วงบ่ายชาวบ้านจะรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในครอบครัว ส่วนหนุ่มสาวมีการละเล่นพื้นบ้าน เช่น เล่นเสือตบตูด เล่นตุง เล่นมอญซ่อนผ้า ตี่จับ เล่นสะบ้า การละเล่นบางอย่างหญิงชายจะมีโอกาสเล่นสนุกจับโยนโคลนกันได้ เล่นกันตั้งแต่บ่ายจนถึงเที่ยงคืนหรือตีหนึ่ง แล้วพากันไปลงอาบน้ำที่หลังเขาซึ่งเป็นช่วงน้ำขึ้นแม้จะเป็นน้ำกร่อยก็ไม่เหนียวตัวแต่อย่างใด

ปัจจุบันพิธีกรรมและรูปแบบเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น การเวียนเทียนเปลี่ยนเป็นการเดินเวียนเทียนคล้ายๆ กับการเวียนเทียนในวันสำคัญทางพุทธศาสนา คำกล่าวบูชาคุณปู่แบบก็ขาดการสืบทอดเป็นคำอัญเชิญเทวดาที่แต่งขึ้นมาใหม่ที่นำคำบาลีมาผสมผสาน ต่างไปจากเดิมที่ใช้ภาษาจีนของผู้มีเชื้อสายจีนเป็นหลัก  เช่นเดียวกับการละเล่นก็สูญหายไม่มีเล่นกันอีกแล้วในปัจจุบัน

 


บรรณานุกรม

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. (2544). ตำนานและพิธีกรรมคุณปู่ศรีราชา ภาพสะท้อนบูรณาการทางสังคมวัฒนธรรมที่บ้านยี่สาร. กรุงเทพฯ: วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร.

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ, ศิรประภา ดารามาตร์ และวิจัย สิทธินุกูลขัย บก. (2545). สังคมและวัฒนธรรม ชุมชนคนยี่สาร. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.