แซนโฎนตา

55640 ครั้ง |

ชื่อเรียกอื่น : แซนโดนตา,สารทเขมร
เดือนที่จัดงาน : กันยายน
เวลาทางจันทรคติ : วันขึ้น 14 ค่ำ - แรม 15 ค่ำ เดือน 10
สถานที่
ภาค / จังหวัด : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
: ศรีสะเกษ
: สุรินทร์
: บุรีรัมย์
ประเภท : ประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์,ประเพณีตามเทศกาล หรือประเพณี 12 เดือน
ประเพณีที่เกี่ยวข้อง : ตานก๋วยสลาก,สารทพวน
คำสำคัญ : สารท,เขมร,กลุ่มชาติพันธุ์
ผู้เขียน : ปณิตา สระวาสี
วันที่เผยแพร่ : 27 ก.ค. 2559
วันที่อัพเดท : 27 ก.ค. 2559

สารทเขมร “แซนโฎนตา”

แซนโฎนตา หรือบางท่านสะกดว่า แซนโดนตา เป็นประเพณีเซ่นไหว้ผีและบรรพบุรุษของชาวไทยเชื้อสายเขมร รวมถึงชาวเขมรหรือกัมพูชาด้วย เป็นการรำลึกและอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ อาจเรียกว่าเป็นประเพณีในเทศกาลสารท  คล้ายกับประเพณีสลากภัต  ตานก๋วยสลาก หรือบุญเดือนสิบในภาคอื่นๆ แต่อาจแตกต่างในรายละเอียดพิธีกรรม

แซนโฎนตาเป็นภาษาเขมร คำว่า “แซน” ภาษาไทยตรงกับคำว่า “เซ่น” หมายถึงการเซ่นไหว้ ส่วนคำว่า “โฎนตา” แปลว่า ยายตา ใกล้เคียงกับคำว่าบรรพบุรุษ  ญาติโกโหติกา ดั้งนั้นความหมายของแซนโฎนตา ก็คือการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะบรรพบุรุษหรือญาติที่ใกล้ชิด และหมายรวมทั้งผู้ที่ล่วงลับไปแล้วโดยไม่เจาะจงว่าเป็นใครด้วย

ประเพณีแซนโฎนตาเริ่มจัดตั้งแต่วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10 เรียกกันว่า “ไถงเบ็ณฑ์ตู๊จ หรือวันเบ็ณฑ์ตู๊จ” (บางคนสะกดว่าเบ็นโต๊จ) หรือวันเบ็ณฑ์เล็ก หรือวันสารทเล็ก ถือว่าเป็นวันเริ่มงานวันแรก ช่วงเวลาระหว่างนั้นภาษาท้องถิ่นสุรินทร์เรียกว่า “วันกันซ็อง(กันสงฆ์) หมายถึงการปรนนิบัติวัตถากต่อพระสงฆ์ จนกระทั่งถึงการทำบุญครั้งใหญ่ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เรียกว่า “ไถงเบ็ณฑ์ธม” หรือวันเบ็ณฑ์ธม” (บางคนสะกดว่า เบ็นธม) หรือวันเบ็ณฑ์ใหญ่ หรือวันสารทใหญ่

คำว่า “เบ็ณฑ์” ตรงกับภาษาไทยว่าบิณฑ แปลว่าการรวมให้เป็นก้อน การปั้นให้เป็นก้อน การหาเลี้ยงชีวิตหรือหมายถึงก้อนข้าว

เหตุที่จัดงานบุญกันในเดือน 10 นี้ ก็ด้วยว่าเดือนนี้ตอนกลางคืนพระจันทร์จะอับแสงและมือดกว่าเดือนอื่นๆ เชื่อกันว่าเป็นช่วงเวลาที่ยมบาลจะปลดปล่อยวิญญาณให้ขึ้นมาปะปนกับมนุษย์บนโลก เพื่อเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องและรอรับส่วนบุญทั้งจากญาติพี่น้องและบุคคลอื่น โดยผ่านพิธีกรรมการทำบุญอุทิศไปให้

เล่ากันว่าในสมัยก่อน ช่วงเทศกาลแซนโฎนตา พอตกกลางคืนคนมักจะได้ยินเสียงคนคุยกันที่ใต้ถุนเรือน เมื่อมองลอดช่องพื้นกระดานลงไปจะเห็นคนผมหงอกผมดำนั่งผิงไฟคุยกัน แต่ฟังไม่รู้เรื่องว่าพูดภาษาอะไร คนเฒ่าคนแก่บอกว่านั่นคือ “ขม๊อจโฎนตา” หรือผีปู่ย่าตายาย ที่เทวดาท่านปล่อยให้มาเยี่ยมลูกหลานและรับส่วนบุญกุศลที่ลูกหลานอุทิศให้

ในช่วงเทศกาลแซนโฎนตาจะมีประเพณีที่เรียกว่า “จูนโฎนตา” คือ บรรดาลูกหลานญาติพี่น้องจะกลับมาบ้านมาไหว้พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย และญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ และจะนำเอามะพร้าว ข้าวสารเหนียว ขนมต่างๆ มามอบให้ หรืออาจมอบเงินด้วย เพื่อให้ท่านได้ใช้ทำบุญในประเพณีแซนโฎนตา หากพ่อแม่ ปู่ย่าตายายเสียชีวิตไปแล้ว ก็จะไปกราบไหว้ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพและมอบข้าวของเงินทองให้ หรือถ้าทำไม่ได้ก็จะนำสิ่งของเหล่านี้ไปถวายพระที่วัดแทน เหมือนกับเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ใหญ่หรือบรรพบุรุษที่ล่วงลับ

แซนโฎนตามีขั้นตอนการทำพิธีกรรมดังนี้ ซึ่งแต่ละท้องถิ่นอาจมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกัน

1. วันเบ็ณฑ์ตู๊จหรือวันเบ็ณฑ์เล็ก คือวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 10 จะมีทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่บ้าน และนำภัตตาหารไปถวายพระสงฆ์ที่วัด เพื่อให้พระสงฆ์รับรู้ว่าชาวบ้านกำลังจะเข้าสู่ประเพณีกันเบ็ณฑ์หรือกันซ็องแล้ว และยังเชื่อว่าการทำบุญครั้งนี้เป็นการบอกยมบาลให้เตรียมปล่อยวิญญาณมายังโลกมนุษย์

ของเซ่นไหว้ที่สำคัญของประเพณีนี้คือ “ข้าวต้มมัด” หรือภาษาเขมรเรียกว่า “บายเบ็ณฑ์”  ซึ่งหมายถึงข้าวที่ปั้นเป็นก้อนเพื่อใช้ใส่บาตรพระ บ้างก็ว่าเป็นการทำตามพุทธประวัติที่นางวิสาขาปั้นข้าวมธุปายาสถวายพระพุทธเจ้าเป็นจำนวน 49 ก้อน  โดยบายเบ็ณฑ์จะเป็นการใช้ข้าวใหม่ที่เพิ่งออกรวงเป็นน้ำนม นำมาตำแล้วผสมด้วยนม ถั่ว งา น้ำตาล น้ำใบเตย เพื่อให้มีสีเขียวสวยงามและมีกลิ่นหอม แล้วทำให้สุกปั้นเป็นก้อนใส่พานเป็นรูปทรงกรวยคล้ายทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ แต่ต่อมาบายเบ็ณฑ์อาจหมายความรวมถึงข้าวต้มมัดที่ชาวบ้านนิยมทำกันด้วย เป็นขนมที่ทำด้วยข้าวเหนียวผสมด้วยกะทิ ถั่ว กล้วย หรือส่วนผสมอื่นๆ แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น อาจห่อด้วยใบมะพร้าวอ่อนหรือใบกล้วย  โดยเชื่อกันว่าข้าวเหนียวเป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคี และนอกจากทำข้าวต้มมัดถวายพระสงฆ์แล้ว ชาวบ้านยังนิยมกินข้าวกันมากในเทศกาลนี้เพราะถือเคล็ดว่ามีความหมายดี ญาติมิตรจะเกาะเกี่ยวกัน ไม่พลัดพราก

การเซ่นไหว้อาจทำตอนก่อนเที่ยงหรือบ่ายก็ได้ โดยจัดที่ลานบ้าน ระเบียงบ้าน หรือโถงกลางบ้านก็ได้ โดยปูเสื่อผืนใหญ่จากนั้นอาจปูฟูกทับอีกชั้นหนึ่ง วานหมอนไว้ทางหัวฟูก แล้วปูผ้าขาวทับอีกชั้นหนึ่ง ส่วนมากจะหันหัวฟูกไปทางทิศตะวันออกหรือทิศเหนือ

บนฟูกจะประกอบด้วยเครื่องหอม เครื่องสำอาง เครื่องแต่งกายวางซ้อนกันอยู่ ส่วนรอบๆ ฟูกจะจัดเป็นถาดสำรับกับข้าว ขนมหวาน เหล้า ขันน้ำเย็น พานหมากพลูบุหรี่  หรืออาจมีหัวหมูหรือไก่แล้วแต่ฐานะ

พิธีเริ่มด้วยสมาชิกในบ้านหรือญาติบ้านใกล้เรือนเคียงจะนั่งล้อมวงเสื่อ มีผู้อาวุโสเป็นประธานเริ่มพิธีด้วยการจุดธูปเทียนอัญเชิญวิญญาณบรรพบุรุษมารับเครื่องเซ่นไหว้  และขอพรให้ลูกหลานอยู่เย็นเป็นสุข ระหว่างพิธีจะพูดกันแต่สิ่งดีงาม ขอพรให้แก่ทั้งผู้มีชีวิตอยู่และผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ในตอนท้ายจะลาเครื่องเซ่นไหว้ และเชิญวิญญาณกลับไปสู่ที่อันควร เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่วันกันเบ็ณฑ์หรือกันซ็อง ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 โดยญาติพี่น้องจะอัญเชิญวิญญาณบรรพบุรุษไปร่วมทำบุญฟังเทศน์ฟังธรรมที่วัดจนถึงแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ที่เป็นวันเบ็ณฑ์ธม

2. วันกันซ็อง หรือกันเบ็ณฑ์ เป็นวันหลังจากวันเบ็ญฑ์ตู๊จ คือเป็นวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 ตอนเช้าและเพล ชาวบ้านจะไปถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่วัด โดยจะไปทุกวัดที่อยู่ในชุมชน มีการจัดเวรกันเป็นเจ้าภาพประวันสำหรับดูแลรับผิดชอบกิจการงานต่างๆ ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ ถึงแรม 14 ค่ำ เดือน 10 บางคนอาจเป็นเจ้าภาพได้มากกว่าหนึ่งวัด หรือเป็นได้หลายวันก็ได้หากมีเจ้าภาพไม่เพียงพอ โดยเจ้าภาพจะมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบภาระต่างๆ ในวัด ดูแลปรนนิบัติพระเณร  ในวัดสำหรับวันที่ตนรับผิดชอบ และคอยเชิญชวนญาติๆ มาร่วมกันทำบุญในวันนั้นๆ ด้วย

พิธีกันซ็องจะทำที่วัด เป็นการถวายภัตตาหารเช้าและเพลแด่พระสงฆ์ ทั้งนี้ก่อนการถวายเพล เจ้าภาพจะเป็นผู้รวบรวมปัจจัยต่างๆ ถวายแด่พระสงฆ์ ช่วงบ่ายหากใครไม่มีกิจธุระ ก็จะอยู่สนทนาธรรมกันเองหรือกับพระสงฆ์ที่วัด ส่วนตอนค่ำพระสงฆ์เจริญพุทธมนตร์ สวดพระอภิธรรม มาติกาบังสุกุล และเทศนาธรรม จากนั้นมีการนั่งสมาธิเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ ทำแบบนี้ทุกวันจนถึงวันแรม 14 ค่ำ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการกันเบ็ณฑ์หรือกันซ็อง โดยวันสุดท้ายจะมีการสวดพระหูเทวาฯ ฉลองการกันเบ็ณฑ์ และอนุโมทนาส่วนกุศล

ในช่วงเวลากันซ็องนี้ พระสงฆ์จะไม่ออกบิณฑบาต ชาวบ้านจะมาทำบุญและถวายภัตตาหารที่วัด เพราะช่วงเวลาดังกล่าวยังอยู่ในช่วงเข้าพรรษาและเป็นฤดูฝน พอถึงวันพระ คือในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 10 ก็จะทำพิธี “ฉลองสงฆ์” กันครั้งหนึ่ง

3. วันแซนโฎนตา  หรือวันเบ็ณฑ์ธม (วันสารทใหญ่) คือวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันที่ญาติพี่น้องทุกคนต้องร่วมกันทำบุญที่วัด เป็นหน้าที่ที่ขาดไม่ได้ มีการเซ่นไหว้บรรพบุรุษอีกครั้งที่บ้าน เชื่อว่ายมบาลจะปล่อยวิญญาณออกมาในวันเวลาแตกต่างกันตามแต่ผลบุญที่ทำไว้ ใครถูกปล่อยออกมาก่อนก็จะได้รับอานิสงส์มากกว่าวิญญาณที่ถูกปล่อยทีหลัง ดั้งนั้นในวันแรม 14 ค่ำ จึงเป็นการอ้อนวอนให้ยมบาลปล่อยวิญญาณออกมาให้หมดเพื่อให้มารับอานิสงส์ผลบุญด้วยตนเอง วิญญาณจะได้ทุกข์ทรมานน้อยลง   และยังเชื่ออีกว่าหากไม่มีญาติพี่น้องทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ วิญญาณเหล่านั้นจะอดอยากทุกข์ทรมาน และอาจโกรธแค้นสาปแช่งผู้คนต่างๆ นานา การเซ่นไหว้จึงเป็นการขอความคุ้มครอบและอ้อนวอนให้บรรพบุรุษปกปักรักษาตนเองให้อยู่เย็นเป็นสุขด้วย

แต่ละบ้านจะทำพิธีแซนโฎนตาแล้วแต่เวลาตามสะดวก สิ่งของที่ต้องเตรียมในพิธีแซนโฎนตา ได้แก่

  1. กรวยดอกไม้ 5 กรวย หรือที่เรียกว่าขันธ์ 5 ใส่พานพร้อมทั้งเงินทองของมีค่า
  2. เสื้อผ้าใหม่ ผ้าโสร่ง และผ้าซิ่นไหมที่ยังไม่ได้ใช้ 1 สำรับ พร้อมแป้งหอม น้ำหอม น้ำอบ หวี กระจก
  3. สำรับกับข้าว 1 สำรับ เป็ดต้ม 1 ตัว ไก่ต้ม 1 ตัว หรืออานมีหัวหมู ตามแต่ฐานะ
  4. กับข้าวต่างๆ
  5. ขนมต่างๆ ได้แก่ ขนมข้าวต้มห่อด้วยใบมะพร้าวอ่อน ขนมข้าวต้มหมู ข้าวต้มมัด ขนมเทียน ขนมใส่ไส้ กันกันเตรือม ขนมกันตางราง ขนมนางเล็ด ขนมไข่หงส์ ขนมข้าวเกรียบ ขนมข้าวพอง
  6. ผลไม้ต่างๆ แต่ที่ขาดไม่ได้คือมะพร้าวอ่อนและกล้วยน้ำว้าสุก
  7. น้ำดื่ม เหล้า ตามแต่เห็นสมควร
  8. เทียน 2 เล่ม จุดไว้อย่าให้ดับ
  9. กระถางธูปและธูปไว้สำหรับจุดเวลาเซ่น และจะใช้ปักไว้ตามจานอาหารด้วย

พอตกเย็นชาวบ้านแต่ละคุ้มที่สนิทกัน จะเวียนกันไปแซนโฎนตาตามบ้านใกล้เรือนเคียงเป็นที่สนุกสนานรื่นเริง คนที่ไม่ได้พบปะกันมานานก็จะมีโอกาสได้พูดคุยกัน บางบ้านก็มีการกินเลี้ยงกันสนุกสนาน

ช่วงค่ำจะมีนำกระเชอโฎนตา(การนำขนม ข้าวต้ม หมากพลู บุหรี่ ข้าวสาร ข้าวเปลือก ใส่ตะกร้า ตกแต่งให้สวยงาม)และบายเบ็ณฑ์ไปทำพิธีสวดมนต์เย็นที่วัด โดยบนยอดบายเบ็ณฑ์ปักธูป 1 ดอก ประดับด้วย “ผกาบายเบ็ณฑ์” ซึ่งเป็นดอกหญ้าชนิดหนึ่ง มีกลิ่นหอม สีขาวคล้ายดอกมะลิ จะขึ้นในช่วงเดือน 10 เมื่อสิ้นประเพณีแซนโฎนตา ดอกหญ้านี้จะร่วงโรยไป

ชาวบ้านที่เคยทำบุญวัดไหนต้องไปทำบุญวัดนั้น เพราะเชื่อว่าวิญญาณบรรพบุรุษจะมารอที่วัด ถ้าลูกหลานไปทำบุญไม่ถูกวัด วิญญาณบรรพบุรุษก็จะหาไม่เจอ

การฟังสวดมนต์เย็นที่วัดจะมีความสนุกสนาน โดยเฉพาะหนุ่มสาวจะแต่งตัวงามเป็นพิเศษ ระหว่างที่เดินไปวัดจะตะโกนเรียนขานชวนกันไปวัด และเรียกวิญญาณบรรพบุรุษไปด้วย เมื่อไปถึงที่วัดจะมีพิธีอุทิศ “กระเชอโฎนตา” และ “บายบัดตระโบร” หรือบายเบ็ณฑ์ พระสงฆ์เอาด้ายสายสิญจน์ล้อมสิ่งของทั้งหมด จุดธูปทำพิธีสวดเรียกวิญญาณผู้ล่วงลับมาฟังธรรม

หลังจากฟังธรรมจะมีงานรื่นเริง คนเฒ่าคนแก่จะชอบฟังกระจับปี่ ประกอบการขับลำนำเป็นเรื่องราวคติสอนใจ หรือ “ปี่อังโกง” มีคนร้องเจรียงประกอบ หรือฟัง “ปี่เญ็ญ” ซึ่งปัจจุบันหาคนเป่าได้ยาก  หนุ่มๆ มักร้องรำเจรียงซันตู๊จ(เพลงตกเบ็ด) เกี้ยวพาราสีสาวๆ โดยใช้กล้วย ขนมข้าวต้มเป็นเหยื่อผูกไม้เรียวยาวเล็กๆ เป็นคันเบ็ด สาวใดฉวยเหยื่อแสดงว่าใจต้องกัน

เมื่อถึงเวลาใกล้รุ่ง ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 จะมีการทำพิธีที่วัดอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระสงฆ์ลงโบสถ์ ชาวบ้านจะพากันจุดธูปเทียน แบกกระเชอโฎนตาเดินวนรอบโบสถ์ 3 รอบ จนได้เวลาที่เรียกว่า “ประเฮียม เยียะชะโงก” แปลว่า เวลาสางยักษ์ชะโงก คือเป็นเวลาที่ยักษ์ ผีเปรตออกหากิน ก็จะยืนล้อมวง แล้วเทอาหารจากกระเชอลงที่ลานหญ้ารวมกัน เชื่อว่าวิญญาณผีบรรพบุรุษหรือผีเปรตทั้งหลายกำลังเฝ้าคอยรอกินอาหารอีกครั้งเป็นครั้งสุดท้าย

เรียกพิธีนี้ว่า “จะโฎนตา” คือการเทกระเชอโฎนตาให้วิญญาณปู่ย่าตายายจนหมด เพื่อแสดงถึงความเสียสละและกตัญญูรู้คุณ หลังจากนั้นก็จะมีการทำบุญตักบาตรถวายภัตตาหารเช้า ประพรมน้ำมนต์ บำเพ็ญทักษิณาแผ่บุญกุศลให้แก่วิญญาณผู้ล่วงลับ

เมื่อเสร็จพิธีสงฆ์จะนำบายเบ็ณฑ์หรือบายบัดตระโบรไปหว่านในไร่นา ถือเป็นพิธีกรรมสำหรับความอุดมสมบูรณ์และเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้กับผีในไร่นา  จากนั้นตอนบ่ายจะนำกาบกล้วยหรือกาบมะพร้าว กลัดเป็นรูปเรือสำเภา เอาอาหาร ขนมข้าวต้ม ผลไม้ ฯลฯ ใส่ลงไป  แล้วนำไปลอยในแม่น้ำหรือบ่อน้ำในบริเวณบ้าน เป็นการส่งวิญญาณบรรพบุรุษสู่สรวงสวรรค์ หรือไปเกิดใหม่  หากไม่ทำเรือส่งท่านเชื่อว่าบรรพบุรุษจะกลับยมโลกไม่ได้ จะติดค้างอยู่ในโลกมนุษย์กระทั่งถึงเวลาแซนโฎนตาอีกรอบ ถือเป็นการสร้างบาปและความทุกข์ทรมานแก่ท่าน

 

 


บรรณานุกรม

นายมี หมั่นดี. (25:3(กรกฎาคม-กันยายน) 2542). สารทเขมร-แซนโดนตา. เมืองโบราณ, 107-112.

นิตยา กนกมงคล บก. (2552). งานบุญเดือนสิบ: เวลาแห่งการอุทิศ. การสัมมนาตามโครงการสืบค้นคุณธรรม จริยธรรม ในวันสารทไทยของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ภายใต้แผนยุทธศาสตร์พัฒนาคุณธรรม จริยธรรมภาคสังคม กระทรวงวัฒนธรรม ปี 2552 (หน้า 36-37). กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.

อัษฏางค์ ชมดี. (2553). ร้อยเรื่องเมืองสุรินทร์. สุรินทร์: สำนักหนังสือสุรินทร์สโมสร.