เสนเรือน

22551 ครั้ง |

ชื่อเรียกอื่น : เสนเฮือน,เสนบ้าน, เลี้ยงเฮือน
เดือนที่จัดงาน : มกราคม,กุมภาพันธ์,มีนาคม,พฤษภาคม,มิถุนายน,กรกฎาคม,ตุลาคม,พฤศจิกายน,ธันวาคม
เวลาทางจันทรคติ : เดือนใดก็ได้ ยกเว้นเดือน 5 9 และ 10(เพชรบุรี) , ภายในเดือน 4-6 ตามเวลาทางจันทรคติ(บ้านนาป่าหนาด)
สถานที่ : เขาย้อย เพชรบุรี
: หมู่บ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย
ภาค / จังหวัด : ภาคกลาง
: ภาคตะวันตก
: ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
: นครปฐม
: เพชรบุรี
: ราชบุรี
: เลย
ประเภท : ประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์,ประเพณีเกี่ยวกับการเฉลิมฉลองและเพื่อสิริมงคล
ประเพณีที่เกี่ยวข้อง :
คำสำคัญ : ลาวโซ่ง,ไทดำ,ไทยทรงดำ
ผู้เขียน : ธันวดี สุขประเสริฐ,ธีระวัฒน์ แสนคำ และทรงสุรวิทย์ ย้อยแสง
วันที่เผยแพร่ : 12 ม.ค. 2559
วันที่อัพเดท : 1 ต.ค. 2561

เสนเฮือนไทดำ บ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย

          บ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เป็นชุมชนเก่าแก่ของชาวไทดำที่อพยพมาจากตอนเหนือของเวียดนาม เดิมชาวไทดำกลุ่มน้ำถูกกวาดต้อนไปอยู่ที่ลพบุรี ต่อมาจึงพยายามที่จะอพยพกลับถิ่นฐานเดิม เมื่อมาถึงบริเวณบ้านนาป่าหนาดในปัจจุบันผู้นำชาวไทดำเห็นว่ามีความอุดมสมบูรณ์ ประกอบกับถิ่นฐานเดิมถูกทำลายจากสงครามและมีพี่น้องชาวไทดำเคลื่อนย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่อื่น จึงได้เลือกตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

          ชาวไทดำเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีศาสนาและความเชื่อที่เป็นของตนเอง โดยเฉพาะการนับถือผีเฮือนหรือผีเรือนซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวไทดำ โดยมีความเชื่อว่าบรรพบุรุษที่ได้ล่วงลับไปแล้วยังคงสถิตอยู่กับชาวไทดำตลอดไม่ว่าจะมีการโยกย้ายบ้านเรือนไปตั้งถิ่นฐานในที่ต่างๆดวงวิญญาณของบรรพบุรุษยังคงติดตามพวกเขาไปเสมอ คอยชี้นำชาวไทดำให้ประพฤติปฏิบัติตนตามทํานองคลองธรรมที่สืบต่อกันมา ดังนั้นจึงทำให้ชาวไทดำมีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับบรรพบุรุษของตนเพื่อเป็นการระลึกพระคุณของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับเป็นการแสดงความกตัญญูของลูกหลานที่มีต่อบรรพชนและเป็นการตอบแทนที่เหล่าบรรพบุรุษที่ได้ล่วงลับไปคอยปกปักรักษาคนในครอบครัวให้อยู่เย็นเป็นสุข โดยจะทำพิธีกรรมที่ชาวไทดำทุกบ้านจะต้องจัดให้แก่ผีเรือนของตน เรียกว่า“เสนเฮือน”หรือ เสนเรือน การเสนเฮือนนี้หากเปรียบในทางพระพุทธศาสนาก็คือ การทำบุญอุทิศบุญกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

          คุณตาแก้ว ซ้อนเติม ซึ่งเป็นเจ้าจ้ำประจำชุมชนไทดำบ้านนาป่าหนาดเล่าว่าการนับถือผีเฮือนหรือการนับถือผีบรรพบุรุษของคนไทดำที่เสียชีวิตไปแล้วและบรรพบุรุษยังคงอยู่กับพวกเขาตลอด ที่เรียกกันทั่วไปว่าผีเฮือนซึ่งผีเฮือนนี้ เป็นทั้งศาสนา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ญาติพี่น้องและวัฒนธรรมร่วมไปถึงเป็นกฎหมายที่ชาวไทดำทุกคนยึดถือสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

          การเสนเฮือนคือ พิธีเซ่นไหว้ผีเฮือนของชาวไทดำ ผีเฮือนหรือผีเรือนในที่นี้ หมายถึง พ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ผู้ล่วงลับไปแล้วและทำพิธีอัญเชิญวิญญาณมาไว้บนเรือน โดยจัดให้อยู่มุมห้องๆหนึ่งทางหัวสกัดของบ้าน เป็นที่สมมติขึ้น ไม่มีกระดูกหรือสัญลักษณ์ใดๆ แต่บริเวณนั้นจะมีถ้วยชามและแก้วน้ำตั้งอยู่ จะมีปาดคือไม้ไผ่สานขึ้นมีลักษณะคล้ายขันกระหย่อง (พานไม้ไผ่สาน) มีดดาบ และขี้ไต้ปักอยู่ที่ฝาเรือน บริเวณนั้นเรียกว่า “กะล้อห้อง” 

          กะล้อห้อง คือ มุมห้องที่ชาวไทดำได้เชิญดวงวิญญาณบรรพบุรุษมาสถิตให้เป็นผีเรือน โดยจะมีการนำอาหารเซ่นไหว้ที่เรียกว่า “เลี้ยงปาดตง” ซึ่งเรือนของชาวไทดำที่เป็นชนชั้นใต้ในปกครองน้อยหรือบ้านคนทั่วไปจะทำพิธีเลี้ยงปาดตงทุกๆ 10 วัน ส่วนบ้านผู้ใหญ่หรือบ้านที่มีตระกูลที่มีเชื้อสายเจ้าไทดำจะนำอาหารมาเซ่นไหว้ทุกๆ 5 วัน  

          พิธีเสนเฮือนนิยมทำกันเป็นประจำแต่ละบ้าน 2-3 ปีต่อครั้ง มีคำพูดของชาวไทดำที่ว่า “2 ปีห่าม 3 ปีครอบ” คือ 2 ปีทำไม่ดี 3 ปีจึงจะดี จะจัดขึ้นในระหว่างเดือน 4 ถึงเดือน 6 ทางจันทรคติ โดยการเสนเฮือนนี้จะต้องให้ตระกูลใหญ่คือตระกูลที่สืบเชื้อเจ้านายหรือเจ้าเมืองจัดก่อน จากนั้นบ้านของชาวบ้านทั่วไปจึงจะทำการเสนเฮือนได้ หากตระกูลเจ้านายยังไม่จัดเสนเฮือนตระกูลผู้น้อยก็ไม่สามารถจัดได้ และหลังจากเดือน 6 ไปแล้วไม่สามารถจัดเสนเฮือนได้

          การเสนเฮือนนี้จัดขึ้นเพื่อให้ผีเรือนของตนได้มารับเครื่องเซ่นไหว้จากลูกหลาน เป็นการแสดงความกตัญญู ระลึกถึงพระคุณของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ คุณตาช่วง แห่วกุยอม ให้สัมภาษณ์ว่าชาวไทดำเชื่อว่าเมื่อจัดพิธีเซ่นไหว้ผีเรือนแล้ว ผีเรือนจะปกป้องคุ้มครองรักษาตนและครอบครัวให้มีความสุข เจริญก้าวหน้า ทำมาค้าขึ้น หากครอบครัวไหนไม่จัดเสนเฮือน คนในครอบครัวนั้นมักจะมีอันเป็นไปเช่น เจ็บป่วยรักษาไม่หายหรือมีเหตุการณ์ไม่ดีต่างๆเกิดขึ้นในครอบครัวนั้น โดยมีเหตุมาจากการกระทำของผีเรือนด้วยเหตุที่ไม่ยอมเสนเฮือน หากครอบครัวไหนที่ยังไม่พร้อมก็จะต้องหักไม้ นำหัวหมากพลูมาเซ่นให้หมอเสนบอกกล่าวแก่ผีเรือนว่าขอผลัดไปก่อนเพราะยังไม่พร้อม เนื่องด้วยการเสนเฮือนนี้มีรายจ่ายต่างๆ เยอะมาก

          ในการเสนเฮือนเจ้าภาพจะต้องไปหาหมอเสนซึ่งเป็นผู้นำในการทำพิธีเสนเฮือนให้จัดหาวันที่มีฤกษ์มงคล เช่น มื้อฮวงหรือวันฮวง มื้อฮายหรือวันฮาย มื้อเปิกหรือวันเปิกเป็นวันดี เป็นต้น  คุณตาแหวน  ซ้อนเปียยุง ซึ่งเป็นหมอเสนประจำชุมชนให้ข้อมูลว่า โดยส่วนมากชาวไทดำจะจัดในวันเปิกเพราะเมื่อจัดในวันเปิกจะเสียหมูเสียไก่ (เลี้ยงด้วยหมูและไก่) วันฮายจะเสียหมูเสียไก่ (เลี้ยงด้วยหมูและไก่) ส่วนวันฮวงจะเสียควาย (เลี้ยงด้วยควาย) คำว่า “เสีย” หมายถึงการเซ่นไหว้ ในการเลือกวันดีนี้ส่วนใหญ่แล้วตระกูลชาวบ้านทั่วไปจะเลือกจัดในวันเปิกเพราะเสียสัตว์เล็กคือหมูและไก่เป็นเพราะใช้กำลังทรัพย์ในค่าใช้จ่ายน้อย ส่วนตระกูลใหญ่นั้นมักจะจัดวันฮวง เพราะเป็นตระกูลใหญ่ที่สืบเชื้อสายมาจากเจ้านายจึงต้องเซ่นด้วยสัตว์ใหญ่

          หลังจากได้วันแล้วเจ้าภาพจะตั้งเตรียมงานโดยจัดหาเครื่องเซ่นไหว้คือ หมู 1 ตัว ไก่ 2 ตัว ซึ่งทุกบ้านจะมีการเลี้ยงหมูกันเพื่อใช้เซ่นผีเรือน ชาวบ้านมักจะอธิษฐานว่า  ถ้าหากตนทำมาหากินเจริญรุ่งเรืองและเลี้ยงหมูอ้วนท้วมดีก็จะทำพิธีเสนให้  หมูที่เลี้ยงไว้ทำพิธีนี้จะต้องแข็งแรง มีลักษณะดีและเป็นตัวผู้ที่ขาเต็มกำมือซึ่งก็หมายถึงทำอะไรก็จะได้เป็นกอบเป็นกำเหมือนขาหมู นอกจากนี้เจ้าภาพจะต้องทำเหล้าหมักหรือเหล้าแกลบเพื่อใช้ในพิธีแต่ปัจจุบันใช้เหล้าขาว 40 ดีกรีแทน นอกจากนี้เจ้าภาพจะต้องเตรียมหมากพลูและเครื่องบูชาครูให้หมอเสนนำไปบูชาครูของหมอเสนเรียกว่า “คายหมอ” เพื่อให้หมอเสนรับรู้เสียก่อนในช่วงใกล้วันพิธีเตรียมละข้าวของเครื่องให้ต่างๆที่จำเป็นในงาน

          ก่อนวันงานหนึ่งวันจะมีการต้มข้าวต้มหมูและเจ้าภาพจะเชิญแขกในละแวกบ้านให้มาร่วมงาน (ในอดีตหากมีงานคนในหมู่บ้านจะมาช่วยงานโดยไม่ต้องเชิญ แต่ในปัจจุบันชาวบ้านมีความเกรงใจไม่กล้ามาร่วมงาน เจ้าภาพจึงต้องไปบอกกล่าวแก่เพื่อนบ้านและญาติพี่น้อง) ผู้ร่วมงานส่วนใหญ่จะประกอบด้วย เครือญาติเดียวกัน ญาติจากการแต่งงาน ได้แก่ ลูกเขยและลูกสะใภ้ และเพื่อนบ้านใกล้เคียงที่ได้รับเชิญจากเจ้าภาพ

          ในเวลาประมาณ 3 นาฬิกาของวันงาน เจ้าภาพจะนำหมูที่ซื้อมาหรือที่เลี้ยงไว้ในพิธีนี้มาฆ่า ในการฆ่าหมูนี้จะต้องนำหมูไปฆ่าที่บันไดทางขึ้นบ้านเพื่อให้ผีเรือนได้เห็นและรับรู้ เมื่อฆ่าเสร็จจึงนำหมูออกมาข้างนอกเพื่อทำการถอนขนและชำแหละเอาเครื่องในออก จากนั้นใช้ตอกมัดกับขาทั้งสี่ เสร็จแล้วจึงใช้ไม้ไผ่ทำเป็นไม้คานหาม (ชาวบ้านเรียกว่า ไม้สบู่ คือไม้ไผ่ที่ใช้เป็นคานหาม) นำหมูทั้งตัวขึ้นไปชั้นบนของบ้านที่หน้ากะล้อห้อง ทำความเคารพพร้อมกับกล่าวกับผีเรือนเพื่อให้ผีเรือนรับรู้และเห็นการชำแหละเนื้อหมู ในนี้จะชำแหละเป็นส่วนๆ ให้พอเหมาะที่จะประกอบเป็นตัวหมูทั้งตัวเพื่อใส่กะละมังไว้โดยมิให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของหมูขาดหายไป หากชิ้นเนื้อหมูหายไปก็จะไม่สามารถทำพิธีเสนเฮือนไม่ได้

          ระหว่างนั้นเจ้าภาพจะเข้ามาเอาชิ้นหมูไปย่างไฟเรียกว่า “คาวซา-คาวหิ้ง” คือการบอกกล่าวก่อนทำพิธีเสนเฮือน เมื่อทำเสร็จก็จะนำเนื้อหมูทั้งหมดไปต้มให้สุกก่อนจะนำไปเซ่นไหว้ ระหว่างที่รอหมูสุกชาวบ้านจะช่วยกันทำหมูส่วนที่เหลือจากการต้มนำมาทำลาบเลือดหมูและแกงหน่อไม้ดอง ซึ่งอาหารทั้งสองอย่างนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในพิธีเสนเฮือนที่ทุกครั้งจะต้องมี

          ขณะที่การประกอบอาหารเพื่อทำพิธีดำเนินไป เพื่อนบ้านใกล้เคียงที่ได้รับเชิญจากเจ้าภาพและญาติพี่น้องเดินทางมาร่วมงานผู้ที่มาก็จะนำเหล้าหรือน้ำอัดลมมาช่วยงานเจ้าภาพ ระหว่างที่รอแขกที่มาก็จะช่วยกันเตรียมข้าวของเครื่องใช้ไว้ในกระด้งให้ผีเรือน ประกอบด้วย เสื้อฮี 1 ตัว, กำไลแขน 1 อัน, สร้อยคอ 1 เส้น, พัด 1 ด้าม, กระเทียมหัวหอม 1 พวง, ผ้าเปียวเบอะ 1 ผืน, หัวหมาก 1 อัน, ผ้าขาวม้า 1 ผืน, ผ้าโสร่ง 1 ผืน, ผ้าซิ่น 1 ผืน, ผ้าขาวรอง 1 ผืน, ฝ้ายดำ 1 หัว, ฝ้ายขาว 1 หัว, เสื้อ 1 ตัว, กางเกง 1 ตัว, หวี 1 เล่ม, แหวน 1 วง, เงิน (ตามแต่ละเจ้าภาพจะใส่), เส้นผมคนในครัวเรือน และกระจก 1 บาน นอกจากสิ่งของที่เตรียมใส่กระด้งแล้ว ยังมีเสื้อผ้าอีกหนึ่งชุดที่ห่อด้วยผ้าขาวม้า และถ้วยใส่บุหรี่ คำหมากคำพลูอีกหนึ่งถ้วย

          เมื่อหมูสุกในช่วงเช้าเวลาประมาณ 7 นาฬิกา ชาวบ้านช่วยกันยกหมูขึ้งมาบนเรือนเพื่อจัดแจกเตรียมพิธีเสนเฮือน โดยนำชิ้นส่วนหมูมาประกอบเป็นตัวบนปาน (พานที่ทำด้วยหวาย) แล้วนำใบตองมาปิดตัวหมู และหั่นใบขมฟาดเป็นเส้นๆ ไว้สำหรับใส่จุ๊บหมู (ยำหมู) เมื่อประกอบชิ้นส่วนหมูให้เป็นตัวเสร็จนำจุ๊บหมูที่ทำไว้มาห่อใบตองสามห่อวางไว้ข้างตัวหมูพร้อมกับถ้วยน้ำซุป สำหรับเป็นน้ำให้ผีดื่มเวลาเซ่นอาหาร แล้วจึงจะยกปานที่มีหมูอยู่ไปตั้งไว้หน้าหมอเสน พร้อมกับยกพาข้าวที่มีแกงหน่อไม้ส้มดองใส่ไก่และลาบเลือดหมูพร้อมกระติบข้าวมาไว้หน้าหมอเสนทางทิศเหนือ ต่อจากนั้นหมอเสนจะเป็นผู้ประกอบพิธี โดยพิธีกรรมการเสนเฮือนจะกระทำด้วยกัน 3 ครั้ง

          พิธีเสนเฮือนครั้งแรก จะนำอาหารมาเลี้ยงหมอเสนเรียกว่า “งายหมอ” เป็นการกินข้าวเช้าคือนำปาน ใส่กับข้าวประกอบด้วยกระติบข้าวเหนียวนึ่ง แกงส้มหน่อไม้ดองกับไก่ ไก่ต้มตัดเป็นชิ้นใหญ่ จากนั้นหมอเสนจึงเชิญผีเรือนมารับเครื่องเซ่นโดยเริ่มอ่านสมุดที่มีรายชื่อของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วให้มารับเครื่องเซ่น โดยหมอเสนจะปั้นข้าวเหนียวในกระติบเป็นก้อนๆใส่ในถ้วยแกงแล้วใช้ทู (ตะเกียบ) คีบก้อนข้าวเหนียวและกับข้าวมาวางไว้ข้างถ้วยแกงบนปานพร้อมกับกล่าวเชิญวิญญาณผีเรือนเป็นภาษาไทดำให้มารับเครื่องเซ่น โดยจะหันหลังให้กะล้อห้อง หมอเสนจะนั่งบนที่นอนพับเหตุที่นั่งบนที่นอนเนื่องจากหมอเสนมีครูมีของรักษาจึงนั่งกับพื้นไม่ได้ เป็นเหตุให้ต้องนั่งบนที่สูงกว่าคนอื่น ตามปกติจะใช้โต๊ะไม้เล็กไว้สำหรับนั่งต่างหาก หลังจากครบรายชื่อแล้วหมอเสนจะบอกไว้ช่วยกันยกปานหวายออกมาให้ผู้ที่มาร่วมงานได้รับประทานเป็นอาหารเช้า เรียกว่า “กินงายหมอ” เหตุที่ทำเช่นนี้เพราะไม่ต้องการให้ผีได้กินอีกหลังจากที่หมอเสนได้ทำพิธีไปแล้ว

          พิธีเสนเฮือนครั้งสอง เรียกว่า “ข้าวเวน” ในพิธีเสนเฮือนครั้งสองหมอจะหันหน้าไปทางทิศใต้หันหน้าเข้าหากะล้อห้อง จากนั้นจะเปิดใบตองที่ปิดตัวหมูออกเปิดห่อใบตองที่มีจุ๊บหมูแล้วปั้นข้าวเหนียวเป็นก้อนๆ วางบนใบตอง เสร็จแล้วก็กล่าวเชิญผีเรือนมารับเครื่องเซ่น โดยหมอเสนจะใช้ตะเกียบคีบข้าวเหนียวและหมูจุ๊บวางไว้บนตัวหมูต่อจนครบรายชื่อที่มีในสมุด แล้วจึงเรียกผีเรือนให้มารับข้าวของเครื่องใช้ที่เตรียมไว้จนครับทุกรายชื่อจากนั้นจึงรินน้ำ รินเหล้าใส่แก้วเทลงข้างฝาบ้านตามไปเป็นการล้างปาก เป็นการเสร็จพิธีเสนเฮือนครั้งสอง

          จากนั้นหมอเสนจะหยุดพัก พร้อมกับยกเอาปานที่มีหมูออกมาแยกส่วนขาออกมาทำอาหารให้ญาติพี่น้องและแขกที่มาร่วมรับประทานอาหารด้วยกันเรียกว่า “กินข้าวเวน” แต่เหลือส่วนตัวและส่วนหัวเก็บไว้เพื่อทำการเสนในครั้งต่อไป แล้วชาวบ้านจะช่วยกันเตรียมเครื่องเสนในครั้งที่สาม โดยนำหัวหมูและตัวมาประกอบเข้าด้วยกันและเตรียมห่อข้าว 4 ห่อไว้คาวประตู คาวหน้าต่าง ในระหว่างนั้นจะมีการแจกจ่ายน้ำอัดลมให้ผู้ที่มาร่วมงานได้ดื่ม และจัดเตรียมปานหวายรองด้วยใบตองใส่จุ๊บหมูและน้ำซุปปานละ 2 ถ้วย จำนวน 2 ปานและเตรียมไก่ที่ต้มแล้วมาฉีกแยกออกเป็นสองส่วนใส่ถ้วยวางไว้ที่ปานหวาย แล้วนำ “ไต๊” หรือสิ่งที่เก็บขวัญและเป็นผู้ดูแลขวัญของแต่ละคนที่อยู่อาศัยอยู่ในเรือนซึ่งทุกคนในบ้านจะมีไต๊ประจำตัว แล้วเอาห่อข้าวห่อหมากพลูผูกติดกับไต๊แล้วนำไปเสียบที่ฝาบ้านเหมือนเดิม จากนั้นจึงเริ่มพิธีเสนเฮือนครั้งที่สาม

          พิธีเสนเฮือนครั้งสามเรียกว่า “แลงกลางเฮือน” หรือ “แลงหมอ” โดยชาวบ้านจะช่วยกันยกปานที่มีตัวหมูและปานที่มีจุ๊บหมู และซั่งเหล้าคือขวดเหล้าที่มัดกับเสาไม้ไผ่ในอดีตใช้เหล้าไหแต่ในปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้เหล้า 40 ดีกรีแทน นำเครื่องเซ่นต่างๆ มาตั้งหน้าหมอเสน หมอเสนจะหน้ามาทางทิศเหนือแล้วทำพิธีเสนเฮือนครั้งที่สาม โดยเรียกผีเรือนมารับเครื่องเซ่นจนครบรายชื่อในสมุด หมอเสนนำห่อข้าวเล็กๆที่เรียกว่า “คาว” นำไปวางที่ประตู หน้าต่าง ทางเข้าบ้านเพื่อให้ผีเรือนที่เฝ้าประตูกินและกล่าวบอกให้รักษาบ้านเรือน หลังจากนั้นหมอเสนจะขึ้นมาบนเรือนเพื่อทำพิธีต่อ คือการฟายเหล้าโดยหมอเสนจะรินเหล้าจากซั่งเหล้าให้เจ้าภาพและญาติพี่น้องตระกูลเดียวกันให้ดื่มเหล้า เป็นอันเสร็จพิธีเสนเฮือน

          เมื่อเสร็จพิธีแล้ว หมอเสนจะยกปานที่ทำพิธีเสนเฮือนแล้วออกรับให้แขกที่มางานได้รับประทานเรียกว่า “กินแลงกลางเฮือน” ส่วนหมูที่เหลือจากการเสนจะถูกหั่นใส่ถุงแจกจ่ายให้กับผู้ที่มาร่วมงาน เหลือเพียงกระดูกคางหมูถูกเก็บไว้ที่กะล้อห้องเรียกว่า “ปานปาง” เป็นการบอกกล่าวแก่ผีเรือนว่าปีนี้ลูกหลานได้ทำพิธีเสนเฮือนให้แล้ว หลังจากที่ทานอาหารกันแล้วหมอเสนและญาติพี่น้องร่วมทั้งเพื่อนบ้านที่มาจะร่วมกันให้พรแก่เจ้าภาพ ก่อนจะแยกย้ายกันกลับบ้าน

          ลุงสุทธิสอาน นามกอง ผู้ใหญ่บ้านบ้านนาป่าหนาด หมู่ที่ 4 ให้ข้อมูลว่า พิธีเสนเฮือนทำให้เกิดความสามัคคี ญาติพี่น้องต้องมารวมกันหมด คนในครอบครัวอื่นก็จะไปช่วยงาน การเสนเฮือนไม่ใช่ทำแต่ครอบครัวตัวเองแล้วก็เสร็จ แต่ต้องให้รู้กันทั่วทั้งหมู่บ้าน โดยเฉพาะต้นตระกูลต้องรู้หมด ไม่รู้ไม่ได้ อยู่ไหนก็ตาม อยู่กรุงเทพ อยู่ต่างจังหวัด วันนั้นต้องมา ส่วนญาติพี่น้องที่รู้จักมักคุ้นกันก็ไปบอกกล่าว ว่าจะมีการเสนเฮือนวันนี้ ให้มากินข้าวด้วยกัน เมื่อมาก็จะนำของที่ใช้เซ่นมาด้วย เป็นเหล้า เป็นยา มากินด้วยกัน แต่กินแล้วต้องกินให้หมดนะ กินให้หมด แต่หากเหลือก็ต้องเอาออก ไม่เอาไว้ในบ้าน เอาออกไปให้ญาติพี่น้องเอาไปกินที่อื่น ไม่ให้เอาไว้บ้าน

          จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าประเพณีเสนเฮือนของชาวไทดำบ้านนาป่าหนาดเป็นเสมือนงานบุญรวมญาติของพุทธศาสนิกชนที่นิยมปฏิบัติ นอกเหนือจากประเพณีจะเป็นการแสดงออกซึ่งความกตัญญูต่อบรรพบุรุษของชาวไทดำแล้ว การเสนเฮือนยังเป็นประเพณีที่สร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นของชาวไทดำอีกด้วย


บรรณานุกรม

เพชรตะบอง สิงห์หล่อคำ. หมู่บ้านไทดำ. เลย : เมืองเลยการพิมพ์, 2548.

เพ็ญนิภา อินทรตระกูล. การนับถือผีของชาวไทยดำบ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน

จังหวัดเลย. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2535.

อุไรวรรณ หอมทรัพย์ และคณะ. การศึกษาประเพณีเลี้ยงบ้านของชาวไทดำ บ้านนาป่าหนาด ตำบล

เขาแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย. รายงานการวิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2553.

 

สัมภาษณ์

นายแก้ว ซ้อนเติม อายุ 87 ปี เจ้าจ้ำไทดำบ้านนาป่าหนาด. บ้านเลขที่ 48 หมู่ที่ 4 ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย, สัมภาษณ์วันที่ 13 สิงหาคม 2561. 

นายช่วง แห่วกุยอม อายุ 87 ปี เจ้าเสื้อไทดำบ้านนาป่าหนาด. บ้านเลขที่ 50 หมู่ที่ 4 ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย, สัมภาษณ์วันที่ 13 สิงหาคม 2561.  

นายพล ซ้อนเติม อายุ 80 ปี บ้านเลขที่ 46/3 หมู่ที่ 4 ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย, สัมภาษณ์วันที่ 13 สิงหาคม 2561.

นายสุทธิสอาน นามกอง อายุ 55 ปี ผู้ใหญ่บ้านบ้านนาป่าหนาด. บ้านเลขที่ 171 หมู่ที่ 4 ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย, สัมภาษณ์วันที่ 13 สิงหาคม 2561.

นายแหวน ซ้อนเปียยุง อายุ 74 ปี หมอเสนไทดำบ้านนาป่าหนาด. บ้านเลขที่ 20/4 หมู่ที่ 4 ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย, สัมภาษณ์วันที่ 13 สิงหาคม 2561.

การเสนเรือน

                การเสนเรือน  คือ พิธีเซ่นผีเรือนของชาวลาวโซ่งหรือไทยทรงดำ ผีเรือนในที่นี้ หมายถึง พ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ผู้ล่วงลับไปแล้วและทำพิธีอัญเชิญมาไว้บนเรือน โดยจัดให้อยู่มุมห้องๆหนึ่งทางหัวสกัดของบ้าน เป็นการสมมติไม่มีกระดูกและสัญลักษณ์ใดๆ เป็นที่ว่างเปล่า บริเวณนั้นเรียกว่า “กะล้อห้อง”  คือ มุมห้อง ที่ตรงนั้นจะมีถ้วยชามและแก้วน้ำตั้งอยู่ ข้างฝาจะเจาะรูกลมเท่าไข่เป็ด ถ้วยชามเหล่านี้เป็นภาชนะสำหรับใส่อาหารที่นำมาเซ่นไหว้ทุกๆ 10 วัน

                พิธีเสนเรือนนิยมทำกันเป็นประจำแต่ละบ้านทุกปีหรือ 2-3 ปีครั้ง เพื่อให้ผีเรือนของตนได้มารับเครื่องเซ่นไหว้จากลูกหลาน เป็นการแสดงความกตัญญู ระลึกถึงพระคุณของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ เชื่อกันว่าเมื่อจัดพิธีเซ่นไหว้ผีเรือนแล้ว ผีเรือนจะปกป้องคุ้มครองรักษาตนและครอบครัวให้มีความสุข เจริญก้าวหน้า ทำมาค้าขึ้น

                พิธีเสนเรือนกระทำเดือนใดก็ได้ ยกเว้นเดือน 9 เดือน 10 เพราะถือกันว่าผีเรือนจะไปเฝ้าเทวดา จึงไม่อยู่บ้าน โดยปกติแล้วมักทำกันในระยะที่ว่างจากงานทำนา  และในเดือน 5 ไม่นิยมทำเพราะเป็นช่วงหน้าแล้ง ไม่ค่อยมีความอุดมสมบูรณ์ฃ

                 ในวันเสนเรือนหมอเสนจะนำปับผีเรือน (สมุดจดรายชื่อผู้ตายของตระกูล) มาอ่านรายชื่อผีเรือน เพื่อเชิญให้มารับของเซ่นทีละหนึ่งตน  ผีเรือนมีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของลูกหลานมาก จึงมีประเพณีการ “สืบผี” ชาวโซ่งถือว่าเป็นการสืบสกุล ผู้สืบผีจากบรรพบุรุษคือพ่อบ้าน  การทำพิธีต่างๆ พ่อบ้านจะเป็นหลักหรือเป็นผู้ประกอบพิธี เมื่อใดที่พ่อบ้านเสียชีวิตลง บ้านนั้นจะขาดการสืบสกุลชั่วคราว จำเป็นต้องหาผู้สืบสกุลต่อ  ผู้สืบสกุลจะต้องเป็นลูกชายคนใดคนหนึ่ง กรณีที่ไม่มีลูกชายสืบสกุล อาจให้หลานชายมาเป็นผู้ทำพิธีสืบสกุลได้  ถ้ามีลูกชายหลายคน จะต้องดูว่าคนใดเหมาะสมจะเป็นผู้สืบพิธีนี้

 

การทำพิธีเสนเรือน

 

ขั้นเตรียมงาน

                ทุกบ้านจะมีการเลี้ยงหมูกันเพื่อใช้เซ่นผีเรือนโดยอธิษฐานว่า  ถ้าหากตนทำมาหากินเจริญรุ่งเรืองและเลี้ยงหมูอ้วนท้วนดีก็จะทำพิธีเสนให้  หมูที่เลี้ยงไว้ทำพิธีนี้จะต้องแข็งแรง มีลักษณะดีและเป็นตัวผู้เท่านั้น   นอกจากนี้ เจ้าภาพจะต้องทำเหล้าหมักเพื่อใช้ในพิธีด้วย แต่ปัจจุบันใช้เหล้าขาว 35 ดีกรีแทน จากนั้น เจ้าภาพจะต้องไปปรึกษาหมอเสนเพื่อหาวันดีที่จะประกอบพิธี  หมอเสนจะเลือกวันที่เป็นมงคลสำหรับบ้านนั้น  หลังจากนั้นเจ้าภาพจะต้องเตรียมหมากพลูและเครื่องบูชาครูให้หมอเสนนำไปบูชาครูของหมอเสนเสียก่อนในช่วงใกล้วันพิธี

 

ผู้ร่วมงาน

                เจ้าภาพจะต้องเชิญแขกในละแวกบ้านให้มาร่วมงาน ดังนี้
      1. ญาติสายโลหิตเดียวกัน แต่งกายด้วยชุดธรรมดา
      2. ญาติจากการแต่งงาน ได้แก่ บรรดาเขยและสะใภ้ ผู้หญิงจะต้องนุ่งซิ่นสวมเสื้อฮี ชายนุ่งส้วงฮีและสวมเสื้อฮี และจะต้องนำขนมและผลไม้มาสมทบด้วย เครื่องเซ่นเหล่านั้นจะวางไว้ในปานเผือน (ภาชนะคล้ายขันโตก) ที่เจ้าภาพเตรียมไว้
      3. เพื่อนบ้านใกล้เคียงที่ได้รับเชิญจากเจ้าภาพ  จะแต่งกายด้วยชุดธรรมดาและอาจจะนำข้าวของเงินทองมาช่วยสมทบด้วยก็ได้
      
 

การจัดพิธี

                   พิธีเริ่มเวลา 01.00 น.ของวันใหม่ นำหมูที่เลี้ยงไว้ในพิธีนี้มาฆ่า เมื่อฆ่าเสร็จนำหมูทั้งตัวไปที่กะล้อห้อง ทำความเคารพพร้อมกับกล่าวกับผีเรือนความว่า เอาหมูมาให้กินตามประเพณีเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข จากนั้นจึงชำแหละเป็นส่วนๆ ให้พอเหมาะที่จะประกอบเป็นตัวหมูทั้งตัวเพื่อใส่ “ปานเผือน” เมื่อทำพิธีเซ่นไหว้ ให้นำเนื้อหมูทั้งหมดไปต้มให้สุกก่อนนำไปเซ่นไหว้  การเซ่นครั้งแรกนั้นใช้เนื้อหมูทั้งตัวกับเหล้า 1 ขวด

                   ตอนเช้าเวลาประมาณ 7-8 นาฬิกา  หมอเสนจะเป็นผู้ประกอบพิธี หมอเสนจะสวมชุดเสื้อฮีชาย ถือพัดอยู่ในมือ พัดนี้ชาวโซ่งเรียกว่า “วี” ใบพัดคล้ายใบโพธิ์ นั่งอยู่ข้างๆ ปานเผือน ก่อนทำพิธีเจ้าของบ้านจะต้องเลี้ยงอาหารหมอก่อน และก่อนที่หมอเสนจะรับประทานอาหาร หมอจะต้องนำอาหารดังกล่าวเซ่นไหว้ครูของหมอเสนก่อน โดยเฉพาะ “บาอาน” กับ “บาเอน”

 

พิธีเสนเรือน

                  หมอเสนจะกล่าวถึงประวัติและประเพณีการเสนเรือนที่กระทำสืบต่อกันมาและกล่าวถึง “บาอาน” กับ “บาเอน” จากนั้นจึงบอกกล่าวแก่ผีเรือนถึงความประสงค์ของเจ้าภาพที่จัดพิธีขึ้น  เริ่มพิธีเจ้าภาพและญาติผีเดียวกันเข้าไปในห้องผีเรือนแล้วช่วยกันยกปานเผือนที่บรรจุเครื่องเซ่นให้สูงขึ้น 3 ครั้ง ต่อหน้าหมอเสน 

                  ต่อจากนั้น เจ้าของบ้านจะนำอาหารมาเลี้ยงหมอเสนเรียกว่า “งายหมอ” คือปานข้าว 1 ที่ ประกอบด้วยกะบะไม้สี่เหลี่ยมจัตุรัสบรรจุข้าวเหนียวนึ่ง แกงส้มหน่อไม้ดองกับไก่ ไก่ต้มตัดเป็นชิ้นใหญ่ จัดเป็นรูปไก่ทั้งตัวพร้อมเหล้า 1 ขวด กล่าวกันว่าไก่ต้มที่เจ้าของบ้านนำมาให้หมอเสนนั้นจะเป็นเครื่องเสี่ยงทายโชคลาภให้แก่เจ้าของบ้าน  คือ  สังเกตที่ขาไก่ ถ้านิ้วเหยียดตรงทายว่าไม่ดี ถ้านิ้วงอทายว่าดีมีโชคลาภ เจริญรุ่งเรือง  ขาไก่ซ้ายสำหรับเสี่ยงทายตัวหมอเอง และขาขวาสำหรับเจ้าของบ้าน  จากนั้นหมอเสนจึงเชิญผีเรือนมารับเครื่องเซ่น โดยเซ่นด้วยหมู 3 ครั้ง เหล้า 3 ครั้ง 

                   การเซ่นผีเรือนเริ่มด้วยหมอเสนนั่งยองๆ ใกล้พานเครื่องเซ่นที่จัดเตรียมไว้แล้วตรงมุมกะล้อห้อง  หมอเสนจะเอาใบตองสดเสียบลงไปในช่องสำหรับส่งอาหารให้ผีเรือนที่เจาะไว้ตรงฝาบ้าน  ที่ข้างตัวหมอจะมีชามใส่น้ำไว้ครึ่งชาม สำหรับเป็นน้ำให้ผีดื่มเวลาเซ่นอาหาร นอกจากนี้ยังมีแอ๊บข้าวเหนียว 1 ที่ ตะเกียบ 1 คู่ ห่อข้าวเหนียวนึ่ง 1 ห่อ แกะออกวางไว้พร้อมปับผีเรือน 1 เล่ม 

                  หมอเสนจะกล่าวเป็นภาษาโซ่งอย่างคล้องจอง ใจความคือ วันนี้เป็นวันดีลูกหลานของท่านได้พร้อมกันนำอาหารคาวหวานมาเซ่นให้ ขอให้ท่านทั้งหลายจงมารับเครื่องเซ่นเหล่านี้ด้วย หมอเสนเปิดปับผีเรือนอ่านรายชื่อแล้วเรียกชื่อผีเรือนลำดับที่ 1 คือพ่อและแม่ของเจ้าของบ้านนั้นมารับเครื่องเซ่น พร้อมกับใช้ตะเกียบคีบเนื้อหมูยำหย่อนลงไปที่ช่องข้างฝาบ้าน ตามด้วยข้าวเหนียวนึ่ง 1 ก้อน และน้ำ 1-2 หยดตามไปเป็นการล้างปาก  จากนั้นจึงเรียกชื่อผีลำดับต่อไปทีละ 1 ชื่อ แล้วส่งอาหารเซ่นให้เหมือนครั้งแรก หมอจะกระทำซ้ำๆ กันจนหมดรายชื่อ  เมื่อเซ่นด้วยอาหารคาวเสร็จแล้วก็เซ่นด้วยขนมและผลไม้ โดยใช้ตะเกียบคีบขนมชิ้นเล็กๆ ทิ้งลงไปที่ช่องเล็กๆ ข้างฝาให้หล่นลงไปใต้ถุนบ้าน 1 ครั้ง และไม่ต้องเรียกชื่อทีละชื่อ การเซ่นครั้งแรกนี้เรียกว่า “เสนปางแปง” จากนั้นหมอเสนจะหยุดพักแล้วจึงเริ่มเซ่นเป็นครั้งที่สอง

                  การเซ่นครั้งที่ 2 เรียกว่า “เสนกำกก” เป็นการเซ่นหมูและอาหารคาวหวาน หมอเสนจะเซ่นอาหารให้ทีละชื่อเฉพาะผีเรือนเจ้าของบ้านเท่านั้น ส่วนผีเรือนของญาติพี่น้องหมอจะเรียกครั้งละ 5 หรือ 10 ชื่อ แล้วจึงเซ่นอาหารให้ ส่วนการเซ่นผลไม้และขนมทำเช่นเดียวกันกับครั้งแรก

                  การเซ่นครั้งที่ 3 เรียกว่า “เสนสองตั๊บ”  การเซ่นครั้งนี้หมอเสนจะคีบก้อนข้าวเหนียวเนื้อหมูยำ และน้ำส่งไปตามช่องข้างฝาแบบครั้งแรก แต่จะเรียกชื่อครั้งละ 3-5 ชื่อ  เมื่อหมอเสนได้เซ่นอาหารคาวไปครบ 3 ครั้งแล้ว จึงทำการเซ่นเหล้าและกับแกล้มเรียกว่า “เสนแก้มแฮ” โดยหมอเสนจะจัดที่สำหรับเซ่นห่างกันจากที่เดิมเล็กน้อย หันหน้าออกมาทางกลางบ้าน เครื่องเซ่นประกอบด้วย เหล้า 1 ขวดพร้อมแก้วเหล้า ใบตองสด 3 ทาง ปูลงบนพื้นห้อง จุ๊บหมู (หมูยำ) วางบนใบตอง 3 ห่อ ข้าวเหนียวนึ่ง 6 ห่อ ตะเกียบ 6 คู่ น้ำต้มหมู 3 ถ้วยแกง น้ำเย็น 1 ถ้วยแกง ในการทำพิธี หมอเสนจะนั่งยองๆ มือขวาถือพัด มือซ้ายถือตอกไม้ไผ่ยาว 1 ศอก จุ่มปลายตอกลงในขวดเหล้า จากนั้นหมอเสนจะกล่าวเป็นภาษาโซ่ง  เชิญให้ผู้รับเครื่องเซ่นมากินเหล้าทีละชื่อ พร้อมรินเหล้าใส่แก้วแล้วผู้ช่วยหมอจะคีบหมูยำจากจานมาใส่เพิ่มในห่อหมูยำจนครบ 3 ห่อแล้วเชิญชื่อต่อไปมารับเครื่องเซ่น ทำเช่นนี้จนครบ 7 ครั้ง

                  ในขณะที่หมอเสนทำพิธีเซ่นแก้มแฮอยู่ ข้างนอกห้อง ผู้ช่วยหมอเสนจะทำพิธีเซ่นผีสกุลเดียวกันแต่อยู่ต่างจังหวัดพร้อมทั้งผีร้ายให้มารับเครื่องเซ่นด้วย เรียกว่า “เสนข่าวว่า” การเซ่นครั้งนี้มิได้เอ่ยชื่อผู้ใดให้มารับเครื่องเซ่น แต่เป็นการเชิญบรรดาผีทั่วๆ ไปที่ไม่มีญาติให้มารับเครื่องเซ่นโดยทั่วกัน  เมื่อเสร็จพิธีดังกล่าวแล้ว หมอเสน เจ้าภาพ และญาติผีเดียวกันที่มาในวันนั้นจะรับประทานอาหารร่วมกันบนบ้าน เรียกว่า “แลงหมอ” หรือ “แลงกลางเฮือน” ส่วนแขกที่มาในงานจะรับประทานอาหารอยู่นอกห้องผีเรือน

                 หลังจากรับประทานอาหารและพักผ่อนแล้วจะมีการเซ่นเหล้า 3 ครั้ง

ครั้งที่ 1 เรียกว่า “เสนเหล้าหลวง” เป็นการเซ่นเหล้าครั้งใหญ่  โดยหมอจะเรียกชื่อผีให้มารับเซ่นเหล้า เฉพาะผีเรือนของเจ้าภาพทีละชื่อ ส่วนผีบ้านญาติห่างออกไปจะเรียกชื่อรวมกัน แล้วเชิญให้กินเหล้า

ครั้งที่ 2 เรียกว่า “เสนลาแกง” คือ การเซ่นเหล้าหลังจากได้กินของคาวแล้วเป็นการล้างปาก

ครั้งที่ 3 เรียกว่า “เสนเหล้ากู้” เป็นการกู้เผือน (พานที่ใส่อาหารเซ่นผี) กลับมาจากผี  เพื่อนำอาหารและขนมผลไม้ในเผือนนั้นมาแจกจ่ายกันรับประทาน ถือว่าเป็นสิริมงคล แล้วเชิญผีให้กลับไปบ้านเมืองของตน

                   จากนั้นเจ้าภาพและญาติผีเดียวกันเข้าไปในห้องผีเรือนอีกครั้งหนึ่ง หมอเสนจะรินเหล้าแจกทุกคน และให้ดื่มเหล้าพร้อมๆ กัน 7 ครั้ง เรียกว่า “แลงฟายเฮือน” หมอเสนจะบอกให้ผีเรือนพิทักษ์รักษาลูกหลานทุกคนที่ “มาหยาดมาฟาย” กันได้อยู่อย่างสบายไม่เจ็บป่วย  หลังจากนั้นหมอเสนจะเทเหล้าของตนทิ้งไปในช่องกระดานพื้นบ้านเรียกว่า “เหล้าส่งหล่ำ” แล้วเจ้าภาพและญาติจะยืนคำนับผีเรือนพร้อมกัน เป็นการส่งกลับอันเป็นเสร็จพิธี

                   ทุกคนในบ้านจะมี “ไต๊” หรือ ผู้ดูแลขวัญของแต่ละคน  หมอเสนจะทำพิธีเซ่นขวัญ “แปงไต๊” เพื่อให้อายุมั่นขวัญยืน  เมื่อเสร็จจากการแปงไต๊แล้วยังมีการเลี้ยงอาหารให้กับเทวดาด้วย อาหารให้เทวดานี้เรียกว่า “ฟายท่านพ่อปู่” เพื่อให้ทุกคนในครอบครัวมีความสุขสบาย เพราะถือว่าเทวดารักษาหมู่บ้านช่วยพิทักษ์คนในหมู่บ้าน เสร็จแล้วหมอเสนจะส่งมอบเสื้อฮีที่นำไปวางไว้ในพิธีเสนเรือนตั้งแต่แรกให้กับเจ้าของบ้าน สักครู่จึงลากลับ เป็นอันเสร็จพิธีโดยสมบูรณ์


บรรณานุกรม

นุกูล ชมภูนิช.(2538). ประเพณีชาวไทยโซ่ง หมู่บ้านเกาะแรต. นครปฐม : เพชรเกษมการพิมพ์.