ไหว้พระจันทร์

10308 ครั้ง |

ชื่อเรียกอื่น : เทศกาลพระจันทร์,เทศกาลเดือนแปด,เทศกาลชุมนุมพร้อมหน้า,เทศกาลชมจันทร์,เทศกาลตามจันทร์,เทศกาลเล่นพระจันทร์
เดือนที่จัดงาน : กันยายน,ตุลาคม
เวลาทางจันทรคติ : ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของปฏิทินจีน
สถานที่ : ชุมชนเจริญไชย เยาวราช
: ต.ทุ่งยาว อ.ปะเหลียน จ.ตรัง
: อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง
ภาค / จังหวัด : ภาคกลาง
: ภาคใต้
: กรุงเทพมหานคร
: ตรัง
: อ่างทอง
ประเภท : ประเพณีตามเทศกาล หรือประเพณี 12 เดือน,ประเพณีเกี่ยวกับการเฉลิมฉลองและเพื่อสิริมงคล
ประเพณีที่เกี่ยวข้อง :
คำสำคัญ : คนจีน,พระจันทร์
ผู้เขียน : ปณิตา สระวาสี
วันที่เผยแพร่ : 11 ก.ค. 2559
วันที่อัพเดท : 14 ก.ค. 2559

ไหว้พระจันทร์

ประเพณีหรือเทศกาลไหว้พระจันทร์จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของปฏิทินจีน หรือราวเดือนกันยายนถึงตุลาคม ในภาษาจีนเรียกว่า “จงชิว” หมายถึง “กึ่งกลางฤดูใบไม้ร่วง” หรือ “ครึ่งหนึ่งของฤดูใบไม้ร่วง” ในภาษาจีนจึงเรียกประเพณีไหว้พระจันทร์ในอีกหลายชื่อ อาทิ เทศกาลพระจันทร์ เทศกาลไหว้พระจันทร์ เทศกาลเดือนแปด เทศกาลชุมนุมพร้อมหน้า เทศกาลชมจันทร์ เทศกาลตามจันทร์ เทศกาลเล่นพระจันทร์ เป็นต้น เหตุที่ไหว้พระจันทร์ในฤดูใบไม้ร่วงเพราะเป็นฤดูที่ท้องฟ้าแจ่มใสมีเมฆน้อย และจะเห็นพระจันทร์ดวงกลมโตงดงาม

ไหว้พระจันทร์เป็นหนึ่งในสี่ของประเพณีใหญ่ของชาวจีน ได้แก่ ตรุษจีน ชิงหมิง(เช็งเม้ง) ตวนอู่(ขนมจ้าง-บ๊ะจ่าง) และไหว้พระจันทร์ และถือเป็นประเพณีที่ยังคงแพร่หลายอยู่ในหมู่ชาวจีนโพ้นทะเล อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง มาเก๊า เวียดนาม สิงคโปร์ ไทย

ตำนานเกี่ยวกับกำเนิดการไหว้พระจันทร์มีหลายตำนาน แต่ที่แพร่หลายและรู้จักกันดีมีอยู่ 5 ตำนาน ได้แก่

1. ตำนานฉางเอ๋อร์เหินสู่ดวงจันทร์ เล่ากันว่าในยุคบรรพกาลมีดวงอาทิตย์ขึ้น 10 ดวง แผดเผาผู้คนเดือดร้อนไปทั่ว มีชายหนุ่มผู้หนึ่งชื่อโฮ่วอี้ ใช้ธนูยิงพระอาทิตย์ดับไป 9 ดวง โลกจึงเย็นลงและเหล่ามนุษย์ก็ใช้ชีวิตได้ตามปกติสุข วีรกรรมของโฮ่วอี้ได้รับการแซ่ซ้องจากผู้คน พระแม่เจ้าซีหวางหมู่เทพมารดรได้ประทานยาวิเศษกินแล้วเป็นอมตะให้ 2 เม็ด แต่เขาไม่ประสงค์เช่นนั้นจึงไม่ได้กินและฝากยาไว้กับภรรยาชื่อฉางเอ๋อร์ แต่มีชายจิตใจชั่วร้ายหวังขโมยยาตอนที่โฮ่วอี้ไม่อยู่บ้าน ใช้อุบายหลอกฉางเอ๋อร์ให้มอบยาวิเศษ แต่นางไม่ยอมและเมื่อเหตุการณ์คับขันนางจึงกินยา 2 เม็ดนั้นเสียเอง ทำให้ตัวเบาลอยละล่องสู่ท้องฟ้า ร่างของนางลอยสถิตอยู่ในดวงจันทร์ในวันนั้นซึ่งเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ กลางเดือน 8 พอดี  ประชาชนต่างซาบซึ้งในความดีของนางจึงจัดพิธีเซ่นไหว้ฉางเอ๋อร์ในวัน 15 ค่ำ กลางเดือน 8 ทุกปีจนกลายเป็นเทศกาลไหว้พระจันทร์

ตำนานฉางเอ๋อร์ยังมีอีกหลายสำนวนแต่สำนวนนี้แพร่หลายมากที่สุด

2. ตำนานอู่กังในดวงจันทร์ อู๋กังเป็นคนเกียจคร้านไม่มีวิชาความรู้ แต่ฝันอยากจะเป็นเซียน พระเจ้าจึงลงโทษให้เขาไปโค่นต้นกุ้ยฮวาในดวงจันทร์ หากทำสำเร็จจะได้เป็นเซียน แต่ต้นกุ้ยฮวาสูงถึง 500 จ้างหรือกว่า 5,000 ฟุต แต่จนแล้วจนรอดอู๋กังก็ยังทำไม่สำเร็จจนทุกวันนี้

3. ตำนานกระต่ายหยก ครั้งหนึ่งมีเทพสามองค์จำแลงเป็นคนชรามาขออาหารกับลิง หมาจิ้งจอก และกระต่าย แต่มีเพียงกระต่ายที่สงสารแต่ไม่มีอาหารจะให้ กระต่ายจึงกระโดดเข้ากองไฟสละเนื้อตัวเองเป็นอาหาร เทพทั้งสามชื่นชมในความดีของกระต่ายจึงพาไปอยู่กับฉางเอ๋อร์ มีหน้าที่ตำยาวิเศษ

4. ตำนานขนมไหว้พระจันทร์ ในสมัยพระเจ้าถังเกาจู่ ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ถัง แม่ทัพหลี่จิ้งยกทัพไปปราบชนเผ่าซุงหนูได้ชัยชนะกลับมาในวัน 15 ค่ำ กลางเดือน 8 ประชาชนต่างยินดีและต้อนรับด้วยการจัดพิธีไหว้พระจันทร์ มีพ่อค้าชาวทิเบตที่เป็นมิตรกับราชวงศ์ถังร่วมแสดงความยินดีด้วยการทำขนมไหว้พระจันทร์ถวายพระเจาถังเกาจู่ พระองค์แบ่งขนมให้ขุนนางและแม่ทัพนายกองกิน จนกลายเป็นประเพณีไหว้พระจันทร์ ตามเจตจาของขนมไหว้พระจันทร์อยู่ที่การเฉลิมฉลองและแบ่งปันความสุข

5. ตำนานเกี่ยวกับการนัดก่อการโค่นล้มราชวงศ์หยวนโดยจูหยวนจาง ตำนานนี้อิงประวัติศาสตร์จีนในสมัยราชวงศ์หยวนที่สถาปนาโดยกุบไลข่านหรือชาวมองโกล ปลายราชวงศ์ประชาชนถูกกดขี่ข่มเหง เดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า จูหยวนจางเป็นหนึ่งขบวนการใต้ดินที่ต้องการโค่นล้มพวกมองโกล เขานัดหมายก่อการในวัน 15 ค่ำ กลางเดือน 8 โดยเอาประเพณีมอบขนมไหว้พระจันทร์ให้กันบังหน้าตบตาพวกมองโกล  โดยสอดจดหมายนัดแนะวันก่อการไปในขนมที่จงใจออกแบบให้เป็นขนมเปี๊ยะก้อนใหญ่ไส้หนาเป็นพิเศษ ในที่สุดสามารถโค่นล้มราชวงศ์หยวนสำรวจ จูหยวนจางตั้งตนเป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์หมิง ชาวจีนจึงยึดเอาวันเพ็ญเดือน 8 เป็นวันไหว้พระจันทร์สืบมา เพื่อรำลึกถึงการปลดแอกจากพวกมองโกล

การไหว้พระจันทร์กับความเชื่อดั้งเดิม

คตินิยมการกลับไปชุมนุมพร้อมหน้าพร้อมตากันของครอบครัวในวันไหว้พระจันทร์มีมาตั้งแต่อดีต ในตอนเย็นทุกคนต้องรับประทานอาหารร่วมกัน เมื่อไหว้พระจันทร์เสร็จแล้วแม่บ้านจะแบ่งขนมไหว้พระจันทร์ให้กินคนละชิ้นทุกคน ถ้ามีคนไม่ได้กลับมาก็ต้องเก็บไว้ให้หนึ่งชิ้น โดยคนนั้นมักจะกลับมากินขนมนี้ในวันตรุษจีน

ช่วงเวลาการไหว้นั้น แต่เดิมเริ่มจากไหว้เทพแห่งแผ่นดินในเวลาก่อนเที่ยง  ต่อมาตอนเย็นไหว้บรรพบุรุษ  ตกค่ำจึงไหว้พระจันทร์ การจัดโต๊ะไหว้พระจันทร์มักเป็นหน้าที่ของผู้หญิง อาจจัดไว้ที่หน้าบ้านที่เป็นลานโล่ง คติของชาวแต้จิ๋วมักจัดที่ลานกลางแจ้งหน้าศาลประจำตระกูลหรือหน้าบ้านตัวเองก็ได้

ของไหว้เทพแห่งแผ่นดินและของไหว้บรรพบุรุษนั้นโดยพื้นฐานแล้วเหมือนกับของไหว้เทศกาลอื่น แต่ที่พิเศษออกไปคือ มีขนมไหว้พระจันทร์ ส่วนผลไม้นิยมเผือก ส้มโอ แตงโม ส่วนของไหว้พระจันทร์ตัดเหล้าซาแซ ข้าวและกับข้าวออก ใช้ขนมประเภทปิ่งหรือเปี๊ยะ  ขนมเกาคือขนมนึ่งทำมากแป้งหรือถั่วมีรสหวาน ผลไม้และชาเท่านั้น และของที่ขาดไม่ได้คือขนมไหว้พระจันทร์หรือ “เย่ว์ปิ่ง”  ข้อสำคัญขนมและผลไม้ที่นำมาไหว้พระจันทร์ต้องเป็นไปตามหลักโบราณที่ว่า “15 ค่ำเดือนแปด ไหว้พระจันทร์ ผลไม้และปิ่ง(ขนม) ที่ไหว้ต้องกลม”

นอกจากไหว้แล้วยังมีการเที่ยวชมจันทร์ การละเล่น และมหรสพเฉลิมฉลองด้วย ยุครราชวงศ์หมิงและชิง จะมีประเพณีท่องแสงจันทร์สำหรับหญิงสาวโดยเฉพาะ ปกติสาวจีนโดยเฉพาะลูกคนมีชาติตระกูลมักไม่ค่อยมีโอกาสเที่ยวเล่นนอกบ้าน แต่คืนไหว้พระจันทร์แตกต่างออกไป

นอกจากนี้การมีมหรสพฉลองเช่น งิ้วแล้ว ยังมีการละเล่นที่ชาวบ้านเล่นกันเองด้วย คือการกัดจิ้งหรีด หรือบางท้องถิ่นในจีนมีการร้องเพลงปฏิพากย์ การเล่นเข้าผีหรือทรงผี เป็นต้น

การไหว้พระจันทร์ในเมืองไทย

หลังสงครามโลกครั้งที่สองมีชาวจีนอพยพมาเมืองไทยครั้งใหญ่อีกครั้ง ทำให้เทศกาลไหว้พระจันทร์คึกคักมาก ถึงขั้นตั้งชมรมจันทรเทวีของพวกหญิงจีน แล้วเก็บเงินสมาชิกเอาไปซื้อของไหว้พระจันทร์ในแต่ละมี นอกจากนี้ยังนิยมเล่นเข้าผีตะกร้ากันมาก

การไหว้พระจันทร์ในไทยแต่เดิมมักไหว้ 3 เวลา คือ เช้าไหว้ “เหล่าเอี๊ย เจ้าทั้งหลาย” “ตี่จู้” เจ้าที่ประจำบ้าน ไหว้ด้วยผลไม้หรือส้มอย่างเดียว ช่วงสายถึงเที่ยงไหว้บรรพบุรุษคล้ายสารทจีน แต่ใช้ขนมไหว้พระจันทร์แทนขนมเข่ง นิยมใช้ส้มโอไหว้ด้วย ตกกลางคืนจึงไหว้พระจันทร์ด้วย “เปี้ยหรือปิ่ง” “กอหรือเกา” ผลไม้ ผ้าและเครื่องสำอาง บางบ้านอาจไหว้ด้วยหนังสือหรือเครื่องเขียนด้วย เพื่อขอพรให้เรียนเก่งเหมือนผู้ชายจีนในอดีต

กระดาษเงินกระดาษทองเป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งของเทศกาล มีการจัดทำสวยงามและหลากหลายรูปแบบ เช่น เนี้ยเก็งหรือวังเจ้าแม่ ที่มีการทำหลายขนาดและจะต้องมีภาพเจ้าแม่และคณะโป๊ยเซียนยืน 2 องค์ประจำยามที่ประตูวัง ที่เหลืออาจไปอยู่บนหลังคาวังหรือไม่มีเลยก็มี และวังเจ้าแม่มักอยู่บนน้ำ คือที่ฐานวังจะทำเหมือนเป็นตู้ปลา ประดับประดาด้วยรูปปลาเงินปลาทอง เรียกลายนี้ว่า “กิมเง็กมั้วตึ๊ง” แปลว่าเงินทองไหลมาเต็มฟ้า นอกจากนี้ยังมีกระดาษเงินกระดาษทองลายโป๊ยเซียนและมีองค์เจ้าแม่เป็นประธานสูงสุดเรียกว่า “โป๊ยเซียนตี่เอี๊ย”  และแบบอื่นๆ ที่เป็นที่นิยม เช่น กระดาษเงินกระดาษทองแบบทำเป็นโคมสวยงาม ทำด้วยกระดาษแก้วสีแดงแต่งเป็นลวดลายต่างๆ  พานพุ่มดอกบัวแบบสับปะรด แบบร้อยเรียงเป็นเส้นๆ เป็นต้น

ส่วนขนมไหว้พระจันทร์ที่แพร่หลายในเมืองไทยเป็นแบบจีนกวางตุ้งคือมีลักษณะหนาเปลือกนิ่ม ส่วนของแต้จิ๋วจะแผ่นใหญ่บาง เปลือกร่วนนิ่ม นอกจากนี้ยังนิยมไหว้ด้วยขนมอื่นๆ ด้วย เช่น ขนมโก๋ขาวหรือแปะกอ ขนมโก๋ถั่วเขียวหรือเหล็กเต่ากอ ขนมโก๋อ่อน ขนมโก๋เช้ง รวมถึงขนมเปี๊ยะอีกหลายแบบ เช่น ขนมเปี๊ยะงา ขนมเปี๊ยะไส้ต่างๆ  ขนมเหม่งทึ้งหรือขนมเหนียวเคลือบงา ขนมอ๊ะอ่ำหรือขนมคอเป็ด

ชุมชนจีนบางแห่งยังไหว้ “ปุงเถ่ากง” ด้วย เช่น ที่อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง เจ้าองค์นี้มีที่มาจากเส้อหรือพระเสื้อบ้านของจีนโบราณ เพราะวันประสูติของปุงเถ่ากงคือวันที่ 15 ค่ำเดือนแปด ตรงกับ “เส้อ” ของจีน

จิตรา ก่อนันทเกียรติ(2553) เล่าถึงการไหว้พระจันทร์ในตำบลทุ่งยาว อำเภอประเหลียน จังหวัดตรัง ว่าที่นี่มีคนจีนแต้จิ๋ว แซ่โค้ว 10 คน อพยพมาจากเมืองซัวเถา ประเทศจีน  โดยมีจิ๋นล้งและเต็กช้วนเป็นผู้ชักชวนมาตั้งรกรากที่นี่ ทำมาค้าขาย ปลูกข้าว ปลูกพืชผัก บ้างรับจ้างทำสวนยางพารา ทำประมง โดยมักติดต่อค้าขายกับทางหยงสตาร์ ทับเที่ยบ และท่าข้าม

ปัจจุบันชุมชนขยายมากขึ้นมีประชากรกว่า 500 หลังคาเรือน แต่ลูกหลานชาวจีนแต้จิ๋วที่ทุ่งยาวยังคงสืบทอดประเพณีและธรรมเนียมจีนต่างๆ รวมทั้งการไหว้พระจันทร์ และปัจจุบันกลายที่รู้จักและเป็นเทศกาลท่องเที่ยวประจำปีสำคัญของจังหวัดตรัง มีการประกวดการจัดโต๊ะไหว้พระจันทร์ ประกวดธิดาพระจันทร์ และมีการออกร้านขายอาหารแต้จิ๋วสูตรดั้งเดิม

สำหรับขนมไหว้พระจันทร์แบบแต้จิ๋วจะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักแพร่หลายในเมืองไทย จะคล้ายขนมเปี๊ยะก้อนใหญ่ไส้หนา นอกจากนี้ยังมีขนมไหว้อื่นๆ อีก อาทิ ขนมเปี๊ยะ ขนมตุ้บตั้บ  ขนมกุ่ยช่าย และขนมข้าวพอง ที่ทำใหม่สดๆ มีกลิ่นหอม หาทานได้จากเทศกาลไหว้พระจันทร์ที่ทุ่งยาวเท่านั้น ส่วนการจัดโต๊ะไหว้พระจันทร์จะทำอย่างประณีตสวยงาม แต่ละโต๊ะตกแต่งด้วยต้นอ้อย 2 ต้น โคมไฟ เชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความรุ่งเรืองและความหวาน  ควบคู่กับของใช้จำพวกเครื่องสำอาง แป้งปัดหน้า สบู่ แชมพู ผ้าเช็ดหน้า กระจกที่เชื่อว่าจะนำมาซึ่งความสวยงามสำหรับคนในครอบครัว มีการแกะสลักผลไม้หรือแต่งผลไม้อย่างสวยงาม และที่แตกต่างคือมีการนำภาพหรือตุ๊กตาเจ้าแม่กวนอิมมาตั้งไหว้ สะท้อนการปรับเปลี่ยนธรรมเนียมการไหว้พระจันทร์ของคนจีนแต้จิ๋วที่ไม่ใช่การไหว้นางพระจันทร์เหมือนในเมืองจีนแต่ดั้งเดิม

นอกจากนี้บางชุมชนก็มีการรื้อฟื้นการไหว้พระจันทร์ขึ้นใหม่เช่น ชุมชนเจริญไชย เยาวราช แหล่งขายกระดาษเงินกระดาษทองและสินค้าทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับธรรมเนียมและประเพณีคนไทยเชื้อสายจีนที่ใหญ่ที่สุด ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน  ทางชุมชนจึงได้ร่วมกันก่อตั้งพิพิธภัณฑ์บ้านเก่าเล่าเรื่องเพื่อบอกเล่าประวัติความเป็นมาและความสำคัญของย่านเจริญไชย พร้อมกับรื้อฟื้นประเพณีไหว้พระจันทร์ขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อสื่อให้เห็นถึงวัฒนธรรมและประเพณีของคนไทยเชื้อสายจีนที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน

 


บรรณานุกรม

จิตรา ก่อนันทเกียรติ. (2542). ลูกหลานกตัญญูโชคดี เกี้ย-ซุง-ฮวด-ไช้. กรุงเทพฯ: แพรวสำนักพิมพ์.

จิตรา ก่อนันทเกียรติ. (2553). ธรรมเนียมจีนที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ แต่มีในเมืองไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จิตรา.

ถาวร สิกขโกศล. (2557). เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้. กรุงเทพฯ: มติชน.

ถาวร สิกขโกศล(แปล). (2555). เปิดตำนานเทศกาลจีน. กรุงเทพฯ: มติชน.

มหาวิทยาลัยครูหนานจิง และมหาวิทยาลัยครูอันฮุย วิทยาลัยภาษาจีนปักิ่ง. (2550). ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเทศจีน. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ.