บุญหลวง

4481 ครั้ง |

ชื่อเรียกอื่น : บุญผะเหวด,บุญพระเวส,แห่ผีตาโขน
เดือนที่จัดงาน : พฤษภาคม,มิถุนายน
เวลาทางจันทรคติ : เดือน 6 - 7
สถานที่ : ด่านซ้าย จ.เลย
ภาค / จังหวัด : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
: เลย
ประเภท : ประเพณีตามเทศกาล หรือประเพณี 12 เดือน,ประเพณีเกี่ยวกับการเฉลิมฉลองและเพื่อสิริมงคล
ประเพณีที่เกี่ยวข้อง : บุญผะเหวด
คำสำคัญ : งานบุญหลวง,ด่านซ้าย,บุญผะเหวด
ผู้เขียน : ศรีศักร วัลลิโภดม และคณะ,สุพิชชา นักฆ้อง
วันที่เผยแพร่ : 3 พ.ค. 2559
วันที่อัพเดท : 20 ก.ย. 2560

การละเล่นผีตาโขน

งานผีตาโขนเป็นส่วนหนึ่งของงานบุญพระเวส(บุญผะเหวด) หรือบุญหลวง (หนึ่งในงานฮีตสิบสองของชาวอีสาน จัดขึ้นระหว่างเดือน 6 – 7) ซึ่งรวมกับการขอฝนและการแห่บั้งไฟ เป็นงานแสวงบุญ งานบุญพระเวส เป็นงานบุญที่จัดขึ้นนเพื่อฟังเทศน์มหาชาติ 13 กัณฑ์ มีการเซ่นไหว้และเลี้ยงดวงวิญญาณ กระทำพิธีโดยเจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม แสน และนางแต่ง ซึ่งเป็นผู้ดูแลบริเวณพระธาตุศรีสองรัก ซึ่งเป็นพระธาตุสำคัญตั้งแต่สมัยอยุธยา เจ้าพ่อกวน คือ ผู้ทำหน้าที่เข้าทรงกระทำหน้าที่เซ่นไหว้ประจำปี เลือกโดยวิญญาณเจ้าแสนเมืองมาเข้าทรงผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าใหญ่ เป็นชายไว้ผมยาว มีผ้าขาวคาดศีรษะ นุ่งโจงกระเบนด้วยชุดขาว เจ้าแม่นางเทียม เป็นหญิงเลือกโดยเจ้าแสนเมือง มีหน้าที่เข้าทรงเหมือนเจ้าพ่อกวน แสน คือผู้เข้าเฝ้าขณะเจ้าแสนเมืองเข้าทรงเจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียม คอยปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ นางแต่ง คือข้าเฝ้าและปฏิบัติฝ่ายหญิง วันแรกเริ่มเวลาตีสี่ เริ่มทำพิธีเบิกพระอุปคุตที่ริมแม่น้ำหมัน เพื่อคุ้มครองปราบพวกมารมาผจญ มีขบวนแห่ไปบ้านเจ้าพ่อกวน เพื่อทำพิธีบายศรีสู่ขวัญแก่เจ้าพ่อกวนและแม่นางเทียม เสร็จพิธีแล้วเคลื่อนขบวนไปยังวัดโพนชัย ในระหว่างนี้ เด็ก ๆ จะแต่งกายเป็นผีตาโขนเล่นสนุกตามขบวนไปด้วย หน้ากากผีตาโขนทำจากหวดนึ่งข้าวเหนียว เย็บต่อกับกาบมะพร้าวทำเป็นจมูกแล้วเขียนสีต่าง ๆ เอาเศษผ้าที่ไม่ใช้คลุมตัวอีกทีหนึ่ง จากนั้นจะประกอบพิธีสงฆ์และจัดขบวนแห่ วันที่สองเป็นงานของจังหวัด มีการประกวดการเต้นผีตาโขน พิธีสู่ขวัญพระเวส ขบวนแห่พระเวส บั้งไฟ และการจุดบั้งไฟเพื่อขอฝนและขอความเป็นสิริมงคล มีการละเล่นในประเพณี เช่น การเล่นควายตู้ไถนา การทอดแหและการเล่นตกปลา การเล่นเครื่องเพศ ซึ่งสะท้อนถึงวิถีชาวบ้าน หลังจากนั้น ผู้เล่นผีตาโขนจะนำชุดและอุปกรณ์ที่แต่งกายไปทิ้งที่ลำน้ำหมันถือเป็นการลอยเคราะห์ และวันสุดท้าย จะเป็นการฟังเทศน์มหาชาติ


บรรณานุกรม

ศรีศักร วัลลิโภดม และคณะ.(2544). โครงการวิจัยเรื่องประเพณีสิบสองเดือน : พิธีกรรมที่เปลี่ยนไป. (2544). กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษวิทยาสิรินธร.

บุญหลวง

อำเภอด่านซ้ายเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเลย มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาและวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ก่อนสุโขทัยเป็นราชธานี ดังรายละเอียดที่ว่า “ด่านซ้ายตั้งอยู่ทางด้านซ้ายของเมืองบางยาง ซึ่งเชื่อกันว่าตั้งอยู่ในอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งพ่อขุนบางกลางท้าว เจ้าเมืองบางยางตั้งขึ้นเป็นเมืองหน้าด่าน และเรียกเมืองนี้ว่า “เมืองด่านซ้าย” (สาร สาระทัศนานันท์ ม.ป.ป. ; ไทยโรจน์ พวงมณี  2554 : 10)

เช่นเดียวกับอีกแนวคิดหนึ่งที่ว่า ด่านซ้าย มาจากคำว่า “ด่านช้าง” ซึ่งในสมัยโบราณมีช้างป่าอาศัยอยู่ชุกชุมมาก อยู่ระหว่างป่าภูหลวง ป่าโป่งลิงต้น ป่าเขตเมืองล้านช้าง แขวงเมืองไชยะบุลี ประเทศลาว คนในสมัยก่อนจึงเรียกว่า “ด่านช้าง” และเพี้ยนมาเป็น “ด่านซ้าย” (สาร สาระทัศนานันท์ ม.ป.ป.) สำหรับคำขวัญของอำเภอด่านซ้ายคือ “ดินแดนแห่งสัจจะไมตรี ประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน” (ไทยโรจน์ พวงมณี  2554 : 10-11)

สำหรับคนที่มาอยู่ที่เมืองด่านซ้ายในคราวแรกนั้น เล่าและเชื่อกันว่าอพยพมาจากอาณาจักรล้านช้าง โดยมีพ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมืองเป็นหัวหน้า อพยพผ่านมาทางเมืองปากลาย แล้ววกเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่หมู่บ้านนากอก บ้านเมืองฮำ และเมืองบ่อแตน พ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมืองคงพาไพร่พลข้ามแม่น้ำเหือง แล้วเดินทางมาตามแม่น้ำหมันจนถึงบริเวณที่ราบกว้างใหญ่ จึงหยุดพักและตั้งหลักแหล่งขึ้น ณ ที่บ้านเก่า ปัจจุบันคือหมู่บ้านในท้องที่ตำบลบ้านนาหอ อำเภอด่านซ้าย ก่อนแล้วพ่อขุนผาเมืองก็ได้ไปตั้งเมืองด่านขวาขึ้น (สาร สาระทัศนานันท์ ม.ป.ป. ; ไทยโรจน์ พวงมณี  2554 : 11)

ต่อมาพ่อขุนผาเมืองคงพาไพร่พลอพยพจากเมืองด่านขวาไปสร้างเมืองเป็นการชั่วคราวอีกหลายแห่ง แล้วจึงพาไพร่พลอพยพต่อไปทางทิศใต้ ที่สุดก็ได้ไปสร้างเมืองใหม่สุดท้ายที่เมืองราด ซึ่งเชื่อว่า คือ “เมืองศรีเทพ” ในปัจจุบัน (สาร สาระทัศนานันท์ ม.ป.ป. ; ไทยโรจน์ พวงมณี  2554 : 11)

ส่วนพ่อขุนบางกลางหาวคงได้พาไพร่พลจากเมืองด่านซ้าย อพยพไปอยู่ที่เมืองบางยาง (ปัจจุบันคือเมืองนครไทย จังหวัดพิษณุโลก) ส่วนเมืองด่านซ้ายภายหลังพ่อขุนบางกลางหาวไปแล้ว สันนิษฐานว่าคงมีการตั้งเมืองตลอดมา แต่เนื่องจากพื้นที่และภูมิประเทศที่ประกอบด้วยภูเขา มีพื้นที่ราบที่จำกัด คนที่อพยพเข้ามาอยู่จึงมีจำนวนน้อย เมืองที่ตั้งจึงเป็นเมืองเล็ก (สาร สาระทัศนานันท์ ม.ป.ป. ; ไทยโรจน์ พวงมณี  2554 : 11)

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ กษัตริย์อยุธยา และพระไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์กรุงศรีสัตตนาคนหุต ได้ทำสัญญาทางพระราชไมตรีกันเพื่อร่วมกันป้องกันประเทศจากการรุกรานของพม่า และเพื่อเป็นสักขีพยานแห่งการทำสัญญาทางพระราชไมตรีต่อกันของทั้งสองอาณาจักรและยังเป็นเครื่องหมายของเขตแดนด้วย จึงได้ทรงโปรดให้มีการสร้างเจดีย์องค์หนึ่งขึ้น ณ โคกไม้ติดกัน ประมาณกึ่งกลางระหว่างแม่น้ำโขงกับแม่น้ำหมัน ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เมืองด่านซ้าย โดยให้ชื่อเจดีย์องค์นี้ว่า “พระธาตุศรีสองรัก” โดยเริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2103 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2106 (สาร สาระทัศนานันท์ ม.ป.ป. ; ธวัช ปุณโณทก 2530 : 434 ; ไทยโรจน์ พวงมณี  2554 : 11) จนกระทั่งปัจจุบันพระธาตุศรีสองรักกลายมาเป็นโบราณปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยจะมีพิธีสมโภชและงานนมัสการพระธาตุในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือราวเดือนพฤษภาคมของทุกปี

เมืองด่านซ้ายในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ จัดเป็นเมืองหนึ่งในเขตภาคเหนือ เป็นหัวเมืองชายแดน ขึ้นตรงต่อกรุงรัตนโกสินทร์ จนในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เกิดกรณีพิพาทไทย-ฝรั่งเศส ทำให้ไทยเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศส ตามสนธิสัญญา ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2446 เมืองด่านซ้ายตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส จนกระทั่ง พ.ศ.2449 ฝรั่งเศสได้คืนเมืองด่านซ้ายและตราดให้แก่ไทยตามสนธิสัญญาลงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2449 แลกกับมลฑลบูรพา (พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ) และฝรั่งเศสได้ถอนทหารออกจากด่านซ้ายในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน

หลังจากนั้นเมืองด่านซ้ายคงอยู่ในเขตการปกครองมณฑลพิษณุโลก และโอนมาอยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดเลย ใน พ.ศ.2450 จนถึงปัจจุบัน มีเจ้าเมืองคนสุดท้ายคือ พระแก้วอาสา (ท้าวกองแสง) ซึ่งเป็นที่เคารพของชาวด่านซ้ายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ด้วยเหตุนี้ ชาวด่านซ้ายจึงกล่าวขานว่าอำเภอด่านซ้ายเป็นเมืองแห่งประวัติศาสตร์ ประชาชนมีความรักสงบ ซื่อตรงด้วยสัจจะ สามัคคีสมานฉันท์และมีความเป็นมิตร

ปูชนียสถานสำคัญของด่านซ้ายนอกจากพระธาตุศรีสองรักแล้ว ยังมี “วัดโพนชัย” ริมลำน้ำหมัน ซึ่งถือว่าเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของอำเภอด่านซ้าย เป็นวัดเก่าแก่ที่เชื่อกันว่าสร้างขึ้นพร้อมกับพระธาตุศรีสองรัก ราว พ.ศ.2103 ผู้สร้างก็น่าจะเป็นคนกลุ่มเดียวกัน งานบุญประเพณีและการละเล่นสำคัญของชาวด่านซ้ายก็ประกอบที่วัดโพนชัยแห่งนี้ นั่นคือ “งานบุญหลวง” และการละเล่น “ผีตาโขน”

ผีตาโขน เป็นชื่อการละเล่นชนิดหนึ่งในงานบุญหลวง โดยผู้เล่นจะนำหน้ากากที่มีลักษณะน่าเกลียดน่ากลัวมาสวมใส่ แต่งกายมิดชิด แล้วเข้าขบวนแห่และแสดงท่าทางต่างๆ ในระหว่างมีงานบุญตามประเพณีประจำปีของท้องถิ่นพื้นบ้าน โดยเฉพาะที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ส่วนที่บ้านไฮหย่อง อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร มี “บุญเซิ้งผีตาโขน” ในเดือน 4 ขึ้น 4 ค่ำ เป็นกิจประเพณีท้องถิ่นที่เป็นงานกุศล จึงไม่ค่อยจะมีคนรู้จักทั่วไป (สาร สาระทัศนานันท์ 2542 : 2805)  

งานบุญหลวง : งานบุญเผวสและบุญบั้งไฟของชาวด่านซ้าย

ดังกล่าวในข้างต้นว่า ในอำเภอด่านซ้าย ผีตาโขน เป็นชื่อการละเล่นชนิดหนึ่งในงานบุญหลวง งานบุญหลวงเป็นประเพณีประจำเดือน 8 หรือ “ฮีตเดือนแปด” ในฮีตสิบสอง คองสิบสี่ของชาวอำเภอด่านซ้าย จัดขึ้นที่วัดโพนชัยเป็นวัดแรก นอกจากที่วัดโพนชัยแล้ว ยังมีจัดขึ้นที่วัดสาขาของวัดโพนชัย ได้แก่ วัดศรีสะอาด วัดโพธิ์ศรีนาเวียงใหญ่ และวัดศรีภูมิ จังหวัดเลย สลับสับเปลี่ยนกันไป โดยมีรูปแบบของพิธีกรรมที่เหมือนกัน แต่ต่างกันตามขนาดของงานที่ปรับเปลี่ยนไปตามความพร้อมของชุมชน แต่ต้องไม่ยิ่งใหญ่ไปกว่าที่วัดโพนชัย

การจัดงานบุญหลวงนั้นเป็นการนำเอางานบุญประเพณี 2 งานตามขนบประเพณีปฎิบัติในฮีตสิบสองของชาวอีสานมารวมเข้าไว้ด้วยกัน คือ “งานบุญเผวส” หรือ “งานบุญผะเหวด” หรือ“งานบุญพระเผวด” หรือ “งานบุญพระเวส” หรือ “งานบุญพระเวสสันดร” ซึ่งเป็นงานบุญเดือนสี่ กับ “งานบุญบั้งไฟ” ซึ่งเป็นงานบุญเดือนหก โดยจัดเป็นงานเดียวกัน รวมเรียกว่า “งานบุญหลวง” หรืองานบุญใหญ่

ในขณะที่คนในท้องถิ่นระบุว่า ประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขนเป็นการรวมบุญหลายเดือนมารวมกันคือ บุญพระเผวด บุญบั้งไฟ บุญซำฮะ และการละเล่นผีตาโขน รวมเป็นบุญใหญ่ เรียกว่า “บุญหลวง”

งานบุญพระเวสสันดร เป็นบุญที่จัดขึ้นเพื่อการฟังเทศน์เรื่องมาลัยหมื่นมาลัยแสน เทศน์สังกาส และเทศน์เรื่องพระเวสสันดรตามลำดับ โดยชาวบ้านเชื่อว่าใครฟังเทศน์ดังกล่าวจบในวันเดียวจะได้กุศลแรง ชาติหน้าจะได้เกิดในยุคพระศรีอาริยเมตรไตรย์ที่เป็นยุคที่มีแต่ความสุข (ธรรมาสน์ นิยมรัตน์จรูญ 2553 : 9 ; ไทยโรจน์ พวงมณี  2554 : 45)

ส่วนงานบุญบั้งไฟเป็นงานบุญที่จัดทำขึ้นเพื่อเพื่อบูชาอารักษ์ หลักเมือง เป็นประเพณีการขอฝน การแห่บุญบั้งไฟและการจุดบั้งไฟเพื่อการถวายพญาแถน เพื่อให้พญาแถนนั้นได้ดลบันดาลให้ฝนฟ้าตกถูกต้องตามฤดูกาล อันจะทำให้การเพาะปลูกพืชพันธุ์ต่างๆ ได้ผลดี ส่งผลทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีความร่มเย็นเป็นสุข นอกจากนี้ยังเป็นการถวายบั้งไฟให้กับวิญญาณผีเจ้านายไปพร้อมกันด้วย สำหรับพิธีกรรมดังกล่าวมีเจ้าพ่อกวนเป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสารระหว่างผีเจ้านายกับชาวเมืองด่านซ้าย ส่วนขบวนแห่ในพิธีกรรมนั้นจะมีบั้งไฟที่ชาวบ้านช่วยกันหามมาร่วม โดยมีเจ้าพ่อกวนนั่งอยู่บนส่วนหัวของบั้งไฟ ทั้งนี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นการแห่บั้งไฟของชาวด่านซ้ายนั่นเอง (รัตนา แสงสว่าง 2552 : 143)

ส่วนพิธีกรรมในตอนเย็นนั้นถือว่าเป็นวันสุดท้ายของการฟังเทศน์ฟังธรรม ชาวบ้านจะต้องมีการเตรียมตัวแห่ “กัณฑ์หลอน” โดยทางวัดโพนชัยก็จะมีการนิมนต์พระภิกษุตามวัดต่าง ๆ มาร่วมในการเทศน์ (ไทยโรจน์ พวงมณี  2554 : 46)

งานบุญหลวง : ขั้นตอน

ประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขนในแต่ละปี ไม่มีวันกำหนดตายตัวแน่นอน ขึ้นอยู่กับเจ้ากวนที่จะทรงวิญญาณของเจ้านายก่อน แล้วจึงกำหนดวัน ส่วนใหญ่แล้วก็จะอยู่ในเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม นิยมจัดกัน 3 วัน มีขั้นตอนสำคัญดังนี้

วันแรก เป็นวันโฮม (วันรวม) วันเบิกพระอุปคุต โดยเริ่มตั้งแต่ราว 3.00 น. มีพิธีบวชพราหมณ์รับศีล 8 ให้กับพ่อแสน (วัดโพนชัย วัดศรีสะอาด และวัดศรีภูมิ) และพราหมณ์พื้นบ้าน (วัดโพธิ์ศรี) เพื่อเป็นตัวแทนไปทำพิธีเบิกพระอุปคุต ณ ลำน้ำหมัน (วัดโพนชัย วัดศรีสะอาด และวัดศรีภูมิ) ลำน้ำพาน (วัดศรีสะอาด)

ในส่วนของวัดโพนชัยนั้น จะมีการรวมตัวกันที่วัด บอกกล่าวพระเจ้าใหญ่ พระประธานในอุโบสถ จากนั้นจะพากันเดินไปที่จุดประกอบพิธีเบิกอุปคุตริมลำน้ำหมัน บริเวณริมลำน้ำหมันในจุดที่ลำน้ำหมันบรรจบกับลำน้ำศอก (พิกัดภูมิศาสตร์ 17.275450, 101.147502) ในเวลาประมาณ 4.00 น. ประชาชนในตำบลต่างๆ เดินทางมาร่วมงาน โดยปกติจะนำบั้งไฟมาด้วย ทำพิธีอัญเชิญพระอุปคุตจากลำน้ำหมันมาประดิษฐานที่วัดโพนชัย พระอุปคุตในพิธีแทนด้วยก้อนหินสีขาวที่อยู่ใต้ท้องน้ำในจุดที่ทำพิธี (ในก่อนหน้าวันงาน มีการทำพิธีอัญเชิญก้อนหินสีขาวหรือพระอุปคุตนี้สู่ใต้ท้องน้ำ) โดยคณะบริวารของเจ้าพ่อกวนจะอัญเชิญขึ้นมาจากน้ำ ใส่พาน แล้วอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ  หออุปคุต วัดโพนชัย ซึ่งสร้างขึ้นอย่างง่ายๆ ด้วยไม้ มี 4 เสา ขนาดไม่ใหญ่โตนัก อยู่ในบริเวณใกล้กับพระธาตุศรีสองรักองค์จำลองภายในวัดโพนชัย เชื่อกันว่าการทำพิธีดังกล่าวจะช่วยปราบมารและป้องกันภัยอันตรายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในงาน

รายละเอียดของพิธีอัญเชิญพระอุปคุตนั้น ตอนเริ่มพิธีในเวลาราว 4.00 น. คณะแสนผู้เป็นบริวารของเจ้าพ่อกวนจะนำอุปกรณ์ที่เตรียมไว้ ซึ่งได้แก่ มีด ดาบ หอก ฉัตร พร้อมพานดอกไม้ธูปเทียน ขันห้าขันแปด (พานดอกไม้ 5 คู่ หรือ 8 คู่) ถือเดินนำขบวนไปที่บริเวณริมลำน้ำหมันเพื่ออัญเชิญพระอุปคุต ลำน้ำหมันจะถูกสมมติให้เป็นท้องทะเลอันกว้างใหญ่ ที่ซึ่งพระอุปคุตประทับอยู่ ผู้อัญเชิญพระอุปคุตคนหนึ่งต้องกล่าวคาถาเชิญพระอุปคุต และอีกคนหนึ่งต้องลงไปในน้ำเพื่องมหาก้อนหินใต้น้ำแล้วถามว่าใช่พระอุปคุตหรือไม่ ผู้ที่ยืนอยู่บนฝั่งจะตอบว่าไม่ใช่ ผู้อัญเชิญก็จะลงไปงมใหม่และขึ้นมาถามเช่นนี้ทุกครั้งจนกว่าผู้ที่ยืนอยู่บนฝั่งจะตอบว่าใช่ จากนั้นผู้อัญเชิญก็จะนำพระอุปคุตขึ้นมาไว้บนพานหรือถาดบนฝั่ง (ชไมพร พรเพ็ญพิพัฒน์ 2546 : 98-99)

จากนั้นจะแห่พระอุปคุตจากจุดที่อัญเชิญขึ้นมาจากน้ำไปยังวัดโพนชัย (ระยะทางตามแนวเส้นตรงประมาณ 180 เมตร) เมื่อถึงวัดก็ทำพิธีที่ศาลพระอุปคุต 4 ทิศ อัญเชิญพระอุปคุตที่หอพระอุปคุต จากนั้นจึงอุตราวรรตรอบอุโบสถ 3 รอบ แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานที่หอพระอุปคุต ต่อจากนั้นก็จะมีการยิงปืน 4 ทิศ และจุดประทัด ชาวบ้านตีฆ้องลั่นกลองแข่งกับเสียงดนตรี บางพวกก็ฟ้อนรำไปรอบโบสถ์จนฟ้าสาง พระสงฆ์ออกบิณฑบาต

เมื่อเสร็จพิธีอัญเชิญพระอุปคุตแล้ว จะมีพิธีบายศรีสู่ขวัญให้แก่เจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียม ขอขมาและเบิกงานเล่นบุญ

ในอีกทางหนึ่ง ก็จะมีขบวนแห่เล็กๆ จากบ้านช่างที่ทำผีตาโขนใหญ่ไปบ้านเจ้าพ่อกวน โดยมีขบวนฆ้อง กลอง ฉิ่งฉาบตีเป็นที่สนุกสนานหยอกล้อกันผู้คนที่ออกมาร่วมงาน เจ้าพ่อกวนจะออกมาตอนรับพร้อมกับเจ้าแม่นางเทียม เมื่อประกอบพิธีที่บ้านเจ้าพ่อกวนเสร็จสิ้นแล้ว ขบวนเจ้าพ่อกวนและคณะก็จะแห่จากบ้านมาทำบุญที่วัดโพนชัย โดยมีผีตาโขนใหญ่ น้อย แห่ตามมาด้วย

วันที่สอง มีพิธีแห่พระเวสสันดรเข้าเมืองที่วัดโพนชัย เริ่มจากเจ้าพ่อกวนนำคณะพ่อแสนพร้อมชาวบ้าน และขบวนผีตาโขนน้อยใหญ่แห่กัณฑ์เทศน์ออกจากบ้านพ่อกวนไปยังวัดโพนชัย แห่อุตราวรรตรอบอุโบสถ 3 รอบ นำถวายพระ และพาชาวบ้านเล่นบุญตลอดวัน

ตกบ่ายเจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม พ่อแสน นางแต่ง และชาวบ้าน พระสงฆ์ 4 รูป พร้อมกันที่บริเวณหน้าบ้านเจ้าพ่อกวนทำพิธีสู่ขวัญพระเวสสันดร แห่อัญเชิญแห่พระพุทธรูปซึ่งถือเป็นองค์แทนพระเวสสันดรเข้าเมือง พ่อแสนพร้อมชาวบ้านเชิญเจ้าพ่อกวนขึ้นนั่งเขี๊ยะบั้งไฟ แห่รอบอุโบสถวัดโพนชัย 3 รอบ (ในส่วนของวัดศรีสะอาด วัดโพธิ์ศรี และวัดศรีภูมิ จะทำพิธีบายศรีที่ศาลาของแต่ละวัด)

ต่อจากนั้นมีพิธีจุดบั้งไฟบูชาพญาแถน เป็นอันเสร็จพิธี หน้ากากผีตาโขนใหญ่และอุปกรณ์ในการเล่นผีตาโขนถูกนำไปทิ้งแม่น้ำหมันที่ท่าวังเวิน

อีกมุมหนึ่งของวัดโพนชัยที่ท่าวังเวินมีพิธีบวงสรวงศาลพญานาคซึ่งเล่าขานกันว่า เมื่อมีงานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขนในวันที่ 2 ของงานจะมีนาคชื่อ “นางแอกไคร้” ขึ้นมาร่วมเล่นในงานอย่างสนุกสนาน

ในช่วงเย็นมีพิธีสวดมนต์เย็น สวดบุญคุณวัดวาอาราม เจริญพระพุทธมนต์สูตรมาลัยหมื่น มาลัยแสน และถวายกัณฑ์เทศน์มหาชาติ

วันที่สาม มีพิธีเทศน์มหาชาติ 13 กัณฑ์ตั้งแต่ตอนเช้ามืด เชื่อกันว่าผู้ที่ได้ฟังภายในวันเดียวทั้ง 13 กัณฑ์ จะประสบความสำเร็จทุกประการ ทั้งนี้ตลอดวันจะมีการถวายแห่กัณฑ์หลอนแด่ภิกษุรูปที่กำลังเทศน์มหาชาติอยู่ขณะนั้น

นอกจากนี้ที่วัดโพนชัยยังมีพิธีสวดซำฮะ สูตรกระทง และจ้ำข้าวจ้ำคิง โดยจะนำปั้นข้าวเหนียวมาจ้ำบนตัวแล้วนำไปทิ้งลงในกระทง จากนั้นนิมนต์พระ 4 รูป ทำพิธีสวดซำฮะและพิธีสูตรกระทง เพื่อขอขมาลาโทษ สะเดาะเคราะห์รับโชค ล้างสิ่งที่เป็นเสนียดจัญไรให้หมดไป นำอาหารหวานคาวใส่กระทง เพื่อเป็นการให้ทาน สะเดาะเคราะห์ และสืบชะตาบ้านเมือง พ่อแสนทำพิธีจ้ำเนื้อจ้ำคิง จากนั้นก็นำเครื่องสะเดาะเคราะห์ทิ้งลงแม่น้ำหมัน เพื่อนำสิ่งไม่ดี สิ่งเสนียดจัญไรทิ้งให้ไหลลงไปตามแม่น้ำ ปิดท้ายด้วยพิธีคารวะองค์พระเจ้าใหญ่ภายในอุโบสถวัดโพนชัย โดยเจ้าพ่อกวนและคณะ เป็นอันเสร็จพิธี

ส่วนเครื่องสักการะและอุปกรณ์ประกอบขบวนที่ขาดไม่ได้ในขบวนแห่ที่ต้องจัดเตรียมตั้งแต่ก่อนงาน ได้แก่ ฉัตร ร่ม พัด (เงาะ) ปืนใหญ่ ปืนน้อย ดาบใหญ่ หอกใหญ่ หอกน้อย ศิวลึงค์ 4 ทิศ พานบายศรีเจ้าพ่อกวน ดอกปีบ (ดอกก้านของ) ดอกผักตบ ดอกบัวใหญ่ ดอกบัวน้อย บั้งไฟ ศาลอุปคุตที่สิงสถิต 4 ทิศ แท่นวางเครื่องใช้พระอุปคุต พาข้าวหย่อง พานบายศรีพระเวสสันดร เสลี่ยงพระพุทธรูป เสลี่ยงพระสงฆ์ ธงพันชั้น ธงสีขาว 4 ชิ้น ต้นยี่ต้นเกียง บันไดแก้ว ธรรมาสน์ ขัน 5 ขัน 8 กระทงใหญ่ กระทงเล็ก กระทงหู

เจ้าพ่อกวนและแม่นางเทียม

ศ.(พิเศษ) ศรีศักร วัลลิโภดม (2550 : 169) กล่าวไว้ในหนังสือ ผีกับพุทธ ศาสนาและความเชื่อในสังคมด่านซ้าย ดุลยภาพทางจิตวิญญาณของชาวบ้านในลุ่มน้ำหมัน ว่าในการทำพิธีกรรมต่างๆ ไม่ว่าทางพุทธศาสนาหรือความเชื่อต่ออำนาจนอกเหนือจากธรรมชาติเกี่ยวกับบ้านเมืองไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมของพระธาตุศรีสองรัก งานบุญหลวง หรือพิธีกรรมเกี่ยวกับชีวิตต่างๆ จำต้องทำพิธีผ่านคนกลางผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งของเมืองด่านซ้าย คือ เจ้าพ่อกวน (ผู้ชาย) และเจ้าแม่นางเทียม (ผู้หญิง) ตลอดจนบริวาร คือ พ่อแสน (ผู้ชาย) และนางแต่ง (ผู้หญิง) บุคคลเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องประพฤติตนให้อยู่ในกรอบประเพณี

คนในวัฒนธรรมลุ่มน้ำหมัน นอกจากยังคงความเชื่อและศรัทธาในพระพุทธศาสนาและความเชื่อเรื่องผีต่างๆ แล้ว ชาวบ้านยังเชื่อในอำนาจลึกลับและศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ เช่น ความเชื่อและศรัทธาเจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม และเหล่าบริวาร ได้แก่ พ่อแสนและนางแต่ง ชาวบ้านเชื่อว่าเจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียมคือบุคคลที่วิญญาณผีเจ้านายแต่งตั้งเป็นร่างทรง ซึ่งได้รับการเลือกโดยวิญญาณเสื้อเมืองมาเข้าทรงบุคคลนั้นๆ การแต่งตั้งเจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ เจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียมเสียชีวิตหรือถูกถอดถอนจากตำแหน่งเมื่อแก่ชรา อย่างไรก็ตาม เจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียมที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ มักเป็นคนในสายตระกูลเดียวกัน (ศรีศักร วัลลิโภดม 2550 : 169)

วิญญาณที่เข้าประทับเจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียม (ศรีศักร วัลลิโภดม 2550 : 169-170) มีดังนี้

เจ้าองค์หลวง คือวิญญาณที่เข้าประทับทรงเจ้าพ่อกวน เป็นวิญญาณของกษัตริย์อาณาจักรล้านช้างในอดีต นอกจากนั้นยังมี เจ้าองค์ไทย หรือวิญญาณของกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาในอดีต และวิญญาณเจ้าเมืองวัง เจ้าเมืองที่อพยพมาจากล้านช้างพร้อมกับพ่อขุนผาเมืองและพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และได้รับมอบหมายจากพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ให้ปกครองรักษาเมืองอยู่ที่ด่านซ้าย และเจ้าแสนเมือง เป็นวิญญาณของอุปราช (อุปฮาด) ที่ได้รับมอบหมายเช่นกับเจ้าเมืองวัง ให้บริหารบ้านเมืองคู่กับเจ้าเมืองวัง

ส่วนวิญญาณที่เข้าประทับทรงเจ้าแม่นางเทียมคือ เจ้าเมืองกลาง เป็นวิญญาณของเจ้านายที่อพยพมาจากอาณาจักรล้านช้างที่ได้รับมอบหมายให้ปกครองดูแลบ้านเมืองนี้ และนางเค้า นางจวง นางจัน และนางน้อย คือวิญญาณเจ้านายที่เป็นชายาและนางสนมของเจ้าเมืองที่ติดตามมาจากอาณาจักรล้านช้าง (ศรีศักร วัลลิโภดม 2550 : 170)

เจ้าพ่อกวน เป็นร่างทรงผู้ทำหน้าที่ติดต่อกับวิญญาณผีเจ้าเมืองของด่านซ้าย มีความสำคัญและได้รับการเคารพนับถือจากชาวบ้านเป็นอย่างมาก ตำนานเล่าสืบต่อกันมาของชาวอำเภอด่านซ้ายว่า เจ้าพ่อกวนคนแรกชื่อ เจ้าพ่อกวนขุนไกร เป็นผู้ที่เจ้านายแต่งตั้งเป็นคนแรกตั้งแต่เมื่อครั้งแรกสร้างพระธาตุศรีสองรัก จนกระทั่งเจ้าพ่อกวนคนปัจจุบัน เจ้าพ่อกวนถาวร เชื้อบุญมี ที่สืบทอดตำแหน่งมาจากเจ้าพ่อกวนแถว บิดาที่ล้มป่วยเมื่อ พ.ศ.2531 (ศรีศักร วัลลิโภดม 2550 : 170-172)

เจ้าแม่นางเทียม เป็นผู้นำทางวัฒนธรรมฝ่ายหญิง ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นร่างทรงวิญญาณเจ้านายฝ่ายซ้าย หรือฝ่ายของเวียงจันทน์ คือวิญญาณของขุน หมื่น แสน และบริวารต่างๆ ที่มาสร้างพระธาตุศรีสองรัก ทั้งขุน หมื่น แสน บริวาร สร้างหอหิ้งขึ้นเป็นที่สิงสถิตวิญญาณที่เรียกว่า หอหลวง แต่ยังขาดสื่อกลางติดต่อกับวิญญาณเหล่านั้น จึงทำการบวงสรวงอัญเชิญวิญญาณมาเข้าทรง ในการทำพิธีบวงสรวงดังกล่าว ผู้นำคือเจ้าขุนไกรและเจ้านางน้อย เป็นผู้นำเสนาข้าราชการบริพาร กระทำพิธีกรรมในเดือน 7 ขึ้น 9 ค่ำ ประมาณ พ.ศ.2115 ณ บริเวณหอหลวง วิญญาณเจ้านายจะมาเข้าทรงเจ้าขุนไกรเป็นอันดับแรก ประกอบด้วยวิญญาณเจ้าแสนเมือง เจ้าเมืองวัง เจ้าองค์ไทย และเจ้าองค์หลวง เมื่อวิญญาณดังกล่าวมาประทับทรงครบทุกองค์แล้วจึงหมดวาระของเจ้าขุนไกร (ศรีศักร วัลลิโภดม 2550 : 174)

ต่อจากนั้นเป็นการทำพิธีบวงสรวงขอให้วิญญาณเจ้านายมาแต่งตั้งบุคคลที่เห็นสมควรเป็นผู้แทนเจ้านาย กระทำพิธีกรรมอยู่ระยะหนึ่ง เจ้านายได้มาใช้ร่างเจ้านางน้อยเป็นอันดับแรก ประกอบด้วยวิญญาณของเจ้าเมืองกลาง นางเค้า นางจัน นางจวง และเจ้าองค์ไทย ตั้งแต่วันนั้นมาจึงมีร่างทรงเจ้านายเพิ่มขึ้น ให้ชื่อว่า เจ้าแม่นางเทียม เจ้าแม่นางเทียมเท่าที่มีการจดจำได้คนแรกคือ เจ้าแม่นางเทียมน้อย (ศรีศักร วัลลิโภดม 2550 : 174) จนกระทั่งคนปัจจุบัน เจ้าแม่นางเทียมประกายมาศ เชื้อบุญมี

พ่อแสน มีตำนานความเป็นจากเรื่องเล่าการสร้างพระธาตุศรีสองรักเช่นเดียวกับเจ้าพ่อกวนและแม่นางเทียม กล่าวคือพ่อแสนคือข้าเฝ้าเจ้านายและสังคมชาวอำเภอด่านซ้ายในอดีต เคยมีแบบแผนการปกครองแบบอาญาสี่ ประกอบด้วย เจ้าเมืองอุปฮาด (อุปราช) และราชวงศ์ ชนชั้นการปกครองซึ่งชาวบ้านถือว่าเป็น เจ้านาย เรียกบุคคลที่อยู่ในการปกครองว่า ข้า ผู้ที่อยู่ใต้การปกครองจึงเรียกว่าข้าเฝ้า ประกอบด้วยชนชั้นการปกครองที่เรียกว่า แสน เป็นตำแหน่งข้าเฝ้า มี 19 ตำแหน่ง แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ข้าเฝ้าฝ่ายขวา (ฝ่ายเจ้าเมืองวังหรือฝ่ายเจ้าพ่อกวน) 10 ตำแหน่ง และข้าเฝ้าฝ่ายซ้าย (ฝ่ายเจ้าเมืองกลางหรือฝ่ายเจ้าแม่นางเทียม) 9 ตำแหน่ง (ดูรายละเอียดได้ใน ศรีศักร วัลลิโภดม 2550 : 176-177)

ทั้ง 19 ตำแหน่ง ชาวด่านซ้ายเชื่อว่าผู้ที่จะได้เป็นข้าเฝ้าให้กับวิญญาณเจ้านาย จะเป็นได้โดยการสืบทอดทางสายโลหิต โดยวิญญาณเจ้านายจะเป็นผู้เลือกในระหว่างที่เข้าทรงเจ้าพ่อกวน (ศรีศักร วัลลิโภดม 2550 : 177)

นางแต่ง ความเป็นมาของนางแต่งมีที่มาจากเรื่องเล่าในการสร้างพระธาตุศรีสองรักเช่นเดียวกับเจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียม นางแต่งประกอบด้วยผู้หญิง 4 คน มีความใกล้ชิดกับเจ้าแม่นางเทียม ซึ่งทำหน้าที่เป็นร่างทรงเช่นเดียวกัน (ดูรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับเจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม พ่อแสน และนางแต่ง ได้ใน ศรีศักร วัลลิโภดม 2550)

งานบุญหลวง 2559

งานบุญหลวงของชาวอำเภอด่านซ้ายในปี 2559 นี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 กรกฎาคม 2559 มีกำหนดการดังนี้

จากกำหนดการจะเห็นได้ว่า นอกเหนือไปจากงานบุญและประเพณีของท้องถิ่นแล้ว ยังมีขั้นตอน “พิธีการ” และความเป็น “นานาชาติ” เพิ่มเข้ามาด้วย บรรยากาศภายในงานมีทั้งงานมหรสพใหญ่โตที่บริเวณลานวัดโพนชัย และบริเวณที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย มีเวทีกลางสำหรับการแสดงการละเล่นพื้นบ้าน ประกวดแต่งแฟนซี อีกทั้งยังมีการจำหน่ายสินค้า OTOP ร้านอาหาร-เครื่องดื่มต่างๆ

การจัดงานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขนในปี 2559 นี้ มี พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานในวันที่สอง (7 กรกฎาคม 2559) ซึ่งถือเป็นวันไฮไลท์ เป็นวันแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง มีขบวนแห่จากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วม ทั้งภาครัฐ เอกชน สถานศึกษา รวมถึงขบวนของเจ้าพ่อกวน และโดยเฉพาะขบวนผีตาโขนและคนป่าที่ตามมาส่งพระเวสสันดรเข้าเมือง อีกไฮไลท์หนึ่งของคือผีตาโขนใหญ่ ที่ในงานจะมีอยู่เพียงคู่เดียวเท่านั้น (เพศชายและหญิง) เป็นของเทศบาลตำบลด่านซ้าย

ผีตาโขน : ที่มา

ที่มาของคำว่า “ผีตาโขน” ไม่มีผู้ทราบแน่ชัด แต่มีผู้รู้สันนิษฐานไว้หลายกรณี มีทั้งที่มาจาก หัวโขน โขนละคร ผีตามคน ผีตาขน หรือ ผีขน

ธัญญ บัวระภา (2556 : 9) ระบุว่า ในทัศนะของเจ้าพ่อกวนแล้ว คำว่าผีตาโขนคงมาจากการที่บรรดาผีเหล่านั้นสวมหน้ากากคล้ายลักษณะของโขนละคร แต่เดิมบางคนเรียกว่า ผีตาขนบ้าง ผีตามคนบ้าง แต่ก็หาความหมายไม่ได้ชัดแจ้ง

สาร สาระทัศนานันท์ (2542 : 2805) กล่าวว่า คงหมายถึงผีที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายหัวโขนที่ปั้นขึ้นให้น่าเกลียดน่ากลัว เมื่อคนจะเล่นผีตาโขน จึงต้องทำหัวโขนให้น่าเกลียดน่ากลัวมาสวมใส่ด้วย  

ส่วน “ผีตามคน” มีที่มาจากผีตามคนมาในงานบุญเผวส (ธัญญ บัวระภา 2556 : 9) ผีตามคนเข้ามาขออาหาร หรือจากเวสสันดรชาดก ตอนที่แห่พระเวสสันดรและนางมัทรีเข้าเมือง คนป่าที่เคยอยู่รับใช้และปรนนิบัติพระเวสสันดรและนางมัทรีอยากจะมาส่งพระเวสสันดรพระนางมัทรีและกัณหา ชาลี แต่ก็มีความอายชาวบ้านที่มาส่งเนื่องจากไม่เคยเข้าเมืองมาก่อน ทำให้ต้องหาวัสดุต่าง ๆ มาปกปิดร่างกาย (ไทยโรจน์ พวงมณี  2554 : 43) ต่อมาจึงเพี้ยนเป็นผีตาโขน

ในขณะที่ “ผีตาขน” หรือ “ผีขน” มาจากลักษณะเฉพาะของผีที่ขอบตามีขนขึ้นอยู่มากมายและยาวผิดปกติ ต่อมาจึงเพี้ยนเป็นผีตาโขน

นอกจากนี้ยังมีความเชื่ออีกสายหนึ่งที่เชื่อว่า การละเล่นผีตาโขนกำเนิดมาจากพระธาตุศรีสองรักอันเป็นที่สถิตของดวงวิญญาณของชายหญิงที่รักกันมาก แต่ถูกผู้ใหญ่กีดกันจึงเข้าไปแอบอยู่ในอุโมงค์ที่กำลังก่อสร้างพระธาตุศรีสองรัก เมื่อช่างได้ทำการปิดอุโมงค์ก็ทำให้ชายหนุ่มและหญิงสาวเสียชีวิต กลายเป็น “เจ้าพ่อกวน” และ “เจ้าแม่นางเทียม” ที่คอยเฝ้าดูแลปกปักษ์รักษาพระธาตุศรีสองรัก และมีบริวารที่เป็นวิญญาณของคนตายมากมาย เมื่อถึงเทศกาลแห่แหนพระธาตุศรีสองรัก วิญญาณเหล่านั้นก็จะออกมาแห่แหนด้วยจึงเป็นที่มาของประเพณีผีตาโขน (ไทยโรจน์ พวงมณี  2554 : 45)

จากข้อมูลของสนอง อุปลา (2546) ประเพณีผีตาโขนนั้นเป็นการละเล่นที่เกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรม คือการบวงสรวงบูชาวิญญาณผีบรรพชนกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ลาว สืบสานมาจากการละเล่นปู่เยอ ย่าเยอของชาวหลวงพระบาง โดยมีความเชื่อว่าต้นตระกูลนั้นเป็นผู้สร้างบ้านแปงเมือง เมื่อบรรพชนได้สิ้นชีวิตไปเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่น่าเกรงขามมีอำนาจที่จะดลบันดาลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์หรือความหายนะแก่บ้านเมือง เมื่อถึงงานบุญประเพณีสำคัญตามฮีตประเพณี จึงจะต้องทำการละเล่นเต้นฟ้อนผีตาโขนเพื่อเซ่นสรวงผีบรรพบุรุษ (ธัญญ บัวระภา 2556 : 9)

นอกจากนี้ จากคำบอกเล่าของชาวบ้านและจากการศึกษาของนักวิชาการที่ผ่านมา ทำให้ทราบว่าผีตาโขนของชาวอำเภอด่านซ้าย สัมพันธ์กับงานประเพณี “ผีขนน้ำ” ที่บ้านนาซ่าว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย และประเพณี “ผีตาโม่” ของชาวหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ (ดูรายละเอียดใน บุญยงค์ เกศเทศ 2555 ; ไทยโรจน์ พวงมณี 2554 ; ธัญญ บัวระภา 2556)

ผีตาโขนของชาวด่านซ้าย

การละเล่นผีตาโขนของชาวอำเภอด่านซ้าย เริ่มต้นจากประเพณีพื้นบ้านก่อน ต่อมาได้รับความสนใจจนกลายเป็นงานระดับประเทศที่ชาวไทยและชาวต่างชาติรู้จักงานผีตาโขน โดนสันนิษฐานว่าเป็นการละเล่นที่มีมานานกว่า 400 ปีมาแล้ว (เจริญ ตันมหาพราน 2541 : 69) และเป็นส่วนผสมของความเชื่อของชาวอีสานที่ได้รับสืบทอดมาจากบรรพชน ทั้งความเชื่อดั้งเดิมเรื่องผีบรรพบุรุษ ผีวิญญาณ อำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ พระภูมิเมือง พุทธศาสนา ศาสนาฮินดู (ดูรายละเอียดใน พระอริยานุวัตร เขมจารีเถระ 2530 ; ศรีศักร วัลลิโภดม 2550)

ธัญญ บัวระภา (2556 : 12) ระบุว่า การเล่นผีตาโขนของชาวด่านซ้าย มีความเชื่อว่า

  1. เป็นการละเล่นเพื่อถวายดวงวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่ีมีอำนาจในการปกครองสูงสุดในเมืองด่ายซ้าย
  2. เล่นเพื่อร่วมแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง ตามความเชื่อในพุทธศาสนา
  3. เล่นเพื่อร่วมขบวนในการแห่บุญเดือนหก (บุญบั้งไฟ) และการแห่ขอฝน
  4. เล่นเพื่อความสนุกสนาน
  5. เล่นเพื่อให้สิ่งที่ไม่ดีที่เคยกระทำด้วยกาย วาจา ใจ รวมถึงโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ให้ติดไปกับผีตาโขน โดยการนำไปล่องลำน้ำหมัน เป็นการเสร็จสิ้นพิธีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน

ที่มาของผีตาโขนนับเป็นอุบายอันแยบคายเฉพาะของบรรพบุรุษเมืองด่านซ้าย ที่ทำให้เด็กๆ ในเมืองเล่นสนุกกันเป็นการส่งท้ายงานบุญ โดยจับเอาพระเวสสันดรชาดก พระชาติที่ 10 ที่สำคัญที่สุดของพระพุทธเจ้าในตอนที่พระเวสสันดรจะได้กลับคืนพระนคร บรรดาผีป่าทั้งหลายต่างพากันมาส่งเสด็จถึงในเมือง เมื่อเข้าเมือง ผีป่าที่ไม่เคยเห็นเมืองก็ออกตระเวนเที่ยวเมืองโดยไม่ทำอันตรายใคร แต่ด้วยความเป็นผี เมื่อชาวบ้านไปพบเข้าจึงตกใจกลัว สัญชาตญาณผีอดใจไม่ได้ที่จะแลบลิ้นปลิ้นตาหลอกชาวบ้าน เมื่อเวลาผีป่าจะออกจากเมืองเข้าสู่ป่า ก็จะนำเอาทุกข์โศกโรคภัยออกจากเมืองไปด้วย (ธัญญ บัวระภา 2556 : 12)

นอกจากนี้ ธัญญ บัวระภา (2556 : 12-13) ยังระบุว่า วงจรของงานบุญหลวงและผีตาโขน เริ่มต้นโดยบุคคลศักดิ์สิทธิ์ประจำเมือง 2 คน คือ เจ้าพ่อกวน หรือพ่อกวน และเจ้าแม่นางเทียม หรือแม่นางเทียม ที่มีฐานะเป็นดังผู้วิเศษหมอผี และครูใหญ่ของเมือง มีหน้าที่หลักในการดูแลองค์พระธาตุศรีสองรัก พระธาตุคู่เมืองด่านซ้าย โดยพ่อกวนและแม่นางเทียมจะเป็นจุดเริ่มต้นวงจรของประเพณีนี้ เริ่มต้นจากพิธีบายศรีที่บ้านของเจ้าพ่อกวนและแม่นางเทียมในภาคเช้า ระหว่างที่พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์กำลังดำเนินอยู่นั้น เด็กๆ ในทุกบ้านเรือนของเมืองด่านซ้ายก็จะช่วยกันหาเศษผ้ามาเย็นเป็นเสื้อผ้าของผีตาโขน หาอุปกรณ์คือหวดนึ่งข้าวเหนียวและแกนก้านมะพร้าวมาทำหน้ากากผีตาโขนด้วยการวาดลวดลายเพิ่มสีสันเป็นผีตาโขนที่หน้าตาโหดร้ายน่ากลัว หา “หมากกะแหล่ง” หรือกระดึงผูกคอวัวควานมาทำเป็นเครื่องประดับ และอาวุธของผีตาโขนที่ทำจากไม้ ที่ปลายด้ามดาบทำเป็นรูปปลัดขิกอันโต ทายอดกลมเป็นสีแดง ไว้ไล่จิ้มสาวๆ ในเมือง โดยเฉพาะภาคบ่ายจะเป็นพิธีการในฝ่ายราชการ เป็นการแห่ผีตาโขน โดยจัดเป็นขบวนแห่ อันประกอบด้วยผีตาโขนใหญ่ ที่ทำเป็นหุ่นคล้ายหัวโตของภาคกลาง และผีตาโยนเล็ก เป็นเด็กๆ ผู้ชายในเมืองเกือบทั้งหมด 

ผีตาโขน : ลักษณะและการละเล่น

ลักษณะการละเล่นผีตาโขนประเพณีผีตาโขนอำเภอด่านซ้าย แบ่งออกเป็นผีตาโขนน้อยและผีตาโขนใหญ่ สำหรับ “ผีตาโขนน้อย” จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า มีการละเล่นมาตั้งแต่สมัยโบราณ สาเหตุที่เรียกว่าผีตาโขนน้อยนั้นเป็นเพราะสัดส่วนและขนาดเท่ากับรูปร่างของคนจริงที่ซ่อนอยู่ภายใน (ไทยโรจน์ พวงมณี 2554 : 50) ปัจจุบันสามารถเล่นได้ทั้งชายและหญิง แต่สมัยก่อนนิยมเล่นเฉพาะผู้ชาย อาจเนื่องมาจากผู้แสดงต้องแสดงอาการทะลึ่งด้วย

การเล่นผีตาโขนน้อยนี้ ผู้เล่นทุกคนในเขตอำเภอด่านซ้ายที่ต้องการเข้ามาร่วมในงานจะจัดทำขึ้นเอง ดังนั้นก่อนถึงเทศกาลงานบุญหลวง เด็กๆ และชาวบ้านต่างก็จะต้องมีการเตรียมดำเนินการด้านเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของผีตาโขน โดยเฉพาะหน้ากากผีตาโขนนั้น ทุกคนต้องใช้เวลาทำและประดิดประดอยออกมาอย่างน้อยก็ต้องใช้เวลา 15 วัน สำหรับคนที่อยู่ในชุมชนเดียวกันนั้นก็มักที่จะมีการรวมกลุ่มกันเพื่อการทำหน้ากากผีตาโขนและเครื่องแต่งกายร่วมกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างทีมหรือกลุ่มของผีตาโขน โดยการออกแบบและการประดิษฐ์ทั้งหน้ากากผีตาโขน และชุดจะมีลักษณะเหมือนกัน เมื่อมาเดินในขบวนจะให้ความรู้สึกถึงความเป็นกลุ่มเฉพาะได้ดี โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นเครือญาติ (ไทยโรจน์ พวงมณี 2554 : 59)

ส่วน “ผีตาโขนใหญ่” นั้นช่างชาวบ้านจะสร้างให้มีขนาดรูปร่างที่ใหญ่โตกว่าตัวจริงของคนถึงสองเท่า วัสดุที่นำมาสร้างนั้นชาวบ้านจะช่วยกันขึ้นโครงสร้างของหุ่นด้วยไม้ไผ่โดยนำมาทำเป็นตอก จากนั้นจึงนำมาประกอบเป็นโครงสร้างของผีตาโขนเพศชายและผีตาโขนเพศหญิง อย่างละหนึ่งตัว โดยมีความเชื่อดั้งเดิมว่า “เดิมคนโบราณเป็นคนที่มีรูปร่างสูงใหญ่ สูง 8 ศอก การสร้างผีตาโขนใหญ่นั้นมีมากกว่า 50 ปี โดยมีนายเกี้ยว เนตรผง เป็นผู้สร้างคนแรก หลังจากนั้นก็มีผู้สืบทอดต่อมาคือ นายกวนใจ หมื่นโสม (ไทยโรจน์ พวงมณี 2554 : 50)

ไทยโรจน์ พวงมณี (2554 : 50-51) ระบุว่า ประเพณีผีตาโขนใหญ่ที่เข้ามาอยู่ร่วมขบวนแห่ผีตาโขนนั้น ได้มีการรับมาอิทธิพลและรูปแบบทางความคิดมาจากหมู่บ้านแก่นท้าว เมืองแก่นท้าว แขวงไชยะบุลี ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยผีตาโขนใหญ่นี้จะมีรูปลักษณ์จำลองแบบมาจากร่างกายของคนโบราณ ก่อนที่จะมีสร้างนั้นผู้สร้างต้องมีการแต่งคายขัน 5 ขัน 8 มีดอกไม้ขาวและเทียนขาวอย่างละ 5 คู่ และ 8 คู่ ขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อนการสร้างผีตาโขน โดยมีความเชื่อเดียวกับ “ผีปู่เยอ ย่าเยอ” ที่มีตำนานกล่าวกันว่า “ปู่เยอ ย่าเยอ” ทั้งสองต้องเสียชีวิตเพราะเครือเขากาดล้มทับ เนื่องจากรับอาสาที่จะไปตัดเครือเขากาดไม่ให้มาบดบังแสงอาทิตย์ ชาวลาวจึงได้มีการจัดพิธีกรรมแห่ปู่เยอ ย่าเยอผู้เป็นบรรพบุรุษของชาวลาว

นอกจากนี้ จากข้อมูลของชาวบ้านยังระบุอีกว่า ผีตาโขนใหญ่จำเป็นต้องแสดงสัญลักษณ์ทางเพศหรือเครื่องเพศของผู้ชายและผู้หญิง แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ คนเล่นผีตาโขนใหญ่มักจะเป็นผู้ชาย เนื่องจากหุ่นมีขนาดใหญ่ สูงเฉลี่ยประมาณ 2.5 เมตร และน้ำหนักมาก ผู้เล่นผีตาโขนใหญ่ต้องทำพิธีขออนุญาตต่อเจ้าพ่อกวนก่อน และคนๆ นั้น ต้องเล่นต่อเนื่องกัน 3 ปี มิเช่นนั้นจะมีอันเป็นไป แต่เจ้าพ่อกวนถาวร เชื้อบุญมี (2559) ให้ข้อมูลว่า ผู้ทำผีตาโขนใหญ่จะต้องมาทำพิธีบอกกล่าวที่พระธาตุ หอหลวง บ้านเจ้าพ่อกวน และบ้านเจ้าแม่นางเทียม ส่วนผู้เล่นผีตาโขนใหญ่ไม่จำเป็นต้องมาขอเจ้าพ่อกวนโดยตรงก็ได้ และกฎเกณฑ์เรื่องต้องเล่นต่อเนื่อง 3 ปีก็ไม่ชัดเจนเท่าใด ไม่ตายตัว ขึ้นกับศรัทธาของแต่ละคน

จากการศึกษาของ ไทยโรจน์ พวงมณี (2554 : 51) พบว่าผู้เล่นผีตาโขนในงานประเพณีบุญหลวง ที่มีทั้งผู้เล่นที่ต้องการสืบทอดประเพณีและวัฒนธรรม โดยเฉพาะการละเล่นเพื่อถวายวิญญาณผีเจ้านายและร่วมขบวนแห่พระเวสสันดร ส่วนคนอีกประเภทหนึ่งคือ การเล่นผีตาโขนเพื่อร่วมกิจกรรมของทางราชการในขบวนแห่ประเพณีผีตาโขน ดังที่ กาญจนา สวนประดิษฐ์ (2533 : 139) ได้มีการค้นพบว่า “การละเล่นผีตาโขนนั้นมีลักษณะที่โลดโผน ไม่นิ่ง ดูซุกซน แต่มีความสนุกสนาน ทั้งนี้เป็นเพราะมีผู้ชายเป็นผู้เล่นส่วนใหญ่” (ไทยโรจน์ พวงมณี 2554 : 51)

จากการศึกษาของ สนอง อุปลา (2546 : 131) ยังพบอีกว่า การพัฒนาการด้านยุคสมัยนั้นก็จะส่งผลทำให้มีผู้หญิงได้เข้ามามีบทบาทในการเล่นผีตาโขนในปัจจุบันมากขึ้น และมีการละเล่นเป็นกลุ่มเช่นเดียวกับผู้ชาย แต่ที่มีความโดดเด่นก็คือการเต้นมีความพร้อมเพรียงกันและเหมือนกัน ส่งผลทำให้เกิดภาพลักษณ์ของความงามแบบใหม่ขึ้นในพื้นที่ทางวัฒนธรรมและประเพณีผีตาโขนสำหรับการละเล่นผีตาโขนเล็กแต่เดิมในอดีตนั้นจะเล่นถวายวิญญาณผีเจ้านาย กลุ่มผีตาโขนจะออกเล่นแต่เช้าหลังพิธีเบิกอุปคุตแล้วในวันแรก แต่ในปัจจุบันการละเล่นมีการปรับเปลี่ยนไป (ไทยโรจน์ พวงมณี 2554 : 51)

ในอดีตเมื่อพิธีกรรมการละเล่นผีตาโขนเสร็จสิ้นลงจึงมักจะไม่มีใครเก็บหน้ากากไว้แต่ในปัจจุบันความเชื่อนี้ก็ลดทอนลง ดังคำกล่าวที่ว่า “สมัยเดิมนั้นผู้เล่นต้องทิ้งหน้ากากผีตาโขนลงแม่น้ำหมัน แต่ในปัจจุบันก็เปลี่ยนไปเป็นไม่มีการทิ้งและจะมีการเก็บไว้ใช้ปีต่อไป หรือเพื่อการจำหน่ายให้กับผู้สนใจนำไปใช้ในการประดับตกแต่งอาคารสถานที่” (ไทยโรจน์ พวงมณี 2554 : 56)

อย่างไรก็ตาม การละเล่นผีตาโขนนั้นก็ล้วนเป็นไปและมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อที่เกี่ยวกับภูตผีวิญญาณและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวอำเภอด่านซ้ายมีความเชื่อถือโดยเฉพาะผีบรรพบุรุษ เช่น ผีเจ้าเมืองกลาง เจ้าแสนเมือง เจ้าองค์ลาวและเจ้าองค์ไทย ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ชาวบ้านจะเรียกดวงวิญญาณเหล่านี้ว่า “เจ้านาย” โดยที่เจ้านายก็จะสถิตอยู่ในสถานที่ต่างๆ เช่น เมืองวังที่สถิตที่หอบหิ้งเจ้าพ่อกวน (ไทยโรจน์ พวงมณี 2546)

นอกจากผีตาโขนแล้ว ยังมีการละเล่นอื่นๆ ที่ประกอบอยู่ในงานประเพณีบุญหลวง ที่สร้างความสนุกสนานครื้นเครงให้กับผู้เข้าร่วมงาน อาทิ การเล่นบักแบ้น การละเล่นขายตัวม่อน การละเล่นทอดแห การเล่นช้อนปลา การเล่นควายตู้ การเล่นทั่งบั้ง การเล่นเซิ้ง (ดูรายละเอียดได้ใน ไทยโรจน์ พวงมณี 2554 : 52-55)

จากการศึกษาของ ไทยโรจน์ พวงมณี (2554 : 69) พบว่า ในขบวนแห่การละเล่นประเพณีผีตาโขนนั้น มีการใช้เครื่องดนตรีประกอบการละเล่นผีตาโขนอยู่หลายชนิด ซึ่งการในดนตรีมาใช้ก็เพื่อกำหนดจังหวะของการเคลื่อนและสร้างบรรยากาศแห่งความครึกครื้นให้กับผู้เล่นได้เต้น และเคลื่อนไหวร่างกายไปตามจังหวะ ซึ่ง เชิดเกียรติ กุลบุตร (2548 : 168) แสดงความคิดเห็นว่า “ดนตรีที่ใช้ประกอบการเต้นของผีตาโขนนั้นในอดีตจะมีการใช้การตีเกราะเคาะไม้เป็นหลัก แต่ปัจจุบันนั้นมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ความเร้าใจและน่าสนใจมากขึ้นด้วยเปิดเพลงเต้นด้วยเครื่องเสียงที่ดังกระหึ่ม”

อย่างไรก็ตามดนตรีในขบวนแห่ผีตาโขนนั้น ส่วนใหญ่แล้ววงดนตรีที่นำเข้ามาเล่นก็มักจะเป็นวงดนตรีพื้นบ้านที่นิยมบรรเลงประสมวงกันในหมู่บ้านเป็นหลักอยู่แล้ว อันประกอบด้วยเครื่องมือในการสร้างเสียงและจังหวะ ดังนี้

1. กลอง อาจเป็นกลองยาวและกลองตุ้ม เพราะให้เสียงกังวาน เมื่อมีการตีกลองขึ้นมา ผีตาโขนก็จะใช้เป็นจังหวะในการเต้น

2. พิณ ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “เติ่ง” ทำจากไม้ขนุน มีสามสาย ทำจากเส้นลวด ใช้บรรเลงเพื่อให้จังหวะกับผู้เล่นผีตาโขน

3. ฉาบ เครื่องดนตรีระกอบจังหวะขนาดใหญ่ ใช้ในการตีเพื่อการประกอบจังหวะ

4. ฉิ่ง เครื่องดนตรีประกอบจังหวะขนาดเล็ก ตีประกอบจังหวะกลอง

5. หมากกะแหล่ง เพื่อให้เกิดเสียง ส่วนใหญ่จะติดตัวผู้เล่นผีตาโขน

6. กระดิ่งมีขนาดเล็กกว่าหมากกะแหล่ง มีเสียงดัง

7. แคน มีการนำมาใช้ในลักษณะของการเป่าฟ้อนในลักษณะจีบม้วนมือ

แม้ว่าผู้เล่นผีตาโขนนั้นจะเป็นใครก็ได้ แต่ต้องแต่งกายให้เป็นไปตามแนวและอย่างเดียวกับผีตาโขน ด้วยการสวมหน้ากากผีตาโขนปกปิดหน้าตาและร่างกายให้มิดชิด และจะต้องมีหมากกะแหล่งแขวนประดับไว้ที่เอวด้วย โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดเสียงดังเป็นจังหวะในขณะที่เดินเคลื่อนไหวหรือมีการเต้นขึ้น ส่วนมือของผีตาโขนของแต่ละคนนั้นก็จะถือดาบเป็นอาวุธ เพื่อให้ผีตาโขนนั้นเกิดความสง่างาม และยังสามารถใช้เป็นอุปกรณ์ในการหยอกล้อผู้คนให้เกิดความสนุกสนานได้

สำหรับผีตาโขนทุกตัวนั้นต้องทำพิธีการเล่นถวายกับเจ้านายบริเวณบ้านเจ้ากวนก่อน จากนั้นผีตาโขนจึงจะสามารถออกไปทำการละเล่นได้อย่างอิสระ แต่การแสดงออกหรือท่าทางของผีตาโขนแต่ละกลุ่มแต่ละตัวจะสร้างถึงเอกลักษณ์และลีลาที่แตกต่างกัน มีทั้งการเดินขย่มตัว ส่ายสะโพก ขยับขา โยกขา และขยับเอวอย่างมีจังหวะจะโคนร่วมไปกับเสียงกระทบกันของหมากกะแหล่งที่มีการขยับตามแรงเคลื่อนไหวของร่างกายด้วย ดังนั้นผู้เต้นจึงมีอิสระในการออกแบบลีลา ลวดลายและท่าทางไปตามความคิดเห็น ทักษะและความสามารถของตนเอง อย่างไรก็ตามผีตาโขนแต่ละตัวนั้นจะมีลีลาในการแสดงออกที่แตกต่างกันไปตามแต่จินตนาการว่าจะให้ออกมาสนุกสนานอย่างไร (ไทยโรจน์ พวงมณี 2554 : 66 ; ดูรายละเอียดท่าทางและการแสดงออกของผีตาโขนได้ใน อาภาภรณ์ วรรณา และคณะ 2549 ; สุริยา บรรพลา 2546)

ผีตาโขน : การทำหน้ากากและชุด

การทำหน้ากาก “ผีตาโขนน้อย” เริ่มจากขั้นตอนการทำหัวผีตาโขน ซึ่งจะต้องพิจารณาเลือกกาบมะพร้าวเพื่อทำเป็นหน้า เลือกหวดเพื่อทำเป็นหัว เย็บหวดเข้ากับกาบมะพร้าว โดยหวดจะอยู่ในลักษณะคว่ำลงหรือหงายขึ้นก็ตามแต่ต้องการของผู้ทำ หวดนี้ในอดีตมักใช้หวดที่ใช้งานแล้ว แต่ปัจจุบันนิยมใช้หวดใหม่ที่ยังไม่ผ่านการใช้งาน

หลังจากนั้นเจาะตาและติดจมูกที่ส่วนหน้า แล้วรองพื้นสีให้เรียบและเขียนลายทั้งส่วนหน้าและส่วนหัว จากนั้นก็นำเศษผ้ามาตัดให้มีขนาดเหมาะเพื่อใช้ปิดใบหน้าด้านข้างและด้านหลัง เพื่อไม่ให้ผู้คนจำหน้าผู้เล่นได้ โดยนำผ้ามาแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนด้านข้างซ้าย ข้างขวา ส่วนท้ายทอย นำผ้ามาเย็บติดกับหวดด้วยด้าย หรือตัดเป็นริ้วเล็กๆ ก็ได้ สามารถใช้ได้ทั้งผ้าเก่า ผ้าใหม่ มีลวดลาย และไม่มีลวดลาย

ส่วนการตัดชุดและประดับชุดนั้น นิยมใช้ผ้าชนิดเดียวกับที่ใช้เย็บติดกับหน้ากาก ด้ายที่ใช้เป็นเชือกฟางร้อยด้วยเข็มเย็บกระสอบ ชุดที่สวมใส่บางครั้งก็หลากสีคละกัน เน้นที่ลวดลายสีสัน

อุปกรณ์การเล่นที่สำคัญของผีตาโขนน้อยที่จะขาดไม่ได้คือ หมากกะแหล่งและอาวุธ หมากกะแหล่งจะเป็นกระดึงที่ผูกคอวัวควาย กระดิ่ง กระพรวน หรือกระป๋องบรรจุก้อนหินไว้ข้างใน ส่วนอาวุธจะเป็นดาบหรือง้าวที่ทำจากไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้งิ้ว ส่วนด้ามแกะสลักเป็นรูปอวัยวะเพศชาย นิยมทาสีแดงตรงปลาย

หุ่น “ผีตาโขนใหญ่” จะมีขนาดใหญ่มาก และสามารถเคลื่อนไหวไปมาได้ โดยมีคนเข้าไปอยู่ในตัวหุ่น ในงานบุญหลวงแต่ละปี ชาวด่านซ้ายมีความเชื่อว่าจะมีผีตาโขนใหญ่มากกว่า 2 ตัว ใน 1 ขบวนไม่ได้ ผีตาโขนใหญ่จะทำเป็นคู่ ชาย 1 ตัว หญิง 1 ตัว 

ขั้นตอนการทำหุ่น “ผีตาโขนใหญ่” เริ่มจากการทำส่วนหัว โดยการสานไม้เป็นรูปทรงกลม หุ้มด้วยผ้าผืนใหญ่ ใส่เส้นผมด้วยใยต้นตาล ส่วนหน้าจะใช้กระด้งหรือสานไม้ไผ่เป็นวงกลม นำวัสดุธรรมชาติมาตกแต่งเป็นตา จมูก ปาก ทาสีให้ดูน่ากลัว ส่วนลำตัวทำโดยการสานไม้ไผ่เป็นลำตัว เป็นแขน หุ้มด้วยผ้าผืนใหญ่ หรือกาบต้นลานแห้ง เจาะรูที่ลำตัวให้แขนของผู้ใส่ยื่นออกมารับของบริจาคได้ ขั้นตอนถัดไปเป็นการใส่อวัยวะเพื่อบ่งบอกเพศชายและหญิงให้กับหุ่น จากนั้นก็ใส่ไม้ไผ่เพื่อเป็นที่จับขณะผู้เล่นเล่นผีตาโขน

มีผู้พยายามจัดแบ่งลักษณะหน้ากากผีตาโขนในปัจจุบันไว้หลายแบบ อาทิ ไทยโรจน์ พวงมณี (2546) แบ่งออกตามรูปแบบพัฒนาการ ได้แก่  

1. รูปแบบหน้าเกิดแบบเดิม คือมีการใช้วัสดุและสีแบบเดิมในลักษณะของการอนุรักษ์ทั้งจากการใช้สีจากธรรมชาติและการออกแบบเครื่องแต่งกาย

2. รูปแบบที่มีการพัฒนาปรับปรุงเพิ่มเติม ด้วยการนำวัสดุสมัยใหม่ที่แปลกๆมาร่วมในการประดิดประดอย รวมทั้งมีการคิดค้นเทคนิคใหม่ๆที่นอกเหนือจากการระบายสี เช่น การแกะสลัก การนำเอาวัสดุสมัยใหม่อย่างกากเพชรมาตกแต่งประดับประดา แล้วทำการเคลือบด้วยแล็คเกอร์

3. รูปแบบที่มีการพัฒนาจนไม่เหลือเค้าโครงเดิมอยู่เลย เป็นรูปแบบที่ผู้เล่นนั้นมีการคิดค้นขึ้นเองทั้งหมด แต่มีเป้าหมายเพื่อการสวมใส่และนำมาเข้าร่วมในประเพณีผีตาโขน เช่น การทำหน้ากากจากยางพาราให้เป็นหน้าตาของบุคคลสำคัญ

ภิษารัตน์ คำสุข (2551 : 132) แบ่งหน้ากากออกตามลักษณะการทำดังนี้

1. ลักษณะการเขียนด้วยสี โดยการร่างลวดลายตามต้องการด้วยดินสอหรือปากกา แต่คนที่มีความเชี่ยวชาญก็จะลงลายด้วยพู่กันหรือสีจริง หรือใช้วิธีการลอกลายเพื่อให้สมาชิกในกลุ่มนำไปทำเป็นแม่แบบต่อไป

2. ลักษณะการฉลุลาย โดยการวางลายบนไม้อัดหรือไม้เนื้ออ่อน เช่น ทำจมูกจากไม้งิ้ว หรือนุ่น ส่วนฟันฉลุจากไม้อัดหรือหล่อเรซิ่น หรือใช้อัดลงในแม่แบบหรือแบบพิมพ์ แล้วนำไปติดด้วยกาวที่มีความข้นผสมขี้เลื่อยติดประกอบเป็นรูปหน้ากากผีตาโขน

3. ลักษณะการแกะสลักบนหน้ากาก โดยการวางรูปแบบลงบนกาบมะพร้าวที่จะทำเป็นหน้ากากผีตาโขน แล้วใช้เครื่องมือแกะสลักแกะตามลวดลายที่ร่างไว้ โดยแกะเป็นลายนูนต่ำ แล้วนำมาติดประกอบเป็นหน้ากากผีตาโขนตามความต้องการ

ผีตาโขน : พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลง

การเปลี่ยนแปลงของการละเล่นผีตาโขน พรรษชล แข็งขัน (2557) ได้ศึกษาและจัดแบ่งยุคสมัยไว้ดังนี้

1. ยุคดั้งเดิม (ก่อน พ.ศ.2500) สืบเนื่องมาจากการละเล่น ปู่เยอย่าเยอ ความเชื่อที่ผสมผสานระหว่างพุทธพราหมณ์ ผี ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากอาณาจักรล้านช้างโบราณ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพวิถีชุมชนในด้านเศรษฐกิจ การเมือง การปกครองของชาวด่านซ้ายเอง

2. ยุคแสวงหา (ระหว่างปีพ.ศ.2500-2530) พัฒนาการของงานประเพณีผีตาโขนในยุคนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การเข้ามามีส่วนบริหารงานประเพณีของทางราชการ ตลอดจนแนวคิดของคนรุ่นใหม่ และกระแสตอบรับการท่องเที่ยว ได้ทำให้เกิดการช่วงชิงและขัดแย้งทางความคิดในการกำหนดทิศทางพัฒนาการละเล่นผีตาโขน โดยมีแนวความคิดแยกออกเป็น 3 ทิศทางคือ (1) ฝ่ายที่ต้องการให้เป็นไปแบบดั้งเดิม (2) ฝ่ายต้องการรูปแบบใหม่เพื่อผลทางเศรษฐกิจ และ (3) ฝ่ายที่ต้องการผสมผสาน

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดแนวคิดทั้งหมดก็สามารถตกผลึกเกิดเป็นประเพณีผีตาโขนยุคนี้ จากแรงหนุนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยผ่านสื่อมวลชนทุกแขนง จากการนำการละเล่นผีตาโขนออกไปแสดงเผยแพร่ยังทุกหนทุกแห่งเพื่อการประชาสัมพันธ์ ทาให้ประเพณีผีตาโขนอำเภอด่านซ้าย มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ และเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวทั่วไป เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยว ขบวนแห่การแสดงผีตาโขนจึงเกิดขึ้นเพิ่มเติมจากประเพณีดั้งเดิม มีการจัดประกวดขบวนแห่ การประกวดหน้ากากผีตาโขน การประกวดท่าเต้นที่สวยงาม ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ความคิดความเชื่อข้อห้ามข้อปฏิบัติในการละเล่นผีตาโขนเปลี่ยนแปลงไป ผู้เล่นผีตาโขนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี การจัดทำหน้ากากผีตาโขนจากรูปแบบดั้งเดิมถูกปรับประยุกต์เป็นผีตาโขนแนวใหม่ ตามหลักวิชาการศิลปะกับเทคโนโลยีสมัยใหม่และกลไกของตลาด ชาวอำเภอด่านซ้ายทั่วไปปรับตัวในลักษณะยอมรับการท่องเที่ยวเหล่านี้เป็นต้นเค้าแห่งการเปลี่ยนแปลง ซึ่งต่อมาผีตาโขนก็กลายเป็นประเพณีเพื่อการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และมีพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงมากขึ้นด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ ที่ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นหลัก

ระหว่างปี พ.ศ.2530 เป็นต้นมา เมื่อการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้เริ่มบรรจุประเพณีผีตาโขนลงในแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวใน พ.ศ.2531 เพื่อเป็นการยกระดับการละเล่นผีตาโขนให้ถูกใจตลาดจึงมีการเพิ่มสีสันให้มีความหลากหลาย ในที่สุดผีตาโขนจึงพัฒนาจากการละเล่นตามระบบความเชื่อในพิธีกรรมเกี่ยวกับชีวิต พิธีกรรมเกี่ยวกับการทามาหากิน และพิธีกรรมเพื่อส่วนรวม ปรับเปลี่ยนเป็นการแสดงเพื่อความสนุกสนานบันเทิงเริงรมย์เป็นด้านหลัก จนมีเสียงเรียกร้องและมีการตั้งคำถามถึงเป้าประสงค์ของการจัดงานมากขึ้น

3. ยุคปัจจุบัน (ระหว่างปีพ.ศ.2530–ปัจจุบัน) เป็นยุคที่เกิดการปรับเปลี่ยนไปในลักษณะก้าวกระโดดก้าวใหญ่ เมื่อการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยบรรจุให้ประเพณีผีตาโขน อำเภอด่านซ้าย อยู่ในแผนการท่องเที่ยว และชาวบ้านอำเภอด่านซ้ายทั่วไปก็มีการปรับตัวในลักษณะตอบสนองและยอมรับการท่องเที่ยว การละเล่นผีตาโขนที่ใช้ประกอบพิธีกรรมจึงถูกปรับแนวให้เป็นการแสดงเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ดูชม มีการจัดฉากแสดงการพูด การแข่งขัน ตลอดจนปรับปรุงเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบสำคัญๆ ทั้งคน อุปกรณ์ กิจกรรม สถานที่ แต่อย่างไรก็ตามพิธีกรรมที่เคยมีแต่โบราณไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปด้วย ผู้ละเล่นผีตาโขนจึงมี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ละเล่นตามพิธีกรรมและกลุ่มผู้ละเล่นเพื่อการแสดง

เมื่อพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงการละเล่นผีตาโขนดังกล่าวแล้ว ก็สอดรับกันดีกับการเปลี่ยนแปลงของหน้ากากผีตาโขน

แต่เดิมหน้ากากผีตาโขนน้อยจะทำจากหวดเก่าที่ผ่านการใช้งานแล้ว ใช้สีธรรมชาติ ไม่ปรากฏลวดลายเด่นชัด เพราะเน้นให้หน้ากากมีความลึกลับน่ากลัว ส่วนใบหน้าสั้น รูปหน้าจะย่น ส่วนจมูกใช้ไม้นุ่นทำเป็นจมูกสั้นๆ คล้ายจมูกคน ในสมัยต่อมาราว พ.ศ.2531 ที่การท่องเที่ยวเข้ามามีบทบาท หน้ากากผีตาโขนถูกใช้เป็นสิ่งดึงดูดความสนใจและใช้ประชาสัมพันธ์ เน้นผลทางธุรกิจท่องเที่ยว หน้ากากจึงถูกปรับแต่งให้มีสีสันสดใสสวยงาม ละเอียดประณีต บางหัวมีการเขียนลวดลายไทย (เริ่มโดยโรงเรียนด่านซ้าย ที่พยายามบูรณาการศิลปะไทยจากส่วนกลางเข้ากับศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน) ใช้หวดใหม่ที่ไม่ผ่านการใช้งาน บางชิ้นก็สานขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะ ส่วนใบหน้ามีความยาวขึ้น จมูกก็โค้งงอคล้ายงวงช้าง สีที่ใช้ก็มีทั้งสีน้ำพลาสติกและสีน้ำมันที่มีความคงทนและมันวาว มีการใช้วัสดุอื่นทำเป็นตา ฟัน จมูก เขา การเจาะส่วนตาก็ใช้สว่านแทนการใช้กำลังคน ลวดลายชุดก็แตกต่างออกไปจากเดิม

          ในทัศนะของเจ้าพ่อกวนถาวร เชื้อบุญมี (2559) นั้น การเปลี่ยนแปลงของงานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน รวมถึงการเข้ามามีบทบาทของส่วนราชการในงานบุญประเพณีอื่นๆ ของชาวด่านซ้ายนั้น ไม่ส่งผลกระทบต่องานพิธีกรรมของเจ้าพ่อกวนและแม่นางเทียม เนื่องจากเป็นคนละส่วน ส่วนที่ราชการส่งเสริมส่วนใหญ่เป็นการส่งเสริมให้งานมีขนาดใหญ่ขึ้น เป็นที่รู้จักมากขึ้น ทำให้มีคนต่างถิ่นมาเยี่ยมเยียนมากขึ้น จำนวนผีตาโขนน้อยในแต่ละปีก็เพิ่มมากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงตัวผีตาโขนให้เป็นที่สะดุดตามากขึ้น แต่ทั้งหมดก็ไม่ได้เกินเลยกรอบประเพณีไปแต่อย่างใด

“ฮีตสิบสอง” คือจารีตประเพณีหรือธรรมเนียมปฏิบัติในรอบปีหรือประเพณีในสิบสองเดือนของชาวอีสาน “คอง” หมายถึง คลองหรือครรลอง คือแบบแผนการดำเนินชีวิตของประชาชนในชุมชน ในส่วนของอำเภอด่านซ้ายนั้น ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ ประกอบไปด้วย เดือนอ้าย งานบุญเข้ากรรม, เดือนยี่ งานบุญคูณลาน, เดือนสาม งานนมัสการปิดทองรอยพระพุทธบาทจำลอง และบุญข้าวจี่, เดือนสี่ งานเลี้ยงเฮือน (ตั้งไหเหล้า), เดือนห้า งานสงกรานต์ และงานเลี้ยงเจ้าเมืองกลาง, เดือนหก งานนมัสการพระธาตุศรีสองรัก, เดือนเจ็ด งานเลี้ยงหอ, เดือนแปด งานบุญหลวง, เดือนเก้า งานบุญข้าวประดับดิน, เดือนสิบ งานบุญข้าวสาก, เดือนสิบเอ็ด งานบุญออกพรรษา, เดือนสิบสอง งานบุญกฐิน และลอยกระทง (สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ศรีศักร วัลลิโภดม 2550 ; ชไมพร พรเพ็ญพิพัฒน์ 2546)

เจ้าพ่อกวนถาวร เชื้อบุญมี (2559) ให้ข้อมูลว่า การเวียนรอบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบพิธีกรรมของด่านซ้าย โดยเฉพาะการเวียนรอบพระธาตุศรีสองรักและอุโบสถวัดโพนชัย จะกระทำอุตราวรรต หรือเวียนรอบซ้าย ไม่เวียนรอบขวาหรือทักษิณาวรรตเหมือนกับที่อื่น อาจเป็นเพราะว่าการเวียนซ้ายเป็นการเวียนเข้าหาผู้หลักผู้ใหญ่ การเข้าหาพระสงฆ์ก็ต้องเข้าทางซ้าย พระประธานจะอยู่ด้านขวามือตลอด หรืออาจเป็นเพราะการเวียนซ้ายเป็นการเอาหัวใจ (ที่อยู่ข้างซ้าย) หัวเข้าหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรืออาจเป็นการทำอุตราวรรตเพื่อให้เกียรติและระลึกถึงบรรพบุรุษของชาวด่านซ้ายที่ล่วงลับ

งานบุญหลวงและผีตาโขนที่วัดศรีสะอาด จัดขึ้นวันที่ 9-11 กรกฎาคม 2559 ณ วัดศรีสะอาด บ้านหนามแท่ง มีขบวนแห่ 2 วัน

งานบุญหลวงและผีตาโขนที่วัดโพธิ์ศรี จัดขึ้นวันที่ 16-18 กรกฎาคม 2559 ณ วัดโพธิ์ศรี บ้านนาเวียง มีขบวนแห่กลางคืน

ดูการทำหน้ากากและชุดผีตาโขนอย่างละเอียดได้ใน ธรรมาสน์ นิยมรัตน์จรูญ 2553 ; ไทยโรจน์ พวงมณี 2554 ; สนอง อุปลา 2546


บรรณานุกรม

กาญจนา สวนประดิษฐ์. (2533). “ผีตาโขน : ศึกษาเฉพาะกรณีอำเภอด่านซ้าย.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาไทยคดีศึกษา) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม.

เจริญ ตันมหาพราน. (2541). นำเสนอถึงความเป็นมาของประเพณีผีตาโขนไว้ในประเพณีบ้ายข้อยว่า. ม.ป.ท. : หน้า 69.

ชไมพร พรเพ็ญพิพัฒน์. (2546). ผีตาโขน มรดกแผ่นดินศรีสองรัก. กรุงเทพฯ : ที เจ เจ.

เชิดเกียรติ กุลบุตร. (2548). ศิลปกรรมจังหวัดเลย. เลย : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย.

ถาวร เชื้อบุญมี (เจ้าพ่อกวน), สัมภาษณ์. (2559). ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอด่านซ้าย ม.3 ต.ด่านซ้าย อ.ด่านซ้าย จ.เลย.

ไทยโรจน์ พวงมณี. (เมษายน-พฤษภาคม 2546). “หน้ากากผีตาโขน.” วารสารดอกจาน 4, 4 : หน้า 17-23.

ไทยโรจน์ พวงมณี. (2554). รายงานวิจัยเรื่อง การศึกษาอัตลักษณ์ประเพณีผีตาโขน ประเพณีผีขนน้ำ และประเพณีแห่ต้นดอกไม้ : การออกแบบสร้างสรรค์ชุดการแสดงสำหรับการนำเสนอภาพลักษณ์การท่องเที่ยวจังหวัดเลย. กรุงเทพฯ : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.

ธรรมาสน์ นิยมรัตน์จรูญ. (2553). “การออกแบบเรขศิลป์สำหรับงานประเพณีผีตาโขน.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชานฤมิตศิลป์) ภาควิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ธวัช ปุณโณทก. (2530). “จารึกพระธาตุศรีสองรัก.” ใน ศิลาจารึกอีสานสมัยไทย - ลาว : ศึกษาทางด้านอักขรวิทยาและประวัติศาสตร์อีสาน. กรุงเทพฯ : คุณพินอักษรกิจ : หน้า 434 - 440.

ธัญญ บัวระภา. (2556). “ผีตามคนเข้าเมือง.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปมหาบัณฑิต (ทัศนศิลปศึกษา) มหาวิทยาลัยศิลปากร.

บุญยงค์ เกศเทศ. (2555). “จากผีตาโขน ถึงผีตาโม่ วิถีความเชื่อของเกษตรกร.”  เทคโนโลยีชาวบ้าน 25, 538 : หน้า 124-125.

พรรษชล แข็งขัน. (2557). รายงานผลการดำเนินโครงการบริการวิชาการแก่สังคม การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น. อุดรธานี : ศูนย์วิทยพัฒนา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อุดรธานี.

พระอริยานุวัตร เขมจารีเถระ. (2530). ศึกษาเรื่อวัฒนธรรมพื้นบ้าน : คติความเชื่อฺ. ม.ป.ป. : หน้า 1-55.

ภิษารัตน์ คำสุข. (2551). “การออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกประเพณีผีตาโขนของร้านกวินทิพย์หัตถกรรมอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย.” สารนิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยนเรศวร.

รัตนา แสงสว่าง. (2552). ห้องสมุดผู้สูงอายุ. เลย : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสาตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย.

สนอง อุปลา. (2546). “พัฒนาการประเพณีผีตาโขน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาไทศึกษาเพื่อการพัฒนา) บัณฑิตวิทยาลัย สถาบันราชภัฏเลย.

ศรีศักร วัลลิโภดม. (2550). ผีกับพุทธ : ศาสนาและความเชื่อในสังคมด่านซ้ายดุลยภาพทางจิตวิญญาณของชาวบ้านในลุ่มน้ำหมัน. กรุงเทพฯ : มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์.

สาร สาระทัศนานันท์ (เรียบเรียง). (2542). “ผีตาโขน (จังหวัดเลย) : ประเพณี.” ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 8. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ : หน้า 2805-2810.

สาร สาระทัศนานันท์. (ม.ป.ป.). “เมืองเลยของเรา.” ใน มรดกไทยเลย. ดนุพล ไชยสินธุ์ (บรรณาธิการ). เลย : รุ่งแสงธุรกิจการพิมพ์ : หน้า 11-40.

สุริยา บรรพลา. (เมษายน-พฤษภาคม 2546). “ผีตาโขนกับการพัฒนา.” วารสารดอกจาน 4, 4 : หน้า 83-89.

อาภาภรณ์ วรรณา และคณะ. (2549). โครงการวิจัยและพัฒนาห้องสมุดมีชีวิต : การจัดการความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เรื่อง ผีตาโขน อำเภอด่านซ้ายจังหวัดเลย. มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย.